พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์

การเคลื่อนทัพ ภาพจิตรกรรมจากตำราขบวนพยุหยาตรา เลขที่ 57 (ภาพจาก “กระบวนพยุหยาตรา ประวัติศาสตร์และพระราชพิธี” หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2543)

บทนำ

เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรศักดิ์พลเสพย์ จะยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม โดยใช้ตำหรับพระยาสรรพสิทธิจัดทำถวายรัชกาลที่ 1 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปตีเมืองทวาย มาเป็นตำรา ดังปรากฏความในบานแพนกตอนหนึ่งว่า

“….พระราชพิทธีตัดไม้ข่มนามตำหรับนี้ พญาสรรพสิทธิทำเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสดจ์ไปตีเมืองทวาย ครั้งนี้จัดแจงขึ้นเมื่อ จุลศักราชได้ 1187 พระพรรษา ปีรกานัขสัตวสัพศก วันพฤหัสบดี เดือนแปดทุติยาสาท แรม 5 ค่ำ จึ่งสำเร็จ มีอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะเสดจ์ไปปราบอณุเวียงจันปีกุนนพศกเดือนสี่ ให้ข้าพระพุทธเจ้าพระเทวโลกจางวางโหรในพระราชวังบวรสถานมงคล กระทำพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามนี้…”

ด้วยเหตุที่ “พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม” เป็นพระราชพิธีที่สำคัญพระราชพิธีหนึ่งในเวลาที่มีราชการสงครามตั้งแต่โบราณ แต่ไม่ได้มีการศึกษาหรือกล่าวถึงรายละเอียดของพระราชพิธีนี้มากนัก ผู้เขียนจึงปริวรรตตำราพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในครั้งศึกปราบเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันท์ จากอักษรและอักขรวิธีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอักขรวิธีปัจจุบัน มาเสนอก่อนที่จะกล่าวถึงเส้นทางในการเสด็จพระราชดำเนินของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ไปยังเวียงจันท์ต่อไป

พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม

ข้าพระพุทธเจ้า ขุนสาราบรรจง ขุนจำนงสุนทร ปลัดกรมจำลอง [1] หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรม [2] ทาน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวามขอเดชะ

พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามตำหรับนี้ พญาสรรพสิทธิทำเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จไปตีเมืองทวาย ครั้งนี้จัดแจงขึ้นเมื่อ จุลศักราชได้ 1187 พระพรรษา ปีรกานักษัตรสัปตศก วันพฤหัสบดี เดือนแปดทุติยาสาท แรม 5 ค่ำ จึ่งสำเร็จ มีอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะเสด็จไปปราบอนุเวียงจันปีกุนนพศกเดือนสี่ [3] ให้ข้าพระพุทธเจ้าพระเทวโลกจางวางโหรในพระราชวังบวรสถานมงคล กระทำพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามดั่งนี้

เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินไปปราบปัจจามิตรข้าศึก ยังอีกสี่วันสี่ราตรีจะยกพยุหโยธาทัพหลวง [4] ให้ตั้งโรงพระราชพิธีสามห้องมีเฉลียงรอบ ยกพื้นให้สูงกว่าเฉลียง มีราชวัตรฉัตรธงผูกต้นกล้วยต้นอ้อยรอบ พาดราวโดรทวารรอบมีไม้พรหมโองการปักบนราวสี่ทิศ ผูกม่านขาวรอบในปูเสื่อเต็มโรงพระราชพิธี

แล้วให้เอาไม้ต้องนามข้าศึก กับต้นกล้วยตานียอดม้วนที่งามต้นหนึ่ง แล้วให้เอาหมอที่ชำนาญการเลขยันตร์ นุ่งขาวห่มขาวให้เอาดินใต้สะพานสามแห่ง ดินท่าน้ำสามแห่ง ดินป่าช้าสามแห่งมาประสมปั้นเป็นรูปข้าศึกนั้นให้มีจงครบแล้ว ให้เขียนนามข้าศึกลงยันตร์พุทธจักรประลัยจักรทับนามลงประจุขาด ล้อมรอบใส่เข้าไว้ในอกรูปดิน ให้นุ่งผ้าห่มผ้าตามเพศภาษาข้าศึก

