รัชกาลที่ 3 รับสั่ง เจ้าเวียงจันทน์กบฏเพราะ “ท่านผู้ใหญ่” พูดหมิ่นลาว จะตัดหัวเจ้าอนุวงศ์

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

“สงครามเจ้าอนุวงศ์” เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2369-2371 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สาเหตุเนื่องมาจากความสุกงอมของปัจจัยหลายประการ ทั้งการเพิ่มพูนอำนาจของเจ้าอนุวงศ์ในเขตแดนลาว สภาวะการเมืองในภูมิภาค และความคับข้องใจของพวกลาวที่ถูกพวกไทยกดขี่ ฯลฯ

ความคับข้องใจของพวกลาวเรื่องหนึ่งที่มีบันทึกไว้โดย พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เล่าไว้ในหนังสือ “331 ปี สกุลอมาตย์ และ 73 ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล” ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกณฑ์พวกลาวมาใช้แรงงานแต่ได้จำนวนคนไม่มากตามกำหนด ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่ไม่พอใจ และกล่าวดูหมิ่นพวกลาวจนทำให้เกิดความคับข้องใจ

“…เมื่อก่อนทัพเวียงจันทน์ หรือทัพเวียงจันทน์แล้วข้าฯ จำไม่ได้แน่ แต่เห็นจะเป็นก่อนทัพเวียงจันทน์ ด้วยทำป้อมปากน้ำ เกณฑ์พวกลาวมาทำด้วย ความนี้ได้ฟังพระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่า เจ้าเวียงจันทน์จะคิดกบฏก็เพราะท่านผู้ใหญ่ ท่านผู้ใหญ่ที่ท่านเรียก ท่านผู้ใหญ่นั้นคือ เจ้าพระยาอภัยภูธร ว่าท่านผู้ใหญ่นั่งอยู่ที่แท่นช้างริมพระที่นั่งเย็น หาเห็นด้วยราชวงศ์เข้ามานั่งอยู่ไม่ เขาเอาบาญชีเข้ามาอ่านให้ฟัง ว่าลาวลงมาไม่ได้ครบจำนวนเกณฑ์ขาดมาก ท่านผู้ใหญ่ว่าอ้ายเจ้าเวียงจันทน์โกงนัก ตัดหัวเสียดีทีเดียว อ้ายราชวงศ์อยู่นั่นมันได้ยิน ครั้นมันกลับขึ้นไปมันก็บอกกับพ่อมัน พ่อมันโกรธจึงได้คิดกบฏ ความนี้ข้าฯ จึงเห็นว่าทำป้อมทำทุ่นก่อนทัพเวียงจันทน์….”

“ท่านผู้ใหญ่” ผู้นี้คือ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาศรี เจ้าจอมมารดาท่านแรกในรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นคนที่รับราชการมานาน ได้เป็นถึงเจ้าพระยาที่สมุหนายก ขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเคยมีประวัติวิวาทกับเจ้าพระยามหาเสนา (สมุหพระกลาโหม) เป็นเรื่องราวใหญ่โตโจษจันไปทั่วในสมัยรัชกาลที่ 2

ตามบันทึกของพระยากสาปนกิจโกศลนั้น เจ้าพระยาอภัยภูธรได้พลั้งปากพูดดูหมิ่นเจ้าอนุวงศ์ออกไป โดยหารู้ไม่ว่า เจ้าราชวงศ์ พระโอรสของเจ้าอนุวงศ์ก็อยู่ที่นั่นด้วย เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงานลาวไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรี

โบสถ์หรือสิมหลวง วัดสีสะเกด สร้างโดยเจ้าอนุวงศ์ เป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายคราวกองทัพสยามทำลายกรุงเวียงจันทน์

พงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า ในช่วงที่เจ้าอนุวงศ์เดินทางลงมาจากเวียงจันทน์ ในการพระบรมศพรัชกาลที่ 2 ได้พาพวกลาวมาด้วยจำนวนมาก รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริขอแรงพวกลาวที่มาด้วยให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรีเพื่อจะนำไปใช้ที่เมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์เป็นผู้ควบคุมคนไปทำการนั้น

เมื่อเจ้าอนุวงศ์จะกลับเวียงจันทน์ จึงกราบทูลขอพวกละครผู้หญิงฝ่ายในและพวกลาวที่ถูกเทครัวมากลับไปด้วย แต่รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดพระราชทาน เจ้าอนุวงศ์จึงเกิดความไม่พอใจ ขณะที่เจ้าราชวงศ์ก็ได้ยินเจ้าพระยาอภัยภูธรพูดหมิ่นพระบิดา เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดความคับข้องใจ นำไปสู่การก่อกบฏในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามเจ้าอนุวงศ์ เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพคุมทหารราว 5,000 คน ขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์ บุกโจมตีกองทัพลาว ที่มีเจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพ ณ เมืองหล่มศักดิ์ ร่วมตีกระหนาบกับกองทัพไทยของพระยาเพ็ชรพิชัยและพระยาไกรโกษา มีทหารราว 3,000 คน ที่เดินทางขึ้นมาจากเมืองพิษณุโลก และเมืองนครไทย จนสามารถตีกองทัพเจ้าราชวงศ์แตกพ่ายไป แล้วเดินทัพไปยังค่ายหลวงที่เมืองพันพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย)

เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูธรเดินทางถึงเมืองพันพร้าวแล้ว พงศาวดารระบุว่า “…ครั้งนั้นเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก คุมกองทัพหัวเมืองขึ้นไปถึงเมืองพันพร้าวป่วยถึงอนิจจกรรม จึ่งรับสั่งให้บุตรหลานญาติพี่น้องนำศพลงมา ณ กรุงเทพมหานคร…”

ครั้นจับเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพฯ พระยากสาปนกิจโกศล บันทึกถึงสภาพการคุมขังเจ้าอนุวงศ์ไว้ในกรงว่า “…เมือจับเจ้าเวียงจันทน์ ได้ใส่กรงแห่ลงมาจอดที่ท่าช้าง ข้าฯ ลงเรือพันม้าไปดูกับอ้ายมีครั้ง 1 เห็นเจ้าเวียงจันทน์ใส่โซ่คอใส่ตรวน กับสาวคำบวงเมียใส่แต่ตรวน

ครั้งหนึ่งข้าฯ ไปดูกับคุณน้าพระกลิ่น ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ ก็เห็นเจ้าเวียงจันทน์กับเมียจำไว้ในกรงเหมือนดังก่อน แต่กรงนั้นเปลี่ยนใหม่ใหญ่กว่าเก่า ตั้งบนม้าสูงสัก 3 ศอก เมียนั้นนั่งหมอบผัวอยู่ ที่นอกกรงนั้นมีครกสากใหญ่ทาดำไว้ให้ดูเหมือนเหล็ก กรงนั้นก็ทาดำ มีกระทะใหญ่ตั้งอยู่บนก้อนเส้าใบ 1 ทำทีจะต้มฟืนกองไว้สักร้อยหนึ่งทำเหมือนฟืนเผาผี อีกครั้งหนึ่งข้าฯ ไปดูกับคุณป้าบนพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ พระนั่งเกล้าฯ เสด็จทอดพระเนตรกับข้างใน…” 

นักประวัติศาสตร์ลาววิเคราะห์สาเหตุของสงครามเจ้าอนุวงศ์ไว้ประการหนึ่งว่า เจ้าอนุวงศ์ถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้าราชวงศ์โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ และเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีขนไปปากน้ำไม่พอใจเรื่องที่คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า 

“ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว”

คลิกอ่านเพิ่มเติม


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2563