การเลือกตั้งของ “ซาไก” มองประชาธิปไตยในชนเผ่า ถึงระเบิดจากเครื่องบินทหาร

ซาไก
หลุด ศรีธารโต หัวหน้ากลุ่มซาไกที่ธารโต กับงานกลางไร่ บนควนสูง (จากบทความ "โอรัง ดารัต มนุษย์ยุคเริ่มแรก")

“ซาไก” เป็นชื่อชนเผ่าที่คนไทยอาจคุ้นเคยกันอยู่บ้าง ภาพจำของ “ซาไก” สำหรับหลายคนอาจเป็นชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลความเป็นเมืองในยุคใหม่ที่ทันสมัย แต่วิถีชีวิตหลายแง่มุมของพวกเขาถูกบันทึกเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการปกครองในกลุ่ม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สามารถระบุได้ว่าปกครองโดยพื้นฐานแบบประชาธิปไตย

“แม้ชีวิตของซาไกจะล้าหลังแต่เขาก็มีจิตใจรักสันติอดทนต่อความยากลำบาก…การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ล้วนเป็นสิ่งสูงส่งสำหรับเขา”

ข้อความส่วนหนึ่งจากบทความ “โอรัง ดารัต มนุษย์ยุคเริ่มแรก” ของ “องอาจ รุ่งจันทร์ฉาย” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน 2526 บอกเล่าถึงวิถีชีวิตซาไก จากประสบการณ์ที่สัมผัสเผ่าพันธุ์ชนชาติส่วนน้อยในไทยหลายครั้ง

คำอธิบายเผ่าซาไกขององอาจ ระบุว่า คนทั่วไปเรียกชนเผ่านี้ว่า “ซาไก” แต่พวกเขาพึงพอใจที่จะถูกเรียกว่า โอรัง อัสลี (Orang Asle) แปลว่า คนพื้นเมือง และโอรัง บูเกต ซึ่งแปลว่า “คนที่อยู่บนภูเขา” ขณะที่ชาวมาเลย์บางคนกลับเรียกพวกเขาว่า โอรัง ซาไก ซึ่งหมายความว่า “คนป่าเถื่อน”

ซาไกเป็นชนเชื้อสายเนกริโต ตระกูลออสโตรเอเชียติคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผ่าหนึ่ง ในทางเผ่าพันธุ์วิทยาอาจจัดซาไกในตระกูลเดียวกับพวกซีนอย (Senoi) เวดดา (Veddar) และพวกออสเตรเลียน แต่องอาจ ระบุว่า ในทางภาษาซาไกมีตระกูลภาษาลักษณะสัมพันธ์กับตระกูลภาษามอญ-เขมร มากกว่าตระกูลภาษาอื่น

พื้นฐานถิ่นที่อยู่อาศัยของซาไก อยู่ในป่าลึกแถบบริเวณภูเขาห่างไกผู้คน อาศัยอยู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในรัฐเปรัค ไทรบุรี กลันตัน และปาหังของมาเลเซีย รวมถึงบริเวณเทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง-สตูล และตามบริเวณเขตเทือกเขาสันคาราคีรี แถบยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในประเทศไทย ข้อมูลระบุว่า เผ่าซาไกที่อยู่ในมาเลเซียมีทั้งหมด 11 กลุ่มเลยทีเดียว

ซาไก กำลังประกอบ ท่าเล่น คะดังค์
ซาไกกำลังประกอบท่าเล่นคะดังค์ เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของชนเผ่า (จากบทความ “โอรัง ดารัต มนุษย์ยุคเริ่มแรก”)

ในความเป็นจริงแล้วการดำรงชีวิตของซาไกในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2523-2526 ก็แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของแต่ละกลุ่ม เงื่อนไขหลักที่กำหนดวิถียังชีพที่แตกต่างกันก็สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์กับชาวบ้านว่ามากน้อยแค่ไหน

กลุ่มซาไกในไทยที่ระบุในบทความมี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแต็นแอ๊น (ตรัง-พัทลุง-สตูล), กลุ่มกันซิว (ยะลา), กลุ่มแตะเด๊ะ (นราธิวาส) และยะฮายย์ (นราธิวาส)

