ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย*

สภาพอันรกร้างของวัดวาอารามภายในเวียงจันทน์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488 ขอขอบคุณศูนย์วิจัยพหุลักษณ์ลุ่มน้ำโขงที่ให้ทุนโครงการวิจัยนี้


บทนำ

สงครามเจ้าอนุวงศ์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2369-71 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (2367-94) เป็นประวัติศาสตร์ตอนที่สำคัญมากทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและในประวัติศาสตร์ลาว ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามของพวกกบฏ หัวหน้ากบฏคือเจ้าอนุวงศ์เป็นคนไม่ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรง Promote เจ้าอนุวงศ์ที่ทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย่) ของเจ้าอนุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ เพราะเชื่อในความจงรักภักดีในเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเคยช่วยไทยรบกับพม่ามาหลายครั้ง [1] แต่เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทรงเป็นกบฏในต้นรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงทรงแค้นพระทัยมากทรงสั่งให้ทำลายเวียงจันทน์มิให้เป็นเมืองอีกต่อไป

ในประวัติศาสตร์ลาวถือว่า สงครามเจ้าอนุวงศ์เป็นสงครามที่ควรยกย่อง เพราะเป็นสงครามปลดแอกลาวให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย [2] ผลของสงครามใหญ่หลวงนักโดยเฉพาะการกวาดต้อนประชากรจากเวียงจันทน์และลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเอามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคอีสาน [3] จนเป็นเหตุให้ประชากรลาวเหลือน้อยมาจนทุกวันนี้ (ปัจจุบันประเทศลาวมีประชากร 5.7 ล้านคน [4] ภาคอีสาน 21.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2546) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเสนอในบทความนี้ ประเด็นที่จะนำเสนอคือ วิเคราะห์สาเหตุของความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์เพื่อให้หายสงสัยว่ากองทัพเจ้าอนุวงศ์แพ้เพราะอะไร เพราะฝ่ายไทยมีอาวุธดีกว่าหรือเพราะฝ่ายไทยมีกำลังมากกว่า หรือเพราะฝ่ายลาวประเมินกำลังพันธมิตรและศัตรูผิด หรือเพราะหลายๆ ปัจจัย โดยจะกล่าวถึงสาเหตุของสงครามและสงครามโดยสังเขปเสียก่อน

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

สาเหตุของสงครามโดยสังเขป

หลักฐานที่เป็นทางการที่สุดของฝ่ายไทยคือประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงไว้ สรุปได้ดังนี้

1. ไทยปกครองลาวและภาคอีสานทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไทยปกครองลาวเป็น 3 ส่วน คือ แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ และแคว้นจำปาศักดิ์ แต่ละแคว้นไม่ขึ้นแก่กันขึ้นกับกรุงเทพฯ ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 เกิดกบฏสาเกียดโง้งในปี พ.ศ. 2362 เป็นกบฏของชาวข่าในพื้นที่ภาคใต้ของลาว กองทัพของเวียงจันทน์โดยการนำของเจ้าราชบุตรโย่ (ราชบุตรองค์ที่ 3 ของเจ้าอนุวงศ์) ปราบกบฏข่าลงได้

เจ้าอนุวงศ์ทรงเสนอให้รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่ให้เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงมีอำนาจมากเกินไป แต่รัชกาลที่ 2 ทรงเชื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า ถ้าลาวเข้มแข็งจะช่วยป้องกันมิให้ญวนขยายอำนาจเข้ามา การที่รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์มีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก “เพราะสามารถจะบังคับบัญชาว่ากล่าวบ้านเมืองทางชายพระราชทานอาณาเขตได้ตั้งแต่ด้านเหนือลงมาตลอดด้านตะวันออกจนต่อแดนกรุงกัมพูชา เจ้าอนุวงศ์ก็มีใจกำเริบขึ้น” [5]

2. เจ้าอนุวงศ์ทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันทน์ที่กวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่ไทยกวาดต้อนมา “พากันกำเริบ” เอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามประสงค์เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศกลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ตั้งต้นคิดกบฏ

3. เจ้าอนุวงศ์ทรงเห็นว่าการที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในเขมรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยก็ยอมเพราะไทยเกรงจะเกิดศึกกระหนาบทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์ทรงเอาใจออกห่างจากไทยไปฝักใฝ่ญวน หากเวียงจันทน์แยกตัวจากไทยก็คงได้ญวนเป็นที่พึ่งไทยก็อาจไม่กล้าทำศึกหลายด้าน

4. มีข่าวลือถึงเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2369 ว่าไทยวิวาทกับอังกฤษ อังกฤษจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เวียงจันทน์จะออกหน้าก่อการกบฏ [6]

เพื่อความเป็นธรรมต่อเจ้าอนุวงศ์จึงนำเหตุผลฝ่ายลาวมาเปรียบเทียบกับหลักฐานฝ่ายไทย นักประวัติศาสตร์ลาวที่เด่นที่สุดเป็นที่ยอมรับของลาวในสมัยสังคมนิยมก็คือ ดร. มยุรี และ ดร. เผยพัน เหง้าสีวัทน์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของสงครามเจ้าอนุวงศ์ไว้ดังนี้

1. เพราะนโยบายของ “บางกอก” ที่พยายามทำให้ “ลาว” กลายเป็น “สยาม” ทำให้ลาวกลายเป็นแขวงหนึ่งของสยาม โดย ดร. มยุรี-ดร. เผยพันตีความจากสักเลกในภาคอีสานในต้นรัชกาลที่ 3 ว่าเป็นความพยายามที่จะกลืนชาติลาว

