“สงกรานต์” ทำไมหญิงชายแตะเนื้อต้องตัวกันได้ สีกาสาดน้ำพระถึงกุฏิ?

คนเล่น สงกรานต์ โดนประแป้ง
คนโดนประแป้งขณะเล่นสงกราต์ (ภาพจาก : MIC Matichon Information Center ศูนย์ข้อมูลมติชน)

บทความเกี่ยวกับ “สงกรานต์” นี้คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความพิเศษ “แนวการศึกษาการละเล่นทางมานุษยวิทยา ความสัมพันธ์ของพิธีกรรมกับการละเล่น” โดย ปรานี วงษ์เทศ ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 6 : เมษายน 2526 โดยจัดย่อหน้าใหม่เพื่อง่ายต่อการอ่าน


 

ในบรรดาเทศกาลที่นับว่าเป็นช่วงสําคัญและมีความหมายในชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ เทศกาลตรุษสงกรานต์ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ประชาชนกําหนดเพื่อทําบุญกุศล เป็นงานรวมตามความเชื่อทางศาสนา จะมีการสนุกรื่นเริงและพักผ่อนหย่อนใจในรอบปีกันอย่างเต็มที่ เป็นช่วงที่ผู้คนมีความยินดี ว่างจากการทําไร่ ทํานา วันสงกรานต์จึงถือเป็นวันบุญใหญ่ เล่นสนุกกันทั้งประเทศ และแม้ในประเทศใกล้เคียงก็มีประเพณีที่คล้ายกัน ต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

ประเพณี “สงกรานต์” ในอดีต

“สงกรานต์” ในหมู่บ้านภาคกลางของไทยอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่หลักใหญ่ของงานแล้วมักจะคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะขอกล่าวถึงขั้นตอนต่างๆ เพียงสังเขปเนื่องจากได้มีผู้ศึกษารายละเอียดไว้มากมายแล้ว

ปกติเมื่อใกล้วันสงกรานต์ทั้งทางวัดและชาวบ้านจะเตรียมตัวปัดกวาดบริเวณลานวัด โบสถ์ วิหาร เตรียมร้านม้าขนาดยาวสําหรับให้ชาวบ้านมาตักบาตรที่วางเรียงภายในวัด งานเก็บกวาดนี้ร่วมกันทําทั้งพระและชาวบ้านที่มีเวลาว่าง เพราะถือว่าช่วยงานวัดเป็นการได้บุญ ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนก็จะเตรียมตัวรับวันสงกรานต์ เช่น เตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ กวนขนมสําหรับนําไปทําบุญถวายพระ ตลอดจนแจกเพื่อนบ้าน ปัดกวาดบ้านช่อง ซักเสื้อผ้า ทําความสะอาดของเครื่องใช้ทุกอย่างให้เรียบร้อย ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องทําตามประเพณีเป็นการขจัดความสกปรกของปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องให้เป็นมงคล

เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะลุกขึ้นแต่เช้ามืดหุงข้าวทํากับข้าว เพื่อเตรียมไปตักบาตรฟังเทศน์ที่วัดประจําหมู่บ้าน ชาวบ้านจะแต่งตัวสวยงามเป็นพิเศษในวันนี้ไปวัดทําบุญ และเมื่อพระสวดมนต์จบฉันอาหารแล้ว ชาวบ้านจะรับศีลห้าแล้วก็ร่วมรับประทานอาหารเช้าบนศาลาวัด จากนั้นก็จะกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวกลับมาสรงน้ำพระในตอนบ่าย ซึ่งในบางท้องที่อาจสรงน้ำพระกันในวันสุดท้ายของสงกรานต์ ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการนัดหมายกัน

ชาวบ้านจะหาน้ำอบน้ำหอมหรือแป้งผสมน้ำใส่ภาชนะเป็นขันเงิน หรือทองเหลือง ตามแต่จะมีสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์ ซึ่งส่วนมากท่านจะออกมานั่งให้ชาวบ้านสรงน้ำได้อย่างสะดวก หลังจากนั้น พระสงฆ์จะเข้าไปในกุฏิผลัดจีวรและออกมาให้ศีลให้พรแก่ชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์

