ชีวิตส่วนตัวเจ้าสุภานุวงศ์ ผู้นำปฏิวัติแห่งลาว ความทรงจำ 300 วันในคุกโพนเค็งสู่การหลบหนี

เจ้าสุภานุวงศ์
เจ้าสุภานุวงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2546)

บทความนี้เขียนโดย สุพะไช สุพานุวง และสีชะนะ สีสาน แปลโดย ไพบูลย์ แพงเงิน เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ใช้ชื่อบทความว่า “เจ้าสุภานุวงศ์ : ชีวิตส่วนตัวและ 300 วันในคุกโพนเค็ง” มีที่มาจาก “เจ้าสุพานุวงศ์ ผู้นำปะติวัด”. คะนะกำมะกานวิทะยาสาดสังคมแห่ง ส.ป.ป.ลาว, เวียงจัน, 1989.

หมายเหตุ-คำว่า “พวกปฏิการ” หมายถึงฝ่ายขวาที่นิยมอเมริกาในลาว-ผู้แปล

Advertisement


ชีวิตส่วนตัวของ เจ้าสุภานุวงศ์

ท่านประธานสุภานุวงศ์ เกิดในตอนกลางคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม 1909 ตรงกับวันอังคารแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (พ.ศ. 2452) ที่วังของบิดา ปราสาทศรีสุวรรณ ฝ่ายหน้า ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ (ปัจจุบันคือบ้านธาตุ หลวง), ตําบลวัดธาตุ, เมืองเชียงดง (ปัจจุบันคือเมืองสังคโลก), นครหลวงพระบาง, เป็นโอรสองค์สุดท้องของเจ้ามหาอุปราชบุญคงกับหม่อมคําอ้วน

ประธานสุภานุวงศ์ มีพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ เจ้าหญิงทวิวรรณ กับ เจ้าหญิงจินดารัศมี

เจ้าบุญคง (ค.ศ. 1857-1920) เป็นโอรสของเจ้ามหาอุปราชสุวรรณพรหมา (ค.ศ. 1824-1887) และหม่อมคําบัว

เจ้าบุญคงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าอุปราชในปี ค.ศ. 1890 และสําเร็จราชการแขวงฝั่งขวาด้านตะวันตกแม่น้ำโขง คือ เมืองปากลาย, เมืองไชยะบุรี และเมืองหงสาในปี ค.ศ. 1896

ปี ค.ศ. 1900 ได้เป็นหัวหน้ากองฉันทคณะลาวเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ร่วมบุญใหญ่อยู่นครปารีส (งานเอ็กซ์โป, ปารีส, 1900), พร้อมทั้งได้พบปะกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส คือ ท่านเอมิล ลูเบ, ต่อจากนั้นมาก็ได้สําเร็จราชการแขวงกําแพงเมือง และเป็นอธิบดีห้องการที่ 1 หอสนามหลวง ปี ค.ศ. 1911 พระองค์ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมรัฐบาลอินโดจีนที่นครหลวงฮานอย ปี ค.ศ. 1916 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมโยธา และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1920 (ศัพท์คําว่า “ร่วมบุญใหญ่” น่าจะหมายถึง ร่วมงานแสดงสินค้า-ผู้แปล)

เจ้ามหาอุปราชบุญคงมีโอรส 11 องค์ และธิดา 13องค์, ในจํานวนนั้นมี เจ้าเพชรราช (ค.ศ. 1890-1959)และเจ้าสุวรรณภูมา (ค.ศ. 1901-1984) ที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, แต่เป็นพี่ชายต่างมารดาของท่านประธานสุภานุวงศ์ พี่ชายทั้งสององค์นี้ ได้มีบทบาทสําคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศลาว

เมื่อเกิดได้ไม่นาน หม่อมแม่ของท่านสุภานุวงศ์ ได้เกิดอาการขาดน้ำนม (น้ำนมแห้ง) เจ้ามหาอุปราชบุญคงจึงได้มอบท่านสุภานุวงศ์ให้แก่คู่ผัวเมียที่เป็นน้องชายต่างมารดา ชื่อว่า เจ้าศรีธรรมราช และเจ้าหญิงคําพัน ให้เอาไปเลี้ยง เพราะเจ้าหญิงคําพันยังไม่ได้ให้กําเนิดลูกของตนในขณะนั้น เจ้าศรีธรรมราชและเจ้าหญิงคําพัน ผู้มีศักดิ์เป็นอาวและอาสะใภ้ จึงเป็นพ่อและแม่บุญธรรมของท่านสุภานุวงศ์ตั้งแต่เยาว์วัยเป็นต้นมา (คําว่า “อาว” คือ “อาผู้ชาย)

เจ้าศรีธรรมราช เป็นลูกชายของเจ้ามหาอุปราชสุวรรณพรหมากับหม่อมกองสี, ส่วนเจ้าหญิงคําพัน เป็นลูกสาวเจ้าคําอ้วน และหม่อมแว่น

เจ้าศรีธรรมราชได้ไปศึกษาวิชาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ กรุงเทพฯ และที่เมืองฮานอย ออกมาเป็นครูสอนหนังสือ และเป็นล่ามให้ฝรั่งเศส โดยประจําการอยู่ที่เมืองไซ (ปัจจุบันคือเมือง อุดมไชย), ลาออกจากราชการลาวมาดํารงตําแหน่งบรรณารักษ์หอพระสมุด หอสนามหลวง, ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ เจ้ากรมศรีธรรมอักษรศาสตร์ แล้วไปเป็นหัวหน้าศาลลาวเมืองหลวงพระบาง, หัวหน้าแขวงเมืองไซ, เมืองปากทา, เป็นเจ้าเมืองจางวาง และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1946

ชีวิตตอนเยาว์วัยของท่านประธานสุภานุวงศ์ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากชีวิตลูกๆ หลานๆ ของประชาชนอื่น ๆ ที่เติบใหญ่ในเขตราชวังเจ้าชีวิต (วังหน้า) ในสมัยนั้น ท่านเป็นเด็กที่แข็งแรงมาแต่กําเนิด ท่านกับเพื่อน ๆ ซึ่งมีทั้งลูกหลานของเจ้าขุนมูลนายและลูกหลานของชนสามัญที่บ้านใหม่ ชีวิตประจําวันก็มีการละเล่นส่วงเรือ, ซ่อนหา, แข่งม้าที่เด็ก ๆ พากันหนีบ “ม้าไม้” ด้วยขาแล้ววิ่งแข่งกัน ทําให้เกิดเสียงดังขลุก ๆ เมื่อวิ่งผ่านที่ซึ่งเป็นหินและแล้วก็เงียบหายในตอนที่ผ่านสนามหญ้า

การอยู่ที่บ้านของพ่อและแม่บุญธรรม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวังของพระราชบิดา (เจ้าชีวิตวังหน้า) มีสวนมะม่วงที่กว้างใหญ่ เมื่อเกิดลมฝนในฤดูที่มะม่วงสุก เด็ก ๆ ก็พากันไปรวมตัวแถวใต้ต้นมะม่วง ปากก็ร้องว่า “ลมมาแล้ว, ลมมาแล้ว” ไล่เก็บมะม่วงหล่น, แก่งแย่งกันอุตลุด