2. ไทยกดขี่ลาวมากโดยดอกเตอร์ทั้งสองได้ยกกรณีไทยใช้ให้คนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรี แล้วขนไปสมุทรปราการ กับเกณฑ์ชาวลาวไปตัดไม้ไผ่ 5,000 ลำ เพื่อเอาไปปิดขวางปากน้ำเพื่อป้องกันการโจมตีของอังกฤษ

3. เจ้าอนุวงศ์ถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้าราชวงศ์โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ และเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีขนไปปากน้ำไม่พอใจเรื่องที่คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว”

4. ประเด็นเศรษฐกิจ ไทยพยายามปิดล้อมในการส่งสินค้าออกไปทางเขมรซึ่งขุนนางไทยผูกขาดการค้าอยู่ การขูดรีดส่วยจากลาวก็เป็นสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้ด้วย [7]

ระเบียงหอพระแก้ว เวียงจันทน์ เต็มไปด้วยชิ้นส่วนประติมากรรมที่หักพัง ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

สงครามเจ้าอนุวงศ์โดยสังเขป

สงครามในยุค 180 ปีก่อนของไทยต่างจากสงครามในสมัยปัจจุบันที่เราเห็นในข่าวโทรทัศน์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในยุคนั้นสงครามมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเก็บทรัพย์จับเชลยกลับมาไว้ที่เมืองหลวงของตน ส่วนการยึดครองพื้นที่เป็นเป้าหมายรอง หากมีกำลังมากก็ยึดครองพื้นที่ของศัตรูด้วย หากมีกำลังไม่มากพอก็ตั้งเจ้าพื้นเมืองปกครองในฐานะประเทศราช ซึ่งวิธีหลังนี้ไทยใช้กับล้านนา ล้านช้าง เขมร และหัวเมืองมลายู [8]

สำหรับเจ้าอนุวงศ์เป้าหมายในการทำสงครามคือการปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย สำหรับวิธีการปลดแอกที่เจ้าอนุวงศ์ทรงวางแผนเอาไว้คือ ระดมพลจากเมืองที่เวียงจันทน์บังคับบัญชามาไว้ที่เวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์ เพื่อฝึกทหารให้พร้อมรบยิ่งขึ้น แล้วส่งขุนนางพร้อมทหารส่วนหนึ่งออกไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ในภาคอีสานให้เข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ส่วนการเข้าตีกรุงเทพฯ ถ้าตีได้ก็ตี ถ้าดูท่าทีกรุงเทพฯ มีการป้องกันที่เข้มแข็งก็ไม่ตี แต่จะกวาดต้อนประชากรตามหัวเมืองรายทางที่กองทัพลาวผ่านกลับเอามาไว้ที่เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ [9]

นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังได้ส่งทูตไปชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ญวน หลวงพระบาง หัวเมืองล้านนามีน่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพระองค์ด้วย เพราะลำพังเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กำลังน้อยกว่าฝ่ายไทยมาก ทูตที่ส่งไปญวนไปก่อนการระดมพลที่เวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ แต่แคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่งที่กล่าวข้างบนส่งไปหลังจากมีการระดมพล หมายความว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามก่อนที่จะรู้ผลว่าอาณาจักรญวน แคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง จะเข้าร่วมสงครามกับพระองค์หรือไม่ อันนี้เป็นการตัดสินพระทัยที่รีบร้อนเกินไป เพราะปรากฏภายหลังจากสงครามดำเนินไปแล้วว่าอาณาจักรญวน กับแคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง มิได้เข้าช่วยในสงครามครั้งนี้ แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว [10]

แผนที่แสดงเมืองที่อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์

สำหรับเมืองในอีสานที่เจ้าอนุวงศ์ทรงส่งขุนนางและทหารไปเกลี้ยกล่อม ปรากฏว่าผลของการเกลี้ยกล่อมมีระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มี 2 เมืองที่เข้าร่วมอย่างเต็มที่คือ นครพนมกับจัตุรัส อีก 9 เมืองที่เข้าร่วมไม่เต็มที่เท่า 2 เมืองแรก คือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร และเมืองที่เจ้าเมืองไม่เข้าร่วมและถูกทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ฆ่าตายคือ เจ้าเมืองเขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเวียง ภูเขียว ชัยภูมิ หล่มสัก และขุขันธ์ สำหรับ ขุขันธ ตอนแรกให้ความร่วมมือดีมาก แต่ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์ (เจ้าราชบุตรโย่) เกิดไม่ไว้ใจจึงฆ่าเสีย [11]

สำหรับการสงครามกล่าวโดยย่อก็คือ กองทัพฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ตอนแรก (ช่วง 6 เดือนจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2369 – มีนาคม พ.ศ. 2369) (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) มีกำลังประมาณ 17,660-35,000 คน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2370 มีกำลังประมาณ 40,000-50,000 คน [12] กองทัพลาวยกเข้ามา 2 สายหลัก คือ สายแรกยกจากเวียงจันทน์เข้ามาทาง 2 ทาง คือ หนองบัวลำภู กับสกลนคร จากหนองบัวลำภูตรงมายึดเมืองโคราช ส่วนทางสกลนคร ยกมาทางกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ตามลำดับ สายที่สองยกมาจากจำปาศักดิ์เข้ามาทางอุบลราชธานีแล้วแยกเป็นสองทาง ทางหนึ่งยกไปทางสุวรรณภูมิ อีกทางยกไปทางศรีสะเกษ ขุขันธ สังขะ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ประโคนชัย นางรอง

การปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กับเมืองรายทางมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายกู้ชาติ แต่เจ้าเมืองกรมการเมืองส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกบฏ และเกรงจะต้องเผชิญกับการตีโต้ของฝ่ายไทย แต่เจ้าเมืองไม่มีกำลังจะต่อต้านกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติจึงต้องทำเป็นเออออเห็นด้วยกับฝ่ายกู้ชาติ กองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาดต้อนประชากรจากพื้นที่เขตโคราช-ลุ่มน้ำชีตอนต้น 11 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางถึงตอนปลาย 7 เมือง พื้นที่ตอนใต้ 9 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 8 เมือง รวม 35 เมือง [13] เมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดคือเมืองสระบุรี เมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของฝ่ายกรุงเทพฯ ในภาคอีสานและลาวคือเมืองโคราชก็ยึดอยู่ 37 วัน ก็ถูกกวาดต้อนประชากรราว 18,000 คน หากรวมประชากรทั้ง 35 เมืองที่ถูกกองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาด ต้อนไปรวมประมาณ 54,320-95,216 คน [14]

แผนที่แสดงเมืองที่ประชากรถูกฝ่ายเวียงจันทน์กวาดต้อน

การกบฏของเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ครั้งนี้ “ประกาศการกู้ชาติ” ในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2369 ระดมพลและฝึกทหารราว 3 เดือน ระหว่างกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2369 (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) แล้วจึงเคลื่อนกำลังมายึดเมืองโคราชในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 (2370) รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จึงทราบข่าวกบฏ หลังจากที่ฝ่ายกบฏได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 5 เดือน วันที่รัฐบาลทราบข่าวกบฏยกกำลังมาถึงเมืองสระบุรี [15] ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 110 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทัพเพียง 3-4 วัน แสดงให้เห็นว่าการข่าวของไทยล้าหลังมาก แต่โชคดีของฝ่ายไทยที่กองทัพฝ่ายกบฏมิได้บุกกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจยกทัพกลับพร้อมกับเก็บทรัพย์จับเชลยกลับเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ [16]

กบฏครั้งนี้ใหญ่หลวงมากในสายตาของรัฐบาลไทย เห็นได้จากการออกคำสั่งเกณฑ์กำลังจากหัวเมืองทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ขึ้นไปจนถึงหลวงพระบาง แม้กระทั่งภาคใต้เกณฑ์ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช แต่อย่างไรก็ตามกำลังหลักที่รัฐบาลไทยได้ใช้ในการรบจริงๆ เป็นกำลังจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิชัย ตาก เชียงทองเดิน) กองทัพไทยเดินทัพเข้าสู่ภาคอีสาน 5 ทาง คือ เข้าอีสานใต้ทางประโคนชัย บุรีรัมย์ ตีค่ายมูลเค็งที่พิมาย สุวรรณภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ จากจำปาศักดิ์ตีขึ้นไปตามแม่น้ำโขงผ่านเขมราฐ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร ทัพนี้มีบทบาทเด่นที่สุด แม่ทัพคือ พระยาราชสุภาวดีหรือเจ้าพระยาบดินทร์เดชาในเวลาต่อมา ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางปากช่องโคราช มุ่งเข้าตีหนองบัวลำภู ทัพที่ 3 ผ่านสระบุรี ด่านขุนทด แล้วไปทางเดียวกับทัพที่ 2 ทัพที่ 4 ผ่านสระบุรี เข้าตีเพชรบูรณ์ หล่มสัก ทัพที่ 5 จากพิษณุโลก เข้าตีหล่มสัก แล้วแบ่งส่วนหนึ่งยกขึ้นไปทางด่านซ้าย เมืองเลย มีเป้าหมายที่เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งจากหล่มสัก เข้าตีเมืองหนองบัวลำภู [17]

รูปปั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา แม่ทัพฝ่ายไทยคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ขนาดเท่าคนจริง หล่อด้วยโลหะ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑

กองกำลังหลักของฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ มี 5 แห่ง ตั้งรับอยู่ที่ค่ายมูลเค็ง ยโสธร หล่มสัก หนองบัวลำภู และเวียงจันทน์ การรบที่ดุเดือดที่สุดคือการรบที่หนองบัวลำภูซึ่งฝ่ายลาวต่อต้านอย่างเหนียวแน่นในการรบวันที่ 3-4 พฤษภาคม และ 10-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 ในที่สุดฝ่ายไทยก็ตีแตกทุกแห่ง เจ้าอนุวงศ์เมื่อทรงทราบว่าหนองบัวลำภูแตกก็เสด็จหนีไปเมืองญวน กองทัพยึดเมืองเวียงจันทน์ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 [18]

หลังจากรัฐบาลไทยทราบข่าวกบฏประมาณ 3 เดือน กับ 1 สัปดาห์ นับว่ากองทัพไทยมีประสิทธิภาพสูงทีเดียว แต่การกบฏมิได้ยุติเพียงนั้น เพราะภายหลังจากฝ่ายไทยเก็บทรัพย์จับเชลยกลับมาแล้ว เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยการเมืองอยู่ในเมืองญวน 1 ปี 78 วัน [19] ก็เสด็จกลับเข้าเมืองเวียงจันทน์อีก พร้อมกับคณะทูตญวนซึ่งเดินทางเข้ามาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าอนุวงศ์

ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2371 หลังจากมาถึงเวียงจันทน์ได้ไม่ถึง 2 วัน ทหารลาวก็ฆ่าฟันทหารไทย 300 คน ที่รักษาการณ์ในเวียงจันทน์ตายเกือบหมด เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รวบรวมกำลังทหารแถวเมืองเสลภูมิ ยโสธรยกกลับมาตีโต้กองกำลังของฝ่ายลาวซึ่งนำโดยราชวงศ์ที่บ้านบกหวานใต้เมืองหนองคายลงมาเล็กน้อย สู้กันจนแม่ทัพทั้งสองบาดเจ็บ แต่ในสุดกองทัพลาวก็แตก ทัพไทยเข้ายึดเวียงจันทน์ได้เป็นครั้งที่สองในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2371 [20]

ส่วนเจ้าอนุวงศ์เสด็จหนีไปเมืองญวนเหมือนครั้งก่อน แต่ไปไม่รอด เจ้าน้อยเมืองพวนได้แจ้งที่ซ่อนของเจ้าอนุวงศ์ให้ฝ่ายไทยทราบ ฝ่ายไทยจึงจับเจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ส่งกรุงเทพฯ พร้อมทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียราบ เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ถูกขังประจานที่ท้องสนามหลวง 7-8 วัน ก็ป่วยเป็นโรคลงโลหิตพิราลัยเมื่อชันษาได้ 61 ปี ครองราชย์จาก พ.ศ. 2347-70 รวม 23 ปี [21] เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียงจันทน์

วิเคราะห์สาเหตุความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์

หลักฐานที่ใช้วิเคราะห์หาสาเหตุความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ มาจากหลักฐานชั้นต้น คือจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ซึ่งบันทึกในขณะเกิดเหตุโดยเฉพาะรายงานของแม่ทัพนายกองขุนนาง [22] บันทึกคำให้การของเชลยที่ไทยจับมาหลายคน [23] ตลอดจนนิราศทัพเวียงจันทน์ซึ่งหม่อมเจ้าทับทรงนิพนธ์ พระองค์ทรงเป็นทหารของกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าในการรบที่หนองบัวลำภู ทรงเห็นเหตุการณ์รบอันดุเดือดด้วย (นิราศทัพเวียงจันทน์นี้ สำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2544 เป็นเอกสารชั้นต้นที่สำคัญมาก สำหรับการศึกษาสงครามเจ้าอนุวงศ์) สาเหตุของความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ตรงตามตำราของซุนวู และเหมาเจ๋อตุงที่กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” แต่เจ้าอนุวงศ์ทรงรู้เฉพาะกำลังฝ่ายตน แต่ทรงไม่รู้กำลังฝ่ายศัตรูคือฝ่ายไทย ประเมินผิดในฝ่ายที่พระองค์ทรงคิดว่าเป็นพันธมิตรของพระองค์ คือญวน หลวงพระบาง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ดังจะวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

1. เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมินกำลังฝ่ายไทยผิด คิดว่าแม่ทัพนายกองรุ่นใหม่ๆ ที่เก่งๆ คงจะมีน้อยกว่าแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นการประเมินที่ผิด สงครามเจ้าอนุวงศ์ทำให้เห็นแม่ทัพไทยที่เก่งกาจกล้าหาญหลายคน อาทิ กรมหมื่นนเรศโยธี แม่ทัพหน้าบริเวณลุ่มน้ำชีตอนต้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี แม่ทัพไทยด้านอีสานกลาง อีสานตะวันออก และพระยาเพชรพิไชย แม่ทัพหน้าลุ่มน้ำป่าสัก [24]

2. เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมิน “พันธมิตร” ของพระองค์ผิดพลาดไปหมด ทรงคิดว่า “ลาวพุงดำ” อันประกอบไปด้วย เชียง ใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน จะเข้าช่วยพระองค์ พระองค์ทรงส่งทูตไปชักชวนลาวพุงดำเหล่านี้ ซึ่งเป็นลาวด้วยกัน ไทยปกครองแบบประเทศราชตั้งแต่ พ.ศ. 2317 ก่อนไทยปกครองล้านช้าง 5 ปี บางเมือง เช่น น่าน มีความสนิทสนมกับเจ้าราชบุตรเหง้าของเจ้าอนุวงศ์มากขนาดดื่มน้ำสาบานเป็นเพื่อนแท้กันมาแล้ว [25] สำหรับหลวงพระบางเจ้าอนุวงศ์ก็ส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมมาเป็นพวก ถึงแม้จะเคยขัดแย้งกันมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งกับเวียงจันทน์ แต่เจ้าอนุวงศ์ทรงมองหลวงพระบางในแง่บวกคิดว่า คราวนี้เป็นศึกระหว่างลาวกับไทย