จากนั้นก็จะถึงเวลาเล่นสาดน้ำกัน บางคนอาจไปตามบ้านผู้ใหญ่ที่นับถือเพื่อไปขอรดน้ำขอพร และอวยพรให้ท่านมีอายุยืนยาว ในตอนเย็นชาวบ้านจะนัดกันมาก่อพระทรายที่ลานวัด (บางท้องที่ก็อาจก่อในวันสุดท้ายของสงกรานต์) แล้วก็กลับไปกินข้าวปลาที่บ้าน พอตกค่ำก็นัดกันออกมาเล่น แม่ศรี นางด้ง นางสาก ในระหว่างสงกรานต์ชาวบ้านมักไปวัดทำบุญทุกเช้า และเล่นสาดน้ำกันตลอดเวลา

บางท้องถิ่นมีการปล่อยนกปล่อยปลา ทำบังสุกุลอัฐิซึ่งมักทำในวันท้ายๆ ของสงกรานต์ การเล่นสาดน้ำและพักผ่อนหย่อนใจ หยุดทำการงานในวันสงกรานต์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน บางทีก็เล่นกันถึง 7 วัน 15 วันก็มี

ดังที่เป็นที่เข้าใจแล้วว่า สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ชีวิตของผู้คนจึงผูกพันอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และขึ้นอยู่กับการทำไร่ไถนา การปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักดังนั้นฝนและน้ำจึงมีความสำคัญสำหรับชีวิตและความอยู่รอดของชาวบ้าน เดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวบ้านเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์นับเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งมากที่สุดในรอบปี จึงเป็นความยินดีของชาวบ้านที่จะได้เล่นสาดน้ำแก้ร้อน ทั้งยังมีความเชื่อว่าเป็นการชำระล้างขับไล่ความทุกข์โศกโรคภัยและเพื่อประกันถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลในฤดูเก็บเกี่ยวต่อไปด้วย

การเล่นสนุกในการสาดน้ำนี้ทำกันทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่ต่างออกไป มีฝนตกตลอดปี จึงไม่ต้องมีความกังวลเรื่องน้ำเหมือนภาคอื่นๆ

ในประเทศไทยดังที่กล่าวแล้วว่านอกจากความสนุกแล้ว ยังมีความเชื่อแฝงอยู่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ด้วย ซึ่งเป็นความเชื่อที่เนื่องมาจากสังคมดั้งเดิม การสาดน้ำในวันสงกรานต์ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝน อย่างนาคให้น้ำเล่นน้ำซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทําไร่ไถนาด้วย นอกจากนี้ในช่วงนี้มักมีการเล่นแห่นางแมว เพื่อทําพิธีขอฝนตามเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

โดยย่อ สงกรานต์เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ฤดูหนาวได้ผ่านไปแล้ว เป็นเทศกาลสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชาวนาว่างจากไร่นา เสร็จฤดูเก็บเกี่ยวและเป็นช่วงที่จะเตรียมการเพาะปลูกสําหรับปีใหม่ สงกรานต์จึงเป็นเทศกาลที่คนมาร่วมแสดงความยินดี แสดงความเชื่อร่วมกันว่าเมื่อได้ทําบุญกุศลแล้วจะประสบความเจริญรุ่งเรืองข้าวปลาจะอุดมสมบูรณ์ในปีต่อไป

พฤติกรรมทุกอย่างที่ทําในช่วงสงกรานต์จึงมีความหมายที่เชื่อว่าจะมีอิทธิพลที่เป็นอํานาจลึกลับเหนือธรรมชาติต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสังคม โดยเฉพาะจะส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความสงบสุขในสังคม นับเป็นเหตุการณ์ทางสังคมที่มีความหมายสําคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาวัฒนธรรมไทยที่จําเป็นต้องอาศัยนักวิชาการหลาย ๆ ด้าน เช่น ทางด้านจิตวิทยา สังคมวิทยาและนักคติชนวิทยาร่วมกันวิเคราะห์ จึงจะได้ผลการศึกษาที่สมบูรณ์

