เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รอดตายเพราะ “แขม่วพุง” !? ครั้งสยามปราบเจ้าอนุวงศ์

สงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือเหตุการณ์กบฏครั้งสำคัญ มีหลักฐานบันทึกเหตุการณ์หลายเรื่อง เช่น บันทึกคำให้การของเชลย นิราศทัพเวียงจันทน์ซึ่งหม่อมเจ้าทับทรงนิพนธ์ และหนังสือ อานามสยามยุทธ ของ ... กุหลาบ ก็กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดด้วยการใช้เอกสารชั้นต้น คือ บันทึกราชการกองทัพ รายงานของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อใช้วิธีเขียนแบบวรรณกรรมถึงกับทำให้เห็นภาพการสงครามชัดเจนขึ้น รวมถึงเรื่องประหลาดในสงครามที่นำมาเสนอนี้

.. 2369 เกิดสงครามระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ เมื่อเจ้าอนุวงศ์แข็งเมืองต่อสยาม ทัพกู้ชาติกวาดต้อนผู้คนในภาคอีสานจนเหลือระยะเดินทัพเพียงไม่กี่วันก็ถึงกรุงเทพฯ แต่มีเหตุต้องถอยกลับ เมื่อข่าวกบฏไปถึงราชสำนักสยาม กรุงเทพฯ ส่งทัพโต้กลับ ทัพลาวจึงรีบถอยร่นไปถึงเวียงจันทน์ ค่ายลาวที่ใช้ต้านทัพสยามทยอยถูกตีแตกจนเจ้าอนุวงศ์จำต้องเสด็จลี้ภัยไปพึ่งญวน ขณะที่สยามตามบุกยึดเวียงจันทน์ได้สำเร็จ

กระทั่ง พ.. 2371 เจ้าอนุวงศ์พร้อมทหารญวนและทูตจากรุงเว้มาขอเจรจากับสยามที่กรุงเวียงจันทน์ แต่เหตุการณ์พลิกผลันเมื่อเจ้าอนุวงศ์ ตัดสินใจกวาดล้างทัพสยามในเวียงจันทร์ จนทำให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี [ต่อมาคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)] แม่ทัพสยามที่ตั้งค่ายอยู่ใกล้เวียงจันทร์ที่สุดจำต้องถอนกำลังไปตั้งหลักที่ยโสธรและร้อยเอ็ด

เจ้าราชวงศ์ พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์จึงเปิดศึกรุกไล่ตามทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี ขณะที่เจ้าพระยาราชสุภาวดีรวบรวมกำลังที่ยโสธรจึงเปิดฉากโจมตีตอบโต้มาจนถึงทุ่งบกหวาน (อยู่ห่างไป 4 กิโลเมตรทางทิศใต้ของเมืองหนองคาย) สองทัพตั้งค่ายดูเชิงกันอยู่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีให้พระยาสงครามเวียงไชย แม่ทัพลาวที่มาเข้ากับฝ่ายสยามไปรำทวนเยาะเย้ยหน้าค่ายใหญ่เจ้าราชวงศ์หวังยุให้โกรธ ฝ่ายเจ้าราชวงศ์แค้นใจจึงยกทัพออกมานอกค่ายหวังจับพระยาสงครามเวียงไชย และเคลื่อนเข้าตีค่ายสยามให้แตกในคราวเดียวกัน

ระหว่างไล่กวดพระยาสงครามเวียงไชย ทัพลาวไม่รู้ว่าเป็นแผนลวงของสยาม เร่งติดตามจนลืมหลักพิชัยสงครามทั้งปวงแม้แต่ค่ายใหญ่ก็ไม่วางกำลังป้องกันให้รัดกุม เคลื่อนพลอย่างอลม่านไม่เป็นขบวนทัพจนฝุ่นตลบคละคลุ้งไปทั่ว เจ้าราชวงศ์และทหารที่ติดตามถูกล่อเข้าไปในกองปีกกาของสยามที่ซุ่มกำลังดักรอตามชายป่า ขณะที่เจ้าพระยาราชสุภาวดียืนม้าอยู่กลางทุ่งบกหวานพร้อมทัพหลักรอประจัญหน้า เมื่อแลเห็นทัพลาวจึงสั่งกองปีกกาล้อมทัพลาวไว้

