“เจ้าเพชรราช” บุรุษเหล็กแห่งอาณาจักรลาว ล่องไพรลุยที่เฮี้ยน ยิงเสือ-ปราบจระเข้

ภาพถ่าย เจ้าเพชรราช และครอบครัว
เจ้าเพชรราช และครอบครัว ภาพจากหนังสือ เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว

สำหรับพี่น้องประชาชนจากสปป.ลาวน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ “เจ้าเพชรราช” กันเป็นอย่างดี พระองค์นอกจากจะเป็นนักปกครอง และผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชนแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้นิยมไพร และเข้าถึงประชาชน มีการคบหาผู้คนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวางจนวีรกรรมของพระองค์เป็นที่ลือลั่น

เจ้ามหาอุปราชเพชรราช ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของลาวในศตวรรษที่ 20 พระองค์เป็นที่รักและเคารพนับถือของคนลาวทั่วไปสืบเนื่องมาจากบทบาทในการกู้อิสรภาพ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้หลายแหล่งแล้ว ในที่นี้ขอหยิบยกเกร็ดข้อมูลในด้านชีวิตส่วนตัวที่ท่านคบหากับประชาชนทุกแห่ง เรียกได้ว่าเป็นนักปกครองที่เข้าถึงประชาชน

การคบหาและเข้าถึงประชาชนทุกแห่งหนนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่นิยมไพร พระองค์รู้จักภูมิประเทศในอาณาเขตลาวอย่างช่ำชอง จนได้รับสมญานามว่า “บุรุษเหล็ก” แห่งราชอาณาจักรลาวในยุคปรมาณู

ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เพิ่งทำความรู้จัก เจ้ามหาอุปราชเพชรราช มหาสิลา วีระวงส์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ นักอักษรศาสตร์-วรรณคดี บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว” ว่า พระองค์สืบเชื้อสายมาจากวงศ์กษัตริย์แห่งนครล้านช้างหลวงพระบาง มีศักดิ์ทางเจ้าชั้นเจ้าราชภาคิไนย เป็นชั้นลำดับที่ 4 ตามลำดับศักดิ์ชั้นเจ้าในวงศ์กษัตริย์ที่มีอยู่ 5 ชั้น โดยชั้นที่ 4 เทียบเท่า “หม่อมราชวงศ์” ของไทย พระองค์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้ามหาอุปราชแห่งนครหลวงพระบาง เพราะราชวงศ์ของพระองค์เคยได้รับตำแหน่งนี้มาแต่โบราณหลายชั่วคน

เจ้ามหาอุปราชเพชรราชเป็นโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้ามหาอุปราชบุญคง พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) พระองค์ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1905 ทุกครั้งที่โรงเรียนปิดเทอมจะข้ามไปท่องเที่ยวและพักที่ประเทศอังกฤษ และเคยอาศัยที่บ้านพักของมิสเตอร์เลนน อาจารย์สอนวิชาดาราศาสตร์ทำให้พระองค์สนใจเรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ พระองค์จึงเป็นนักค้นคว้าหลักทางโหราศาสตร์โบราณเป็นคนแรกๆ และแต่งหลักคำนวณปฏิทินลาวไว้

มหาสิลา วีระวงส์ ผู้เขียนหนังสือประวัติเจ้ามหาอุปราชเพชรราช ซึ่งเคยติดตามพระองค์ไปล่าสัตว์ระหว่างปี ค.ศ. 1931-1939 อธิบายอุปนิสัยของพระองค์ว่า เป็นคนมีสติ พูดน้อย พูดติดอ่าง ไม่ลื่นไหล แต่มั่นคง น้ำพระทัยอดทน กล้าหาญ หนักแน่น ตรงต่อเวลา และมักผจญภัย มีมานะ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ยังทำตัวเป็นเจ้าอยู่เสมอ รักเกียรติความเป็นเจ้า หากชาวฝรั่งเศสเข้ามาหาพระองค์ที่ห้องทำงาน ถ้าไม่ใช่เชื้อเจ้า ไม่ว่าจะตำแหน่งสูงปานใด พระองค์ไม่เคยลุกจากเก้าอี้ไปจับมือ เว้นแต่ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว

เรื่องที่พระองค์ชื่นชอบที่สุดคือเมื่อมีราษฎรถือว่าที่ใด หนองใด ห้วยใด แม่น้ำใด เฮี้ยนนัก มีผีร้าย ประชาชนลงหาปลาไม่ได้ พระองค์จะเที่ยวปราบให้เสมอ หรือมีสัตว์ร้ายรบกวนพืชผักที่ปลูกไว้ พระองค์จะจัดการทันที

เมื่อ ค.ศ. 1932 ราษฎรแชนดินมารายงานว่า มีเสือโคร่ง 2 ตัวอยู่ใต้บ้าน ดักกินคว้ายหมดไป 21 ตัว ชาวบ้านเดือดร้อน ขอให้พระองค์ไปราบ เจ้าเพชรราชพาหมู่ข้าราชการ 6-7 ราย รวมถึงมหาสิลา ไปยิงเสือที่บ้านแชนดิน แถบน้ำงึม แขวงเวียงจันทร์ แต่ละรายถือปืนคนละกระบอก พระองค์ขับรถเอง