อย่างไรเสียหลวงพระบางกับเวียงจันทน์ก็เป็นลาวด้วยกัน อย่างไรเสียน่าจะช่วยลาวมากกว่าไปช่วยไทย [26] เจ้าอนุวงศ์ทรงสนิทสนมกับปลัดจันทา ปลัดน้อยยศ 2 คนนี้เป็นปลัดกองเมืองสระบุรี เป็นลาวพุงดำ ปลัด 2 คนนี้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองล้านนาทั้งห้ามาช่วยเวียงจันทน์หลายครั้ง ส่วนเมืองน่านก็มีหนังสือไปบอกให้เมืองแพร่ ลำปาง เชียงใหม่ยกทัพมาช่วยเวียงจันทน์ตีกรุงเทพฯ โดยในหนังสือนั้นบอกว่าให้ยกทัพมาช่วยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถูกกรมพระราชวังบวรฯ แย่งชิงอำนาจ แต่ล้านนาก็มิได้ตกหลุมพรางง่ายๆ เพราะการเป็นกบฏต่อไทยเป็นเรื่องใหญ่มาก ไทยมีประเทศราชมาก ไทยจะเกณฑ์หัวเมืองประเทศราชที่เหลือมาปราบกบฏเหมือนที่กำลังทำต่อเวียงจันทน์ ประเทศราชใดไม่มาช่วยตามคำสั่งของรัฐบาลไทยก็ถือเป็นกบฏไปด้วย ดังนั้นทางที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับประเทศราชก็คือ อยู่ฝ่ายไทย แต่ก็อยู่ฝ่ายไทยอย่างฉลาดคือยกทัพไปเวียงจันทน์แต่ไปอย่างช้าที่สุด เมื่อไปถึงไทยก็ยึดเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว ส่วนหลวงพระบางก็เข้ากับฝ่ายไทยเหมือนล้านนา

กล่าวโดยสรุปพันธมิตรที่เจ้าอนุวงศ์ทรงคาดหวังว่าจะอยู่ฝ่ายพระองค์เมื่อตอนเริ่มต้นของสงคราม แต่ต่อเมื่อเคลื่อนทัพไปไกลแล้วก็ทรงพบว่าหลวงพระบางและ 5 หัวเมืองล้านนาไม่มีทีท่าชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายพระองค์ พระองค์จึงทรงขอร้องให้หัวเมืองล้านนาทั้งห้าวางตัวเป็นกลาง พระองค์ก็ทรงพอพระทัยแล้ว [27] แต่พระองค์ก็ต้องทรงผิดหวัง เพราะหัวเมืองทั้ง 6 แห่งที่กล่าวข้างต้นเข้ากับฝ่ายไทยทั้งหมด

แผนที่แสดงการตีโต้ของฝ่ายไทยในสงครามเจ้าอนุวงศ์

สำหรับญวนเป็นอาณาจักรที่เจ้าอนุวงศ์ทรงคาดหวังมากว่าจะเป็นพันธมิตรของพระองค์ ทรงส่งทูตไปเจรจาหลายครั้ง ขอร้องให้ญวนโจมตีไทยทางปากน้ำเจ้าพระยา ยังมิทันได้คำตอบจากญวน พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามไปแล้ว องค์ต๋ากุนแม่ทัพใหญ่ของญวนในญวนใต้เห็นด้วยที่จะทำสงครามกับไทย แต่จักรพรรดิมินหม่างทรงรู้ว่าราชวงศ์จักรีมีพระคุณต่อจักรพรรดิยาลองในการทำสงครามกอบกู้ราชวงศ์เหวียนขึ้นมาได้ การมาช่วยลาวโจมตีไทยก็เหมือนคนอกตัญญู [28] ประกอบกับขณะนั้นเกิดอหิวาต์ระบาดในเมืองญวนคนตายเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าวญวนจึงวางเฉยต่อการชักชวนของเจ้าอนุวงศ์ดังกล่าว ตอนที่เจ้าอนุวงศ์ทรงบอกให้หัวเมืองล้านนาทั้งห้าวางตัวเป็นกลางนั้น พระองค์ยังทรงหวังว่าจะได้กำลังจากญวนมาช่วย เพราะพบหลักฐานในเอกสารชั้นต้นเป็นหนังสือที่แจ้งให้หัวเมืองล้านนาตอนหนึ่งว่า “เรากับเมืองญวนเท่านั้นก็สำเร็จโดยง่าย” [29] นี่คือการประเมินที่ผิดพลาดอย่างสำคัญของเจ้าอนุวงศ์

สำหรับอังกฤษ เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมินท่าทีผิดพลาดก่อนประเมินรัฐและหัวเมืองอื่น เป็นความผิดพลาดที่สำคัญกว่าความผิดพลาดอื่นด้วย เพราะปัจจัยที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยว่าถึงเวลาแล้ว ที่เวียงจันทน์จะต้องประกาศเอกราชจากไทยก็คืออังกฤษนั่นเอง กล่าวคือ ในช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษไม่ดีนัก อังกฤษส่งทูตคือกัปตันเฮนรี่ เบอร์นี่ มาเจรจาเพื่อทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับไทย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2368 เจรจาอยู่ 3 เดือนก็ยังไม่ยุติ เจ้าอนุวงศ์ก็เสด็จกลับเวียงจันทน์ และต่อมาก็มีข่าวลือไปถึงเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ว่าไทยมีเรื่องกับอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ. 1187 เลขที่ 5/ข ว่า

“เรา [เจ้าอนุวงศ์] ได้ยินข่าวทัพเรืออังกฤษก็มารบกวนปากน้ำ…น่าที่เราจะยกกองทัพใหญ่ไปตีกรุงเทพฯ ก็เห็นได้โดยง่ายเพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบ ทัพอังกฤษเป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ ไทยก็จะพว้าพวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง คงจะเสียทีเราเป็นมั่นคงไม่สงสัย” [30]