เมื่อลมสงบฝุ่นบางตา สองทัพมองเห็นกันชัดเจนขึ้น เจ้าราชวงศ์จึงตระหนักว่าเสียรู้สยามแล้ว การถูกตัดทางถอยบีบให้ต้องสู้แบบจวนตัว จึงนำกำลังทหารตะลุมบอนกับทหารสยาม แต่ทหารลาวอยู่กลางวงล้อมจึงตกเป็นรองและล้มตายมากกว่า เจ้าราชวงศ์พยายามหาช่องทางนำไพร่พลทะลวงฝ่าออกจากวงล้อม แต่ได้เห็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีในชุดแม่ทัพขี่ม้าอยู่ท่ามกลางทหารสยามเสียก่อน จึงกระจ่างใจว่าบัดนี้แม่ทัพใหญ่อยู่ใกล้กัน เห็นเป็นโอกาสให้เผชิญหน้าสู้กันให้รู้แล้วรู้รอด

เจ้าราชวงศ์ควบม้าพุ่งตรงไปที่เจ้าพระยาราชสุภาวดี ด้านแม่ทัพสยามเห็นดังนั้นก็ทะยานม้าเข้าใส่แม่ทัพลาว ปรากฏว่าม้าของเจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ยอมหยุดให้จังหวะแก่ผู้ควบ ขณะที่เจ้าราชวงศ์หยุดม้ายืนตั้งหลักได้มั่นคงแล้วพุ่งหอกเข้าที่ม้าเจ้าพระยาราชสุภาวดี จนทำให้แม่ทัพสยามเสียท่าร่วงลงกับพื้นถูกม้าทับซ้ำตรงขาซ้าย ถึงตรงนี้เจ้าราชวงศ์น่าจะสร้างวีรกรรมสังหารแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสยามได้ แต่เรื่องไม่เป็นดังนั้น เหตุการณ์ปรากฏในจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 ตอนที่ 1 ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 67 ความว่า

“…ทันใดนั้นพอดีเจ้าราชวงศ์เวียงจันท์ขับม้าสะอึกเข้าไปถึง จึงเอาหอกแทงปักตรงกลางตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ๆ รู้ท่วงทีอยู่ก่อนแล้ว จึงเบ่งพุงลวงตาเจ้าราชวงศ์เวียงจันท์ เมื่อหอกพุ่งปร๊าด ลงไป เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) แขม่วท้องและเอี้ยวหลบปลายหอกแทงเฉี่ยวข้าง เสียดผิวท้องถูกผ้าสมรดทะลุ…”

... กุหลาบ บรรยายใน อานามสยามยุทธ ว่า

“…เจ้าพระยาราชสุภาวดี ล้มลงนอนอยู่กับดินดิ้นไม่ไหว ขณะนั้นเห็นเจ้าราชวงศ์มือถือหอกยกขึ้นจะแทงที่ท้อง เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงกระเบ่งท้องให้พองออกรับหอกลาว แต่ตาเขม้นจับอยู่ตรงที่มือเจ้าราชวงศ์ซึ่งกุมหอกเงื้ออยู่นั้น ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กุมด้ามหอกแทงลงไปที่ท้อง เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึงแขม่วท้องที่พองอยู่นั้น ให้เหี่ยวแห้งเล็กลงไปในทันใดนั้นได้ หอกก็ปักดินลงไปแต่เฉียด ท้องเจ้าพระยาราชสุภาวดีหาทุละไม่…”

