ดู “การสรงน้ำ” ช่วงสงกรานต์สมัยโบราณ วิธีสรงน้ำที่คนไม่แออัดในภาคเหนือ-อีสาน

การสรงน้ำ สรงน้ำพระ อยุธยา สตรี ประเพณีสงกรานต์
ภาพประกอบเนื้อหา - สุภาพสตรีสรงน้ำพระพุทธรูปก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อยุธยา เมื่อ 11 เม.ย. 2018 (ภาพจาก ROMEO GACAD / AFP)

“การสรงน้ำ” เนื่องใน “ประเพณีสงกรานต์” ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต โดยจะทำการสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์ภายหลัง รวมทั้งมีการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญทำทานเพื่อความเป็นสิริมงคล

ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ ไปสรงน้ำพระพุทธปฏิมากรพระศรีสรรเพชญ์ และเทวรูปพระพิฆเนศวร จากนั้นจะโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำในพระราชวัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็พากันไปสรงน้ำพระตามวัดต่าง ๆ การสรงน้ำพระนั้นต้องเตรียมน้ำอบไทย เครื่องหอม ผ้าอาบหรือสบงแล้วแต่ศรัทธา เมื่อสรงน้ำพระแล้วก็ถวายของ

Advertisement

รายละเอียดเรื่องประเพณีสงกรานต์ในสมัยอยุธยามีกล่าวถึงในพิธีทวาทศมาศ แสดงวิธีปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“พระราชพิธีละแลงสุก (เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์

(1) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จไปสรงน้ำพระ (พุทธปฏิมากร) ศรีสรรเพชญ์ (และเทวรูป) พระพิฆเนศวร

(2) โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำ แลรับพระราชทานอาหาร บิณฑบาต และจตุปัจจัยที่ในพระราชวัง 3 วัน

(3) ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย

(4) ตั้งโรงทานเลี้ยงพระแลราษฎรซึ่งมาแต่จตุรทิศ มีเครื่องโภชนาหารคาวหวาน น้ำกินน้ำอาบ แลยารักษาโรคทั้ง 3 วัน”

จะเห็นได้ว่าวิธีปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติบุญกิจตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การทำบุญเลี้ยงพระ และการทำทานแก่คนทั่วไป ซึ่งน่าจะยึดถือปฏิบัติกันตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนทั่วไป โดยการปฏิบัติที่แสดงลักษณะเฉพาะของสมัยอยุธยาคือ การสรงน้ำพระพิฆเนศวร์ เป็นการปฏิบัติตามคติพราหมณ์

ส. พลายน้อย เล่าถึง การสรงน้ำ พระพุทธรูปในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในอดีตว่า “ผู้คนที่อยู่ใกล้วัดพนัญเชิงก็จะพากันไปสรงน้ำหลวงพ่อโต… สมัยเมื่อ 50-60 ปีก่อนโน้น ผู้คนพากันเอาน้ำไปฉีดและสาดที่องค์พระ ซึ่งทำให้องค์พระพุทธรูปเสียหาย ต่อมาภายหลังเมื่อปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมปิดทองใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงได้หล่อเป็นองค์จำลองขึ้น เมื่อมีผู้ประสงฆ์จะปิดทองหรือสรงน้ำในวันสงกรานต์ก็เชิญออกมาข้างนอกวิหารให้ประชาชนสรงน้ำ ผู้ที่จะสรงน้ำก็ไม่ต้องเข้าไปเบียดเสียดกันข้างในวิหารและสถานที่ก็ไม่สกปรก”

การสรงน้ำพระพุทธรูปนั้นทำไม่เหมือนกันแล้วแต่วัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น ในภาคเหนือและอีสานสรงน้ำโดยใช้รางไม้ทอดยาวไว้ในที่สูงเสมอศีรษะ ประชาชนที่จะสรงน้ำพระพุทธรูปก็เอาน้ำหอมหรือน้ำท่านั้นเทใส่ในรางไม้นั้น น้ำจะไหลไปตามรางลงสรงองค์พระพุทธรูปเลยทีเดียว

วิธีการนี้นับว่าสะดวกสบาย สามารถสรงน้ำกันทีละหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน ไม่แออัดเบียดเสียด ไม่ต้องคอยระวังว่าจะเป็นการล่วงเกินสูงต่ำต่อพระพุทธรูป

ในภาคอีสานถือว่าการสรงน้ำพระเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “บุญสรงน้ำ” คือสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ สรงน้ำหรือรดน้ำผู้ใหญ่ บางแห่งสรงน้ำพระพุทธรูปอยู่นานถึง 15 วันจึงเลิก บางแห่งสรงน้ำพระตลอด 1 เดือน จึงมีพิธีสวดมนต์เชิญพระพุทธรูปกลับเข้าประดิษฐานที่เดิมและขอขมาพระพุทธรูป

สำหรับการสรงน้ำพระสงฆ์ในราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์นั้น รัชกาลที่ 4 ทรงมีประกาศเมื่อ พ.ศ. 2395 ทรงอธิบายสรงน้ำพระสงฆ์ไว้สรุปได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ไม่ได้นิมนต์พระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะมาสรงน้ำและถวายผ้าไตรครบเท่าจำนวนพระชนมพรรษา (อายุ) แต่จะทรงเลือกถวายผ้าและสรงน้ำตามความชอบพระทัยแต่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือ มากบ้างน้อยบ้างไม่มีกำหนด

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อแรกพระองค์โปรดให้ยึดตามประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบมาแต่รัชกาลก่อน ต่อมาหลายปีให้หลัง รัชกาลที่ 4 โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะที่มีอายุมากกว่าพระชนมพรรษา รวมทั้งเจ้าพระที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์มาทรงถวายไตรและสรงน้ำให้เท่ากับจำนวนพระชนมพรรษา และเพิ่มขึ้นทุกปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2535). ขนบธรรมเนียมประเพณี: ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ส. พลายน้อย. (2547). ตรุษสงกรานต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2564