แล้วให้เอารูปดินกับต้นกล้วยเข้าไว้ในโรงพระราชพิธีปลุกสามวันเสกสามราตรี แล้วจึ่งเอารูปใส่ในต้นกล้วย เอาสายสิญจน์ผูกสามแห่ง แล้วจึ่งขุดหลุมปักไม้นามข้าศึกกับต้นกล้วยหลุมเดียวกันหน้าโรงพระราชพิธีใกล้ห้าศอก มีราชวัตรธงรอบ

เมื่อวันเพลาบ่ายสามโมง ชีพ่อพราหมณ์เข้าโรงพระราชพิธี ตั้งน้ำวงด้ายรอบแล้วพาดสายสิญจน์ ผูกไม้นามกับต้นกล้วยนั้น ในโรงพระราชพิธีให้ตั้งเตียงสามเตียงปูผ้าขาวทั้งสาม เชิญพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาวิฆิเนศวร พระสทาสิทธ พระพรหมธาดา ตั้งเตียงหนึ่ง ตั้งเตียงนวเคราะห์หนึ่ง ตั้งเบญจคัพภ์เตียงหนึ่ง แล้วเบิกเครื่องอัญมานีมาบูชาพระเป็นเจ้า ๚ะ๛

ของอัญะมะนีทังนี้ส่งให้พระครูพิทธี

เครื่องจบพระหัตถ์ ธูปเทียน 5 เทียน 5 ดอกไม้ 5 วันละสำรับทั้ง 5 วัน

เทียนหนักเล่มละ 1 บาท 2 สลึง วันละเล่ม ทั้ง 3 วัน

เทียนหนักเล่มละ 1 บาท วันละ 5 เล่ม ทั้ง 3 วัน

เทียนบัตรหนักเล่มละ 2 สลึง วันละ 50 เล่มทั้ง 3 วัน

เทียนบัตรหนักเล่มละ 1 เฟื้อง วันละ 27 เล่ม ทั้ง 3 วัน

ผ้าขาวนุ่ง, ห่ม สำรับหนึ่ง

ผ้าขาวพาดโดรณทวาร กว้าง 5 คืบ ยาว 5 แขน รวม 4 คืบ

ผ้าขาวเพดานพระ 1 ผ้าขาวธงพระ 1 ผ้าขาวปูเตียงเนาววัก 1 ผ้าขาวปูเตียงเบญจคัพภ์ 1 ผ้าขาวธงครู 1 รวม 5 ผืน กว้าง 5 คืบ ยาว 3 แขน ศอก