องค์บิดาของท่านสุภานุวงศ์ เป็นนักคล้องช้าง, นักขี่ม้า นักฝึกม้าที่เชี่ยวชาญ จึงได้อบรมบ่มนิสัยให้ท่านพลอยรักสัตว์ไปด้วย บางครั้งท่านก็เล่นซ่อนหากับช้างน้อยในวัง โดยวิ่งไปหลบช้างอยู่ใต้ถุนบ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเล็ก ๆ เจ้าช้างน้อยวิ่งตามเข้าไป แต่ก็เข้าไม่ถึงที่ซ่อนเพราะตัวใหญ่เกินไป เจ้าช้างจึงโกรธมาก แต่แล้วท่านก็ออกจากที่ซ่อนมาปลอบใจกลายเป็น “มิตร” คืนดีกัน…

แม้ว่าจะขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่บังเกิดเกล้าอยู่บ้างก็ตาม แต่ท่านก็ได้รับความรัก ความห่วงใยเป็นอย่างดีจากพ่อและแม่บุญธรรมซึ่งถือเอาท่านเหมือนลูกในไส้, เป็นลูกคนหัวปี ของบรรดาลูก ๆ คนอื่น ๆ ของตน

พออายุได้ 7 ปี ท่านก็เข้าโรงเรียนประถมศึกษาหลวงพระบาง ตั้งอยู่ที่บ้านหัวลาด ครูผู้สอนมีทั้งคนลาวและฝรั่งเศส ครูสอนท่านในสมัยนั้นก็มีเจ้าจิตราช (พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของเจ้าเพชรราช และเจ้าสุวรรณภูมา) และท่านบูเตอย เย  ชาวฝรั่งเศสที่ได้เมียลาว ท่านเป็นนักเรียนที่มีความขยันหมั่นเพียร, ชอบแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณลักษณะในข้อนี้กลายเป็นพื้นฐานที่ติดพันตัวของท่านกลายเป็นนิสัยตลอดมา ด้วยจิตใจที่มีมานะอดทนในการศึกษาร่ำเรียน ท่านก็สอบได้เป็น ที่ 1 ของห้องเรียนจนจบชั้นประถม

กลางปี ค.ศ. 1920 ท่านพร้อมด้วยลูกหลานเจ้าชีวิต และเจ้าขุนมูลนายอีกจํานวนสิบกว่าคนก็ได้ออกเดินทางจากหลวงพระบาง ไปเรียนต่อที่ประเทศเวียดนาม โดยผ่านทางถนนหมายเลข 13, หมายเลข 7 ผ่านแขวงเชียงขวาง จนถึงเมืองแสน และเกลือฮ่าว แล้วล่องเรือไปตามลําแม่น้ำโม้ และแม่น้ำซงกาลง จนถึงเมืองวินห์ แล้วจึงนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองฮานอย

ที่ฮานอยนั้น ท่านเข้าเรียนในห้องที่ 11 ในลิเซ อัลแบรต์  ซาโร เรียนภาษาต่างประเทศทั้งภาษาปัจจุบันและภาษโบราณ เช่น ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เวียดนาม, ละติน, ฮีบรู และกรีกโบราณ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ ของท่านต่อมา เช่น เยอรมัน, แอสปาย, อิตาลี…

เมื่อเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเหล่านั้น ท่านก็ไม่ลืมที่จะทบทวนภาษาบาลี และสันสกฤตที่หม่อมแม่คําอ้วนเคยสอนท่านอีกด้วย

ในช่วงพักเรียนท่านก็เล่นกีฬาฟุตบอลในตําแหน่งผู้รักษาประตู เป็นต้น, ในช่วงทศวรรษ 1920 ท่านได้แข่งขันกีฬาฟุตบอลร่วมทีมของลิเซ อัลแบรต์ ชาโร ในการชิงชนะเลิศที่จัดขึ้นระหว่าง 5 แคว้นของอินโดจีน ประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้น

นอกจากจะเล่นกีฬาประเภทต่างๆ แล้ว ท่านก็ใช้เวลาระหว่างทัศนศึกษาไปตามเขตชนบทและสถานที่สําคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์, ไปชมการแข่งขันกีฬา ไปฟังการบรรเลงดนตรีของวงดุริยางค์ของทหารฝรั่งเศสที่จัตุรัส โปล์แบรด์…. ถึงยามพักร้อนแต่ละปี ท่านพร้อมด้วยนักเรียนลาวก็กลับคืนสู่ประเทศเพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง

ในวัยเด็กนั้น เจ้าศรีธรรมราช ผู้เป็นพ่อบุญธรรมก็เคยพาท่านไปชมการเขียนจารใบลาน, การเขียนภาพ และกิจกรรม ทางด้านศิลปกรรมพื้นเมืองต่าง ๆ อันทําให้ท่านมีความรักแล เข้าใจในการกวี, ดนตรี, จิตรกรรมพื้นเมือง…. ความชอบและความเข้าใจในศิลปกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนามากขึ้นในสมัยที่ศึกษาอยู่ฮานอย โดยแสดงออกในความสามารถด้านการประพันธ์นวนิยาย, แต่งกาพย์กลอนเป็นภาษาฝรั่งเศสและวาดภาพโดยแรกเริ่มเป็นการวาดภาพคนและภาพทิวทัศน์

ครูผู้เปิดโลกทัศน์ความรู้ทางด้านวรรณกรรมของโลกให้แก่ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ชาร์เล บาร์กิสโซ, ส่วนศาสตราจารย์มาร์แซล แนร์  ผู้สอนวิชาปรัชญา แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ปารีส นั้น ได้ขยายพื้นฐานความรู้ทางด้านการเมืองเบื้อง ต้นแก่ท่าน, ศาสตราจารย์ปงแซง ครูผู้สอนด้านศิลปกรรมเคยแนะนําให้ท่านประกอบอาชีพเป็นจิตรกร เพราะเห็นว่าท่านวาดภาพได้ดีมีพรสวรรค์ในด้านนี้

ท่านเรียนจบหลักสูตรบริบูรณ์ ถึงกลางปี ค.ศ. 1931 ก็ได้ออกเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสโดยเรือเดินทะเล ของบริษัท “เลอ ชากเซอ เรอูนี” ออกจากท่าเรือตูราน (ดานัง)

แม่น้ำโขง (ภาพจาก https://www.matichon.co.th)

สมัยที่เรียนอยู่นครปารีสของฝรั่งเศสนั้น ท่านเรียนอยู่ย่าน มองต์ ปาร์นาซ ซึ่งเป็นบ้านของมาดามโกเกอเลต์ ตั้งอยู่บนถนนราชปายล์ ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลแซงต์ แวงซัง เดอ โปล ห่างจากสถานีรถไฟใต้ดิน “ดังแฟร์ โรเชอโร” เพียงเล็กน้อย

เดือนตุลาคม 1931 ท่านได้เข้าเรียนที่ลิเซ แซงต์ลุยส์ ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากซอร์บอน แล้วจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิศวกรรมการทางแห่งชาติ (มหาวิทยาลัยขัวทางแห่งชาติ) สาขาวิศวกรพลเรือน นครปารีส ในปี 1934