สำหรับกลุ่มที่ปฏิเสธความสัมพันธ์กับชาวบ้านหรือปฏิสัมพันธ์น้อย องอาจ ระบุว่า กลุ่มนี้ยังดำรงชีพลักษณะเดียวกับบรรพบุรุษ อาจรับรู้สิ่งแปลกใหม่บ้าง แต่ไม่ได้มีนัยยะในเชิงผลักดันวิถีชีวิตของพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงไป

ครอบครัวของซาไก ในยุคหนึ่งเป็นครอบครัวที่มีแบบแผนยึดหลักผัวเดียวเมียเดียวอย่างเคร่งครัด ไม่มีสำส่อนทางเพศ และไม่คบชู้มากผัวหลายเมีย ชายหญิงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดจะสมรสด้วยกันไม่ได้

ขณะที่ระบบการปกครองทางสังคมของซาไกมีหัวหน้ากลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเป็นบุคคลที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สมาชิกในกลุ่มทุกคน และคอยตัดสินเวลาสมาชิกมีปากเสียงกัน แต่ผู้เขียนบทความระบุว่า เหตุการณ์ทะเลาเบาะแว้งไม่ค่อยมีให้เห็น เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่มากนัก และผ่านการใช้ชีวิตที่ลำบากมาด้วยกัน หากขัดแย้งกัน หัวหน้ากลุ่มจะเป็นผู้ตัดสินโดยให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย เมื่อหัวหน้าตายลงจะมีเลือกตั้งหัวหน้าใหม่ โดยไม่สืบตำแหน่งทางเชื้อสาย…นับเป็นสังคมที่มีการปกครองโดยพื้นฐานประชาธิปไตย

ปัจจุบันกลุ่มซาไกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน หลายคนมาอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่เล็กๆ มีความเป็นอยู่เหมือนคนในหมู่บ้าน รู้จักทำไร่ แปรรูปไม้ ไปท่องเที่ยวย่านการค้า เสพความบันเทิง และมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามยุคสมัยอย่างโทรศัพท์มือถือแบบคนทั่วไป สิ่งที่ทำให้ทำให้การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตเป็นไปอย่างช้าๆ คือวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ผ่านมา

องอาจ เล่าว่า เคยมีหนุ่มซาไกรายหนึ่งเข้าร่วมกับ พคท. ในเขตเทือกเขาบรรทัด แต่ก็ยังไม่สามารถเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก เขามีบทบาทด้านการนำทางและล่าสัตว์ ในอีกด้านหนึ่งเขาถูกปฏิเสธจากกลุ่มเดิมที่เคยสังกัดด้วย เพราะการดำรงชีวิตไม่เหมือนบรรพบุรุษดั้งเดิม

ความแปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันแทบหาดูวิถีชีวิตดั้งเดิมของซาไกได้ยาก หลายกลุ่มพัฒนาเกือบเหมือนผู้คนในชนบททั่วไป โดยเฉพาะซาไกในมาเลเซีย ซึ่งมีบ้าน มีที่ดิน และถูกเกณฑ์ทหารไม่ต่างจากพลเมืองมาเลเซียทั่วไปนัก

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ยังมีการสู้รบทางการเมือง ซาไกในไทยเคยได้รับผลกระทบจากสังคมภายนอก องอาจ ยกตัวอย่าง ซาไกกลุ่มหนึ่งเคยโดนเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ช่วงปี 2520 จากที่ก่อไฟกลางป่าเพื่อย่างเนื้อ ซึ่งอาจทำให้ทหารเข้าใจว่าเป็นควันไฟจาก ผกค. บทความระบุว่า ซาไกเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทิ้งระเบิดในครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาไม่รับรู้ว่าทำไมต้องเข่นฆ่ากัน

พวกเขาบอกใครต่อใครว่า “เรือมันขี้ใส่กู” หมายถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ และชีวิตพวกเขาจบลงเพียงแค่นั้น ไม่มีโอกาสรับรู้ว่าทำไมเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2562