เผยแพร่ |
---|

ตำแหน่ง “หัวหน้าผู้บริหารประเทศ” หรือ นายกรัฐมนตรี มีมาแต่อดีต เพียงแต่ยังไม่มีศัพท์คำว่า นายกรัฐมนตรี ใช้เท่านั้น เช่น จีนเรียกว่า “ไจ๊เสี่ยง” หรือ “มหาอุปราช” วรรณคดีสามก๊ก โจโฉ ก็เป็นดำรงตำแหน่งดังกล่าว, อินเดีย วรรณคดีเรื่องกามนิต – วาสิฏฐี ใช้คำว่า “ประธานมนตรี” ไทยเราก็ใช้คำว่าอัครมหาเสนาบดี, อัครมหาเสนาภิมุข, สมุหนายก, ประธานกรรมการราษฎร ฯลฯ
แล้วคำว่า “นายกรัฐมนตรี” เกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์ขึ้น!!
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งกำหนดว่าจะให้เสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ร่างกฎหมายเปลี่ยนชื่อเสนาบดีเป็นรัฐมนตรี” ที่มีอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญตกลงเห็นควรให้เปลี่ยน “เสนาบดี” และ “กรรมการราษฎร” มาใช้เป็น “รัฐมนตรี” แทน

ส่วนคำว่า “ประธานกรรมการราษฎร” ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้อย่างไร จึงมอบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำเนินการต่อ พระยามโนปกรณ์ฯ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ช่วยหาข้อมูลเรื่องนี้จากรัฐธรรมนูญต่างชาติ และให้พระธรรมนิเทศทวยหาร (อยู่ อุดมศิลป์) ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ แปลเป็นภาษาไทย
หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนบันทึกไว้สั้นๆว่า “ได้พบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเขาเรียกหัวหน้าผู้บริหารประเทศของเขาว่า ‘Premier’ ส่วนอังกฤษนั้นเขาเรียก ‘Prime-Minister’ เยอรมันเรียกว่า ‘Chancellor’ จะเทียบคำไทยอย่างไรสุดแต่คุณพระจะพิจารณา”
พระธรรมนิเทศฯ ได้เทียบคำดังนี้ Premier เป็น นาย + ก ตามหลักภาษาบาลี แปลว่า “ผู้เป็นนาย” ในที่นี้ “นายกรัฐมนตรี” คือผู้อยู่เหนือ หรือ ผู้นำคณะมนตรีของประเทศ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนสำคัญ 3 ท่าน คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา), หลวงประดิษฐ์ฯ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)ลงมติให้ใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทนคำว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
(จากซ้ายไปขวา) พระยามานวราชเสวี, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ไทยเป็นประเทศแรกที่กำหนดและใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” สำหรับตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารประเทศ จากนั้นกัมพูชาเป็นประเทศที่ 2 ใช้เมื่อสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ เข้าดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” พ.ศ. 2488 และลาวใช้ประเทศที่ 3 พ.ศ. 2488 เมื่อเจ้าเพชรราชดำรงตำแหน่งหัวหน้า
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ฯพณฯ” ที่อ่านว่า “พณะท่าน” มาจากคำว่าอะไร-ย่ออย่างไร? ทำไมมี “ฯ” ด้านหน้า-หลัง
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เจ้าเพชรราช” บุรุษเหล็กแห่งอาณาจักรลาว ล่องไพรลุยที่เฮี้ยน ยิงเสือ-ปราบจระเข้
ที่มา
ดร. กวี อิศริวรรณ. “กำเนิดตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี”, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2531.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2560