วิเคราะห์ความหมายของ “สงกรานต์”

ในที่นี้ผู้เขียนจะพยายามวิเคราะห์ความหมายประเพณีสงกรานต์เฉพาะบางด้านเท่านั้น คือในแง่ที่เทศกาลสงกรานต์มีความสําคัญต่อการศึกษา และการทําความเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมด้านการละเล่นของไทยซึ่งแบ่งความสําคัญออกได้เป็น 2 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก สงกรานต์ เป็นเทศกาลที่มีความหมาย และมีความสําคัญอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากที่สุดและเป็นแหล่งรวมของการละเล่นต่าง ๆ ของชาวบ้านด้วย เหตุนี้ผู้เขียนจึงเชื่อว่าการละเล่นส่วนใหญ่ของภาคกลางนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หรือเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรมที่มีความเชื่อในอํานาจเหนือธรรมชาติแฝงอยู่

ประการที่ 2 พิธีกรรมที่แสดงออกในรูปของการละเล่นในเทศกาลนี้ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกในรูปของสัญลักษณ์ (symbolic action) ที่สังคมยินยอมให้แสดงออกโดยชอบธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อขัดแย้งของบทบาทและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอย่างน้อย 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย ระหว่างผู้น้อย – ผู้ใหญ่ และระหว่างพระสงฆ์ – ฆราวาส

เหตุที่สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านมีประเพณี การละเล่นต่าง ๆ มากกว่าเทศกาลอื่น น่าจะเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาอื่นในรอบปีชีวิตของชาวบ้านต้องผูกพันอยู่กับการทํามาหากิน ทำไร่ ทำนา ไม่มีเวลาว่างมากพอ นอกจากนี้ ในเทศกาลสงกรานต์ยังมีความเชื่อที่สนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านต้องหันมาเล่นสนุกอย่างเต็มที่อีก คือ ความเชื่อที่ทำสืบต่อกันมาว่าในช่วงสงกรานต์ จะห้ามตักน้ำตำข้าว เก็บผักหักฟืน หรือทำงานอื่นใดที่เคยทำในชีวิตประจำวัน

เมื่อพิจารณาดี ๆ แล้วจะเห็นได้ว่าข้อห้ามนี้เป็นข้อห้ามการทำงานของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปีหนึ่งสังคมจะยินยอมให้ผู้หญิงไม่ต้องทำงานบ้านได้โดยไม่ถูกประณาม นี้เป็นปัจจัยที่สิ่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นผู้มีบทบาทส่วนใหญ่ในการละเล่นมากกว่าผู้ชาย ซึ่งโดยปกติก็เล่นการพนันและกินเหล้าโดยได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่แล้ว

กล่าวอย่างสั้นๆ ในวันสงกรานต์ ผู้หญิงดูจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในทางสังคมแทบทุกด้านตั้งแต่ทำความสะอาดบ้านช่อง ทำอาหารเลี้ยงพระทำบุญ และการเป็นหัวโจกชวนกันเล่นการละเล่นต่างๆ

ข้อน่าสังเกตก็คือ ในวันสงกรานต์สังคมจะยอมให้ผู้หญิงมีอิสระเสรีภาพมากกว่าในเวลาปกติ เช่นจะเห็นพวกพ้องผู้หญิงกินเหล้าเล่นการพนันหยอกล้อพระสงฆ์ หรือพวกผู้ชายแสดงกิริยาก้าวร้าวในรูปของความสนุกได้โดยไม่มีผู้ถือสา เนื่องจากในวันตรุษสงกรานต์ “ชาวบ้านเขาไม่หวงลูกสาว ปล่อยให้สนุกกันได้อย่างเสรี” (ประเพณีเนื่องในเทศกาล หน้า 66) การละเมิดระเบียบหรือข้อห้ามจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านจงใจประพฤติในวันสงกรานต์

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกในช่วงนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับ และส่งเสริมให้กระทําไม่ว่าจะเป็นการเล่นสนุกรุนแรง การละเล่นต่าง ๆ เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน สงกรานต์เป็นงานนักขัตฤกษ์ที่ผู้คนมาร่วมเฉลิมฉลอง แสดงความยินดีทําบุญทําทานพักผ่อน สนุกสนาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในสังคม

