เปิดเส้นทางกวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยา จากอยุธยาสู่เมาะตะมะ

ตามทางทัพพม่าคราวเสียกรุงฯ พ.. 2310 เปิดเส้นทางกวาดต้อน “เชลยกรุงศรีอยุธยา” จากอยุธยาสู่เมาะตะมะ

เมื่อกองทัพพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว (7 เมษายน 2310)  ทหารพม่าได้เข้าไปในกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา จากนั้นได้เผาทำลายกรุงศรีอยุธยา แล้วจับชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นเชลย ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “…ลุศักราช 1129 ปีกุญนพศกเพลายามเศษ เข้าเมืองได้ กวาดครัวผ่อนหย่อนสายเชือกให้ลงข้ามช่องใบเสมาประตูเมืองไม่เปิดให้ออกกลางคืน อยู่สัก 15 วัน…”

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากนี้ว่า หลังจากที่กองทัพพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ได้กวาดต้อนเชลยชาวพระนครศรีอยุธยาไปไว้ตามค่ายของตน ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพพม่าทราบจึงให้ทหารไปประกาศให้ส่งตัวพระวงศานุวงศ์ของกรุงศรีอยุธยามาที่ค่ายโพธิ์สามต้น จากนั้นก็รวบรวมทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาเพื่อนำกลับไปพม่า…

ทหารพม่าสมัยเมืองอมรปุระ ราชธานีของพม่าที่ย้ายมาในสมัยพระเจ้าปดุง (โบดอพญา)(ย้ายมาจากเมืองรัตนปุระอังวะ)

สำหรับเส้นทางกวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาไปยังกรุงรัตนปุระอังวะนั้น ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน กล่าวว่า มีการกวาดต้อนไป 2 เส้นทาง เพื่อไปบรรจบกันที่เมืองเมาะตะมะ (เมืองมะตะบัน ในปัจจุบัน) ดังนี้

“…แล้วมอบเรือบันทุกปืนใหญ่ปืนน้อยทั้งปวง ให้แก่ปะกันหวุ่นแม่ทับทางใต้ ให้ยกทับบกทับเรือกลับไปทางเมืองกาญจะนบูรีโดยทางมา แล้วเนเมียวให้กองทับทางเหนือทั้งปวงคุมเอาสมเดจ์พระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวดกับพระราชวงษานุวงษทั้งนั้นไปทางเหนือ ยังเหลืออยู่บ้างแต่ที่ประชวนจึ่งมอบไว้แก่พระนายกอง ที่เล็ดลอดหนีไปได้นั้นก็มีบ้าง ซึ่งครอบครัวขุนนางแลราษฎรทั้งปวงนั้นแบ่งปันกันกวาดเอาไปทั้ง 2 ทับทางเหนือ ทางใต้แลตัวเนเมียวนั้น ก็ยกทับเรือทับบกกลับไปทางเมืองอุไทยธานีพร้อมกันขึ้นบก แล้วยกไปยังเมืองเมาะตะมะ…”

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางกวาดต้อนเชลยชาวอยุธยาไปยังพม่าในราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน สอดคล้องกับที่กล่าวในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน

โดยในราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน กล่าวถึงเจ้าอริยวงษาเจ้าเมืองน่านได้ให้เจ้านายอ้ายเป็นหลานคุมกองทัพเมืองน่านเข้าในกองทัพพม่าที่ไปตีกรุงศรีอยุธยา จากนั้นเมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้วเจ้านายอ้ายเป็นหลานได้เดินทางกลับอังวะทางเมืองเมาะตะมะและเมืองทวาย ดังความในราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน ว่า

“…ตัวเจ้านายอ้ายตนเป็นหลานไปเอาราชการเมืองใต้ ทวยม่านนั้นก็ตีเอาเมืองใต้ได้ในจุลศักราชได้ 1129 ตัว ปีเมืองไก้นั้นและ ครั้นว่าม่านได้เมืองใต้แล้ว ม่านก็เอาเจ้าฟ้าดอกเดื่ออันเป็นเจ้าเมืองใต้คืนเมืองอ่างวะพุ้นหั้นแล เมือทางหมอนทัพหมะ ท่าหว้าย (เมาะตะมะ ทวาย) และดังตัวเจ้านายอ้ายตนหลานนั้นก็ติดตามทวยม่านเมือทางแสนนั้นและ ครั้นเมือถึงเมืองอ่างวะแล้ว เจ้านายอ้ายตนหลานก็ได้กราบทูลมหากษัตริย์เมืองอ่างวะหั้นแล…”

จากหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียนที่ยกมา แสดงว่า เส้นทางที่พม่าใช้ในการกวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาไปยังพม่า แบ่งเป็นเส้นทางทางเหนือที่ไปทางเมืองอุทัยธานี และเส้นทางทางใต้ที่ไปทางเมืองกาญจนบุรี ดังนี้

1. เส้นทางเมืองอุทัยธานี 

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่เนเมียวมหาเสนาบดีกวาดต้อนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช และเชื้อพระวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองเมาะตะมะ…

เส้นทางเดินทัพกลับทางเมืองอุทัยธานีนี้ เป็นการเดินทัพในเส้นทางเดียวกันกับทัพที่ 3 ของพม่าที่เข้ามาจากเมืองเมาะตะมะ ในคราวเดินทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เส้นทางเมืองอุทัยธานีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่และการสำรวจภาคสนามของผู้เขียน สันนิษฐานว่า 

เมื่อเนเมียวมหาเสนาบดียกทัพขึ้นไปเมืองอุทัยธานีนั้น ได้ไปทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นจึงขึ้นบกที่ชัยนาท แล้วเดินทางไปทางเมืองอุทัยธานีเก่า ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหนองฉาง ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าเดิมเมืองอุทัยธานีเก่าตั้งอยู่ที่อำเภอหนองฉาง…

จากนั้นเส้นทางเดินทัพผ่านเมืองอุทัยธานีเก่า ไปทางห้วยขาแข้ง ซึ่งปัจจุบันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งไปยังด่านเมืองอุทัยธานี ซึ่งมี 2 ด่าน คือ ด่านหนองหลวงและด่านแม่กลอง

1. ด่านหนองหลวง ปัจจุบันคือ ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ด่านนี้เป็นด่านสำคัญของเมืองอุทัยธานี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

2. ด่านแม่กลอง ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านแม่กลองเก่า อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เดิมเป็นด่านสำคัญของเมืองอุทัยธานี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อออกด่านเมืองอุทัยธานีที่ด่านหนองหลวง ด่านแม่กลอง (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) แล้ว เนเมียวมหาเสนาบดีน่าจะเดินทัพเลียบแม่น้ำเมยขึ้นไปทางเหนือ (อาจจะผ่าน อำเภอพบพระ จังหวัดตาก) แล้วออกเมืองเมียววดีไปยังเมืองเมาะตะมะ ทางนี้จึงไม่ต้องผ่านด่านแม่ละเมาที่อยู่ลึกเข้ามาในเขตอำเภอแม่สอด หากแต่เดินตัดข้ามไปทางเมียววดีในเขตพม่าโดยตรง

สำหรับสาเหตุที่เนเมียวมหาเสนาบดีเลือกใช้เส้นทางด่านเมืองอุทัยธานีในการกวาดต้อนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและพระราชวงศานุวงศ์ของกรุงศรีอยุธยากลับไปยังเมืองรัตนปุระอังวะนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะเดินทางตัดจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปยังเมืองเมาะตะมะ และสามารถเดินทัพในเขตอิทธิพลของกองทัพพม่า (คือแถบภาคกลางของไทย) โดยไม่ต้องผ่านหัวเมืองเหนือ (เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร และเมืองตาก) ซึ่งในเวลานั้นเจ้าพระยาพิษณุโลกยังมีอำนาจอยู่บริเวณนั้น

2. เส้นทางเมืองกาญจนบุรี 

เส้นทางนี้เป็นการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังพม่า โดยการยกทัพออกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปทางเมืองเย แล้วเข้าไปที่เมาะตะมะ ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน กล่าวว่า เส้นทางนี้เนเมียวมหาเสนาบดีให้นายทัพพม่าคุมไป แบ่งเป็น 2 ทัพ คือ 

