สาดน้ำสงกรานต์ มีตั้งแต่เมื่อใด? ค้นหลักฐานเอกสารโบราณเพื่อหาคำตอบ

บรรยากาศการเล่นสงกรานต์เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2016 ที่ถนนข้าวสาร (AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA)

สงกรานต์สาดน้ำนั้น มีมาแต่เมื่อไร เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด จากการสืบค้นโดย ภาษิต จิตรภาษา คอลัมนิสต์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม พบว่า เอกสารที่เกี่ยวกับประเพณีนี้มีอยู่หลายเล่ม ทั้งที่เป็นตำราโดยตรงและพาดพิง.

สมัยอยุธยานั้นมี 2 คือ

1. ทวาทศมาส ได้กล่าวถึงกิจจกรรมต่างๆ ของปี แต่เขียนเป็นทำนองนิราศ จึงคร่ำครวญถึงสาวรักเสียจนกิจจกรรมในเดือน 5 หายไป เพิ่งมาเริ่มเอาในเดือน 6

ฤดูไพศาขสร้อง ฝนสวรรค์
คิดสุมาลย์มาลัย แหล่งน้อง
ฤดูฤดีครรภ์ รมเยศ
เจ็บกระอุแทบท้อง ที่ขวั้นสะดือนาง

ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องสาดน้ำในเดือน 5 เลย

2. นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ

เดือนห้าอ่ารูปล้ำ โฉมฉาย
การออกสนามเหลือหลาย หลากเหล้น
สงกรานต์การบุญผาย ตามพี่
พระพุทธรูปฤาเว้น แต่งเข้าบิณฑ์ถวาย

แล้วก็ไปเดือน 6 เลย

ภาพประกอบเนื้อหา – การเล่นสาดน้ำช่วงสงกรานต์ ที่ถนนข้าวสาร เมื่อ 13 เมษายน 2019 (ภาพจาก LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

3. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์เล่มนี้เป็นของรัตนโกสินทร์ ตั้งใจจะให้เป็นตำราจริงๆ

จิตรมาศสี่ค่ำขึ้น กำหนด
แม้ว่าจักถอยถด ห่อนได้
ออกจนสุดเดือนหมด สิ้นปักษ์ แรมเอย
เดือนหกขึ้นสี่ไซ้ นอกนั้นฤามี
บอกบุญให้ก่อสร้าง เจดีย์ ทรรยเฮย
ตามพระอารามปี ใหม่สร้าง
เปลี่ยนผลัดวัดละปี ฉัน สวด ฉลองเอย
ข้าราชการเกณฑ์บ้าง กับทั้งประยูรวงษ์
วันเนานั้นตั้งพระ ชัณษา
หกสิบรูปพระราชา คณะถ้วน
ฉันแล้วรดน้ำมา ฉันอีก เพนเอย
ถวายแต่ไตรแพรล้วน ทั่วถ้วนทุกปี
วันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ มีการ
ตั้งมุรธาภิเศกสนาน ราชไท้
มวญหมู่เหล่าพนักงาน ถวายโสรจ สรงนา
เตรียมอยู่คอยรับใช้ พรักพร้อมเพรียงกัน
ฉันแล้วครั้นฤกษ์ได้ ไชยมง คลเอย
เสด็จที่สรงเสวตร ฉัตรกั้ง
พระเต้าอุทกทรง สรงพระ องค์แฮ
พระครอบพระมหาสังข์ทั้ง แปดล้วนพราหมณ์ถวาย
สำเนียงนฤนาทก้อง กาหล
สงฆ์สวดพุทธมงคล เศกซ้อง
พิณพาทย์ดุริยดน ตรีครั่น ครื้นเอย
เสร็จสู่พระโรงท้อง เนื่องน้อมประเคนเพน
สดับปกรณ์ผ้าคู่ถ้วน เรียงราย
ทรงพระราชูทิศถวาย โสรจน้ำ
พระบรมญาติถวาย เสร็จล่วง แล้วนา
เป็นทักขิณทานล้ำ แต่เบื้องบรรพวงษ์
พระทรายให้ยกตั้ง เคียงเรียง เรียบเอย
ในพระโรงแถวเฉลียง ออกไว้
เวียนเทียนฉลองเสียง ประโคมกึก ก้องนา
เสร็จแห่ส่งวัดใช้ เช่นนี้มีเสมอ
สงกรานต์ชาวบ้านเที่ยว ตามสบาย
หญิงปะปนฝูงชาย แซ่ซ้อง
บางคนที่เมาหมาย เย้าหยอก ยั่วนา
พบพวกที่เกี่ยวข้อง ขัดแค้นต่อยตี

การคัดข้อมูลมายาวๆ ก็เพื่ออาศัยบริบทและข้อความจากบทข้างเคียงมาช่วยขยายความ จะเห็นว่าที่เป็นพระราชพิธีมีแต่ รด (ที่คำ โสรจ กับ สรง) ไม่มี สาด แต่ที่เป็นของชาวบ้านเล่า ถ้ามีก็คงบรรยายใส่มาแล้ว

4. นิราศเดือน ของ นายมี หรือที่เรียกกันว่า นายมีหมื่นพรหมสมพัตสร เป็นกลอนแปด จาระไนความเป็นไปของผู้คนในสมัยที่แกยังมีชีวิตอยู่ (ระหว่าง ร.1 ถึง ร.3) เป็นประจำเดือน

โอ้ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์
พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน
ได้ชมกันพิศวงในสงกรานต์
ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส
อภิวาทพระพุทธรูปในวิหาร
ที่กำดัดจัดแจงกันแต่งงาน
มงคลการตามเล่ห์ประเวณี

5. ขุนช้างขุนแผน

ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ
ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา
ต่างมาที่วัด ป่าเลไล
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด
ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่
ก่อพระเจดีย์ทรายเรี่ยรายไป
จะเลี้ยงพระกะไว้วันพรุ่งนี้

สองเล่มนี้ก็ไม่ได้มีกล่าวถึงสาดน้ำเลย

6. พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

เล่มนี้ก็เหมือนกัน ได้ตรวจดูในพระราชพิธีเดือนห้าทั้งหมด พิธีสังเวยเทวดาเอย, พิธีอาบน้ำช้างเอย, พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเอย, โองการแช่งน้ำเอย, ท่านทรงคุยได้ละเอียดลออ แต่เรื่องสงกรานต์สาดน้ำ ท่านไม่ได้ทรงแอะซักนิด

ก็ต้องสรุปว่า ในรัชกาลก่อนท่าน และในรัชกาลของท่านยังไม่มี เราหาสาดน้ำไม่เจอ แต่กลับไปเจอะเอา ก่อพระทราย

ท่านจะเห็นว่าเอกสารหลายชิ้นได้กล่าวถึงการก่อพระทราย เช่น โคลงทวาทศมาส ของสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ และ ขุนช้างขุนแผน ปัจจุบัน งานสงกรานต์ที่เชียงใหม่ก็ยังมีคนไปขุดเกาะขุดดอน ในแม่น้ำปิง เอาทรายไปก่อพระทราย ได้พบที่วัดท่าสะต๋อย และวัดบุพพาราม

ในกรุงเทพฯ เรานี้ก็มีอยู่วัดหนึ่งที่ก่อพระทรายในงานสงกรานต์ คือ วัดสุทัศน์


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “สาดน้ำสงกรานต์ มีมาแต่เมื่อไร” โดย ภาษิต จิตรภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2551


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 14 เมษายน 2563