พระองค์เกณฑ์ชาวบ้านโห่ร้อง ตีฆ้อง ตีกลอง ให้ดังสนั่น ส่วนพระองค์กับหมู่ข้าราชการ และมหาสิลา ดักอยู่ทางที่เสือจะออกไป พระองค์เล่าเหตุการณ์ให้มหาสิลา ว่า พระองค์นั่งบังต้นยาง พอโห่ไล่มาสักพัก เริ่มได้ยินเสียงครางหืดหาด จึงส่องไปตามป่าห่างๆ ต้นไม้ที่พระองค์นั่งอยู่ห่างจากต้นไม้ที่เสือผ่านประมาณ 15-16 เมตร พระองค์ตั้งใจให้เสือผ่านไปก่อน แล้วยิงตัวที่เดินตามหลังนัดหนึ่ง เชื่อว่าตัวหน้าจะต้องกระโดดไปข้างหน้า น่าจะยิงได้ทันอีกตัว

เมื่อถึงเวลาสมควรแต่ยังไม่เห็นเสือผ่านต้นไม้ไป จึงวกคืนมาดูทางฟากต้นไม้อีกด้าน ก็เห็นหัวเสือโผล่พ้นต้นไม้ ห่างพระองค์เพียง 2 เมตร พระองค์ยิงใส่ก้านคอจนเสือหมอบคาที่ แต่เสือยังเงยหัวผงกอยู่ พระองค์ซ้ำอีกนัด ส่วนตัวที่สองกระโดดบังต้นไม้หายไป ยิงทันแค่ตัวเดียวเท่านั้น

นอกจากปราบเสือ ยังมีเรื่องเล่ากับการปราบจระเข้ที่หนองเม็ก หนองยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้าง 200-300 เมตร อยู่ในป่าลุ่ม ใกล้น้ำงึมทางเหนือ หนองมีจระเข้ชุกชุม ชาวบ้านไม่กล้าหากินในหนอง และยังเชื่อกันว่ามีผีร้าย ต่อมาเจ้าเพชรราชพาข้าราชการไปหาโห่เนื้อตามแถวบ้านหาดเกลี้ยงทุกวันเสาร์ การโห่เนื้อก็แบ่งปันให้ชาวบ้านที่ไปโห่ทุกคน วันที่ไม่ได้เนื้อ พระองค์จะซื้อวัวหรือหมูของชาวบ้านมาฆ่าและแบ่งปันให้ชาวบ้านกินทั่วกัน

ช่วงแรกที่ไปถึงบริเวณริมหนอง มหาสิลา เล่าว่า กลุ่มผู้เดินทางนั่งดูจระเข้นับร้อยอยู่ในหนอง จระเข้ลอยอยู่แบบไม่กลัวใครเนื่องจากไม่เคยถูกรบกวน วันแรกพระองค์ใช้ปืนเมาเซอร์ยิงจระเข้ที่ลอยอยู่ 12 นัด ตัวที่ถูกยิงตายจมในหนองน้ำ แต่ไม่มีคนกล้าลงไปดู ส่วนตัวที่ไม่ถูกยิงก็ดำน้ำและว่ายห่างออกไป

2 อาทิตย์ต่อมา พระองค์สั่งให้เจ้าเมืองทุกระดับป่าวประกาศให้ชาวบ้านตาลเปลี่ยว หาดเกลี้ยง แชนดิน นากุง เป็นต้น ลงหาปลาหนองแม็ก โดยให้เจ้าเมืองเอาเรือไปที่หนองหลายลำ และจัดทำแพไว้ พระองค์ไปนั่งเรือหายิงจระเข้ วันเดียวยิงได้ 13 ตัว วันต่อมาก็ฆ่าลงต่อเนื่องจนจระเข้หนองเม็กนับร้อยหนีไปหมด หลังจากนั้นชาวบ้านก็ลงหากินในหนองน้ำได้สบายจนทุกวันนี้

เจ้าเพชรราช เล่าถึงเรื่องการล่าสัตว์ของพระองค์ในหนังสือ “อาวุธปืนและกีฬาล่าเนื้อ” ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า กีฬาล่าเนื้อเป็นกีฬากลางแจ้งที่ผู้ไม่เคยเห็นมาก่อนจะรู้สึกไม่ชอบ และเกลียดเป็นที่สุด เพราะเห็นแง่ร้ายด้านเดียว อาทิ ทำลายชีวิตสัตว์ แต่ถ้ารับรู้รสชาติแล้ว จะรู้สึกอยากเข้าป่า การเข้าป่าไม่ได้มีจุดประสงค์ล่าสัตว์อย่างเดียว แต่ยังได้ความรู้แง่พฤกษชาติ สัตว์ใหญ่ ตลอดจนธรรมเนียมชาวป่าชาวดอย

ถึงจะเป็นนักนิยมไพรที่มีประสบการณ์ แต่มหาสิลา เล่าว่า เจ้าเพชรราชก็ยังเคยถูกสัตว์อาทิ ช้าง วัวกระทิง ไล่อยู่หลายครั้ง

ส่วนบทบาทในแง่การเมือง การปกครอง และการกอบกู้อิสรภาพนั้นจะหยิบยกข้อมูลมาเผยแพร่ในโอกาสหน้า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มหาสิลา วีระวงส์. เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว. แปลโดย สมหมาย เปรมจิตต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2542


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 ตุลาคม 2563