ข้อมูลเรื่องอังกฤษจะรบกับไทยนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งต่อชะตาของเวียงจันทน์ เป็นเรื่องที่โชคร้ายมากที่เจ้าอนุวงศ์ทรงเชื่อข้อมูลนี้ จึงทรงตัดสินพระทัย “กู้ชาติ” ทั้งๆ ที่กำลังทหารของพระองค์ยังไม่มากพอจะต่อกรกับไทยตามลำพัง ในแผนการสงครามกู้ชาติของพระองค์จึงมีอังกฤษเป็นพันธมิตร (ที่ไม่ได้เซ็นสัญญา) ที่รบกับไทยทางด้านปากน้ำเจ้าพระยา ส่วนฝ่ายเวียงจันทน์ตีไทยทางด้านเหนือและอาจจะมีญวนช่วยตีทางด้านปากน้ำอีกทัพ หากเป็นไปตามแผนที่จินตนาการไว้นี้ไทยจะต้องแย่แน่ๆ ฝ่ายเวียงจันทน์เองก็รบง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้กำลังมากมายก็อาจเอาชนะไทยได้ ในจินตนาการของพระองค์ยังทรงดึงล้านนาและหลวงพระบางให้ช่วยตีไทยทางเหนืออีกด้วย

โบสถ์วัดสีสะเกด สร้างโดยเจ้าอนุวงศ์ เป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายคราวกองทัพไทยทำลายเวียงจันทน์

แต่จินตนาการสงครามของพระองค์ต้องล้มเหลวเพราะเมื่อเวลาทำสงครามจริงพันธมิตรในจินตนาการของพระองค์กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง อังกฤษก็เซ็นสัญญาเบอร์นี่กับไทย ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 (4 เดือนหลังจากพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ) ญวนก็ไม่ได้ยกทัพมา หลวงพระบางและล้านนาไทยทั้งห้าก็ไม่ได้มาช่วยพระองค์ จึงมีแต่กำลังของเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์เท่านั้นก็ต้องรบกับไทยตามลำพัง

เรื่องอังกฤษรบกับไทย แม้ในเวลาต่อมาเจ้าอนุวงศ์คงจะทรงทราบว่าไม่จริง แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงทราบความจริงตอนไหน อาจจะเป็นตอนที่มาถึงโคราชแล้วก็ได้ ตอนที่กองทัพเวียงจันทน์มาถึงโคราชที่แรก แจ้งกับกรมการเมืองโคราชว่า ยกทัพมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษและขอเบิกข้าวจากฉางหลวงเมืองโคราช โดยอ้างว่าจะเอาไปเป็นเสบียง กรมการเมืองโคราชก็ไม่เคยทราบเรื่องไทยรบกับอังกฤษ ปกติเรื่องสำคัญขนาดนี้สมุหนายกจะต้องรีบแจ้งเจ้าเมืองโคราชให้ทราบอยู่แล้ว เพื่อเกณฑ์กองทัพเสบียง แต่นี่ไม่มีหนังสือแจ้งจึงดูจะไม่ค่อยเชื่อคำกล่าวอ้างของฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ แต่ด้วยกองทัพที่ยกมามากมาย กรมการเมืองจึงต้องยอมเปิดฉางข้าวให้กองทัพฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ กองทัพของเจ้าอนุวงศ์ตั้งมั่นอยู่ที่โคราชถึง 37 วันจึงถอนกลับเวียงจันทน์ ที่ตั้งอยู่นานคงรอตรวจสอบข้อมูลเรื่องกองทัพญวนและอังกฤษ

เรื่องกองทัพเรืออังกฤษไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยประกาศเอกราช แต่ทำให้ฝ่ายไทยเองก็สับสนพลอยระแวงว่าอังกฤษจะทำมิดีมิร้ายกับไทยหรือไม่ กล่าวคือ ในระหว่างที่ไทยเคลื่อนทัพจากภาคกลางสู่ภาคอีสานแล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีใบบอกถึงกรุงเทพฯ ว่า กองเรืออังกฤษ 5 ลำมาจอดที่ปีนัง ไม่ทราบว่าจะมุ่งไปทางใด เขาจึงไม่อาจนำทัพมาช่วยกรุงเทพฯ ด้วยตนเอง แต่ให้พระยาพัทลุงบุตรชายคนโตนำทัพ 5,000 คน มาช่วยกรุงเทพฯ รบกับเวียงจันทน์ ข่าวร้ายนี้ทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงเรียกกองทัพที่ส่งมารบในอีสานกลับ 3 กองทัพ (คือ กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง กองทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร กองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์) แต่ม้าเร็วมาแจ้งทันเพียง 2 กองทัพที่อยู่หลังสุด 2 กองทัพนี้จึงกลับมารักษากรุงเทพฯ [31]

ที่ยกเรื่องอังกฤษมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าการที่เจ้าอนุวงศ์ทรงเชื่อว่าอังกฤษคงจะมีเรื่องกับไทยแน่ เป็นข่าวที่มีมูล ไม่ใช่เป็นจินตนาการที่ไร้เหตุผล แต่โชคร้ายสำหรับเจ้าอนุวงศ์ตรงข่าวนี้ไม่จริง หากไทยรบกับอังกฤษจริง เวียงจันทน์ก็คงกู้ชาติสำเร็จไปแล้วในสงครามครั้งนั้น

