ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เทศกาล “สงกรานต์” หรือ “ปีใหม่ไทย” ทำไมต้องเป็นเดือนเมษายน การหาคำตอบเรื่องนี้อาจต้องสืบไปถึงต้นกำเนิดประเพณีสงกรานต์ใน “อินเดียใต้”
วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 13.30-14.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ” มีวิทยากรได้แก่ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’” วิทยากรทั้งสองท่านได้พาทุกคนไปเจาะลึก ทำความเข้าใจที่มาของประเพณีสงกรานต์ในบ้านเรา รวมถึงตีแผ่วิถีปฏิบัติต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าเป็นมาอย่างไร มีนัยอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังบ้าง?
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สงกรานต์” ว่ามาจากคำว่า “สํกฺรานฺติ” (อ่านว่า สัง-กราน-ติ) ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อน หรือย้าย คือการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ในระบบปฏิทินแบบ “สุริยคติ” ซึ่งนับปีด้วยการอิงตามวงโคจรของพระอาทิตย์ (อันที่จริงคือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์)
ในแต่ละปี ช่วงของการย้ายจากจักรราศีหนึ่งไปอีกจักรราศีหนึ่งคือ “สงกรานต์” ทั้งสิ้น ซึ่งตกประมาณวันที่ 14-15 ในแต่ละเดือน ในแง่นี้จึงมีสงกรานต์ทุกเดือน
“สงกรานต์เป็นความคิดในระบบโหราศาสตร์จากการย้ายราศีของพระอาทิตย์ การย้ายในแต่ละราศีในทางความเชื่อจะมีความหมายของมันอยู่ เมื่อพระอาทิตย์เป็นดาวใหญ่ การเคลื่อนย้ายจึงมีผลกระทบต่อโลก ถ้าไม่อิงตามระบบโหราศาสตร์คือ มันทำให้เกิดฤดูกาล”
อ.คมกฤช ชี้ว่า แม้สงกรานต์จะมีทุกเดือน แต่สงกรานต์ที่สำคัญที่สุดคือสงกรานต์ในช่วงของการข้ามปี หรือเริ่มต้นปีใหม่ อย่างไรก็ตาม สงกรานต์ (ใหญ่) ในอินเดียแต่โบราณคือเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่โลกแถบเส้นศูนย์สูตรกำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ แต่ทุกวันนี้การเฉลิมฉลองสงกรานต์เดือนมกราคมเป็นที่รู้จักในชื่อ “พิธีตรียัมปวาย”
แล้วสงกรานต์เดือนเมษายนมาจากไหน?
อ.คมกฤช อธิบายว่า เพราะพระอาทิตย์ในช่วงราศีเมษ หรือเดือนเมษายน ถือว่ามีกำลังมากสุด “ราศีเมษถือเป็นราศีที่เป็นลัคนาของโลก ตามตำแหน่งของโลกในทางโหราศาสตร์ แปลว่าพระอาทิตย์จรเข้าดวงชะตาของโลกในระบบโหราศาสตร์ ภูมิภาคใน อินเดียใต้ จึงฉลองปีใหม่ในช่วง ‘เมษสังกรานติ’
คนที่ถือสงกรานต์นี้เป็นปีใหม่คือคนอินเดียใต้ หรือคนทมิฬ สงกรานต์เดือนเมษาฯ จึงเป็นปีใหม่ทมิฬ”
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อธิบายประเด็นเรื่องสงกรานต์เดือนเมษายน หรือปีใหม่ทมิฬ ว่ากลายมาเป็น “ปีใหม่ไทย” ได้อย่างไร โดยชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยรวมถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้รับเพียงพระพุทธศาสนาจากอินเดีย แต่รับเอาชุดความรู้อื่น ๆ เข้ามาด้วย
ระบบปฏิทินแบบนับข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ หรือ “จันทรคติ” ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบสุริยคติตามอินเดีย พร้อมกันนั้น ความเข้าใจเรื่องสงกรานต์ก็ติดมาด้วยเช่นกัน
“จริง ๆ ตระกูลพราหมณ์ไทยในราชสำนักอยุธยา เช่น ตระกูลพราหมณ์เมืองนครฯ มักจะบอกว่าตนมีเชื้อสายมาจากเมืองรามเหศร์ หรือ ‘ราเมศวรัม’ ตอนใต้สุดของอินเดีย ตรงที่พระรามต่อสะพานรบกับทศกัณฐ์ที่เกาะศรีลังกา ซึ่งมันคืออินเดียใต้” อ.ศิริพจน์กล่าว
สะท้อนให้เห็นว่า ที่มาขององค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งติดมาพร้อมกับเหล่าพราหมณ์อินเดีย ต่างก็มาจากอินเดียใต้นั่นเอง
อ.ศิริพจน์ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อพราหมณ์อินเดียมาถึงไทย ย่อมได้พบวัฒนธรรมดั้งเดิมที่นับถือผี จึงเกิดการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิม สงกรานต์ไทยจึงค่อย ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับฤดูกาล ภูมิอากาศ และการเพาะปลูก
เดือนเมษาในไทยมีการไหว้ผีช่วงนี้กันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ ต้องรอหน้าฝน จึงมีการเอาเครื่องมือเครื่องใช้มาไหว้ผีบรรพชน เพื่อให้คุ้มครองและอำนวยอวยพรให้สามารถเพาะปลูกได้ผลผลิตงอกงามในปีนั้น ความเชื่อเรื่องสงกรานต์จากอินเดียจึงผสมปนเปกับความเชื้อดั้งเดิมเหล่านี้ รวมถึงความเชื่อทางพุทธศาสนา แล้วเกิดเป็นสงกรานต์แบบไทย
นอกจากนี้ วิทยากรยังเล่าถึงเทศกาลสงกรานต์ในอินเดียว่าเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากไทยยังไงบ้าง เทศกาลโฮลีหรือการสาดสีที่ว่ามีความคล้ายคลึงกับสงกรานต์ไทยคือเทศกาลเดียวกันแต่อยู่ต่างถิ่นกันหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นเรื่องการสาดน้ำ เราเริ่มเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีนัยอย่างไรบ้างเบื้องหลังธรรมเนียมเหล่านี้
หลังการบรรยาย อ.คมกฤช และ อ.ศิริพจน์ ยังมีกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟ พาผู้ร่วมฟังเสวนาไปสักการะ “พระพุทธสิหิงค์” เสริมสิริมงคลรับเทศกาลสงกรานต์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมการบรรยายแบบเจาะลึกตลอดการนำชม
รับชมคลิปเสวนา :
อ่านเพิ่มเติม :
- สงกรานต์3 วัน 13-15 เม.ย. เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง
- ทำไม “สงกรานต์” ที่อินเดียบางถิ่นมีทุกเดือน คำว่า “สงกรานต์” หมายถึงอะไร?
- สงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2567