
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | องค์ บรรจุน |
เผยแพร่ |
ชาวมอญถือว่า วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเป็นความเชื่อที่ได้แบบอย่างมาจากอินเดียพร้อมๆ กับการยอมรับนับถือพุทธศาสนา “อาหารมอญ” ที่นิยมทำกันในช่วงสงกรานต์เท่านั้นก็คือ ขนมกะละแม และข้าวแช่ โดยเฉพาะ ข้าวแช่ หรือ ข้าวสงกรานต์ ที่คนมอญเรียกว่า เปิงด้าจก์

ตำนาน “ข้าวสงกรานต์” (ข้าวแช่)
องค์ บรรจุน คอลัมนิสต์ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับมอญเล่าว่า ข้าวสงกรานต์ หรือเปิงด้าจก์ นี้แปลตรงตัวว่า ข้าวน้ำ เป็นอาหารที่สืบเนื่องมาจากพิธีกรรม ใช้เวลาในการจัดเตรียมค่อนข้างมาก มีขั้นตอนในการทำอย่างพิถีพิถัน เมื่อปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องนำไปถวายบูชาต่อเทพยดา จากนั้นจะนำไปถวายพระสงฆ์ แบ่งไปส่งผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ ที่เหลือจึงจะนำมาตั้งวงแบ่งกินกันเองภายในครัวเรือน
เรื่องข้าวแช่นั้น สืบเนื่องมาจากตำนานสงกรานต์ของมอญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จารึกไว้ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (จารึกไว้ในแผ่นศิลารวม 7 แผ่น ติดไว้ที่คอสองในศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ ปัจจุบัน (2550-กองบก.ออนไลน์) บางแผ่นหายไปแล้ว)
ตำนานมีว่า เศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรธิดา เป็นที่อับอายแก่ชาวบ้านและวิตกทุกข์ร้อนใจด้วยยังขาดผู้สืบทอดมรดกทรัพย์สินทั้งปวง ได้บวงสรวงบูชาแก่พระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่ผ่านไป 3 ปี ก็ไม่เป็นผล
อยู่มาในวันหนึ่งในหน้าร้อน ผู้คนทั่วไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ทั่วทั้งชมพูทวีป อันถือว่าเป็นวัน มหาสงกรานต์ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรใหญ่ริมน้ำ ที่อยู่ของรุกขเทวดาทั้งหลาย นำข้าวสารล้างน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขเทวดาประจำต้นไทร ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร รุกขเทวดาจึงไปทูลขอต่อพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้เทพบุตรมาจุติเป็นบุตรของเศรษฐีสมความปรารถนา ให้ชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร
ชาวมอญได้เชื่อถือสืบมาว่าหากได้กระทำพิธีเช่นว่านี้ บูชาต่อเทวดาในวันสงกรานต์แล้ว เมื่อตั้งจิตอธิษฐานสิ่งใดๆ ย่อมสมหวัง บ้างก็เชื่อมโยงว่าเป็นการบูชาท้าวกบิลพรหม ซึ่งเข้ามาเกี่ยวพันกับลูกชายเศรษฐีในภายหลัง เมื่อท้าวกบิลพรหมท้าพนันถามปัญหา 3 ข้อ หากธรรมบาลกุมารตอบถูก ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนขึ้นบูชา และหากธรรมบาลกุมารตอบผิดก็จะต้องถูกตัดศีรษะด้วยเช่นกัน ปริศนาของท้าวกบิลพรหมมีดังนี้ คือ
ยามเช้า ศรี ของมนุษย์อยู่ที่ใด ยามเที่ยง ศรี ของมนุษย์อยู่ที่ใด และยามค่ำ ศรี ของมนุษย์อยู่ที่ใด
ธรรมบาลกุมารตอบได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ ยามเช้า ศรี ของมนุษย์อยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ยามเที่ยง ศรี ของมนุษย์อยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก และยามค่ำ ศรี ของมนุษย์อยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ที่สุดท้าวกบิลพรหมก็ต้องตัดศีรษะของตนตามคำท้า แต่การจะตัดศีรษะของท้าวกบิลพรหมก็มีปัญหาเดือดร้อนให้ลูกสาวทั้ง 7 คน ต้องผลัดเวรกันมาถือพานรองรับปีละคน เพราะหากปล่อยให้ศีรษะตกถึงพื้นดิน โลกธาตุจะลุกไหม้ด้วยไฟบรรลัยกัลป์ หากปล่อยให้ล่องลอยอยู่ในอากาศฝนก็แล้ง รวมทั้งน้ำจะแห้งเหือดหากตกลงไปในมหาสมุทร และนี่เองจึงเป็นที่มาของตำนานนางสงกรานต์
เหตุที่ต้องเท้าความเรื่องท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์ออกมายืดยาวนั้น เพราะเป็นตำนานที่ผูกโยงเอาไว้ด้วยกันกับตำนานข้าวแช่
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ผู้เผยแพร่ “ข้าวแช่”
ข้าวแช่ ซึ่งเป็น “อาหารมอญ” ยอดนิยมนั้น องค์ บรรจุน อธิบายว่า บางถิ่นมีเครื่องเคียงข้าวแช่ 5 ชนิด บางถิ่นมี 7 ชนิด รายละเอียดแตกต่างกันไป (ไม่มีข้อใดผิดข้อใดถูกตายตัว เป็นไปตามสภาพแวดล้อม ฐานะ ความชอบ รวมทั้งการประยุกต์ดัดแปลงของแต่ละถิ่น) ซึ่งรายการหลัก ๆ ทั่วไป ได้แก่ 1. ปลาแห้งป่น 2. เนื้อเค็มฝอย 3. หัวไชโป๊ต้มกะทิ 4. ไข่เค็ม 5. กระเทียมดอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีมารยาทในการกินข้าวแช่ บทความขององค์ บรรจุน อธิบายไว้ว่า