แม้ว่าจะประสบปัญหาเกี่ยวกับด้านค่าครองชีพ เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเบี้ยเลี้ยงนักศึกษา ซึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลฝรั่งเศสจ่ายให้, แต่ด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ กับนิสัยการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายมาแต่เยาว์วัย, ท่านก็สามารถเก็บหอมรอมริบเงินไว้ได้จํานวนหนึ่ง เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวยามพักการเรียน นอกจากนั้นพ่อบุญธรรมและญาติพี่น้องอื่นๆ เช่น เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุวรรณราช (พี่ชายต่างมารดาของท่าน, เคยดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีพระราชอาณาจักรลาวสมัยหนึ่ง), ก็ได้ส่งเงินให้ท่านซื้อเสื้อผ้า และเครื่องใช้จําเป็นอื่น ๆ แต่ก็ไม่สม่ำเสมอเท่าใดนัก

ในเวลานั้นผู้ดูแลนักเรียนลาวในฝรั่งเศส ได้แก่ ท่านจูลส์ โบซต์ อดีตผู้สําเร็จราชการฝรั่งเศสประจำลาว บ้านพักของผู้ดูแลย่านชานเมืองปารีส คือ เขตโนชัง ซัว มาเนอ จึงเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ท่านสุภานุวงศ์เคยไปในตอนพักเรียนเพื่อสอบถามข่าวคราวทางบ้าน, ปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ ที่สมควรแก่การแก้ไข และเพื่อพักผ่อนอารมณ์เป็นบางครั้งคราว

ท่านไม่เพียงแต่เรียนจากหนังสือตํารับตําราอย่างเดียว หากยังให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้สัมผัสกับชีวิตจริงของจริง กับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันดีงามของประชาชนต่างชาติอีกด้วย, โดยได้ใช้เวลาพักเรียน และอาศัยเงินที่มีเพียงเล็กน้อยที่ประหยัดได้ ไปท่องเที่ยวภายในประเทศฝรั่งเศส และประเทศ ใกล้เคียง เดินทางด้วยรถจักรยาน, เรือยนต์, รถไฟ, เคยลอง แม่น้ำไรน์, แม่น้ำโรน, แม่น้ำดานูบ, เคยขี่เรือกลไฟเลียบฝั่ง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านเกาะกอกส์, เกาะกแรต, เกาะเซเซล และเคยไปเยือนประเทศต่างๆ เช่น แอลจีเรีย, ตูนิเซีย, ตุรกี, เยอรมนี, สวิส, อิตาลี, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, ยูโกสลาเวีย, เอสปาย, กรีก, เบลซิก, ฮอลแลนด์, เดนมาร์ก, มาร์ก, ออสเตรีย, เชโกสโลวาเกีย, แอลเบเนีย และฮังการี…

ท่านเป็นนักศึกษาที่สนใจเป็นอย่างยิ่งกับหนังสือตํารา ดังนั้นจึงรู้จักกับผู้พิมพ์และจําหน่ายหนังสือหลายคน ครั้งหนึ่งผู้พิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า ฟาลงิแอร์ มีโอกาสได้ต้อนรับมหาตมะ คานธี พร้อมด้วยคณะ ที่มาเข้าพักที่บ้าน, ก็ได้เชิญท่านสุภานุวงศ์ไปพบปะพูดคุยกับท่านมหาตมะ คานธี

หลังจากได้รับประกาศนียบัตรวิศวกรทางหลวงแล้ว ในต้นเดือนมิถุนายน 1937 ท่านสุภานุวงศ์ได้ออกเดินทางจากนครมาเซล ฝรั่งเศส ไปไซ่ง่อน โดยเรือกลไฟ “ปอร์โตส” ของบริษัทเมซาเยรี มารีติม

เรือเทียบท่าไซ่ง่อนอีก 1 เดือนให้หลัง หลังจากท่องทะเลและมหาสมุทร ณ ที่นั้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้ประจําการอยู่ที่เมืองยาจ่าง (ขึ้นกับหน่วยโยธาแคว้นที่ 2 ของอันนัม)

เช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1937 ท่านเดินทางถึงยาจ่าง โดยขบวนรถไฟด่วน ซึ่งวิ่งเลียบเส้นทางหมายเลข 1 เมื่อออกมายังจัตุรัสของสถานีรถไฟ ท่านเห็นโรงแรม 2 แห่ง ที่ติดป้ายว่า “แตมินุส”และ “บอน แอร์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส

เมื่อเลือกพักที่โรงแรม “บอน แอร์” เป็นที่แรมคืนในครั้งนั้น ท่านไม่ทราบล่วงหน้าว่า  เป็นการเลือกเอาโชควาสนา ความรัก และความผาสุกสถาพรแห่งชีวิตสมรสซึ่งจะยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ที่ห้องรับแขกของโรงแรม ท่านได้เห็นหญิงสาวผู้หนึ่งมีรูปโฉมโนมพรรณที่สวยสดงดงามน่าประทับใจ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามแบบยุโรป  ซึ่งยากจะได้เห็นในเวียดนามสมัยนั้น ท่านมาทราบในภายหลังว่าหญิงสาวผู้นั้นได้แก่ มารี– กีนาม เป็นอดีตนักศึกษาวิทยาลัยดงคัน (นครเว้) มาพักอยู่กับแม่ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม “บอน แอร์” แห่งนั้น ช่างเป็นการบังเอิญเสียจริง ๆ ที่เดียว ที่ท่านได้มาพบพานเอาหญิงสาวผู้นี้ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นนางงามของอันนัมนั้น

นางสาวเหวียน ถิ กีนาม เกิดเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวัน ที่ 21 ธันวาคม 1921 เป็นลูกสาวคนเดียวของท่านเหวียน วัน สุ่ง กับนางเลถิน้อย ตั้งแต่วัยที่ยังไม่หย่านมนั้น เธอก็ได้รับการเลี้ยงดูจากนางเจินถิย้า ซึ่งเธอนับถือเสมือนแม่บังเกิดเกล้า นางเป็นลูกสาวบุญธรรมของ ดร.ชอง เชโน ทําให้มีชื่อรองอีกว่า “มารี”, แต่ไม่ได้เข้าศาสนาคริสต์

ท่านเหวียน วัน สุ่ง (1887 – 1961) เป็นคนกวางนาม มีเชื้อสายของผู้รักชาติ แม่ของท่านเหวียน วัน สุ่ง ได้พาครอบครัวอพยพไปอยู่ยาจ่าง แม่ของท่านมีวิชาหมอพื้นบ้านที่เก่ง, ส่วนพ่อเป็นครูสอนหนังสือ จึงได้สอนหนังสือให้ลูกชายของตนเองด้วย