ผ้าขาวพันพุ่ม กว้าง 1 คืบ ยาว 12 ศอก

ทองคำใส่กุณฑะ หนัก 2 สลึง 1 เฟื้อง

เงินทักษิณบูชา 1 ตำลึง 2 บาท 1 เฟื้อง

เงินใส่หม้อน้ำ 9 เฟื้อง

เสื่ออ่อนรองกุมภะ 1 รองกุณฑะ 1 รวม 2 ผืน

ด้ายดิบ 2 เข็ด

น้ำมันดิบทะนาน 1

หม้อน้ำ 9 ใบ

หม้อข้าวมีฝา 9 ใบ

หม้อแกงมีฝา 9 ใบ

นางเลิ้งน้ำใช้ใบหนึ่ง

เชิงกรานใบหนึ่ง

ฟืนโหมกุณฑ์วันละ 9 มัด มัดละ 9 ดุ้น จ่ายทั้ง 3 วัน

ฟืนหุงข้าวพระวันละมัดจ่ายให้ทั้ง 3 วัน

ข้าวเปลือกรองน้ำถังหนึ่ง

ข้าวสารหุงข้าวพระ 16 ทะนาน

แป้งข้าวเจ้าทะนาน 1 แป้งข้าวเหนียวทะนาน 1

ถั่วเขียว 2 ทะนาน

งาดิบ 2 ทะนาน

กล้วยสุก 6 หวี

แตงกวา 100 ลูก

พลูใบ 10 มก

หมากดิบ หมากสง 100 ลูก

หมากพลูวันละซอง จ่ายให้ 3 วัน

มะพร้าวอ่อน 9 ใบ มะพร้าวแก่ 9 ใบ

ดอกไม้ 9 สี วันละห่อ จ่ายให้ 3 วัน

เครื่องกระยาบวชลูกไม้เจ็ดสิ่ง วันละ 3 สำรับ จ่ายให้ 3 วัน

เครื่องกระยาบวชใส่ปักข้าวเหนียว ขนม ลูกไม้ หมากพลู วันละสำรับ จ่ายให้ทั้ง 3 วัน

กระทง 4 มุม วันละ 27 ใบ จ่ายให้ทั้ง 3 วัน

นมโควันละขนาน 1 เนยวันละขนาน 1 จ่ายให้ทั้ง 3 วัน

มะกรูด 5 ลูก

ส้มป่อย 25 ฝัก

น้ำมันมะพร้าววันละขนานจ่ายให้ทั้ง 3 วัน

ใบสมิทธิ์ 13 สิ่ง คือใบ มะเดื่อ 1 ทอง 1 เงิน 1 ทรงบาดาล 1 กระจับ 1 ระงับ 1 โพบาย 1 รัก 1 มะม่วง 1 มะขาม 1 สหมี 1 มะตูม 1 หญ้าแพรก 1 ส่งให้พระครูพิธีทั้ง 3 วันจะได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เช้าเย็นทรงอธิษฐานแล้ว เอาไปโหมกุณฑ์

ให้พระครูพิธีตั้งกุณฑะ กุมภะ โคพิก แล้ว จึ่งปูอาสนะบูรพาพิมุขด้วยพระเวท แลสฤษดิสั่งหาบทอดผลัง กระทำกระสุทธิอาตมาสุทธิ แลยาศปรานาด้วยอักษร แล้วจึ่งทำละทั้งกรระนะยาศจึ่งเจิมโคปิจันท์ จึ่งสั่งกัลปะแลกระทำศาสตร์บุญญาด้วยพระเวท จึ่งบูชาเบญจคัพภ์ แล้วประดิษฐานกุโสทกบูชาตามสาร ตำหรับตามบังคับ จึ่งแบ่งน้ำเบญจคัพภ์ออกเป็น 3 ภาคๆ หนึ่งให้บูชาพระเป็นเจ้า ภาคหนึ่งให้โหมพระเพลิง ภาคหนึ่งโสดใส่สังข์ กลศ ทูลเกล้าฯ ถวาย

แลบูชาโคพิกโดยสาระตำหรับ บูรพทิศบูชาพระอินทร์ อาคเนย์บูชาพระอัคนี ทิศทักษิณบูชาพระยม หรดีทิศบูชายักษประจำทิศ ปัจจิมทิศบูชาพระพิรุณ ทิศพายัพบูชาพระพาย ทิศอุดรบูชาพระไพศรพ ทิศอีสานบูชาพระอิศวร แลชุบสะตุดิโดยพระเวทบังคับ

แลถานปนาโปรกกุณฑะให้ลงพรหมเลขาทักษิณทิศ ให้ลงวิษณุเลขาอุดรทิศ กลางนั้นให้ลงรุทระเลขาแลเทวีเลขาด้วยพระเวท แลให้เรียบนพกายจึงเททะยานพระเพลิง แล้วยาณอาว่า อันะปานาทินะมัศการตามสารตำหรับชุมโหมฝ่ายพรหมกรรม

อนึ่งเมื่อเข้ามณฑลแล้วให้พระครูพิธีจัดใบสมิทธิ์ตามมีในตำหรับบังคับ ใส่พานแว่นฟ้าเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้ทรงจบพระหัตถ์ อธิษฐานแล้วเอามาชุบโหมกุณฑ์

พระครูพิธีถาปนาทั้งเช้า เย็น ครั้นวันจวนจะใกล้ได้มหาพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ ตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ผู้ใดผู้หนึ่ง แทนพระองค์ซึ่งได้จัตุรงคโชค [5] ทั้งชื่อก็ให้ข่มนามข้าศึก ไปปราบศัตรูนั้น ให้แต่งตัวใส่ครุยนุ่งสมปักลาย จึ่งพระราชทานพระธำมรงค์เนาวรัตน์ พระแสงดาบ ต่อพระหัตถ์แล้วแห่ออกมาโรงราชพิธี

