
ที่มา | จดหมาย: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | นายแพทย์ฤกษ์ชัย วราทร |
เผยแพร่ |
ผมไปทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ประเทศลาว ได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติของประเทศลาว ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของลาวเขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ René de Berval ชื่อหนังสือ KINGDOM OF LAOS เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๖ และแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๙ มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า
“ปี ค.ศ. ๑๘๒๖ มีข่าวว่า กองทัพอังกฤษโจมตีกรุงเทพฯ ทำให้เจ้าอนุวงศ์แข็งข้อต่อการปกครองของสยาม มีกองทัพจากร้อยเอ็ด โคราช และอุบลฯ เดินทัพเข้ากรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางสามวัน เข้าถึงกรุงเทพฯ ได้ต่อสู้แต่พ่ายแพ้ต่อกองทัพสยาม”
ข้อความนี้ขัดกับความเป็นจริง ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ การเดินทางจากโคราชถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดือนทางอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพราะยังไม่มีถนน อย่างดีที่สุดก็มีแต่ทางเกวียนซึ่งคดเคี้ยว หลบภูเขา ทำให้ระยะทางยาวมาก ประกอบกับเส้นทางต้องผ่านป่าทึบ โดยเฉพาะดงพระยาไฟซึ่งมีไข้มาลาเรียชุกชุม ทำให้คนเดินทางตายไปมาก
ความจริงเจ้าอนุวงศ์เดินทัพมาถึงแค่โคราช แล้วกวาดต้อนชาวโคราชไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ จนเกิดวีรกรรมของท้าวสุรนารีที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์ต้องแตกทัพหนีกลับเวียงจัน
นักประวัติศาสตร์ไทยและคนไทยควรทราบความคลาดเคลื่อนข้อนี้ ผมได้อ่านเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษ ได้แนบมากับจดหมายฉบับนี้ ถ้ามีใครสนใจอยากอ่านจะได้ขอมาที่กองบรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
นายแพทย์ฤกษ์ชัย วราทร
โรงพยาบาลลาว-ลักเซมเบิร์ก
เวียงจัน ประเทศลาว
ที่มา: คอลัมน์จดหมาย, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ๒๕๔๗
หมายเหตุ: มหาสิลา วีระวงส์ นักวิชาการลาว (เกิดในไทย) เองก็ระบุว่า เจ้าอนุเพียงแต่เข้ามากวาดต้อนคนลาวกลับเวียงจันทน์ ไม่ได้หวังรบเอาประเทศไทยแต่อย่างใด [จึงไม่มีเหตุที่พระองค์จะต้องยกทัพเข้ากรุงเทพฯ] ดังความที่เล่าถึงเหตุการณ์นี้ตอนหนึ่งว่า
“ในการที่พระองค์ทำการกู้อิสรภาพในคราวนั้น พระองค์คิดแต่เพียงจะกู้อิสรภาพฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนเป็นเอกราชเท่านั้น มิได้คิดจะรบเอาประเทศไทย หรือรบรากับประเทศไทย เพื่อแก้แค้นแทนพระราชบิดา ดังนั้นพระองค์จึงสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพลงไปกวาดต้อนเอาครอบครัวคนลาว ที่ไทยกวาดไปไว้เมืองสระบุรีคืนมาเวียงจันทน์ ส่วนพระองค์ก็ลงไปกวาดเอาครอบครัวเมืองโคราช ฝ่ายกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบว่าเจ้าอนุแข็งเมือง และยกพลลงไปกวาดเอาครอบครัวคนลาวคืนมาเวียงจันทน์ จึงได้ยกกองทัพออกติดตามตีกองทัพเจ้าอนุ และเจ้าราชวงศ์ จนถึงเวียงจันทน์ ทัายที่สุดพระเจ้าอนุก็ถูกไทยจับได้…” (มหาสิลา วีระวงส์. ประวัติศาสตร์ลาว. สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535, น.110-111)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 เมษายน พ.ศ.2560