ภายหลังการแต่งงาน ท่านเหวียน วัน สุ่ง ได้ขึ้นไปอยู่ที่นครเว้ เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ “กวกรอก” โดยอาศัยเงินที่ภรรยาพามาด้วยการทําขนมขาย เมื่อกลับบ้านแต่ละวัน ท่านก็ต้องอ่านและท่องตำรา และตำแป้งข้าวช่วยเมียทําขนม อีกแรงหนึ่งพร้อม ๆ กันไป เมื่อเรียนสําเร็จแล้ว ท่านเหวียน วัน สุ่ง ก็ออกมาทํางานไปรษณีย์ ท่านเคยรับตําแหน่งผู้ดูแล ที่ทําการไปรษณีย์ที่ดะรั่ง (กางรา’), ตูราน (ดานัง), ดาลัด  และที่อื่น ๆ จนในที่สุดก็มารับตําแหน่งหัวหน้าที่ทําการไปรษณีย์ที่เมืองยาจ่าง ด้วยพรสวรรค์ด้านการกวี ท่านมีผลงานมากมาย ขึ้นชื่อลือชาอยู่ในเมืองยาจ่าง คําขวัญประจําตระกูลที่ท่านยึดถือก็คือ

สามัคคีกันแหน้น ครอบครัวย่อมเป็นสุข

(สามัคคีเหนียวแน่น บ้านอยู่สุข)

เอกฉันท์จิตใจ หมื่นงานก็คงแล้ว

(จิตเป็นหนึ่งเดียว หมื่นงานก็สําเร็จ)

พิธีสมรสระหว่าง เจ้าสุภานุวงศ์ และนางเหวียน ถิ กีนาม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1938 ที่ศาลากลางนครยาจ่าง  โดยทําพิธีต่อหน้าท่าน อาโงสตีนี รองผู้สําเร็จราชการอันนัม หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็มีการเลี้ยงรับรองที่โรงแรม “กรัง โฮเต็ล” ของวาน เบรนเซเงน ท่านประธานสภานุวงศ์ และบางเหวียน ถิ กีนาม (ต่อมามีชื่อลาวว่า “เวียงคํา สุภานุวงศ์) มีบุตรด้วยกัน 10 คน เป็นชาย 8 หญิง 2

นางเวียงคํา สุภานุวงศ์ เรียนจบหลักสูตรวารสารศาสตร์ทางไปรษณีย์  ได้รับประกาศนียบัตรสาขาบรรณาธิการ นางเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ ของไซ่ง่อน และ “ลา แปรส แองโดชีนิวเซอ” โดยใช้นามปากกา “มารี ก.น.”

ในต้นศตวรรษ 1960 นางได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโลโมโนซอฟ ที่มอสโก (สสส.โซเวียต) ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จนสําเร็จหลักสูตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ (อาจจะหมายความว่าได้รับปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิตกระมัง? -ผู้แปล) ในต้นทศวรรษ 1980 นางได้รับการศึกษาทฤษฎีการเมืองชั้นสูง ที่ฮานอย (ส.ส.เวียดนาม)

นางเวียงคํา สุภานุวงศ์ ในฐานะที่เป็นพนักงานในแวดวงปฏิวัติ ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานต่างๆ ด้านการจัดตั้งมวลชน, เป็นนักค้นคว้าหญิงคนแรกในคณะต่อสู้การเมือง ซึ่งอยู่ใต้การชี้นําโดยตรงของสหายหนูฮัก พูมสะหวัน, ก่อนจะออกรับเบียบํานาญ นางได้ดํารงตําแหน่งรองหัวหน้าคณะกรรมการค้นคว้า เรียบเรียง และแปลเอกสาร

ในระยะที่ประธานสุภานุวงศ์ทํางานอยู่ที่ยาจ่างนั้น, ท่านดํารงตําแหน่งหัวหน้าสํานักงานเทคนิคแห่งแคว้น

ที่ยาจ่าง ท่านสุภานุวงศ์ได้ทํางานร่วมกับเจินดั่งคว่า  ซึ่งต่อมากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมืองของเวียดนาม, ครั้งหนึ่งเมื่อไปอาบน้ำที่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำซงก้าย ท่านเจินดั่งคว่าได้ช่วยชีวิตท่านสุภานุวงศ์จากการถูกน้ำวนดูด

ในฐานะที่เป็นหัวหน้าสํานักงานเทคนิค ท่านสุภานุวงศ์ได้รับผิดชอบด้านการออกแบบ, วางแผน, ติดตาม และชี้นำโครงการก่อสร้างทั้งหมด, เช่น การก่อสร้างสะพาน-ถนน หมาย14, โครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำตกที่ดายิน… นอกจากนั้นท่านก็ได้ช่วยเหลือก่อสร้างสะพานข้ามน้ำชะเลปก บนทางหลวงเลข 19 และซ่อมทางเลขที่ 13 ที่นครเชียงแตง (กัมพูชา)

ภายหลังจากประจําอยู่ที่ยาจ่างเป็นระยะเวลา 3 ปี ท่านสุภานุวงศ์ก็ได้รับการแต่งตั้งและโยกย้ายขึ้นไปอยู่ที่เมืองพิน เพื่อรับผิดชอบโครงการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์เลขที่ 23 ในระยะนั้นเองที่ท่านได้สร้างสะพานข้ามเซบั้งเหียง จนถึงฤดูฝนท่านก็ย้ายมาตั้งอยู่ที่ตูราน (ดานัง) ในอาคารที่อยู่ใกล้กับไปรษณีย์กลาง

ต่อจากนั้น ท่านก็ไปประจําอยู่ที่เมืองวินท์, รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสะพานเอียนชวน “ข้ามแม่น้ำซงกา, เหมืองฝาย, คลองส่งน้ำที่โดเลือง, บ้ายเถือง และอื่น ๆ

ถึงปี ค.ศ. 1945 สภาพการณ์ของโลกก็คือสถานการณ์ อินโดจีนอันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เกิดผลดีแก่ “ขนวนการปลดปล่อยชาติ”

ครั้งหนึ่งนักหนังสือพิมพ์ได้สัมภาษณ์ท่านว่า “เมื่อประเทศชาติของท่านได้รับการปลดปล่อยแล้ว ท่านจะยึดถือในระบอบการเมืองใด?”

ท่านได้ตอบว่า “เมื่อประเทศชาติของข้าพเจ้ามีเอกราชแล้ว ข้าพเจ้าจะยึดถือในระบอบการเมืองที่ประชาชนลาวเป็นผู้เลือกเอาเอง

ต้นเดือนกันยายน เจ้ามหาอุปราชเพชรราชได้ส่งโทรเลขมายังท่านสุภานุวงศ์ที่เมืองวินห์ เชิญท่านกลับคืนสู่ประเทศลาว

ในระยะนั้นเอง ประธานโฮจิมินห์ ได้ส่งท่านเล วัน เฮียน มาเชิญท่านสุภานุวงศ์ขึ้นไปยังนครฮานอยเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาของภูมิภาค ที่นครฮานอยนั้นท่านสุภานุวงศ์ได้พบปะกับผู้นําเวียดนามท่านอื่น ๆ อีกด้วย เมื่อสิ้นสุดการเจรจาแล้วท่านก็กลับคืนสู่นครวินห์ นครเว้ พบปะกับบรรดาท่านเหงียน จี้ ทัน, โห่ ตุง เม้า และเจิน หัว ยืก เพื่อเตรียมการกลับคืนสู่ ประเทศลาว