“จะแบ่งข้าวใส่ถ้วย ตักน้ำที่อบควันเทียนเติมลงในถ้วยพอประมาณ (ถ้าเป็นน้ำแช่เย็น หรือเติมน้ำแข็งภายหลัง ก็จะทำให้ชื่นใจยิ่งขึ้น) แบ่งกับข้าวหรือเครื่องเคียงทุกชนิดใส่ถ้วยละเล็กละน้อยตามต้องการ นำช้อนกลางตักกับข้าวถ่ายลงในช้อนตักข้าวส่วนตัวในชามข้าวของตน ในการรับประทาน จะรับประทานกับข้าวเข้าไปก่อนก็ได้ หรือจะค่อย ๆ เอียงช้อนตักข้าว ให้ข้าวเข้าไปรวมกันแล้วรับประทานพร้อมกัน แต่ต้องระวังไม่ให้กับข้าวหกออกมาปนในชามข้าว เพราะจะทำให้สีสันในชามข้าวเลอะเทอะไม่น่าดู”

วัฒนธรรมการกินข้าวสงกรานต์ หรือข้าวแช่ของชาวมอญมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยใด แต่มีข้อมูลเรื่องการเดินทางเข้าวังของข้าวแช่มาจากการที่สตรีมอญได้เข้ารับราชการฝ่ายใน (เป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน) และนำข้าวแช่ขึ้นถวายเป็นเครื่องต้นเสวย จึงเกิดการแพร่หลายไปในวงกว้างทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวแช่ตระกูลเมืองเพชรบุรี
กรณีนี้ องค์ บรรจุน บรรยายว่า สืบเนื่องมาจากการเสด็จฯ แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไปประทับที่พระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) ครั้งนั้นมี เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ผู้มีเชื้อสายมอญทางเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ที่หลบหนีพม่ามาครั้งกรุงธนบุรี ได้ติดตามไปถวายงานรัชกาลที่ 4 ที่พระราชวังพระนครคีรีด้วย
คาดว่าในครั้งนั้นเองที่ข้าวแช่ของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้รับการถ่ายทอดไปยังห้องเครื่อง บ่าวไพร่สนมกำนัลได้เรียนรู้ และแพร่หลายไปยังสามัญชนย่านเมืองเพชรบุรีในที่สุด
ข้าวแช่สูตรมอญดั้งเดิมของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นยังจับใจผู้ที่ได้ลิ้มลอง แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงข้าวแช่ของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไว้ว่า หากจะกินข้าวแช่ ก็ต้องข้าวแช่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น
เรื่องนี้ หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร ผู้เป็นหลานย่าของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เคยคลุกคลีรู้รสมือของท่านมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยเล่าไว้หนังสือ นิทานชีวิตจริงบางตอนของข้าพเจ้า
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นท่านเป็นมอญผู้ดี มีความชำนาญ อาจรู้จักกลเม็ดในการทำข้าวแช่ดีกว่าคนทั่วไปก็เป็นได้ อาหารมอญและข้าวแช่ของท่านจึงมีโอกาสขึ้นโต๊ะเสวยมาถึง 3 รัชกาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทุกครั้งที่เสด็จประพาสต้นแถบพระนครศรีอยุธยา เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นมักสั่งการให้ลากแพที่เป็นเรือนครัวไปรอรับเสด็จล่วงหน้า และแปลงแพเรือนครัวเป็นห้องต้นเครื่องถวายทุกครั้ง
บรรยากาศและเรื่องราวเหล่านี้ยังคงถ่ายทอดมาจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ยังคงเคารพรัก และติดรสมือของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เสด็จมาเยี่ยมเยียนถึงวัง (กรมพระนเรศร์ฯ) เสมอ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องเสด็จมาอวยพร และรดน้ำทุกปีมิเคยขาด
ในอดีตการกินข้าวแช่นั้นเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หากแต่ในปัจจุบันผู้คนเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าฟ้าลิขิต ทว่าข้าวแช่ก็ยังคงได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม หน้าตาและความหมายในการกินได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อ่านเพิ่มเติม :
- “ข้าวแช่” อาหารมอญ-ของติดสินบนเทวดา ขอให้ได้ลูก ก่อนเป็น “อาหารชาววัง”
- ตามรอย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มอญต้นวงศ์ “เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น” ผู้คิดทำข้าวแช่
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
อ้างอิง :
ชิดชนก กฤดากร, หม่อมเจ้า. (2541). อัตตาหิ อัตตโน นาโถ : นิทานชีวิตจริงบางตอนของข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ.
สมบัติ พลายน้อย. (2547). ตรุษสงกรานต์. กรุงเทพฯ : มติชน.
อลิสา รามโกมุท. (2542). เกาะเกร็ด : วิถีชีวิตชุมชนมอญริมน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ข้าวสงกรานต์ : อาหารในพิธีกรรมของชาวมอญ (ข้าวแช่)” โดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563