1. ทัพบก ยกจากกรุงศรีอยุธยา ออกไปทางเมืองสุพรรณบุรี แล้วออกพนมทวน เลียบแม่น้ำแควน้อย ไปทางเมืองไทรโยค เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวกันกับตอนที่มังมหานรธายกทัพจากค่ายที่ตอกระออม หนองขาว ไปยังเมืองสุพรรณบุรี เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นเส้นทางกลับกันคือ เดินทัพจากสีกุก อยุธยา มายังสุพรรณบุรี แล้วมายังกาญจนบุรี

ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ว่า “…บันจบกับกองทับซึ่งยกไปทางเมืองสุพรรณบูรีนั้น แล้วก็ขึ้นบกเกนพลทหารให้ลากปืนใหญ่ขึ้นจากเรือที่ท่าดินแดงแล้วลากเข็นไปทางบก…”

แสดงให้เห็นว่าเส้นทางที่กวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาในเส้นทางนี้ เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองสุพรรณบุรี เมื่อถึงเมืองสุพรรณบุรีแล้วเดินทางไปยังเมืองกาญจนบุรี…

ในการเดินทัพจากเมืองสุพรรณบุรีมายังปากแพรก (ปัจจุบันคือที่ตั้งของจังหวัดกาญจนบุรี) ใช้เส้นทางจากบ้านสองพี่น้อง (ปัจจุบันคือ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี) มายังบ้านทวน (ปัจจุบันคือ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี) มายังบ้านหนองขาว (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี) และปากแพรก (ปัจจุบันคือตัวจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากมีการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) 

จากนั้นจึงเดินทัพบกจากปากแพรกไปยังด่านกรามช้าง เมืองท่าตะกั่ว เมืองไทรโยค และด่านพระเจดีย์สามองค์…

เมื่อถึงเมืองไทรโยคแล้ว ทัพบกน่าจะได้ยกทัพผ่านเมืองท่าขนุน ซึ่งปัจจุบันคือ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ ไปยังสามสบซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) แล้วไปถึงสงขลา ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอสังขละบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังด่านพระเจดีย์สามองค์…

ด่านพระเจดีย์สามองค์ เส้นทางเดินทัพพม่าที่ใช้ตีเมืองไทย

2. ทัพเรือ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่พม่าใช้ยกทัพเรือจากเมืองราชบุรีไปยังเมืองธนบุรี นนทบุรี เพื่อไปตีกรุงศรีอยุธยา ทัพนี้ยกทัพเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองด่านออกไปทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อย แล้วไปทางเมืองไทรโยค จากนั้นจึงยกทัพออกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์…

การเดินทัพและกวาดต้อนเชลยทางเรือนั้น ใช้การล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจากกรุงศรีอยุธยาจนถึงนนทบุรี (ตลาดแก้ว) ปัจจุบันตลาดแก้วคือบริเวณวัดเขมาภิรตาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี 

จากนั้นจึงเดินทางไปยังเมืองธนบุรี แล้วน่าจะเดินทางไปตามคลองด่าน จนถึงแม่น้ำท่าจีน แล้วเข้าคลองสุนัขหอนไปออกแม่น้ำแม่กลอง จากนั้นได้ทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำแม่กลอง ถึงปากแพรก กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยเป็นแม่น้ำแม่กลอง

ส่วนในมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าหรือพระราชพงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้วได้กล่าวถึงเส้นทางในการยกทัพกลับของกองทัพพม่า โดยใช้เส้นทางเมืองกาญจนบุรีไปยังเมืองไทรโยค ซึ่งน่าจะไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไว้ว่า

“…ครั้น ณ วันเดือน 7 ขึ้น 9 ค่ำ จุลศักราช 1129 สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุทธยาไปยังกรุงรัตนบุระอังวะ แต่กลับไปทางท่าไร่ (เมืองไทร คือ เมืองไทรโยค)…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตามทางทัพพม่าคราวเสียกรุงฯ พ.. 2310 (2) การแบ่งเส้นทางกวาดต้อนเชลยโยเดีย” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2564