เจ้าสุภานุวงศ์ “เจ้านาย” นักปฏิวัติ สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชลาว

เจ้าสุภานุวงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2546)

ขณะที่เวียดนามมี “โฮจิมินห์” เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ  ลาวก็มี “เจ้าสุภานุวงศ์” ผู้นำปฏิวัติ ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราช และความรักชาติของลาว

เจ้าสุภานุวงศ์ (13 กรกฎาคม 1909-9 มกราคม 1995) เป็นโอรสองค์สุดท้ายของเจ้ามหาอุปราชบุคง และหม่อมคำอ้วน เกิดที่บ้านธาตุหลวง เมืองหลวงพระบาง มีพระเชษฐาที่ประสูติจากพระชายา คือ เจ้าเพชรราช และเจ้าสุวรรณภูมา เจ้าสุภานุวงศ์เป็นคนเรียนดี มีความรู้หลายภาษา จบการศึกษาทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เคยเดินทางไปศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศศจนจบ

(ซ้าย) เจ้าสุวรรณภูมา (ขวา) เจ้าสุภานุวงศ์ ในลาว เมื่อ 1960 ภาพจาก STAFF / AFP

ก่อนจบการศึกษาเจ้าสุภานุวงศ์ไปฝึกงานชลประทานในอาฟริกาเหนือ ทำให้ได้รู้จักผู้ที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์หลายคน ทั้งเจ้าสุภานุวงศ์ก็เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับมาร์ก, เลนิน มาก่อน เมื่อเรียนจบเจ้าสุภานุวงศ์เข้าทำงานใน Public Works Service และถูกส่งไปทำงานสร้างทางในเวียดนาม จึงได้พบและแต่งงานกับ เหวียนถิกีนาม (เวียงคำ สุพานุวง) สตรีเวียดนาม

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดอำนาจจากฝรั่งเศส และสนับสนุนให้อินโดจีนประกาศเอกราช อันเป็นการสิ้นสุดอำนาจอาณานิคม ทำให้ชนชั้นผู้นำในลาวก็แบ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าการสนับสนุนฝรั่งเศสจะทำให้ได้รับเอกราชในที่สุด นำโดยเจ้าชีวิตศรีสว่างวงศ์ และมกุฎราชกุมาร

อีกกลุ่มหนึ่งยืนยันเอกราชของลาวหลังสงครามสิ้นสุด มีเจ้าเพชรราช ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 กันยายน 1945 และประกาศรวมลาวทั้งหมด ทั้งไม่ยอมรับอำนาจฝรั่งเศส รวมถึงจัดตั้ง “รัฐบาลลาวอิสระ” ที่เวียงจันทน์ ( 10 ตุลาคม 1945)  มีพระยาคำม้าววิไล เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำกลุ่มนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะอเมริกา

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ เจ้าสุภานุวงศ์อยู่ที่เมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม มีการติดต่อกับโฮจิมินห์ และได้รับการสนับสนุนในการเดินทางกลับลาว เจ้าสุภานุวงศ์มีความเห็นว่า รัฐบาลลาวอิสระควรต่อต้านการกลับมาของฝรั่งเศสด้วยกำลังทหาร และไม่เชื่อว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะให้ช่วยลาวให้ได้เอกราชอย่างสันติ แต่เชื่อในการสนับสนุนของเวียดมินห์ [กองกำลังกู้ชาติเวียดนาม]

เจ้าสุภานุวงศ์ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าว เมื่อเดินทางถึงสะหวันเขต ได้ร่วมกับ ท้าวอุ่น ชนะนิกร  ผู้ปกครองแขวงภาคใต้ จัดตั้งแนวกอบกู้เอกราชของลาว เมื่อเดินกลับถึงเวียงจันทน์ในวันที่ 29 ตุลาคม 1945 เจ้าสุภานุวงศ์ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้บัญชาการกองทัพลาวอิสระ