ในเดือนตุลาคม ท่านออกเดินทางจากนครเว้ กลับคืนสู่ประเทศลาว-บ้านเกิดเมืองนอนที่แสนรัก แสนบูชา

การกลับคืนสู่ประเทศในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของประธานสุภานุวงศ์ ซึ่งเปิดฉากการอุทิศเลือด เนื้อ แรงกาย และสติปัญญา โดยตรงเพื่อภารกิจการต่อสู้กู้ชาติของประชาชนลาวต้านพวกรุกรานต่างชาติที่ได้รับชัยชนะอย่างสง่างาม และไม่มีสิ่งใดจะมาพลิกผันให้เป็นอื่นได้ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975

นับตั้งแต่วันกลับคืนประเทศในครั้งนั้นเป็นต้นมา น้ำใจรักชาติอันดูดดื่มฝังลึกอยู่ในจิตใจของท่าน ได้ผันแปรมาเป็นการปฏิวัติที่เต็มไปด้วยความอดทน เสียสละ, ไม่ว่าจะเป็นในยามใดก็จะยกผลประโยชน์ของชาติและประชาชนให้อยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวเสมอ ดังที่ท่านได้เขียนไว้ใน วันที่ 10 กันยายน 1948 ว่า “เวลานี้เรามีแต่ประเทศชาติเท่านั้น ที่ใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด”

คําพูดดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์แห่งชีวิตที่ท่านยึดถือเท่าทุกวันนี้

300 วันที่คุกโพนเค็งของเจ้าสุภานุวงศ์

การที่รัฐบาลราชอาณาจักรลาว โดยมีผูย ชนะนิกร เป็นนายกรัฐมนตรี จับสหายสุภานุวงศ์ พร้อมด้วยผู้นําและพนักงานของแนวลาวรักชาติจํานวนหนึ่งไปกักขังที่คุกโพนเค็งในปี 1959 นั้น ไม่ใช่การกระทําที่บังเอิญ, หากแต่เป็นการกระทําที่เป็นกลอุบายในการปราบการปฏิวัติ พวกท้าวผูย ชนะนิกร คิดว่าถ้าไม่มีผู้นําแล้ว, การปฏิวัตินั้นก็คงจะถูกทําลายลง ประดุจดังงูที่ไร้หัวนั่นเทียว

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว, ผู้คนทั้งหลายต่างก็ได้รู้จักสหายสุภานุวงศ์ในนามของหัวหน้าขบวนการประเทศลาว และเป็นเชื้อสายเจ้าวังหน้าผู้หนึ่งที่มีความเด็ดเดี่ยวในการกู้ชาติ ภายหลังการเซ็นสัญญาเจนีวา ปี 1954 เกี่ยวกับอินโดจีน, และภายหลังการรวม 2 แขวงเข้าด้วยกันแล้ว, ในปี 1956 สหายสุภานุวงศ์ได้เดินทางมาเวียงจันเพื่อเจรจากับเจ้าสุวรรณภูมา, นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลราชอาณาจักร

การเจรจาในครั้งนี้บรรลุผล คือทั้งสองฝ่ายเห็นดีที่จะให้ประเทศลาวได้เดินทางตามเส้นทางแห่งสันติภาพ, เป็นกลาง, ยึดถือหลัก 5 ประการในการอยู่ร่วมกันโดยสันติ, มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ, ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในด้านการทหาร, ยุติการสู้รบกันใน 2 แขวง คือ หัวพัน และพงสาลี, ประชาชนลาวมีสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย, พลเมืองลาวทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง และสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ในการ เจรจากันนั้น, ทั้งสองฝ่ายก็ยังได้เห็นดีเห็นชอบในการก่อตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติ, จัดให้มีการเลือกตั้งเพิ่มเติม, ดําเนินการรวม 2 แขวงเข้าด้วยกัน เป็นเอกภาพ และรวมบรรดากองกําลังของฝ่ายประเทศลาวเข้ากับกองทัพแห่งชาติ

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1957 รัฐบาลผสมแห่งชาติ ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรี สหายสุภานุวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแผนการ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 1958 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติม สหายสุภานุวงศ์ได้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งในแขวงเวียงจัน (ขณะนั้นแขวงเวียงจันมีเนื้อที่ครอบคลุมกําแพงนครเวียงจัน, แขวงเวียงจัน และส่วนหนึ่งของแขวงบอลิคําไซปัจจุบัน) และสหายก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร

ประชาชนลาวทั่วประเทศต่างเกิดความปิติยินดี คิดว่านับแต่นี้ต่อไปประเทศลาวคงจะได้รับความสงบเสียที, คงจะเกิดความปรองดองสมานฉันท์ และจะได้ทํามาหากินด้วยความสะดวกเสียที แต่เหตุการณ์ก็กลับผันแปรไปในทางตรงกันข้าม ฝ่ายกําลังปฏิการที่นิยมอเมริกาพากันรวมหัวสร้างกลอุบายเพื่อให้การปฏิบัติงานของรัฐบาลผสมแห่งชาติต้องกลายเป็นอัมพาต และนายกรัฐมนตรี เจ้าสุวรรณภูมาก็ถูกบีบบังคับให้ต้องลาออก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1958 และเป็นการสิ้นสุดของรัฐบาลผสมแห่งชาติ ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 1958 ผูย ชนะนิกร, บริวารตัวสําคัญของจักรพรรดิอเมริกาก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลราชอาณาจักรที่ไม่มีตัวแทนของฝ่ายประเทศลาวร่วมด้วย สหายสุภานุวงศ์ต้องสูญเสียตําแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแผนการ คงเหลือแต่ตําแหน่งผู้แทนราษฎรเท่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกว่า สภาพการณ์ได้ขยายไปในทางที่ไม่ดีสําหรับฝ่ายประเทศลาว รวมทั้งต่อตัวของสหายสุภานุวงศ์เองด้วย ความจริงนับตั้งแต่มีการรวมลาวนั้น, ทางรัฐบาลของสหรัฐก็มีท่าทีที่ไม่พอใจอยู่เดิมแล้ว โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งใน วันที่ 20 พฤศจิกายน 1957 ว่า “สหรัฐอเมริกาถือว่าความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์นั้น เป็นแนวทางที่อันตราย.. ด้วยเหตุนั้น, การขยายตัวของสถานการณ์ภายในประเทศ ลาวทําให้สหรัฐอเมริกาเกิดความกังวลอย่างลึกซึ้ง” เมื่อสหรัฐมีท่าทีดังกล่าว ก็เป็นธรรมดาว่าพวกเขาจะต้องมีการเตรียมแผนเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อปราบปรามฝ่ายประเทศลาว