ดังที่ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้ว การละเล่นในวันสงกรานต์ล้วนแล้วแต่มีความหมายในทางพิธีกรรมทั้งสิ้น (ritual function) แต่เมื่อสังคมคลี่คลายไป ความหมายในทางพิธีกรรม ความเชื่อก็คลายลง หรือมิได้มีผู้พยายามทําความเข้าใจจึงทําให้การละเล่นกลายเป็นเรื่องของทางโลกเป็นซึ่งให้ความบันเทิงความสนุกด้านเดียว (secularize) หมดความหมายทางศาสนาไป

ความหมาย “สงกรานต์” ทางพิธีกรรม

การเล่นในวันสงกรานต์ในภาคกลางแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ การเล่นสนุกในช่วงกลางวันที่มีลักษณะเหมือนเป็นการแข่งขัน แต่มิได้เน้นผลของการแพ้ชนะ จุดประสงค์จะเน้นที่ความสนุกมากกว่า เช่น การเล่นลูกช่วง ตี่จับ ชักกะเย่อ มอญซ่อนผ้า การละเล่นเหล่านี้มักมีการเล่นเพลงประกอบ เช่น เล่นเพลงพวงมาลัย เพลงระบํา เป็นการปรับฝ่ายที่แพ้ในการละเล่น นอกจากนี้จะมีการเล่นเพลงพิษฐานซึ่งมักร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงภายในโบสถ์ หลังจากที่หนุ่มสาวพากันไปเก็บดอกไม้มาบูชาพระ

ที่น่าสนใจคือ การเล่นชักกะเย่อนั้น ปรากฏว่าในบางท้องที่ เช่นที่จังหวัดจันทบุรี และปราจีนบุรี มีการเล่นชักกะเย่อในพิธีสรงน้ำพระ

เสฐียรโกเศศ ได้บันทึกไว้ว่าในวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะนิมนต์พระนั่งบนเกวียนที่ตกแต่งประดับประดาสวยงาม มีขบวนแห่ชักเกวียนเวียนประทักษิณรอบอุโบสถ 3 รอบแล้วก็เล่นชักกะเย่อกัน ระหว่างเล่นชักกะเย่อถ้าหากพระที่นั่งบนเกวียนเผยอไม่ระวัง ก็จะกระแทกกับเกวียนเจ็บได้ เมื่อชักกันแพ้ชนะแล้ว ก็ชักเกวียนชักพระไปยังที่สรง สรงน้ำกันตามธรรมเนียมแล้วก็กินเลี้ยงกันที่ลานวัดต่อ

อาจเป็นไปได้ว่า เดิมการเล่นชักกะเย่อมาจากประเพณีการชักพระไปสรงน้ำ แต่ต่อมาคงเหลือแต่การเล่นชักกะเย่อเพื่อเอาสนุกแต่อย่างเดียว

แต่การละเล่นอื่นๆ เช่น ตี่จับ มอญซ่อนผ้า ล้วนเป็นการละเล่นที่น่าสังเกตว่าให้โอกาสหนุ่มสาวได้แสดงความสนิทสนมกันได้ หรือเปิดโอกาสให้หญิงชายถูกเนื้อต้องตัวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือถือแขนไล่ปล้ำ ทุบตีกัน โดยไม่ถือว่าผิดประเพณี หรือมีการถือสาหาความ นับเป็นการคลายความกดดันของหนุ่มสาวได้ในแง่หนึ่ง

การละเล่นอีกประเภทหนึ่งมักเล่นกันในตอนกลางคืน คือการเล่นเข้าทรง แม่ศรี ลิงลม นางด้ง นางสาก นางสุ่ม นางครก นางควาย ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันแล้วแต่ท้องที่ เป็นการเล่นสนุกกึ่งพิธีกรรม เพราะในการเล่นนั้น ต้องมีการจุดธูปอัญเชิญผีให้มาเข้าสิงในร่างของคนทรง พวกลูกคู่ก็จะพากันร้องเพลงแหย่เย้าอัญเชิญผีมาเข้า เมื่อผีเข้าแล้วก็จะมีการไต่ถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการทำมาหากินการทำนายทายทักต่างๆ แล้วแต่จะคิดถามกัน จากนั้นผีในร่างคนทรงก็จะเล่นไล่จับ ไล่กัดผู้คนเป็นที่สนุกสนานจนเหน็ดเหนื่อยพอสมควรแล้วก็จะทำพิธีอัญเชิญให้ผีออกจากร่าง

