สงกรานต์ เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

นาง สงกรานต์ กำลัง ร่ายรำ
ภาพนางสงกรานต์ ปฎิทินสงกรานต์ของธนาคารออมสิน พุทธศักราช 2535

“สงกรานต์” เนื่องในศาสนา ผี-พราหมณ์-พุทธ เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ ดังนี้

1. อุษาคเนย์ รวมทั้งไทย หลังฤดูเก็บเกี่ยวเข้าสู่หน้าแล้ง ไม่มีฝน ไม่ทํานา อากาศร้อน ครั้นถึงเดือน 5 (จันทรคติ) ตรงกับเมษายน (สุริยคติ) ราษฎรทําพิธีเลี้ยงผีประจําปี และมีการละเล่นต่างๆ เนื่องในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว

2. สงกรานต์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย เกี่ยวกับขึ้นศักราชใหม่ (ไม่ใช่ปีนักษัตร) เมื่อดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนย้ายเข้าราศีเมษ เรียก “มหาสงกรานต์” ในเดือนเมษายน (สุริยคติ)

3. ชนชั้นนําอุษาคเนย์สมัยการค้าโลกเริ่มแรก รับ “มหาสงกรานต์” จากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1000 จากนั้นประสมประสานประเพณีพื้นเมือง (ในศาสนาผี) แล้วเรียก“สงกรานต์”

ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีเทศกาลสงกรานต์ แล้วต่างเรียก “ปีใหม่” ของตนเหมือนกันหมดในหลายประเทศ ได้แก่ พม่า (มอญ), ลาว, กัมพูชา, สิบสองพันนาในจีน และไทย

4. ชนชั้นนําในไทยรับสงกรานต์จากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรรมทวารวดี) แล้วส่งต่อชนชั้นนําสมัยอยุธยา ราว 700 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ. 1800

เอกสารเรื่อง สงกรานต์ ของ กระทรวงวัฒนธรรม
ภาพจากเอกสารเรื่องสงกรานต์ของกระทรวงวัฒนธรรม (ไม่มีคำอธิบายใต้ภาพ)

สงกรานต์สมัยอยุธยา

มีพิธีกรรม 2 ระดับ คือ ราชสํานักกับราษฎร

ราชสํานัก สงกรานต์ในราชสํานักอยุธยา เป็นพระราชพิธีขึ้นศักราชใหม่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนํา (ไม่เกี่ยวกับราษฎร และราษฎรไม่รู้จักสงกรานต์) ทําพิธีมี 3 อย่าง ดังนี้

1. พิธีพราหมณ์อยู่ในเทวสถาน (มีหลายแห่ง) 2. พิธีพุทธในวัดหลวง (เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ ฯลฯ) 3. พิธีผีมีใน “สนามใหญ่” (สนามหลวง) 4. ไม่มีสาดนํ้า

ราษฎร ราษฎรสมัยอยุธยาไม่มีสงกรานต์ เพราะไม่รู้จัก (เนื่องจากสงกรานต์เป็นพิธีหลวงจําเพาะในราชสํานัก)

แต่เดือน 5 หน้าแล้ง (ตรงกับเมษายน) ราษฎรมีพิธีเลี้ยงผีประจําปีเป็นปกติหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนราชสํานักรับวัฒนธรรมอินเดีย) คือ ผีบรรพชนและผีเครื่องมือทํามาหากิน เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารให้ชุมชน มีการละเล่นต่างๆ ที่สําคัญคือเล่นเข้าทรงลงผีได้แก่ เข้าทรงผีฟ้า, เข้าทรงแม่ศรี (คือผีแม่โพสพ) แต่ไม่มีสาดนํ้า

ผีบรรพชน คือ ผีพ่อผีแม่, ผีปู่ย่า, ผีตายาย, ผีฟ้า

ผีเครื่องมือทํามาหากิน หมายถึง เครื่องมือทํามาหากินทุกอย่างมีผีสิง ได้แก่ ผีครก, ผีสาก (ตําข้าว), ผีนางด้ง (กระด้งฝัดข้าว), ผีลอบผีไซ (ดักปลา) ฯลฯ