3. การกวาดต้อนประชากรอีสานเป็นจำนวนมาก หากดูผิวเผินจะเป็นผลดีต่อฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ในเรื่องของการเพิ่มพลเมืองเพิ่มกำลังทหาร แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกแล้วเป็นการสร้างปัญหาแก่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ไม่น้อย กล่าวคือต้องแบ่งกำลังทหารส่วนหนึ่งมาควบคุมผู้อพยพไม่ให้ก่อความวุ่นวาย หรือโจมตีฝ่ายลาวแบบที่เกิดที่ทุ่งสำริดซึ่งทำให้จำนวนทหารจะใช้รบจริงลดลง ความทุกข์ยากของผู้อพยพจากการเดินทาง การขาดแคลนอาหาร การเจ็บป่วย และการต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติเนื่องจากไม่อาจขนย้ายไปได้ ทำให้ผู้อพยพไม่พอใจจนเกิดการต่อต้านจากผู้อพยพหลายที่ เช่น ชาวบ้านด่านลำจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งการต่อต้านของ 2 กรณีหลังทำให้เจ้านครจำปาศักดิ์พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ในตอนท้ายของสงคราม [32]

4. เจ้าเมืองอีสานหลายเมืองไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ บางเมืองก็ต่อต้านจนถูกประหาร เจ้าเมืองที่ถูกฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ประหารมีเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เขมราฐ ชัยภูมิ ภูเวียง ภูเขียว หล่มสัก และขุขันธ์ เมืองหลังนี้เคยให้ความร่วมมือดีมาก แต่ตอนหลังเกิดระแวงจึงถูกประหาร การประหารชีวิตเจ้าเมืองเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเจ้าเมืองทุกแห่งมีญาติพี่น้องบ่าวไพร่มาก และญาติพี่น้องส่วนมากก็เป็นผู้บริหารเมืองนั้นๆ ด้วย จึงเท่ากับเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างศัตรูขึ้นมากมาย [33]

5. อาวุธของฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ปืนคาบศิลามีน้อย ตัวอย่างเช่นการรบที่ค่ายหนองบัวลำภู ค่ายนี้เป็นปราการป้องกันเวียงจันทน์ที่สำคัญมาก เป็นค่ายที่มีความกว้าง 640 เมตร และยาวถึง 1,200 เมตร รวมความยาวของกำแพงค่าย 3,680 เมตร แต่มีทหารรักษาค่ายเพียง 2,300 คน และมีปืนคาบศิลาเพียง 190 กระบอก และไม่มีปืนใหญ่เลย ทหารจำนวนหนึ่งไม่มีหอก ดาบ ปืน แต่ใช้กระบองและไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมเป็นอาวุธ ที่ทหารเหล่านี้ไม่ได้รับแจกอาวุธดีๆ เพราะไม่มีอาวุธจะแจก หรือเพราะทหารเหล่านี้เป็นทหารเกณฑ์จากเมืองอื่นๆ ที่ไม่ค่อยแน่ใจในความจงภักดีนักก็ได้ (ทหารเวียงจันทน์และจัตุรัสเท่านั้นที่มีหอก ดาบ หรือปืนได้) หรือเป็นทั้งไม่ค่อยมีอาวุธจะแจกและไม่ค่อยไว้วางใจก็เลยไม่ได้รับอาวุธดีๆ [34]

ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕

6. ความประมาทของฝ่ายเวียงจันทน์ในกรณีอพยพชาวโคราชทำให้เกิดการลุกฮือของชาวโคราชที่ทุ่งสำริด โจมตีทหารที่คุมมาตายเกือบหมด และทหารที่ส่งมาปราบก็ถูกโจมตีแตกกลับไปถึง 2 ครั้ง มีทหารฝ่ายเวียงจันทน์ตายในการสู้รบประมาณ 1,200-3,000 คน เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของฝ่ายเวียงจันทน์ น่าจะส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเองและขวัญของฝ่ายนี้ลดลง เพราะชาวโคราชกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านไม่ใช่ทหารยังรบแพ้ ถ้ารบกับกองทหารไทยที่อาวุธเพียบพร้อมจะขนาดไหน การรบครั้งนั้นเป็นผลให้คุณหญิงโม ผู้นำการรบคนหนึ่งได้รับการยกย่องเป็นท้าวสุรนารี วีรสตรีของไทย อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว นอกจากนี้น่าจะมีผลให้จำนวนสัดส่วนของทหารที่ควบคุมผู้อพยพสูงขึ้นในเวลาต่อมา เพราะจำนวนทหารที่ควบคุมขบวนผู้อพยพ 18,000 คน มีเพียง 200 คน หรืออัตราส่วนทหาร 1 คน ต่อผู้อพยพ 90 คน ซึ่งน้อยเกินไปจนเกิดความพ่ายแพ้ที่ทุ่งสำริด ซึ่งฝ่ายเวียงจันทน์ต้องจำไปนานแสนนาน [35]

