ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
“กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” นับเป็นคดีใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ “เจ้าฟ้าเหม็น” หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องพระราชอาญาประหารชีวิตด้วยโทษกบฏต่อแผ่นดิน คิดล้มล้างราชบัลลังก์รัชกาลที่ 2
แต่คดีนี้มีข้อสงสัยและมีความไม่สมเหตุสมผลประการหนึ่ง คือ กลุ่มขุนนางที่สนับสนุนเจ้าฟ้าเหม็นก่อกบฏล้วนแต่เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง หรือ “ข้าหลวงเดิม” ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมก่อการโค่นล้มราชบัลลังก์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
คดีกบฏ
เจ้าฟ้าเหม็น ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 ดังนั้น เจ้าฟ้าเหม็นจึงทรงเป็น “หลานตา” ของรัชกาลที่ 1 จึงไม่ถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตในคราวผลัดแผ่นดิน ด้วยขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา ขณะที่พระญาติวงศ์ส่วนใหญ่รวมทั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชบิดา ถูกสำเร็จโทษไปสิ้น ครั้นเจ้าฟ้าเหม็นเจริญพระชนมายุก็ทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอโปรดของรัชกาลที่ 1 มาก ถึงกับได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมที่กรมขุนกษัตรานุชิต
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน ก็เกิดคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น เหตุเกิดจากมีอีกาคาบ “บัตรสนเท่ห์” ในนั้นมีเนื้อความกล่าวโทษว่าทรงคบคิดกับขุนนางกลุ่มหนึ่งจะแย่งชิงราชสมบัติ ปรากฏในพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ดังนี้
“ครั้นเดือน 10 ขึ้น 2 ค่ำ มีกาคาบหนังสือทิ้งที่ต้นแจงหน้าพระมหาปราสาท พระยาอนุชิตราชาเป็นผู้เก็บได้ อ่านดูใจความว่า พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งเป็นกรมขุนกระษัตรานุชิต เป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรี กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคนคือ นายหนูดำหนึ่ง จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง คบคิดกับขุนนางเป็นหลายนายจะแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึงนำความขึ้นกราบทูลแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว รุ่งขึ้นวันจันทร์ เดือน 10 ขึ้น 3 ค่ำ จึงให้นายเวรกรมพระตำรวจวังไปหากรมขุนกระษัตรานุชิตเข้ามาที่ประตูพิมานไชยศรีสองชั้นแล้วจับ”
แม้ในพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จะระบุว่า ในบัตรสนเท่ห์กล่าวถึงเจ้าฟ้าเหม็นคิดกระทำการล้มล้างราชบัลลังก์ แต่ในศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นเป็นกบฏ กลับไม่ได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าเหม็นแต่อย่างใด แต่ระบุว่าขุนนางคนหนึ่งไม่พอใจ และไม่ยอมเป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ในเรื่อง “กาคาบข่าว” นี้ยังปรากฎรายละเอียดเพิ่มเติมในศุภอักษรฯ ว่ามีประจักษ์พยานเห็น “อีกา” กันหลายคน ดังนี้ “ครั้น ณ วัน เดือน 9 แรม 11 ค่ำ ปีมแสงศก มีกาคาบกระดาษหนังสือมาทิ้งลงริมพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ตำรวจในล้อมวงรักษาพระองค์ได้เห็นเป็นอันมาก จึงนำเอาหนังสือไปแจ้งแก่พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจปฤกษาด้วยเสนาบดีนำเอาหนังสือขึ้นทูนเกล้าฯ ถวาย” รุ่งขึ้น รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวน ผู้ที่ทำการจับกุม คือ พระยาอนุชิตราชา นั่นเอง