ต่อมากองกำลังฝรั่งเศสรุกเข้ามาทางภาคใต้ของลาว เจ้าสุภานุวงศ์นำกำลังมาป้องกันที่เมืองท่าแขก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นเส้นทางติดต่อกับกองทัพเวียดนาม การสู้รบที่รุนแรงเกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสโจมตีท่าแขกในวันที่ 21 มีนาคม 1946 เพื่อพยายามกลับเข้ามายึดครองลาว เจ้าสุภานุวงศ์ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส (ระหว่างลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังจังหวัดนครพนม) แม้แต่ตัวท่านเองก็คิดว่า “คงไม่รอด” และฝากฝั่งงานก็ชาติกับท้าวอุ่น ชนะนิกร

การรบที่ท่าแขกทำให้ผู้นำลาวหลายคนประทับใจในความรักชาติของเจ้าสุภานุวงศ์มาก เลิกสงสัยในคำครหาที่ฝ่ายขวาบางกลุ่มวิจารณ์ว่าเจ้าสุภานุวงศ์เห็นประโยชน์เวียดนามเป็นใหญ่ และเป็นวีรกรรมสำคัญของเจ้าสุภานุวงศ์ที่ถูกกล่าวถึงในเวลาต่อมา

แต่ฝรั่งเศสก็เข้ายึดเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้ในเดือนเมษายน และพฤษภาคมตามลำดับ รัฐบาลลาวอิสระจึงต้องลี้ภัยมาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีลาวในกรุงเทพฯ มีการติดต่อกับกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสที่รวมตัวกันอยู่ในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศลาว ผู้นำของกองกำลังเหล่านี้ต่อมาก็เป็นผู้นำของฝ่ายปฏิวัติ เช่น ไกสร พรหมวิหาร, สีสะหวาด แก้วบุนพัน,พูมี วงวิจิตร, หนูฮัก พูมสะหวัน, คำไต สีพันดอน ฯลฯ เวียดนามให้ความช่วยเหลือและติดต่อกับรัฐบาลลาวอิสระในกรุงเทพฯ ทางเจ้าเพชรราช และเจ้าสุภานุวงศ์ซึ่งยังเป็นผู้บัญชาการทหารและมีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับเวียดมินห์

แต่รัฐบาลลาวอิสระในกรุงเทพฯ ก็เกิดความแตกแยก

สาเหตุหนึ่งมาจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงค์นาวาสวาดิ์ และไม่ให้การไม่สนับสนุนขบวนการเอกราชของอินโดจีน นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีลาวอิสระบางคนที่ไม่เห็นด้วยที่เจ้าสุภานุวงศ์ติดต่อกับเวียดนามย่างใกล้ชิด ทั้งมีการทำงานที่เป็นเอกเทศจากรัฐบาล

ขณะที่ฝรั่งเศสก็สามารถกลับเข้าปกครองเมืองสำคัญของลาวได้ทั้งหมด เดือนสิงหาคม 1946 มกุฎราชกุมารศรีสว่างวัฒนา ทำสัญญาให้ฝรั่งเศสรับรองการรวมลาวเข้าด้วยกัน, ประกาศใช้รัฐธรรนูญ, การเลือกตั้ง และให้ลาวได้เป็นชาติที่มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสประกาศคืนตำแหน่งให้ผู้นำในรัฐบาลลาวอิสระที่จะกลับไปเวียงจันทน์ทุกคน

คณะรัฐบาลทั้งหมดยอมรับข้อเสนอนี้ ยกเว้นเจ้าเพชรราช และเจ้าสุภานุวงศ์

เดือนตุลาคม 1949 รัฐบาลลาวอิสระนำโดยพระยาคำม้าวออกแถลงการแสดงความพอใจในเอกราชภายใต้สหพันธ์ฝรั่งเศส และประกาศสลายตัวรัฐบาลลาวอิสระ พร้อมกับการชักธงลาวอิสระลงจากเสา

แต่ไม่ใช่สำหรับ เจ้าสุภานุวงศ์

มีเรื่องเล่ากันว่า หลังการประกาศของพระยาคำม้าวและการชักธงลง เจ้าสุภานุวงศ์นำธงดังกล่าวมาเก็บไว้ และประกาศว่ารัฐบาลลาวอิสระยังคงอยู่ต่อไป สำหรับฝ่ายปฏิวัติถือว่าเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลอิสระ และถือว่าพวกที่กลับไปเวียงจันทน์เป็น “ผู้ทรยศต่อเอกราชลาว” ส่วนธงของรัฐบาลลาวอิสระก็คงเป็นธงชาติของ ส.ป.ป. ลาวในปัจจุบัน