สงกรานต์สมัยรัตนโกสินทร์

สงกรานต์ของราชสํานักเดือนเมษายนกับการเลี้ยงผีเดือน 5 ของราษฎรโน้มหากันและปนกันแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่พบหลักฐาน

เพิ่งพบร่องรอยการผสมปนเปกันสมัยรัตนโกสินทร์แผ่นดิน ร.3 ได้แก่ 1. นิทานสงกรานต์เรื่องท้าวมหาพรหม มีจารึกในวิหารพระนอน วัดโพธิ์ท่าเตียน และ 2. นิราศเดือนของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีในแผ่นดิน ร.3 พรรณนาประเพณีสงกรานต์ว่ามีสรงนํ้าพระ แต่ไม่มีสาดนํ้า

นับแต่นี้ไปสงกรานต์เป็นเทศกาลของคนทุกชนชั้น ดังนี้

  1. พราหมณ์หลวงทําพิธี “มหาสงกรานต์” ในเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า
  2. ราชสํานักมีประกาศสงกรานต์ ตามความเชื่อนิทานท้าวมหาพรหม
  3. ราษฎรทําบุญเลี้ยงพระในวัด แล้วมีการละเล่นตามนัดหมายในชุมชน
  4. ทําบุญเลี้ยงพระในวัด มีพระสงฆ์ชักบังสุกุล (เป็นพิธีกรรมพื้นเมืองสืบเนื่องจากเลี้ยงผี)
  5. การละเล่นในชุมชนคือเข้าทรงผีที่สิงในเครื่องมือทํามาหากิน
  6. ขนทรายเข้าวัดและก่อพระทรายเป็นสิ่งใหม่ เพิ่มเข้ามาสมัยหลัง
  7. สาดนํ้าเป็นสิ่งใหม่ เพิ่มเข้ามาสมัยหลัง
  8. วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันครอบครัว เป็นสิ่งเพิ่งสร้างโดยรัฐบาลไม่นานมานี้
สงกรานต์ รดน้ำพระ สาดน้ำ
ภาพจากเอกสารเรื่องสงกรานต์ของกระทรวงวัฒนธรรม (ไม่มีคำอธิบายใต้ภาพ)

สงกรานต์ของกระทรวงวัฒนธรรม

ประเพณีสงกรานต์ปีใหม่แบบไทย จากเอกสารของกระทรวงวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2564 หน้า 1) มีดังนี้

“เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ….สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี”

คำอธิบายของกระทรวงวัฒนธรรมขัดกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา มีดังนี้

1. ปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณหลายพันปีแล้วเป็นเรื่องเปลี่ยนปีนักษัตร (ไม่มีในอินเดีย) คือ เดือนอ้าย (เดือน 1) ทางจันทรคติเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ (ตรงกับปฏิทินสากลปัจจุบันราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ราษฎรทั่วไปรู้จักดี

2. สงกรานต์เป็นปีใหม่ของอินเดีย เป็นเรื่องดวงอาทิตย์โคจรย้ายราศี จากราศีมีนย้ายสู่ราศีเมษ ตรงกับเดือนเมษายน จากนั้นแผ่ถึงราชสำนักอุษาคเนย์สมัยการค้าโลกเริ่มแรกราวหลัง พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) สืบทอดถึงราชสำนักอยุธยาดัดแปลงสงกรานต์ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับเป็นศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นพระราชพิธี ส่วนราษฎรอยุธยาไม่รู้จักสงกรานต์

3. สาดน้ำไม่มีในสมัยอยุธยา แม้สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่มีสาดน้ำ แต่จะมีสาดน้ำสงกรานต์หลังจากนั้นจนปัจจุบัน

นิยามและคำอธิบายของกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ควรละทิ้งหลักฐานสำคัญ มิฉะนั้นจะกลายเป็น “เฟก นิวส์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2560