ส่วนเจ้านายอีก 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีส่วนในการก่อกบฏ คือ “นายหนูดำ” หรือพระองค์เจ้าชายอรนิภา และ “เจ้าจอมมารดาสำลี” หรือพระเจ้าหญิงสำลีวรรณ โดยภายหลังได้เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1) ซึ่งต่อมาได้เป็นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2
เหตุการณ์การจับกุมเจ้าจอมมารดาสำลี หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล. เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้เขียนไว้ว่า “ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา 9 ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา 6 ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนัก ในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป”
ชำระความ
รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ “พระองค์เจ้าชายทับ” (รัชกาลที่ 3) พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ทรงเป็นผู้ชำระความ ทรงสอบสวนทวนความได้ว่า มีขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยที่สำคัญ 2 คน คือ เจ้าพระยาพลเทพ (นายบุนนาก บ้านแม่ลา) และ พระอินทรเดช (กระต่าย)
ในคดีนี้ “เจ้าพระยาพลเทพ” ดูจะเป็นขุนนางที่มีตำแหน่งสูงที่สุด เจ้าพระยาผู้นี้เคยมีประวัติโดดเด่นมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็น “นายบุนนาก บ้านแม่ลา” ข้าราชการชั้นผู้น้อย เทียบได้กับกำนันบ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า อยุธยา โดยปรากฏความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อพระพิชิตณรงค์เร่งเงินอากรค่าภาคหลวงจนชาวบ้านเดือดร้อนหนัก นายบุนนากกับขุนสุระคิดอ่านเห็นว่าบ้านเมืองเป็นจลาจล พระเจ้าแผ่นดินข่มเหงเบียดเบียนราษฎร จึงคิด “ชักชวนซ่องสุมประชาชนทั้งปวงยกลงไปตีกรุงธนบุรี จับเจ้าแผ่นดินผู้อาสัตย์สำเร็จโทษเสีย แล้วจะถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้ครองแผ่นดินสืบไป”
ซึ่งนายบุนนากผู้นี้เป็นข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ 1 แม้จะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ก็มีไพร่พลในสังกัดพอสมควร เมื่อนั้นจึงบังเกิดความไม่สงบในแขวงกรุงเก่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้ “พระยาสรรค์” ขึ้นไปปราบความวุ่นวาย แต่นั่นก็นำมาสู่เหตุการณ์ “กบฏพระยาสรรค์” แม้ต่อมานายบุนนากจะเข้าร่วมกับพระยาสรรค์เข้ายึดกรุงธนบุรีจนสำเร็จ แต่ภายหลังนายบุนนากแยกตัวออกมาร่วมมือกับพระยาสุริยอภัยต่อกรกับพระยาสรรค์
