ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีเหตุที่เป็นเรื่องราวใหญ่โตโจษจันไปทั่วทั้งพระนคร เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูธร วิวาท เจ้าพระยามหาเสนา (สมุหพระกลาโหม) จนความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นตระลาการชำระความในครั้งนี้
เหตุเกิดในวันงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระองค์ทรงเป็นน้องสาวร่วมอุทรมารดาเดียวกันกับรัชกาลที่ 2 ที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และขณะนั้นรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระชนมพรรษาเกือบ 60 พรรษา ถือว่ามากในยุคสมัยนั้น ทรงสูญเสียพระญาติใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำใจได้
ทางราชสำนักได้สร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวงและจัดให้มีการมหรสพถึงสี่วันสี่คืน ผู้คนในพระนครต่างพากันไปยังสนามหลวง นอกจากจะถวายอาลัยแด่กรมหลวงเทพยวดีแล้ว ยังออกทุกข์คลายเศร้าไปพร้อมกันด้วย เมื่อมีงานมหรสพรื่นเริงจากการออกทุกข์ผู้คนย่อมไปร่วมสนุกสนานเป็นวิสัยปกติทั่วไป ทั้งผู้ดีมีตระกูลสูงหรือไพร่ฟ้าสามัญชน
คนหมู่มากมาอยู่รวมกันย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ เช่นงานออกพระเมรุคราวนี้ที่เจ้าพระยามหาเสนา (บุญสังข์) ได้พาภรรยาน้อยไปดูการชกมวย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหรสพที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก ครั้นเมื่อการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยจึงเดินทางกลับบ้านช่อง เจ้าพระยามหาเสนาพร้อมด้วยขบวนบ่าวไพร่ก็เดินทางกลับ จนถึงมุมวังกรมหมื่นเทพพลภักดีจะเข้าประตูวิเศษไชยศรี มาออกประตูรัตนพิศาล มาลงเรือที่ท่าขุนนางเพื่อกลับเรือน
แต่ด้วยปริมาณคนที่คั่งค้างเพื่อรอเรือนั้นสะสมมากบริเวณประตูวังนี้เอง แคร่เจ้าพระยามหาเสนาและบ่าวไพร่ไม่สามารถไปไหนได้ อยู่ดี ๆ ก็มีแคร่เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) มาจากไหนก็ไม่ทราบแซงคิวไปก่อน (จอมปาด?)
เจ้าพระยามหาเสนาไม่พอใจว่าเหตุใดท่านเจ้าคุณอภัยภูธรจึงทำเช่นนี้ จึงเกิดการวิวาทกันขึ้น ทั้งทนายหน้าหอลงไปทั้งบ่าวไพร่ของท่านเจ้าคุณทั้งสองตะลุมบอนชกตีกันเป็นอลหม่าน พวกทนายเจ้าพระยามหาเสนาไปแย่งเอากระบี่เครื่องยศฝักทองของเจ้าพระยาอภัยภูธรมาอีก ผู้คนของท่านเจ้าคุณเจ็บต่างพกช้ำดำเขียวต่างพากันไปลงเรือที่เตรียมไว้
ข้างเจ้าพระยาอภัยภูธรมีบุตรหลานเป็นเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจอยู่หลายนาย เมื่อส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระมหามณเฑียรแล้วทราบข่าวว่าท่านเจ้าคุณมีเรื่อง จึงรวมตัวกันมาพบท่านเจ้าคุณอภัยภูธรหน้าศาลาลูกขุน เพื่อฟังความจากเจ้าตัวต้นเรื่อง ๆ แบบนี้คงยอมกันไม่ได้เป็นเด็ดขาด เสียอะไรเสียได้แต่เสียหน้าไม่ได้ ทั้งยังถูกดูหมิ่นด้วยการนำกระบี่เครื่องยศประจำตำแหน่งไปด้วย ต้องตามไปนำคืนมาให้ได้
เมื่อรู้แจ้งเช่นนี้แล้ว เหล่าลูกหลานท่านเจ้าคุณอภัยภูธรจึงวิ่งตามขบวนของเจ้าพระยามหาเสนาไปที่ท่าน้ำขุนนางจึงเกิดการวิวาทอีกครั้งหนึ่ง ชกต่อยตะลุมบอนกันพักใหญ่ ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูธรก็ได้เครื่องยศกลับคืนมา ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายต่างเจ็บเนื้อเจ็บตัวแบกหามกลับที่พักไปอย่างสะบักสะบอมแต่ใช่ว่าเรื่องจะจบเพียงเท่านี้