การแทงนี้แม้ไม่โดนเต็ม ๆ แต่เสื้อเจ้าพระยาราชสุภาวดีขาดออกเป็นสองชั้น เนื้อถูกคมหอกเฉือนมีรอยแผลยาวแปดนิ้ว มีเลือดไหล ทันใดนั้นจึงใช้มือซ้ายรีบคว้าด้ามหอกเจ้าราชวงศ์กดลงกับดินไม่ให้ถอนขึ้นมาเสียบซ้ำได้ เจ้าราชวงศ์จึงกระโดดลงจากหลังม้าหมายชักดาบฟันศีรษะเจ้าพระยาราชสุภาวดี ในช่วงวิกฤตินั้นหลวงพิพิธ (ม่วง) น้องชายต่างมารดาเจ้าพระยาราชสุภาวดีวิ่งเข้าช่วยผู้พี่ แต่ถูกดาบเจ้าราชวงศ์ฟันหัวขาดกระเด็น

เจ้าพระยาราชสุภาวดีอาศัยเรี่ยวแรงที่เหลือ มือซ้ายจับหอกศัตรูแน่น มือขวาดึงมีดหมอจากสนับเพลาของตนแทงสวนโดนโคนขาเจ้าราชวงศ์ล้มลงดาบร่วงจากมือ นายเทิด นายทิม ทหารสยามสองพี่น้องถือปืนอยู่ห่างออกไปได้ยิงสาดเข้าใส่เจ้าราชวงศ์โดนไปสองนัด ประจวบกับมีทหารลาวเข้ามาช่วยหามนายของตนขึ้นแคร่แหวกวงล้อมฝ่าออกไปได้ ฝ่ายทหารสยามกรูเข้าไปช่วยเจ้าพระยาราชสุภาวดี ยกร่างม้าที่ทับขานั้นออก พอลุกขึ้นได้จึงรู้ว่าแผลตื้น หยอดน้ำมันว่านพันผ้าพร้อมสั่งทหารให้รีบตามจับเจ้าราชวงศ์ให้ได้

เมื่อเจ้าราชวงศ์ถอยร่นกลับค่ายก็พบว่าค่ายใหญ่ลาวถูกยึดไปแล้ว จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำโขงหนีกลับเวียงจันทน์ ปลายเดือนตุลาคม พ.. 2371 ทัพสยามจึงบุกเผาทำลายเวียงจันทน์ราบเป็นหน้ากลอง จับเจ้าอนุวงศ์ส่งไปกรุงเทพฯ ให้เผชิญชะตากรรมอันแสนสาหัสในฐานะกบฏต่อราชสำนักสยามก่อนสิ้นพระชนม์

สำหรับสถานการณ์เฉียดตายของเจ้าพระยาราชสุภาวดีนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังร่วงลงพื้น อาจล้มลงนอนในแนวตะแคง ซึ่งมีผลต่อการเล็งเป้าบริเวณท้องหากมีการเบ่งหรือแขม่ว เป็นสาเหตุให้การแขม่วพุงช่วยชีวิตแม่ทัพใหญ่ของสยามได้ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องทั้งหมดนี้จริงเท็จมากน้อยเพียงใด เพราะมีความบังเอิญหลายอย่างตลอดจนเรื่องราวอภินิหาร อย่างไรก็ตาม หลักฐานหลายแหล่งกล่าวชัดเจนว่าแม่ทัพลาวกับสยามมีโอกาสเข้าถึงกันแบบตัวต่อตัวจริงและบาดเจ็บทั้งคู่ในสมรภูมิทุ่งบกหวาน

แม้ผ่านเหตุการณ์เฉียดสิ้นชีพในสมรภูมิทุ่งบกหวาน เจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการพิชิตลาวเวียงจันทร์ยุติสงครามเจ้าอนุวงศ์ ต่อมายังเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามระหว่างสยามกับญวน ซึ่งกินระยะเวลายาวนานนับสิบปีเพื่อชิงความเป็นเจ้าอธิราชเหนือลาวและเขมร

 


อ้างอิง :

... กุหลาบ. (2550). พิมพ์ครั้งที่ 3. อานามสยามยุทธ. กรุงเทพฯ : โฆษิต.

สุเจน กรรพฤทธิ์. (2550). ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทยลาว. กรุงเทพฯ : สารคดี.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2562