นายบุนนากจึงเป็นผู้ที่มีความดีความชอบในเหตุการณ์ผลัดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นฝ่ายสนับสนุนรัชกาลที่ 1 กระทั่งภายหลังได้รับพระราชทานยศเป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต รักษากรุงเก่า และต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ เป็นถึงเสนาบดีกรมนา ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 โดยก่อนเกิดเหตุกบฏเจ้าฟ้าเหม็นเพียง 1 ปี คือปลาย พ.ศ. 2351 เจ้าพระยาพลเทพก็ได้เป็นแม่ทัพปราบกบฏที่หัวเมืองฝ่ายใต้ พอปีรุ่งขึ้นรัชกาลที่ 1 ก็เสด็จสวรรคต
ดูเหมือนว่าเจ้าพระยาผู้นี้จะเป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 1 มาตลอด แต่เหตุใดจึงตกไปอยู่ในรายชื่อผู้สมคบคิดโค่นราชบัลลังก์ได้ ยังเป็นข้อที่น่าสงสัย
จากการสืบสวนของพระองค์เจ้าชายทับ ทรงชี้มูลความผิดไปที่ “พระอินทรเดช” กรมพระตำรวจนอกซ้ายว่า เป็นต้นคิดชักชวนพรรคพวกให้ก่อการชิงราชบัลลังก์ โดยในศุภอักษรฯ กล่าวถึงพระอินทรเดชผู้นี้ว่า “ในหนังสือนั้นเป็นใจความว่า อ้ายกระต่ายอินทรเดชะ พูดกับอ้ายเมืองสารวัดว่า ล้นเกล้า กรมพระราชวังบวรฯ มีบุญแล้วไม่ทรงพระเมตตาเหมือนแต่ก่อน ถึงจะเป็นเจ้าแผ่นดินก็หายอมเป็นข้าไม่”
“อ้ายเมืองสารวัด” ผู้นี้ไม่ใช่พวกเดียวกับกลุ่มกบฏเป็นแน่ เป็นแต่เพียงผู้ทราบเรื่องว่าพระอินทรเดชจะคิดก่อการ อ้ายเมืองสารวัดผู้นี้คงจะนำเรื่องนี้ส่งต่อให้ผู้อื่นอย่างไรไม่ทราบชัด อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จนเรื่องนี้เข้าถึงหูของผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ หรือผู้เขียนบัตรสนเท่ห์อาจจะแอบได้ยินพระอินทรเดชพูดคุยกับอ้ายเมืองสารวัดก็เป็นได้ หรือผู้เขียนบัตรสนเท่ห์อาจแต่งเรื่องขึ้นเองทั้งหมด แล้วสร้างประจักษ์พยานเท็จขึ้นมา
ส่วนประวัติของพระอินทรเดช เดิมมียศเป็นจมื่นราชาบาล เคยอยู่ในกองทัพของเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) คราวศึกตีเมืองทวายในสมัยรัชกาลที่ 1 ในการศึกครั้งนี้กองทัพของเจ้าพระยามหาเสนาเสียทีแก่กองทัพพม่า ต้องถอยร่นมาถึงที่ตั้งค่ายของกองทัพของพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นทัพหน้าของกองทัพหลวง
แต่เมื่อเกิดเหตุคับขัน พระยาอภัยรณฤทธิ์กลับไม่ยอมเปิดประตูให้กองทัพของเจ้าพระยามหาเสนาเข้าไป แม้จมื่นราชาบาลเรียกให้เปิดประตูอยู่หลายครั้งก็ไม่เป็นผล กองทัพพม่าที่ตามมาได้รุกเข้าตีจนถึงหน้าค่าย ทำให้แม่ทัพ คือ เจ้าพระยามหาเสนาตายในที่รบ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ 1 ทรงพระพิโรธมาก รับสั่งประหารชีวิตพระยาอภัยรณฤทธิ์ ส่วนจมื่นราชาบาลมีความดีความชอบ จนภายหลังได้เป็นพระอินทรเดช รับราชการในกรมพระตำรวจสืบมาจนเกิดเรื่องกบฏเจ้าฟ้าเหม็น
รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเหตุการณ์กบฏนี้ไว้ในโคลงปราบดาภิเษก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พระอินทรเดชเป็นต้นคิดล้มล้างราชบัลลังก์ ส่วนเจ้าฟ้าเหม็นถูกขุนนางกลุ่มนี้ “เสี้ยม” ดังนี้
ไป่นานกาคาบฟ้อง ลิ่วลม มาเฮย
เหตุพระตำรวจกรม นอกซ้าย
ใจพาลพวกพาลผสม เสี้ยมพระ หลานนา
แข่งคิดทรยศร้าย เร่งล้างฤาหลอ
เสียพระญาติเจ้าหนึ่งแล้ สิบขุน นางเฮย
ทหารบ่กลัวเกรงบุญ บัดม้วย
ใครฤๅไป่คิดคุณ ขบถต่อ ท่านนา
แม่นจะปลงชีพด้วย ดาพไม้จันทน์จริง