เล่ามาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจไม่ทราบว่าท่านเจ้าพระยาทั้งสองมีความสำคัญอย่างไร เรื่องราวเพียงเล็กน้อยเท่านี้จึงถูกบันทึกลงในพระราชพงศาวดารได้
เริ่มด้วยเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) เป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาศรี เจ้าจอมมารดาท่านแรกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากในเรื่องการรบ และท่านเจ้าคุณผู้นี้เอง
เมื่อครั้นเป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจ เป็นผู้เก็บบัตรสนเท่ห์ ซึ่งว่ากันว่า กาคาบมาทิ้งไว้บริเวณลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท บัตรสนเท่ห์นั้นกล่าวหาว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต กับพวกสมคบคิดก่อการกบฏ และเมื่อสอบสวนได้ความแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุชิตราชาไปจับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นดำรงพระอิสริยศพระเจ้าลูกยาเธอคงจะเกรงพระทัยท่านเจ้าพระยาอภัยภูธรผู้นี้ไม่น้อย เพราะเป็นผู้มีความดีความชอบการใหญ่เรื่องบัตรสนเท่ห์
ส่วนเจ้าพระยามหาเสนา (บุญสังข์) เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของเจ้าคุณหญิงทองอยู่ พระพี่นางที่ 2 ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ในสมัยนั้นเรียกกันว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ เจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) จึงนับเป็นพระญาติสนิท (ลูกผู้พี่) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีศักดิ์เป็นลุงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากประวัติคร่าว ๆ ของท่านเจ้าพระยาทั้งสองจะเห็นได้ว่าไม่ธรรมดาทั้งคู่ ทั้งศักดิ์ตระกูล ชาติกำเนิดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงทั้งคู่ และทั้งคู่ถือว่าอายุอานามมากแล้วนับว่าเป็นมวยถูกคู่ที่ชาวบ้านต่างจับตามองว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป
งานพระเมรุเสร็จสิ้นลงเจ้าพระยามหาเสนาไม่รอช้ากราบบังคมทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูธรต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงมิได้นิ่งนอนพระทัยต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นตระลาการชำระความ
การที่ชำระกันนั้นก็เป็นแต่เพียงการล้อเจ้าพระยามหาเสนาเล่น การไต่สวนไม่ทันแล้วเสร็จก็บังเกิดเหตุอุบาทว์ขึ้นหลายครั้ง ทั้งช้างเผือกคู่พระบารมีพระเจ้าแผ่นดินล้มลงและเรื่องเศร้าสลดที่สุดในแผ่นดินคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 สวรรคต
อาจต้องคำโบราณที่ว่า ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกันเป็นอุบาทว์มักเกิดเหตุใหญ่ต่าง ๆ เช่นเหตุการณ์นี้
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 รับสั่ง เจ้าเวียงจันทน์กบฏเพราะ “ท่านผู้ใหญ่” พูดหมิ่นลาว จะตัดหัวเจ้าอนุวงศ์
- ย้อนแย้ง! คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ขุนนางที่เคยล้มพระเจ้าตาก กลับหนุนเจ้าฟ้าเหม็นชิงบัลลังก์
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร. พิมพ์ครั้งที่ 14. (2554).
จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เวียงวัง เล่ม 4. กรุงเทพฯ : อักษรโสภณ. พิมพ์ครั้งที่ 1. (2560).
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา. (2555).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2561