ในต้นปี 1959, รัฐบาลของผูย ชนะนิกร ได้ออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และประกาศว่า สัญญาเจนีวาเมื่อปี 1954 เกี่ยวกับลาวได้หมดความศักดิ์สิทธิ์ลงแล้ว ต่อจากนั้นไม่นานนัก ในวันที่ 11 พฤษภาคม 1959, รัฐบาลของผูย ชนะนิกร ก็ได้ให้กองทหารของฝ่ายเขาปิดล้อมกองพันที่ 1 ของฝ่ายประเทศลาว ซึ่งตั้งอยู่เชียงเงิน (แขวงหลวงพระบาง และกองพันที่ 2 ของฝ่ายประเทศลาวที่ตั้งอยู่ทุ่งไหหิน (แขวง เชียงขวาง) โดยกล่าวหาว่า ทหารของฝ่ายประเทศลาวไม่ยอมรับยศที่ได้แต่งตั้งและฝ่าฝืนคําสั่ง ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 12 พฤษภาคม 1959 พวกเขาก็ได้กักบริเวณสหายสุภานุวงศ์และบรรดาผู้นําอื่น ๆ ของแนวลาวรักชาติให้อยู่แต่ในเรือนพัก คืนวันที่ 17 พฤษภาคม 1959. กองพันที่ 2 ของฝ่ายเทศลาวได้เล็ดลอดออกจากเขตปิดล้อมของกองทหารราชอาณาจักร ส่วนกองพันที่ 1 ก็ได้มีพนักงานและนักรบจํานวนมากหลบหนีเข้าป่าได้ พวกปฏิการนิยมอเมริกาพากันเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างที่สุดที่ไม่สามารถปราบพวกทหารฝ่ายประเทศลาวได้ ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม 1959 พวกเขาก็ได้จับกุมสหายสุภานุวงศ์และผู้นําอื่น ๆ ของแนวลาวรักชาติ

การถูกจับกุมในครั้งนี้, ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหายสุภานุวงศ์จะไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน เพราะว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ทุ่งไหหิน, สหายไกสอน พมวิหาน ก่อนจะหนีออกจากเวียงจันไปสู่ฐานที่มั่นปฏิวัติ ก็ได้กําชับกําชาสหายหนูฮัก พูม สะหวัน ให้ดําเนินการต่อสู้จนถึงที่สุด แม้จะถูกพวกปฏิการนิยมเมริกาจับกุมหรือทําร้ายก็ตาม เมื่อเป็นดังนั้น, ก็เป็นการแน่นอนว่า  สหายสุภานุวงศ์ก็จะต้องรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะในขณะสหายสุภานุวงศ์เป็นกรรมการในคณะประจําศูนย์กลางพรรคประชาชนลาวด้วยผู้หนึ่ง

การที่ต้องต่อสู้จนถึงที่สุดของสหายสุภานุวงศ์นั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความจงรักภักดี, ความมีระเบียบวินัยของสหายสุภานุวงศ์ที่มีต่อพรรค, ต่อการปฏิวัติ, ศัตรูอยากจะจับก็จับ จะไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นสมาชิกของพรรคประชาชนลาว

สหายสุภานุวงศ์ถูกขังไว้ในห้องขังที่ 4 ซึ่งอยู่ใกล้กันกับโรงครัวและห้องน้ำ ห้องขังของสหายสุภานุวงศ์ก็เหมือนกันกับของสหายคนอื่น ๆ คือเป็นห้องแคบ ๆ, กว้างเพียง 2 เมตร และยาวเพียง 3 เมตร, มีประตู หน้าต่างที่มีลูกกรงเหล็ก, นอกนั้นก็มีประตูใหญ่เข้า-ออก ติดกุญแจอย่างมั่นคงพอสมควร ในห้องขังนั้นนอกจากเตียงนอนแบบเดียวกับเตียงในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังมีโต๊ะเล็กสําหรับตั้งสํารับข้าว และมีเก้าอี้อีก 1 ตัวเพื่อให้นั่งกินข้าว พื้นห้องปูด้วยอิฐ, เพดานทําด้วยไม้ที่แน่นหนา, มีดวงไฟ 1 ดวง

ดูเหมือนว่าพวกผูย ชนะนิกร จัดห้องขังไว้ดังกล่าว ก็มีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้ที่ถูกคุมขังได้พอใจในความเป็นอยู่ จะได้ไม่คิดหลบหนี และนอกจากนั้นก็เพื่อมิให้ถูกโจมตีจากมวลชน ภายหลังการจับสหายสุภานุวงศ์และสหายอื่น ๆ แล้ว, ผูยได้พูด เป็นเชิงเย้ยหยันว่า “ได้นําพวกท่านไปไว้ในอาคารที่ไม่ใช่คุก” ผูยพูดต่อแบบนักเลงว่า “เรื่องการจับกุมพวกเจ้าสุภานุวงศ์นั้น ผมรับผิดชอบเอง”

ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ถูกจับ, บรรดาสหายที่เป็น กรรมการประจําของศูนย์กลางพรรคที่ถูกจับ ก็ได้มีการประชุมกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ จากบันทึกความทรงจําของสหาย พูมี วงวิจิตร, “สหายหนูฮัก พูมสะหวัน” ได้สรุปความเห็นของที่ประชุมว่า “ผูย ชนะนิกร ปฏิบัติตามคําสั่งของจักรพรรดิอเมริกา ได้ลงมือจับพวกเรามาขังคุกแล้ว, ถึงอย่างไรพวกเขาก็จะปราบพวกแนวลาวรักชาติหนักมือขึ้น พวกเราต้องยืน หยัดและเชื่อมั่นในแนวทางที่ถูกต้องของพรรคเรา ตอนนี้พวกเราต้องจัดตั้งหน่วยย่อย และวางแผนการดําเนินงานต่อสู้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ซึ่งทุกคนต่างก็เห็นดีตกลงให้สหายหนูฮักเป็นเลขาพรรค และเป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการคุ้มครองเพื่อน สหายที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกแห่งนี้, สหายสุภานุวงศ์, สหายพูน สี ปะเสิด และเราเอง (หมายถึงสหายพูมี วงวิจิตร) เป็นกรรม

เจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ ในลาว เมื่อ 1960 ภาพจาก STAFF / AFP

การต่อจากนั้น, บรรดาผู้ที่ต้องขังก็มีการจัดตั้งให้เป็นพวกๆ (ใช้คําว่า “จัดตั้งเป็นจุ-ผู้แปล) สหายสุภานุวงศ์รับผิดชอบพวกหนึ่งที่มีสหายมา ไขคําพิทูน, สหายหมื่น โสมวิจิด และ สหายสิงกะโป  สีโคตจุนนะมะลิ ทุกพวกมีหน้าที่ปฏิบัติงาน ของแต่ละชุดของตนเอง, หาข่าวจากพวกทหารที่มาเยี่ยม… การ เคลื่อนไหวต่างๆ ต้องเป็นความลับทั้งสิ้น และความลับดัง กล่าวก็จัดไว้หลายระดับ หลายส่วน, อาจจะลับอยู่เฉพาะใน ส่วนของคณะพรรค, อาจจะลับในส่วนของเลขาพรรค และอาจจะมีบางส่วนที่เปิดให้ทุกพวกได้ทราบทั่วกันเพื่อที่จะได้นําไปปฏิบัติให้ถูกต้อง