นอกเหนือจาก เจ้าพระยาพลเทพ (นายบุนนาก บ้านแม่ลา) และพระอินทรเดช (กระต่าย) แล้ว ในจำนวน “สิบขุนนาง” เหล่านั้นยังประกอบไปด้วย พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม), พระยาราม (ทอง), จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน), นายขุนเนน (หลานเจ้าพระยาพลเทพ), สมิงรอดสงคราม, สมิงศิริบุญ (โดด) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา, สมิงพัตเบิด (ม่วง) และสมิงปอนทละ
ขุนนางเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้าหลวงเดิม รับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 1 ทั้ง “พระยาเพ็ชรปาณี” ซึ่งเคยเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม คุมพระราชสาส์นและเครื่องสำหรับกษัตริย์ออกไปถวายเมื่อ พ.ศ. 2346 ทั้ง “สมิงศิริบุญ” ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา หรือพระยาเจ่ง ขุนนางมอญที่สนับสนุนรัชกาลที่ 1 และต่อสู้กับพระยารามัญ ขุนนางมอญอีกฝ่ายที่สนับสนุนพระยาสรรค์
นอกจากขุนนางทั้ง 10 คน รายชื่อผู้ก่อการยังมีข้าในกรมเจ้าฟ้าเหม็นอีก 30 คน ที่ต้องพระราชอาญาประหารชีวิต รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ รวมเวลาปราบกบฏตั้งแต่เหตุการณ์กาคาบข่าวจนถึงการประหารชีวิตเสร็จสิ้นใน 4 วัน
อย่างไรก็ตาม สำนวนการสอบสวนนั้นไม่สามารถชี้มูลความผิดไปที่เจ้าฟ้าเหม็นได้ทั้งหมด ดังปรากฏความในศุภอักษรฯ ว่า “จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ว่า อ้ายเมืองให้การถึงหม่อมเหม็น ทั้งนี้ยังเลื่อนลอยอยู่เห็นหาจริงไม่ แต่ทะว่าเป็นความแผ่นดิน จึงให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตริตรองชำระเอาความจริง”
ดังนั้น จึงต้องนำตัวผู้ต้องหามาสืบสวนอีก ปรากฏว่าให้คำตรงกันหลายปาก และเมื่อสอบสวนเจ้าฟ้าเหม็นก็ทรงรับสารภาพ “จึงให้ถามหม่อมเหม็น ๆ ก็รับเป็นสัจสมคำอ้ายมีชื่อสิ้นทั้งนั้น” แต่พึงคำนึงว่ากระบวนการการสอบสวนในสมัยนั้นที่ใช้ “จารีตนครบาล” คือ การทรมานให้รับสารภาพ ทำให้ผู้ต้องหาได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสที่ว่าตายเสียยังดีกว่า ดังนั้น คำรับสารภาพอาจไม่ใช่คำกล่าวที่เป็นความจริงเสมอไป สารภาพทั้งที่ผิดหรือไม่ผิด สามารถเกิดขึ้นได้ในกระบวนการเช่นนี้
เจ้าฟ้าเหม็นทรงถูกถอดยศเป็นหม่อมเหม็น แล้วนำตัวไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา ส่วนพระโอรสอีก 6 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าชายใหญ่, หม่อมเจ้าชายสุวรรณ, หม่อมเจ้าชายหนูเผือก, หม่อมเจ้าชายสวัสดิ์, หม่อมเจ้าชายเล็ก และหม่อมเจ้าชายแดง ทรงถูกนำไปถ่วงน้ำที่ปากอ่าว ด้วยเหตุ “ตัดหนามอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก”
เหตุการณ์หลังคดี
เมื่อประหารชีวิตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นเสร็จสิ้นแล้ว วังท่าพระ ซึ่งเป็นวังที่ประทับของเจ้าฟ้าเหม็นก็ว่างลง ดังนั้น รัชกาลที่ 2 จึงพระราชทานวังนี้พร้อมด้วยบ่าวไพร่และทรัพย์สินของเจ้าฟ้าเหม็นให้พระองค์เจ้าชายทับ ผู้ทรงชำระคดีความ วังท่าพระจึงใช้เป็นวังที่ประทับและที่ว่าราชการของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในเวลาต่อมา