หลังการสลายตัวของรัฐบาลลาวอิสระ เจ้าสุภานุวงศ์ย้ายกองบัญชาการมาอยู่ที่ซำหนือ แขวงหัวพัน ประเทศลาว ปี1950 เจ้าสุภานุวงศ์เข้าเรียนทฤษฎีมาร์กเลนินขั้นต้น จัดขึ้นสำหรับผู้นำฝ่ายปฏิวัติลาว ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนามเป็นผู้สอน และเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในเดือนพฤษภาคม 1953

พลพรรคแนวลาวรักชาติ ที่แขวงพงสาลี ติดเวียดนามเหนือ (ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2540 )

เดือนสิงหาคม 1950 เจ้าสุภานุวงศ์เดินทางไปเวียดนามโดยความช่วยเหลือจากโฮจิมินห์ และได้จัดการประชุมใหญ่ผู้แทนลาวต่อต้านขึ้นบริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม ในแขวงหัวพัน มีผู้แทนจากเขตต่อต้าน 150 คนเข้าร่วมประชุม และเกิด “แนวลาวอิสระ” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “แนวลาวรักชาติ”)

แนวลาวอิสระต้องการให้สมาชิกเข้าร่วมจำนวน จึงต้องมีนโยบายการเมืองที่เปิดกว้าง ทั้งมีผู้นำที่เป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ของเอกราช มีเชื่อเสียงและมีเกียรติ เป็นที่ยอมรับ เจ้าสุภานุวงศ์มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด จึงได้รับเลือกให้เป็น “ประธานแนวลาวรักชาติ” มีผู้นำชาวแม้ว (ไฟด่าง ลอเปลียยาว) และผู้นำข่า (สีทน กมมะดำ) เป็นรองประธาน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ตั้งคณะรัฐบาลต่อต้าน ที่มีเจ้าสุภานุวงศ์เป็น นายกรัฐมนตรี

ที่ประชุมแนวลาวอิสระประกาศ นโยบายการเมือง 12 ข้อ ที่มุ้งเน้น สิทธิเสรีภาพ, ความเสมอภาคของเผ่าต่างๆ รวมถึงชนกลุ่มน้อย (ซึ่งต่างจากรัฐบาลราชอาณาจักร ที่ให้ความสำคัญกับชาวลาวเท่านั้น), ต่อต้านการกดขี่ แทรกแซงในลาวของฝรั่งเศสและอเมริกา, สนับสนุนความเป็นเอกภาพของลาว เป็นต้น

ปี 1949 หลังจากคอมมิวนิสต์ชนะในจีน อินโดจีนกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความตึงเครียดสูง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ และฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นหัวหน้า ซึ่งอเมริกาเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนที่ฝรั่งเศสที่ถอนตัวไป ส่วนของประเทศลาวมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ลาวขึ้น ในวันที่ 22  มีนาคม 1955  และทำหน้าที่เป็นผู้นำอย่างลับๆ เพราะแวดวงการเมืองในเวียงจันทน์ การเป็นคอมมิวนิสต์ไม่เป็นที่ยอมรับในระยะแรกๆ

หลังสนธิสัญญาเจนีวา 1954 มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม มีผู้นำฝ่ายขวาอย่างกระต่าย โดนสะโสฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเจ้าสุวรรณภูมา (ฝ่ายเป็นกลาง) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจากับแนวลาวรักชาติทำให้แนวลาวรักชาติไม่ได้เข้าร่วมการเลือกตั้งปลายปี 1955  เจ้าสุวรรณภูมาจึงต้องกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ ในเดือนสิงหาคม 1957

เดือนพฤษภาคม 1958 มีการเลือกตั้งเพิ่ม แนวลาวรักชาติ ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้แทนได้รับเลือก 9  คน จากผู้สมัคร 13 คน พรรคสันติภาพที่เป็นพันธมิตรกันก็ได้รับเลือก 4 คน รวมเป็น 13 คนจาก 21 คน เพื่อร่วมกับผู้แทนเก่า 38 คน เจ้าสุภานุวงศ์ลงรับสมัครที่เวียงจันทน์ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้