พระครูพิธีแลพราหมณ์มีชื่อเอาน้ำกลศ น้ำสังข์ ออกจากโรงพระราชพิธี คอยรับให้น้ำกลศ น้ำสังข์ ใบตะตูมแล้วออกชัยพรแต่ไกลจากต้นกล้วยต้นอ้อย 5 วาเศษ

ครั้นได้พระฤกษ์ในโจมทัพ ให้เจ้าพนักงานกลองแขกมาคอยตีเมื่อจะรำดาบฟันไม้ ผู้ซึ่งแทนพระองค์ถอดพระแสงดาบย่างสามขุมมา ถึงจึ่งฟันต้นไม้นามศัตรู ต้นกล้วย ให้ต้องรูป ต้องนามข้าศึกขาด 3 ที เหยียบกระทืบสามที

๏ อย่างหนึ่งการปัจจุบันทำข่มนามอย่างน้อย เอาหยวกมากาบหนึ่ง ลงนามข้าศึก ลงด้วยปจุขาดยันต์พุทธจักร บรรไลยจักร ทับนามข้าศึกแล้วห่อใบระงับเข้า จึ่งเอากาบกล้วยเปล่าห่อทับนอกอีกกาบหนึ่ง ให้ผู้รับพระแสงต่อพระหัตถ์ฟัน อย่างนี้ก็เป็นข่มนาม

๏ ครั้นฟันแล้วผู้ฟันกลับหน้ามาสู่พระราชวังมิได้เหลียวหลังส่งพระแสง พระธำมรงค์ให้กับเจ้าพนักงานแล้ว เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว กราบทูลว่า ขอพระเดชพระคุณ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าออกไปปราบข้าศึกศัตรูครั้งนี้ มีชัยชนะแก่ข้าศึกดุจดังทรงพระราชดำริเสร็จแล้ว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ๚ะ๛

๏ เสร็จการพระราชพิธีข่มนาม ๚ะ ๚ะ๛” [6]

จากที่กล่าวมาคือตำราพระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตำราพิชัยสงคราม และเป็นตำราที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันท์ด้วย แต่เป็นตำราที่ไม่ได้มีการนำมากล่าวถึงกันมากนัก แม้ว่า “พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม” จะเป็นพระราชพิธีที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปก็ตาม ในที่นี้จึงปริววรตมานำเสนอก่อนหน้าที่จะกล่าวถึงการเดินทัพไปเมืองเวียงจันท์ต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1]ปลัดกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล.

[2]หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล.

[3] สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ยกทัพออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 6 ค่ำ ปีจออัฐศก (พ.ศ. 2369).

[4] น่าจะตั้งการพระราชพิธีในเดือน 4 ขึ้น 2 ค่ำ เนื่องจากเสด็จพระราชดำเนินยกทัพออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือน 4 ขึ้น 6 ค่ำ.

[5] พิชัยสงครามอธิบาย จัตุรงคโชคว่า “…ถ้าจะทำจัตุรงคโชก ให้เอาปีเดือนคืนวันบวกเข้าด้วยกัน แล้วเอาฤกษ์กำเนิดบวก เอาราษีวันพระเคาระห์บวกแล้วเอาราษีเปล่า แล้วเอา 3 คูณเอา 8 หาร เสศ 1/3/0เปนจัตุรงคโชกกำเนิด ถ้าจะใคร่รู้จรให้เอาอายุบวกเติมเข้า 3 คูณ 8 หารเสศ ทายเหมือนกันแล…”

[6] ปริวรรตจาก “พิไชยสงครามว่าด้วยพระราชพิทธีตัดไม้ข่มนาม” ใน ตำราพิไชยสงคราม. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก อำนาจ ดำริกาญจน์ (กรุงเทพฯ, 2525), หน้า 279-283.

บรรณานุกรม :

ตำราพิไชยสงคราม. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก อำนาจ ดำริกาญจน์. กรุงเทพฯ :  ม.ป.พ., 2525.

ทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2473.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565