ส่วนพระยาอนุชิตราชา ผู้เก็บบัตรสนเท่ห์ได้ ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกในรัชกาลที่ 2 ส่วนอีกาก็ได้รับความดีความชอบเช่นเดียวกัน โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า กามีความชอบโปรดให้พระราชทานข้าวกาตั้งแต่นั้นมา ดังที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
ควรเห็นว่าไท้เทพ จงผลาญ นาพ่อ
กาก็เป็นเดียรัจฉาน ชาติข้า
ดังฤาออกนามสาร ส่อโทษ ถวายแฮ
แท้ว่าบุญเจ้าหล้า หากให้ดาลดล
ปางประหยัดยกชอบให้ แก่กา
ทั่วนิคมสีมา ท่านนั้น
ผู้ใดอย่าริษยา ยีย่ำ มันแฮ
บำเหน็จกาเข้าปั้น ไปเว้นวันเสมอ
อย่างไรก็ดี คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่าที่ปรากฏตามหลักฐาน มีมูลเหตุหลายประการ ประกอบกับมีความไม่สมเหตุสมผลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีขุนนางผู้ก่อการทั้งหมดล้วนแต่เป็นข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ 1 จึงเกิดความย้อนแย้งว่า เหตุใดกลุ่มกบฏจึงคิดยกเอาเจ้าฟ้าเหม็นเป็นกษัตริย์ ทั้งที่ข้าหลวงเดิมเหล่านี้ คือ ผู้ร่วมก่อการครั้งโค่นล้มราชบัลลังก์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งสิ้น
เจ้าฟ้าเหม็นอาจไม่ได้ทรงเป็นต้นคิดล้มล้างราชบัลลังก์ แต่ด้วยขุนนางกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 อาจเกิดความปริวิตกว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ “มีบุญแล้วไม่ทรงพระเมตตาเหมือนแต่ก่อน” และอาจจะคาดการณ์ไปว่า การแต่งตั้งขุนนางหรือตำแหน่งการบริหารงานบ้านเมืองต่าง ๆ ในรัชกาลใหม่นั้น ขุนนางกลุ่มนี้อาจจะหลุด “โผ” จึงคิดเปลี่ยนตัวกษัตริย์พระองค์ใหม่เสีย
ปรามินทร์ เครือทอง ตั้งสมมติฐานคดีนี้ไว้ 2 ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง กลุ่มขุนนางกลุ่มนี้ไม่ยอมรับรัชกาลที่ 2 ให้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา โดยเห็นว่าไม่ทรงพระเมตตาเหมือนแต่ก่อน จึงคิดจะยกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยเลือกเจ้าฟ้าเหม็นขึ้นมา แต่สมมติฐานนี้กลับมีข้อย้อนแย้งดังที่กล่าวไปข้างต้น ประเด็นนี้จึงยังเป็นที่น่าสงสัย
สอง เหตุการณ์นี้เป็นผลพวงจากความขัดแย้งของกลุ่มขุนนาง โดยอาจมีการกุเรื่องขึ้นมาหวังกำจัดศัตรูฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในประเด็นบัตรสนเท่ห์นี้ หากการก่อกบฏเป็นจริงตามฟ้อง ก็สามารถนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลได้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้บัตรสนเท่ห์ ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายหนึ่งไม่มีหลักฐานสำคัญชี้อย่างชัดเจนว่ากำลังจะมีการล้มล้างราชบัลลังก์ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่มีเหตุจูงใจและพละกำลังมากพอที่จะคิดการใหญ่ให้สำเร็จได้
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” เป็นเกมการเมืองในการกำจัดอำนาจของขุนนางเก่าใน “แผ่นดินต้น” เพื่อปูทางสร้างฐานอำนาจของขุนนางใหม่ใน “แผ่นดินกลาง” แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 2
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. (2547). กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565