การพ่ายแพ้ของฝ่ายขวาทำให้สำนักข่าวกรองกลางของอเมริกา (CIA) เข้าแทรกแซงการมืองภายในลาว มีการผลัดกันให้ผุย ชนะนิกร เป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายขวาจัด ตัดความสมพันธ์กับประเทศสังคมนิยม ประกาศนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และปิดสิ่งพิมพ์ของฝ่ายแนวลาวรักชาติ ตามด้วยประกาศจับเจ้าสุภานุวงศ์ และผู้นำแนวลาวรักชาติ 15 คน  ข้อหา “กบฎ” ไปกุมขังที่คุกโพนเค็ง (28 กรกฎาคม 1959) แม้ภายหลังเจ้าสุภานุวงศ์และพวกจะสามารถหลบหนีจากที่กุมขัง

แต่ทำให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลฝ่ายขวาเป็นเครื่องมือของอเมริกาและไม่ต้องการสันติภาพ เกิดกระแสปฏิวัติเรียกร้องให้ปลดนายกรัฐมนตรี (เจ้าสมสนิท) และสร้างความเป็นกลาง สุดท้ายก็ลงเอ่ยด้วยการเจรจาของ 3 ฝ่าย คือฝ่ายขวา, ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายซ้าย โดยมีเจ้าบุญอุ้ม, เจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย และนำไปสู่การประชุมที่เจนีวา 1961 ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่กลับลงเอยด้วยฝ่ายเป็นกลางเข้าร่วมกับฝ่ายขวา ต่อสู้กับฝ่ายซ้าย

ปี 1973 ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส อเมริกาทำสัญญากับเวียดนามเหนือทำ “ข้อตกลงสันติภาพปารีส” เพื่อยุติความขัดแย้งในสงครามเวียดนาม อเมริกาตกลงที่หยุดทิ้งระเบิดในพื้นที่ทางเหนือของเวียดนาม และถอนทหารออกจากพื้นที่ทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งทำให้เจ้าสุวรรณภูมาตระหนักได้ว่า การร่วมมือทางการเมืองกับแนวลาวรักชาติ คือวิธีการที่ดีที่สุดในเวลานั้น

การตกลงเพื่อปรองดองครั้งใหม่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ที่เวียงจันทน์  มีกลุ่มการเมือง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาล และแนวลาวรักชาติ วันที่ 3 เมษายน 1974 เจ้าสุภานุวงศ์เดินมาเวียงจันทน์ท่ามกลางการต้อนรับของประชาชนจำนวนมาก จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญของลาว

แต่ครั้งนี้เจ้าสุภานุวงศ์ไม่เข้าร่วมรัฐบาลผสม หากดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะมนตรีผสมการเมือง ที่หลวงพระบาง คณะมนตรีเข้าทำหน้าที่แทนสภาแห่งชาติที่ถูกยุบในเวลาต่อมา จากนั้นคณะมนตรีออกประกาศ “โครงการสันติภาพ และปรองดองในชาติ 18 ข้อ”  เนื้อหาเหมือนกับนโยบายของแนวลาวรักชาติ ที่ยึดถือ ความเสมอภาค ระหว่างเพศ, เชื้อชาติ, ศาสนา ฯลฯ รวมทั้งต่อต้านผู้นำฝ่ายรัฐบาลที่โกงกิน และการแทรกแซงของอเมริกา

ประเด็นดังกล่าวจุดประกายไฟขึ้นในใจประชาชน

ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและโกงกิน และสนับสนุนฝ่ายของเจ้าสุภานุวงศ์รวมถึงแนวลาวรักชาติ  กลุ่มประชาชนผู้ประท้วงยึดสำนักงาน USAID  ประกาศขับไล่อเมริกา ต่อต้านผู้นำฝ่ายขวาออกนอกประเทศ เป็นการแสดงพลังประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลาว

ปี 1975 การสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ขึ้น มีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานประเทศคนแรก

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่ทำงานในนาม “รัฐบาลลาวอิสระ” ปี 1945 จนเป็น “แนวลาวรักชาติ ปี 1975 จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าสุภานุวงศ์ จะเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราช และความรักชาติของลาว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก สัญญา ชีวประเสริฐ. “บทบาททางการเมืองของเจ้าสุพานุวง (ค.ศ. 1945-1975)” ใน, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2541


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563