กล่าวโดยสรุปความปราชัยของเจ้าอนุวงศ์เกิดจากการประเมินกำลังพันธมิตรผิดพลาดเป็นอย่างมาก เพราะลำพังกำลังทหารฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ ก็มิอาจสู้กำลังทหารฝ่ายไทยอยู่แล้ว เจ้าอนุวงศ์ทรงฝากความหวังไว้กับอังกฤษ ซึ่งมิได้เป็นพันธมิตรโดยตรงของพระองค์ แต่เป็นพันธมิตรทางอ้อม หากอังกฤษโจมตีปากน้ำเจ้าพระยา ไทยจะต้องแบ่งกำลังส่วนใหญ่เอาไว้ต้านอังกฤษ นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังทรงฝากความหวังไว้กับญวนว่าจะเข้าโจมตีทางปากน้ำเช่นกัน แต่ทั้งอังกฤษและญวนมิได้โจมตีไทยดังที่คาดไว้ ทำให้ไทยทุ่มกำลังส่วนใหญ่มาทางอีสาน เจ้าอนุวงศ์ยังทรงฝากความหวังไว้กับหลวงพระบางและหัวเมืองล้านนาทั้งห้า หวังว่าจะช่วยพระองค์ตีไทยทางด้านเหนือ แต่ความเป็นจริงตรงกันข้าม หัวเมืองทั้งหกยกทัพมุ่งไปที่เวียงจันทน์ การถูกเจ้าเมืองอีสานหลายเมืองต่อต้าน จนต้องประหารชีวิตเจ้าเมืองถึง 6 เมือง ล้วนแต่มีผลในทางลบอย่างยิ่งต่อเจ้าอนุวงศ์

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้พระองค์ทรงปราชัย ก็คือปริมาณอาวุธที่ทันสมัย เช่น ปืนคาบศิลาซึ่งเป็นอาวุธยาว ทหารฝ่ายไทยมีมากกว่า แม้อาวุธพื้นฐานคือหอก ดาบ ทหารส่วนหนึ่งของฝ่ายเวียงจันทน์ก็ไม่มี มีแต่กระบองและไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม การกวาดต้อนประชากรอีสานกลับไปเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความทุกข์ยากต่อคนเหล่านี้จนหลายเมืองเกิดการต่อต้าน โดยเฉพาะการต่อต้านของชาวเมืองโคราช แล้วทหารฝ่ายเวียงจันทน์ปราบไม่ได้ทำให้ขวัญกำลังฝ่ายเวียงจันทน์ตกต่ำ และต้องนำทหารที่ต้องใช้รบมาคุมเชลยที่เหลือมากขึ้น ทำให้ทหารที่ใช้รบของฝ่ายเวียงจันทน์ลดลง

ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงปราชัยในสงครามกู้ชาติครั้งนั้น

 


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2505), . 256, 277, 600-604.

[2] มหาคำ จำปาแก้วมณี และคณะ. ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดยสุวิทย์ ธีรศาศวัต. (ขอนแก่น : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2539), . 77.

[3] โปรดดูรายละเอียดในสุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488. (ขอนแก่น : คณะมนุษยศาสตร์และสังคม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2549), บทที่ 7 . 213-260.

[4] Andrew Heritage. World Atlas. (London : Dorling Kindersley Ltd., 2005), p. 214.

[5] จดหมายเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอมเรนทรมนตรี (เจิม บุรานนท์) 4 กุมภา พันธ์ 2479, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร), . 3-4.

[6] เพิ่งอ้าง, . 3-5.

[7] มยุรี และเผยพัน เหง้าสีวัทน์เจ้าอนุฯ เรื่องเก่าปัญหาใหม่,” ใน ศิลปวัฒนธรรม 9 (11) กันยายน 2531 . 3-4.

[8] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตน โกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2505), . 32, 45, 65, 125, 140.

[9] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. อ้างแล้ว, . 177.

[10] เพิ่งอ้าง, . 173-174.

[11] เพิ่งอ้าง, . 174.

[12] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), . 14, 27, 45-77; หอสมุดแห่งชาติ (หสช.). จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 .. 1187 เลขที่ 5/.

[13] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3.

[14] เพิ่งอ้าง, . 126.

[15] หสช. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 .. 1187 เลขที่ 5/.

[16] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. อ้างแล้ว. . 181-183.

[17] เพิ่งอ้าง, . 188-193.

[18] เพิ่งอ้าง, . 193-201.

[19] เพิ่งอ้าง, . 203.

[20] เพิ่งอ้าง, . 204.

[21] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. อ้างแล้ว. . 88-91.

[22] รายละเอียดโปรดดูใน จดหมายเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์ ที่อ้างแล้ว

[23] รายละเอียดโปรดดูใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 ที่อ้างแล้ว

[24] หม่อมเจ้าทับ. นิราศเวียงจันทน์. (กรุงเทพฯ : มติชน), 2544; จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 อ้างแล้ว, . 21-119.

[25] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 เพิ่งอ้าง, . 40, 45, 106-107.

[26] เพิ่งอ้าง, . 107.

[27] เพิ่งอ้าง, . 40-124.

[28] หสช. .3 .. 1183 เลขที่ 19, จศ. 1189 เลขที่ 4.

[29] เพิ่งอ้าง และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 อ้างแล้ว, . 67-69, 73.

[30] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร) 2530 . 53; สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่า. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา), 2505, . 666-772. และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 .. 1187 เลขที่ 5/; หสช. .3 .. 1187 เลขที่ 13, .. 1189 เลขที่ 4.

[31] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 .. 1187 เลขที่ 5/.

[32] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3, . 37, 57-58, 135.

[33] เพิ่งอ้าง, . 30, 44, 78, 115.

[34] เพิ่งอ้าง, . 75-99 และหม่อมเจ้าทับ. อ้างแล้ว. . 4, 60-64.

[35] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 .. 1187 เลขที่ 5/; จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 3 อ้างแล้ว, . 37, 129-130.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2560