ทำไม “สงกรานต์” ที่อินเดียบางถิ่นมีทุกเดือน คำว่า “สงกรานต์” หมายถึงอะไร?

เทศกาล สงกรานต์ ชาวต่างชาติ ยิงปืนฉีดน้ำ
การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ที่ถนนข้าวสาร เมื่อ 14 เมษายน 2566 (ภาพจาก Matichon Online - มติชนออนไลน์)

สงกรานต์ ตามความเข้าใจของคนจำนวนมากย่อมหมายถึง “วันขึ้นปีใหม่แบบไทย” กินระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน แต่ก่อนหน้าที่จะมาเป็น 3 วันนี้ วันขึ้นปีใหม่ของไทยก็เคยเปลี่ยนไปมาหลายครั้ง ขณะที่ความหมายและการปฏิบัติช่วงสงกรานต์ในประเทศอื่นก็ปฏิบัติแตกต่างกับของไทย อาทิ สงกรานต์บางถิ่นของอินเดียซึ่งผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยเล่าไว้ว่ามีสงกรานต์แทบทุกเดือน

เรื่องราวความเป็นมาของสงกรานต์ ส.พลายน้อย นักเขียนอาวุโสผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางเคยเขียนเรียบเรียงไว้ทั้งเป็นบทความและรวบรวมเป็นหนังสือ

ตัวอย่างเช่นในบทความ ปีใหม่ในอดีต” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2529 เล่าเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยโดยสันนิษฐานว่า แรกเริ่มนั้นคงจะถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนโบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน และเดือนอ้ายก็บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นเดือนแรก วันสิ้นเดือนตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ส่วนวันสิ้นปีตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 และวันขึ้นปีใหม่ (ชวด, ฉลู, ขาล ฯลฯ) จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย

“เข้าใจกันว่าที่กําหนดเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปีก็เพราะในระยะเวลาระหว่างนั้นอยู่ในฤดูหนาว คือพ้นจากฤดูฝนซึ่งอากาศมืดมัวมาเป็นสว่างเหมือนอย่างเป็นเวลาเช้าจึงได้นับเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี”

ตามตำนานเล่ากันว่า จุลศักราช เริ่มใช้เมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เอกศก ตรงกับพุทธศักราช 1182 วันขึ้นปีใหม่ตามแบบจุลศักราชจึงถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็นวันขึ้นต้นปีนักษัตรใหม่ ทั้งนี้ ส.พลายน้อย ระบุว่า การเปลี่ยนปีใหม่โดยเอาเดือนห้ามาเป็นต้นปีนี้ ไทยได้รับแบบอย่างมาจากไหนนั้น ยังไม่พบหลักฐาน

บางท่านว่าได้รับคติมาจากพราหมณ์ซึ่งใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ไทยเราออกจะมีเรื่องยุ่ง คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการเปลี่ยนปีนักษัตร (ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ) แล้วต่อมาอีกราว 15 วันพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษแล้วจึงเปลี่ยนศักราชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณใช้จุลศักราช (เป็นเรื่องของโหรที่จะคำนวณให้แน่ชัดว่าวันไหนจึงเปลี่ยนศักราช)

ในสมัยโบราณ วันสงกรานต์ก็ไม่ตรงกับในสมัยนี้ ถ้าแบบปัจจุบันกำหนดไว้ 3 วันคือ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันกลางเรียกว่าวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกซึ่งก็อาจเลยไปวันที่ 16 ก็ได้

แต่สมัยโบราณโหรต้องคำนวณหาวันสงกรานต์ล่วงหน้าทุกปีเพื่อนำมาแจ้งแก่ประชาชน ส.พลายน้อย อธิบาย ภายหลังทางราชการเห็นว่าวันสงกรานต์มักตกระหว่างวันที่ 12 หรือ 13 เมษายน จึงกำหนดวันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์แน่นอน เพื่อกำหนดวันหยุดราชการได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ คำว่าสงกรานต์ตามคำอธิบายของส.พลายน้อย ชี้ว่า คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การย่างขึ้น หมายถึงดวงอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใดราศีหนึ่ง เรียกว่า “สงกรานต์” แต่ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษ เป็นการขึ้นปีใหม่ จะเรียกชื่อพิเศษว่า “มหาสงกรานต์”

ในเมื่อคำว่าสงกรานต์มีความหมายดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้บางถิ่นของอินเดียมี “สงกรานต์” แทบทุกเดือน ส.พลายน้อย ยกตัวอย่างในปัญจาบมีสงกรานต์เดือนไพศาขะ อันเป็นเดือนที่สองของปี (นับเดือน 5 เป็นต้นปี)

ในอินเดียยังมี “มกรสงกรานต์” ตรงกับเดือนมฤคเศียร (ประมาณ 12-13 มกราคม) ถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นกลางวันของเทวดาและเริ่มต้นเวลากลางคืนของปีศาจ ทั้งนี้ คำว่า “มกรสงกรานต์” ในอินเดียบางทีเรียกว่า “ติลสงกรานต์” คือวันงา เป็นวันที่เอางามาบดทาตัวบูชาไฟและให้พราหมณ์

จะเห็นได้ว่า เรื่องสงกรานต์นี้เกี่ยวข้องหลายแง่มุม สิ่งที่โดดเด่นชัดเจนคือ “ความเชื่อ” ซึ่งสำหรับไทยแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า ปรากฏการผสมผสานทั้งความเชื่อทางศาสนาแบบพุทธ และเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างเรื่องผี ซึ่งในเทศกาลสงกรานต์ก็ปรากฏการเล่นทรงเจ้าเข้าผีกันหลากหลาย

ส.พลายน้อย เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า การทรงเจ้าเข้าผีในเทศกาลสงกรานต์นิยมเล่นกันตอนกลางคืนหรือช่วงเย็น โดยนัดหมายไปรวมกันที่ลานบ้านสักหลังหนึ่ง เลือกคนเป็นคนทรง มักหาคนที่ใจอ่อนหรือเคยเข้าทรงมาแล้ว การเล่นทรงเจ้าเข้าผีในแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป บ้างก็มีวิธีแปลกๆ เล่นกันในหมู่ผู้หญิง หรือเด็กๆ อาทิ การเข้าแม่ศรี (บางแห่งเรียกแม่สี) การเข้าผีลิงลมในหมู่เด็กๆ การเล่นผีนางด้งเพื่อความสนุกและหาของที่หายไป

สำหรับในไทยแล้ว ตามประเพณีสงกรานต์ในยุคนี้โดยทั่วไปเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน มักจะมีกิจกรรมเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูป การดำหัว ก่อพระทราย ทำบุญรูปแบบต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. ตรุษสงกรานต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

__________. “ปีใหม่ในอดีต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2529.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2564