ข้าราชการสมัย ร.6 เคยหยุดวันปีใหม่ (แบบเก่า) ถึงวันสงกรานต์ ยาวนานติดต่อกัน 31 วัน!

ข้าราชการกองล่าง กระทรวงยุติธรรม นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายเสวตร์ โรจนเวทย์
(ภาพประกอบ) ข้าราชการกองล่าง กระทรวงยุติธรรม ถ่ายประมาณปี พ.ศ.2470-2472 แถวบนสุดจากซ้ายคนที่สอง คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ แถวที่สองริมขวาสุด คือ นายเสวตร์ โรจนเวทย์ นอกนั้นไม่ทราบนาม

วันหยุดราชการ ของสยามประเทศจากการค้นเอกสารเท่าที่จะหาได้ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 ที่ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ โดยได้กำหนดวันสำคัญทางราชการและทางศาสนาให้ข้าราชการได้หยุดพักผ่อน แต่มีบางช่วงบางวัน ที่ข้าราชการได้หยุดติดต่อกันยาวนานถึง 1 เดือน!

ในสมัยนั้นวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี และวันสงกรานต์ก็เป็นวันสำคัญทางประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทย การกำหนดเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก็ดูเหมือนจะถือกันเคร่งครัดเฉพาะในวงราชการงานเมืองเท่านั้น ส่วนประชาชนพลเมืองทั่ว ๆ ไป ยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทำบุญตักบาตรสนุกสนานรื่นเริงกันมาก ไม่ได้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่[1] อย่างไรก็ตาม ทั้งสองช่วงเวลาจึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการติดต่อกันนานหลายวัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า

“ข้าราชการที่ได้รับราชการอยู่ทุกวันนี้ สมควรจะได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายบ้าง แลตามนักขัตฤกษ์ที่ได้หยุดการ ก็มิใช่วันที่จะหยุดพัก แลการที่เคยหยุดกันมาก็แตกต่างไปตามหมู่ตามกระทรวง หาเปนการสมควรไม่ จึงควรให้เปนระเบียบอันเดียวกัน คือการหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้พักผ่อนร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มต้นหยุด ตั้งแต่มีนาคม พุทธศักราช 2456 นี้เปนต้นไป”

ประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2456[2] (นับศักราชแบบใหม่ตรงกับ พ.ศ. 2457) จึงกำหนดวันหยุดราชการ ดังนี้

  • วันทำบุญพระบรมอัฐิและพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 9-12 พฤศจิกายน รวม 4 วัน
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม รวม 5 วัน
  • วันวิสาชบูชา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 6)
  • วันเข้าพรรษา รวม 7 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1-5 ค่ำเดือน 8)
  • วันมาฆบูชา รวม 1 วัน (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

โดยในการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์และนักขัตฤกษ์ กำหนดให้หยุดราชการตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน รวม 19 วัน!

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า “งานในน่าที่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมต้องกระทำเปนงานหนักมาก แลบางคราวถ้ามีคดีฟ้องร้องกันมาขึ้น ก็ต้องรีบเร่งทำงานอยู่เกินเวลาปรกติเนือง ๆ เพื่อมิให้คดีเนิ่นช้ากว่าการที่ควร จึ่งควรให้มีเวลาพักผ่อนร่างกายได้ยาวกว่า 19 วันเป็นพิเศษ เพื่อจะได้มีกำลังปฏิบัติราชการในน่าที่ให้ดำเนินดียิ่งขึ้น…”

ดังนั้น จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศ ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2457[3] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดราชการเพิ่มเติม จากเดิมตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน เป็นตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 27 เมษายน รวมเป็นเวลา 1 เดือน!

กระทั่งเมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริว่า ข้าราชการสามารถลาหยุดได้ตามกฎของแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว และทรงเห็นควรให้ยกเลิกการหยุดยาวตั้งแต่ต้นปีนั้นเสีย จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการเสียใหม่ ดังนี้

  • วันตรุษสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 1-3 เมษายน รวม 4 วัน
  • วันจักรี 6 เมษายน
  • วันวิสาขบูชา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 6)
  • วันเข้าพรรษา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 8)
  • วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 23 ตุลาคม
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 7-9 พฤศจิกายน รวม 3 วัน
  • วันพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ รวม 3 วัน

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้นทางราชการไม่ได้เรียกวันที่ 1 เมษายนว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่เรียกว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” ส่วนวันสงกรานต์จริง ๆ ไม่ได้ถือเป็นวันหยุดราชการ พึ่งจะมากำหนดให้ถือวันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์และวันหยุดราชการเมื่อ พ.ศ. 2491 นี่เอง[4]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

[1] ส.พลายน้อย. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2529, จาก www.silpa-mag.com/history/article_31026

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30 หน้า 533 วันที่ 30 มีนาคม 2456

[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 หน้า 57 วันที่ 12 เมษายน 2457

[4] ส.พลายน้อย. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2529, จาก www.silpa-mag.com/history/article_31026


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2563