วันต่อมา, ผูย ชนะนิกร ได้สั่งการให้อัยการศาลเข้ามา ในคุกโพนเค็ง เพื่อสอบสวนสหายสุภานุวงศ์ และสหายอื่นๆ ผูยเชื่อว่าการทําเช่นนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ด้านหนึ่ง, เป็นการ ปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง, แต่อีกด้านหนึ่งก็ เพื่อเป็นการ “ตัดไม้ข่มนาม” แก่สหายสุภานุวงศ์และสหาย อื่นๆ ให้เกิดความหวาดหวั่น เขาไม่ได้คิดว่า การสอบสวนนั้น จะย้อนกลับไปเป็นการฟ้องตัวเอง บรรดาคําถามที่อัยการศาล ได้ใช้สอบถามสหายสุภานุวงศ์นั้น ล้วนแต่เป็นคําถามที่ต้องการ บีบให้สหายสุภานุวงศ์ยอมรับว่าตนเป็นผู้ก่อการกบฏต่อประเทศ ชาติ, เช่นคําถามที่ว่า เสด็จได้ก่อการยุแหย่ให้ทหารฝ่าย ประเทศลาวแข็งข้อต่อรัฐบาลราชอาณาจักรใช่หรือไม่? เสด็จได้ ร่วมมือกับพวกต่างด้าวก่อกวนความสงบภายในประเทศใช่หรือ ไม่? เสด็จได้ทรยศต่อประเทศชาติใช่หรือไม่? และอื่น ๆ…

คําตอบที่พวกอัยการศาลได้รับ ก็คือ “เปล่า” แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น, สหายสุภานุวงศ์ยังได้ชี้แจงถึงความรักชาติที่ตน ได้กระทําตลอดมา และยังได้กล่าวประณามการกระทําที่ ขายชาติของผูย ชนะนิกร สหายได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สหายไม่เคยได้มีการกระทําที่เป็นการทรยศต่อประเทศชาติ ภายหลังจากที่ประชาชนลาวได้ยึดอํานาจการปกครองมาจากพวกฟาสซิสต์ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 1945 แล้ว, สหายสุภานุวงศ์ได้เดินทางกลับคืนสู่ประเทศลาวและได้เข้าร่วมในรัฐบาลลาวอิสระ เมื่อคราวที่ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเอาลาวเป็นเมืองขึ้นอีก, สหายก็ได้ต่อสู้ต้านฝรั่งเศส, การกระทําที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศชาตินั้น จะถือเป็นการทรยศต่อชาติไม่ได้อย่างเด็ดขาด

สหายได้ชี้แจงว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชของสหายนั้นก็มีส่วนนํามาซึ่งสันติภาพในอินโดจีนในปี 1954สัญญาเจนีวาปี 1954 ของอินโดจีนได้รับรู้ถึงเอกราช, เอกภาพ, อาณาเขต ของลาวเช่นเดียวกับของบรรดาประเทศในแหลมอินโดจีนอื่น และด้วยการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและสัญญาเวียงจัน สหายได้ทําทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้มีการรวมลาวเป็นหนึ่งเดียว และมีความปรองดองในชาติ แต่ตรงกันข้าม, ฝ่ายรัฐบาลราช อาณาจักรเสียอีกที่ได้ทรยศต่อสัญญาที่ได้เซ็นไว้ พวกเขาได้หาเรื่องให้กองกําลังทหารไปปิดล้อมกองทหารฝ่ายประเทศลาว, ทําให้กองทหารฝ่ายประเทศลาวต้องแตกหนี แล้วกลับโยนความผิดไปให้ผู้อื่น จนถึงขั้นมีการจับตัวของสหายเอง ฉะนั้นจึงเห็นว่าการกักขังสหายนับเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมาย และสหายได้ร้องขอให้รัฐบาลราชอาณาจักรปล่อยตัวสหายและสหาย คนอื่นๆ… มีข่าวเล่าว่า ภายหลังการสอบสวนของอัยการศาล แล้ว, ผูย ชนะนิกร และพรรคพวกได้กล่าวออกมาอย่างเจ็บแค้นว่า “พวกคอมมิวนิสต์นี้มันหัวแข็งจริงๆ”

นอกจากจะมีความเด็ดเดียวและไม่ยอมจํานนต่อหน้าของฝ่ายศัตรูแล้ว, สหายสุภานุวงศ์ก็ยังได้เข้าร่วมการต่อสู้การเมืองทุกๆ ครั้งของบรรดาผู้ที่ถูกกักขัง เช่น การร่วมลงนามในจดหมายที่ฝากไปให้รัฐบาลผูย ชนะนิกร คัดค้านการที่พวกเขาจับตัวสหายและผู้ที่ไม่มีความผิดอื่น ๆ และเรียกร้องให้ปล่อย ตัวสหาย, เรียกร้องให้ได้เข้าร่วมการประชุมของสภาผู้แทน ราษฎรและอื่นๆ

ในวันที่ 31 ธันวาคม 1959 พวกพูมี หน่อสะหวัน ทํารัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของผูย ชนะนิกร ลง พวกพูมี หน่อสะหวัน ได้แต่งตั้งกุ อะไพ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี, แล้ว ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นเจ้าสมสะหนิด เป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่นโยบายของพวกพูมี หน่อสะหวัน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจาก นโยบายของผูย ชนะนิกร คือยังคงสืบต่อการปราบปรามการปฏิวัติและกลับปราบหนักมือยิ่งขึ้นไปอีก และท่าที่ต่อสหายสุภานุวงศ์และสหายอื่นๆ ก็กลับร้ายกว่าเก่าไปด้วยซ้ำ พวกเขาได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกผูย ชนะนิกร โดยมีอุ่น ชนะนิกร เป็นเจ้า กี้เจ้าการในการจัดขบวนการเรียกร้องของมวลชน ให้ประหารชีวิตสหายสุภานุวงศ์ และสหายคนอื่นๆ, พร้อมกันนั้นพวกเขา ยังได้พยายามจะหาคนที่จะเป็นหัวหน้าศาลซึ่งกล้าที่จะพิพากษาตัดสินประหารชีวิตสหายสุภานุวงศ์และสหายอื่น

ข่าวดังกล่าวนี้ได้แพร่สะพัดเข้าไปจนถึงในคุกโพนเค็ง พวกที่ถูกคุมขังได้มีการปรึกษาหารือกัน ประเมินสถานการณ์ และโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้งหลาย สหายสุภานุวงศ์ไม่พูดมาก ท่านมีท่าทีอันหนักแน่นและเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ไม่อาจผันแปรไปในทางร้ายได้ ในขณะนั้นบรรดากําลังติดอาวุธและกึ่งติดอาวุธของฝ่ายปฏิวัติได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 300 หมวด ทําหน้าที่ในด้านการโฆษณา ติดอาวุธอยู่ในทุก ๆ แขวง ของประเทศ ทางภาคใต้ของเวียดนาม, ขบวนการของประชาชนลุกฮือขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมกันนั้นขบวนการของประชาชนลาวเรียกร้องให้ปล่อยตัวสหายสุภานุวงศ์และสหายคน อื่น ๆ ก็นับวันแต่จะมีมากขึ้น ทั่วโลกก็มีการกดดันให้รัฐบาลราชอาณาจักรลาวต้องปล่อยตัวสหายสุภานุวงศ์ และสหายอื่นๆ ในสถานการณ์เช่นว่านั้น พวกพูมี หน่อสะหวัน จะไม่กล้ากระทําการที่ร้ายแรงจนเกินไป สุดท้ายสหายสุภานุวงศ์ได้กล่าว ประโยคหนึ่งว่า “ถ้าในกรณีที่จะมีการยิงเป้าแล้ว เราเองจะเป็นคนแรกที่รับการประหาร เพราะเราเป็นหัวหน้า”

นอกจากความเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ในทางการเมืองแล้ว สหายสุภานุวงศ์ยังเป็นคนที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีความเบิกบานในการปฏิวัติอยู่เสมอ ทุกเช้าสหายก็จะออกกําลังกาย, รดน้ำต้นไม้, เวลาฝนตกก็จะออกมาอาบน้ำฝนและชวน ให้ผู้อื่นอาบด้วย โดยบอกว่าน้ำฝนเป็นยา เวลาอยู่ในห้องขัง สหายก็จะเขียนบันทึกประจําวัน, แต่งปทานุกรม, สหายได้ เขียนภาพใส่ฝาห้องขัง เป็นรูปแม่น้ำ, มีนกน้อยจับบนขอนกลางน้ำ, ที่ริมฝั่งเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรง และงูใหญ่โผล่หัวออกมาจากโพรงนั้น ขณะที่ยังถูกจําคุกอยู่นั้น ข้าพเจ้าเคย ถามท่านเกี่ยวกับความหมายของรูปภาพนั้น ท่านบอกว่า “นกน้อยจับขอนลอยน้ำ ต้องการให้หมายถึงอิสรภาพ, ส่วนงูใหญ่ที่โผล่หัวออกมาจากโพรงไม้นั้น อยากจะให้หมายถึง ความมีสติระมัดระวังในเรื่องของการปฏิวัติ”

สําหรับภาพของสหายสุภานุวงศ์ที่อยู่ในคุกโพนเค็งนั้น ทองเสย โคดวงสา, อดีตสารวัตรทหารที่เคยทําหน้าที่เวรยามประจําคุกได้เขียนเป็นบันทึกไว้ในหนังสือ “แหกคุก” ของเขาว่า “เฉพาะลุงประธานสุภานุวงศ์นั้น, ผมไม่เคยเห็นผู้นําในลักษณะนี้มาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกกําลังกาย, ร่างกายแข็ง แรง, หลายจังหวะ, บางครั้งก็ชกมวย, วิ่งกระโดด พอผมเห็นก็ มีความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง แบบหนึ่งก็ค่อนข้างจะน่ากลัว เช่น ลักษณะของการไว้ผมจอน, ไว้หนวดสั้น, ไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร แต่ดูอีกมุมหนึ่งก็รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจที่ได้เห็นผู้นําที่มีลักษณะเด็ดเดี่ยวเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศแก่พวกลูกพวกหลานได้มีโอกาสศึกษา สมกับเป็นบิดาของประเทศชาติ”

วันคืนได้ผ่านไป, มีการแทรกซึมในพวกสารวัตรทหารที่อยู่เวรยามเป็นผลสําเร็จ, การตระเตรียมเส้นทางหนี้ก็เรียบร้อยดี. ทั้งนี้จากการบอกกล่าวของสหายทิดม่วน สาวจันทรา กรรมการของศูนย์กลางพรรคและเลขาธิการคณะพรรคแขวงเวียงจันในขณะนั้น, ก่อนหน้านั้นทางคณะพรรคแขวงเวียงจันได้ให้หน่วยจู่โจมพิเศษเข้ามาในคุกโพนเค็งครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อทดลองลักพาตัวสหายสุภานุวงศ์และคนอื่นออกจากคุก. แต่แผนดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป เพราะเกรงจะเกิดอันตรายแก่ สหายทั้งหลาย จนภายหลังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสหายหนูฮัก พูมสะหวัน ที่อยู่ในคุก กับสหายไก สอน พมวิหาน ที่อยู่ประจําฐานที่มั่น,

วันเวลาของการแหกคุกพร้อมเป็นกลุ่มก็มาถึง ทุกคนที่อยู่ในคุกได้ฝึกและเตรียมทั้งจิตใจและวัสดุที่จําเป็น ข้าพเจ้าได้รับการกําหนดให้อยู่ในหน่วยของสหายสุภานุวงศ์ ในหน่วยนี้ยังมีสหายมา ไขคําพิทุน, สหายหมื่น โสมวิจิต, สหายคําผาย บุบผา, สหายเพ้า พิมพะจัน, สหายคําเพด พมมะวัน… หน่วยนี้มีสารวัตรทหารคนหนึ่งที่ติดอาวุธ คือ สหายทองเสย โคดวงสา

ในคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 1960, ในขณะที่กําลังรอคําสั่งให้ออกเดินทาง, ตอนนั้นรวมกันอยู่พร้อมกัน, ข้าพเจ้าเดินไปเดินมาอยู่หน้าห้องขังของสหายสุภานุวงศ์ ท่านเห็นและถามข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “กำหนดเวลาแน่นอนแล้วหรือยัง? (หมายถึงเวลาที่จะออกจากคุก) ถ้ากําหนดแล้ว เราจะได้โกนหนวด” ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อยสหายสุภานุวงศ์ก็ได้โกนหนวดทิ้ง, แต่งชุดทหารและสวมเสื้อกันฝน หน่วยของท่าน ได้เป็นหน่วยที่สาม และเป็นหน่วยสุดท้ายที่เดินทางออกจากคุกโพนเค็ง

พวกเราเดินทางในความมืด พอออกพ้นจากเขตคุก, ข้าพเจ้าใจหายวาบเมื่อเห็นสหายหยุดยืนอยู่ ถามท่านว่าทําไมถึงหยุด ท่านตอบว่า เดินไม่ทันผู้นําทาง หลังจากที่มีการหารือกันแล้ว หน่วยของสหายสุภานุวงศ์ก็เดินทางต่อไปเพราะในหน่วยนั้นมีคนที่รู้ทางอยู่คนหนึ่ง

เมื่อพวกแหกคุกได้มารวมกันหมดแล้ว, หน่วยต่างๆ ก็เดินทางต่อ พอไปได้สัก 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีใครคาดคิด สหายสุภานุวงศ์ได้ล้มฟุบลง, ดูแล้วคงจะเดินทางต่อไปไม่ไหว สหายหนูสัก พูมสะหวัน แก้ไขปัญหาทันที คือให้สหายสุภานุวงศ์เดินตัวเปล่า ไม่ต้องแบกสิ่งของ สหายหลายคนได้แบ่งเอาเป้ของท่านซึ่งมีน้ำหนักไม่น้อยแบ่งกันไป เมื่อเป็นตัวเปล่าสหายสุภานุวงศ์ก็พอที่จะเดินไปได้ทันคนอื่น…

ภายหลัง 300 วันที่คุกโพนเค็ง, สหายสุภานุวงศ์ก็สามารถหนีจากคุกได้สําเร็จ ทั้งนี้ก็ด้วยอาศัยการคุ้มครองของประชาชนของบรรดากําลังติดอาวุธปฏิวัติขององค์การจัดตั้ง และของบรรดาสารวัตรทหารของฝ่ายราชอาณาจักร, สหายสุภานุวงศ์ได้เดินทางถึงฐานที่มั่นโดยปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2563