การเล่นประเภทนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมในสังคมไทยในเรื่องผีวิญญาณว่าสิงสถิตอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ต้นไม้ ภูเขา ป่า ในสัตว์ที่ตายไปแล้ว และรวมทั้งในข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ การอัญเชิญผีที่สถิตอยู่ในเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อที่เป็น fertility cult ของสังคมเกษตรอีกด้วย

แม้การเล่นจะแสดงถึงการล้อเลียนผีเพื่อความตลกขบขัน แต่โดยส่วนลึกแล้ว ชาวบ้านก็ยังมีความเกรงกลัวกึ่งเคารพผีต่างๆ อยู่ เพราะยังมีความเชื่อว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผีนั้นยังมีอำนาจลึกลับที่บันดาลความเดือดร้อนให้ได้ โดยเฉพาะอาจมีผลต่อการทำมาหากิน หรือเจ็บไข้ได้ป่วยได้

ในการเล่นเข้าทรงนั้นในบางครั้งผีไม่ยอมออกจากร่างคนทรง ก็ทำความเดือดร้อนให้ได้ ซึ่งชาวบ้านเองก็ตระหนัก การเล่นเข้าทรง จึงนับเป็นการละเล่นกึ่งพิธีกรรมที่ชาวบ้านยังมีความเชื่อถือกันอยู่

อย่างไรก็ตาม การละเล่นทั้ง 2 รูปแบบมักจะเล่นกันเป็นพักๆ แล้วแต่การนัดหมายของชาวบ้าน แต่การเล่นที่ดำเนินไปตลอดสงกรานต์ คือการเล่นสาดน้ำกัน ซึ่งเป็นการเล่นสนุกอย่างเต็มที่แทบไม่มีขอบเขต

นอกจากการสาดกันเองของหนุ่มสาวเด็กเล็กแล้ว บางครั้งสีกาจะขึ้นไปสาดน้ำถึงกุฏิ ราดหมอนมุ้งเปียกหมด เพราะถือกันว่าถวายน้ำพระได้บุญแรง พวกผู้หญิงมักจะนัดแนะกันแหย่พระหนุ่ม ๆ เช่น จับมามัดเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นน้ำหวานบ้าง เหล้าบ้าง ไม่ถือเป็นบาป สําหรับพระสงฆ์เองก็สนุกไปกับฆราวาสโดยไม่ถือว่าอาบัติ นอกจากนี้ยังมีการปล้ำมอมหน้ากันด้วยดิน หม้อบ้าง ดินสอพองบ้าง

การเล่นชนิดสุดเหวี่ยงดังที่ชาวบ้านพูดว่า “ปล่อยผี” บางครั้งก็เล่นกันจนเสื้อแสงขาดรุ่งริ่ง พวกผู้หญิงดูจงใจจะแก้แค้นผู้ชาย หรือเล่นสนุกกับผู้ชายมากกว่าจะเล่นกันเอง เพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะทําอะไรแผลง ๆ ได้ บางทีก็ตั้งด่านกักผู้ชายที่เดินผ่าน จับมัด ไถ่ เหล้า เงิน เล่นสนุกกัน ถ้าไม่ยอมก็อาจถูกจับเปลือยกาย เอาใบสับปะรดรูดหรือถูกดึงของลับเล่นก็มี

การเล่นที่ปกติจะเห็นว่าเป็นเรื่องลามกพิเรนต่าง ๆ ในวันสงกรานต์ ชาวบ้านไม่ถือโกรธถือเป็นความสนุก และผ่อนคลายความเครียดความจําเจในชีวิตประจําวันที่ต้องผูกมัดตัวเองอยู่กับการทํางานมาตลอดปี

จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการเล่นสงกรานต์ของชาวบ้าน อาจกล่าวได้ว่า เทศกาลนี้ผู้หญิงดูจะมีบทบาทเหมือนผู้ชายที่จะประพฤติก้าวร้าว แสดงความทะลึ่งตึงตังได้โดยที่พวกผู้ชายมักพากันขยาดต่อการเล่นอย่างไม่ยั้งของพวกผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่แต่งงานมีเหย้าเรือนแล้วยิ่งไม่มีความกระดากอาย

จากพิธีกรรมการเล่นในเทศกาล “สงกรานต์” ผู้เขียนมองดูพฤติกรรมทั้งหมดในวันสงกรานต์ว่า เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกในการเป็นขบถต่อจารีตประเพณีของสังคม โดยได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะการต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยที่เน้นความแตกต่างของเพศ ระบบอาวุโส และความเคารพนับถือพระสงฆ์ ซึ่งโดยปกติในชีวิตประจําวัน สังคมจะเคร่งครัดต่อการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวที่ได้รับการอบรมสั่งสอนว่าเป็นประเพณี ต้องปฏิบัติตามหรือในภาษาปัจจุบันหมายถึงมรรยาททางสังคมนั่นเอง

บทบาทของผู้หญิง

จากการศึกษาบทบาท สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยจะเห็นได้ว่า มีหลักฐานในอดีตยืนยันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องทํางานหนักรับภาระในครอบครัวมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้ชายมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปี ถูกเกณฑ์เป็นทหารรับใช้ราชการ ผู้หญิงไทยจึงมีภาวะค่อนข้างกดดันที่ต้องรับภาระหลังการแต่งงาน ทั้งในการอบรมเลี้ยงดูลูก ทํามาหากิน

ขณะเดียวกันฐานะทางสังคมของผู้หญิงกลับตกต่ำกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งจากอิทธิพลของพุทธศาสนา และแม้ว่าจากการเปรียบเทียบกับสังคมจีน อินเดีย ผู้หญิงไทยจะมีสถานภาพสูงกว่าก็ตาม ความกดดันนี้ได้รับการผ่อนคลาย และแสดงออกในวันสงกรานต์อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะด้วยการกินเหล้า เล่นการพนัน สนุกทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจงานบ้าน แสดงกริยาก้าวร้าวข่มขู่ผู้ชาย การยอมให้ชายอื่นถูกเนื้อต้องตัวได้

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมอีก 2 ด้านก็ได้รับการต่อต้านซึ่งแสดงถึงข้อขัดแย้งลึก ๆ ในสังคมที่สมาชิกในสังคมเก็บกดไว้และแสดงออกในวันสงกรานต์ เช่น เด็กสามารถเล่นกับผู้ใหญ่ได้ ยั่วเย้าได้โดยไม่ถือว่าเป็นบาป เสียมรรยาทหรือเป็นการล่วงละเมิด และเช่นเดียวกับสถาบันสงฆ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องและพึ่งปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพก็ถูกต่อต้านด้วยพฤติกรรมที่ไม่คํานึงถึงข้อห้าม หรือความเหมาะสมที่ผู้หญิงฟังสํารวมต่อสงฆ์เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องบาปกรรม ทั้งพระสงฆ์เองตามประเพณี ความเชื่อ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สมควรวิสาสะกับผู้หญิง

แต่ในวันสงกรานต์ กฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ได้รับการอะลุ่มอล่วยให้ละเมิดได้ พระสงฆ์สามารถเล่นกับสีกาหรือชาวบ้านได้โดยไม่ถือว่าอาบัติ ถือเป็นการผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่อไปได้

พิธีกรรมที่แสดงออกในรูปการละเล่นในวันสงกรานต์จึงเป็นพิธีกรรมที่ต่อต้านข้อห้าม ระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมกําหนดไว้โดยเฉพาะ ระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิง ผู้ชาย, ผู้น้อย ผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ กับฆราวาส เป็นการต่อต้านที่ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากสังคมเท่านั้น ยังได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกด้วย

พฤติกรรมทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงข้อขัดแย้งในสังคมระหว่างสัมพันธภาพของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นได้และได้รับการผ่อนคลาย หรือ แสดงความกดดันออกเพื่อความกดดันหรือความไม่พึงใจต่อสถานกาพ และบทบาทของบุคคลในสังคมจะไม่ถูกสะสมจนถึงขั้นที่เกิดการขัดแย้งอย่างแท้จริง เพราะการขัดแย้งที่แสดงออกในวันสงกรานต์ถูกพรางด้วยความสนุก

ด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นข้ออธิบายได้ว่า เหตุใดการละเล่นส่วนใหญ่จึงมีความรุนแรงก้าวร้าว ล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ประเพณีที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจําวันอย่างเห็นได้ชัด พิธีกรรมที่ขบถต่อระเบียบทางสังคมนี้ นับว่าเป็นพิธีกรรมที่มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่งในแง่ที่ทําให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายระบายออก เพื่อสังคมจะสามารถกลับไปสู่ภาวะปกติสุขเช่นเดิมได้อีก

พิธีกรรมดังกล่าวนี้ไม่เพียงปรากฏในสังคมไทย แต่พบปรากฏในกลุ่มพวกซูลูในแอฟริกา และกลุ่มอื่นๆ ที่สังคมเน้นความแตกต่างของเพศชาย เพศหญิง ที่สถานภาพของผู้หญิงถูกกดต่ำกว่าชายและในกลุ่มที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกชนอย่างจำกัด

พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำหน้าที่ผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ในแง่ความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อรักษาดุลย์ของสังคมให้อยู่โดยปกติสุขนั่นเอง

โดยสรุปการศึกษาการละเล่นไม่ควรเน้นแต่รูปแบบของการละเล่นแต่อย่างเดียว แต่ควรศึกษาหาความหมายที่แท้จริง ที่การละเล่นนั้นๆ มีต่อมนุษย์และสังคม เพื่อที่จะสามารถอธิบายได้ถึงการคลี่คลาย การเปลี่ยนแปลงของประเพณีการละเล่นที่ย่อมต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย

ฉะนั้นการมองดูแต่รูปแบบการละเล่นโดยไม่พยายามหาความหมายยังมีอันตรายอีกแง่หนึ่ง ที่ผู้ศึกษามักใช้ค่านิยม หรือทัศนะของการละเล่นในปัจจุบันที่เป็นความสนุก (entertainment) อย่างเดียวไปอธิบายพฤติกรรมของการละเล่นโดยไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในด้านอื่นๆ ของการละเล่นที่มีต่อสังคม เช่น ในด้านพิธีกรรมความเชื่อดังที่ได้พยายามอธิบายจากเทศกาลสงกรานต์มาแต่ต้น ซึ่งการละเล่นเหล่านี้เองที่ได้พัฒนามาเป็นการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมืองในภาคกลางต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียบเรียง :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร : สํานักพิมพ์คลังวิทยา. 2507

ร. แลงการ์ต (ผู้ชําระ). กฎหมายตราสามตวง (เล่มหนึ่ง). พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา 2505.

ลาลูแบร์, มร. เดอ. ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์ 2509.

เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน). ประเพณีเนื่องในเทศกาล. กรุงเทพ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506

สุกัญญา สุจฉายา, เพลงปฏิพากย์ : บทเพลงแห่งปฏิกาณของชาวบ้านไทย. กรุงเทพฯ : สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2525

Encyclopedia of Anthropology. David E. Hunter Phillip Whitten ed. New York : Harper & Row Publisher, 1976.

Gluckman, Max. Custom and Confict in Africa. New York : Barnes & Noble, Ine., 1969.

Smith, Robert J., Festivals and Celebrations in Folklore and Folklife, Richard M. Dorson ed. The University of Chicago Press, 1972.

Vallibhotama, Srisakra, Ban Muang : Khao : The village and the wat. (Unpublished M. A. Thesis in Anthropology at the University of Western Australia), 1971.

Wallace, F. C. Anthony. Religion : Anthropological View. New York: Random House, 1966.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2562