สงกรานต์ไทย-โจลชนำทเม็ยเขมร เหมือน-ต่าง กันอย่างไร?

กรุงพนมเปญ กัมพูชา ค.ศ. 1953
(ภาพประกอบเนื้อหา) กรุงพนมเปญ ค.ศ. 1953 (ภาพจาก UWM Libraries Digital Collections)

“สงกรานต์” ของไทย กับ “โจลชนำทเม็ย” หรือ สงกรานต์เขมร ซึ่งมีรากฐานมาจากอินเดียและคติทางพุทธศาสนาเหมือนกันนั้น เรื่องพิธีการ พิธีกรรมต่าง ๆ เหมือนกัน-ต่างกัน อย่างไร?

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและประวัติศาสตร์กัมพูชา พาไปทำความรู้จักเทศกาลสงกรานต์ “เวอร์ชันเขมร” โดยทำความเข้าใจกันตั้งแต่ที่มาระบบปฏิทินและการนับปีแบบโบราณ สำรวจประเพณี “โจลชนำทเม็ย” ขึ้นปีใหม่ของเขมร ว่าเหมือนหรือต่างจากประเพณีสงกรานต์ของบ้านเราอย่างไร

อาจารย์ศานติ เล่าว่า สงกรานต์ของกัมพูชา ทางเขมรจะเรียกว่า “โจลชนำทเม็ย” ซึ่ง โจลชนำ แปลว่าเข้าปี หรือขึ้นปีใหม่ หมายถึงช่วงสงกรานต์ของเขมรนั่นเอง

“สงกรานต์ของกัมพูชามีอะไรบ้าง ตามหลักฐานที่มีปรากฎอยู่ในเอกสารที่จริงๆ ก็เป็นเอกสารในชั้นหลังเขามีการกล่าวถึงประเพณีต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นพระราชพิธีราชสำนักกัมพูชา ประเพณีที่เกี่ยวกับการรับเทวดาใหม่ หรือ ‘โตต็วลเตวดาทเม็ย’ รับเทวดาใหม่ เรื่องของท้าวกบิลพรหมกับธรรมบาล มีการอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกมาทำพิธีสรงน้ำ

สองคือประเพณีที่สัมพันธ์กับพุทธ คือประเพณี ‘พูนพนุมขสัจ’ คือก่อภูเขาทราย  ขสัจ คือทราย พนุม คือภูเขา เทียบกับไทยคือการก่อพระเจดีย์ทราย แต่กัมพูชาจะอธิบายว่าภูเขาทรายหมายถึงเขาพระสุเมรุ มีการก่อแล้วเอาธงไปประดับ ยอดเขาพระสุเมรุจะมีสวรรค์ของพระอินทร์ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระธาตุจุฬามณี พิธีอีกอันหนึ่งที่สำคัญคือการทำพิธีบังสุกุล จะมีทั้งราชสำนัก และประเพณีชาวบ้าน”

อาจารย์ศานติ เล่าอีกว่า ในอดีตราชสำนักกัมพูชาจะทำพิธีพูนพนุมขสัจ ที่วัดพนุมโฎนปึญ หรือวัดยายเพ็ญ ในกรุงพนมเปญ จะเสด็จไปทำพิธีและก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดนี้ รวมถึงพิธีเกี่ยวกับบังสุกุล การถวายพระราชกุศลถึงอดีตกษัตริย์กัมพูชาองค์ก่อน ๆ ซึ่งมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาเหมือนไทย

สำหรับการสรงน้ำ พิธีระดับพระราชสำนักจะมีการสรงน้ำพระกรุณา โดยพระมหากษัตริย์กัมพูชา ส่วนนี้จะมีพราหมณ์ราชครูเป็นผู้ทำพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลต่าง ๆ 

“ชาวบ้านจะมีการสรงน้ำพระและการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษเช่นกัน บางท้องถิ่นจะมีการชุมนุมกันเพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ‘เนียะก์ตา’ หรือปราสาทโบราณ บางท้องที่จะมีการละเล่นที่เรียกว่า ‘ร็วมโตระฮ์’ จะนิยมกันแถว ๆ เสียมราฐ พระตะบอง”

อาจารย์ศานติ ชี้ว่า ความเกี่ยวข้องหรือคล้ายคลึงกันของประเพณีสงกรานต์ของทั้งสองประเทศ เป็นผลมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานทางความคิดที่นำไปสู่ประเพณี พิธีกรรม แต่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่าง ยกตัวอย่าง สงกรานต์ไทยจะมีเรื่องประเพณีรดน้ำดำหัว รวมถึงละเล่นสาดน้ำที่ค่อนข้างโดดเด่น

แต่ในอดีต จุดสำคัญของประเพณีสงกรานต์คือ “การทำบุญ” การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระ เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นรากฐานร่วมกัน

“เราร่วมรากกันตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย เป็นรากฐานทางวัฒนธรรม แล้วต่างคนต่างพัฒนากันไปเป็นแบบของตนเอง” อาจารย์ศานติกล่าว

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST “มหาสงกรานต์ ย่านอุษาคเนย์” EP.2 “สงกรานต์เขมร” ประเพณีแห่งแดนปราสาทหิน โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2567