เมืองฉอดอยู่ไหน? สืบถิ่นฐาน “ขุนสามชน” คู่ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง

ยุทธหัตถี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กับ ขุนสามชน แห่ง เมืองฉอด
ภาพจำลองยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ซ้าย) กับขุนสามชน (ขวา) บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพโดย Hartmann Linge ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 3.0 / มีการปรับกราฟิกเพิ่มเติมโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)

ประวัติศาสตร์สุโขทัยเล่าพระราชประวัติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่ามีเหตุการณ์ยุทธหัตถี ระหว่างพระองค์กับ ขุนสามชน แห่ง “เมืองฉอด” ซึ่งยกทัพมาตีเมืองตาก ส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 19 ปี เป็นองค์รัชทายาทในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ก็ได้เสด็จยกทัพไปด้วยพระราชบิดาเพื่อรับทัพเมืองฉอด

ในศึกครั้งนั้น ช้างทรงของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตื่นหนีข้าศึก พ่อขุนรามคำแหงจึงขับช้างเอนกพลเข้ากันกับพระราชบิดา แล้วกระทำยุทธหัตถี ชนช้างกับขุนสามชน ท้ายที่สุดพ่อขุนรามคำแหงสามารถสังหารขุนสามชนได้ ทัพเมืองฉอดจึงแตกพ่ายหนีไป

นี่คือเรื่องราวของ “ขุนสามชน” และเมืองฉอด ที่ปรากฏใน จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ทำให้เห็นว่า เมืองฉอดคงเป็นรัฐขนาดย่อมรัฐหนึ่ง จึงมีกำลังพลพอที่จะรุกรานอาณาจักรสุโขทัยได้

แต่เมืองอยู่ไหน?

“เมืองฉอด” ในจารึกสุโขทัย

มีหลักฐานว่า “เมืองฉอด” เคยเป็นเมืองในอาณาจักรสุโขทัยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุม กษัตริย์ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยก่อนราชวงศ์พระร่วง ดังมีข้อความใน จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงอาณาเขตของพ่อขุนศรีนาวนำถุมว่าครอบคลุมไปถึงเมืองฉอดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดังข้อความด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13 ความว่า “…เบื้องในหรดีเถิงฉอด…” หรือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดเมืองฉอดนั่นเอง

แปลว่าเมืองฉอดเคยเป็นบริวารของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อน แต่แยกตนเป็นอิสระก่อนยกทัพมาตีเมืองตาก กระทั่งขุนสามชนพ่ายในยุทธหัตถี เมืองฉอดจึงกลับมาเป็นบริวารของสุโขทัยอีกครั้ง

เพราะจารึกหลักที่ 286 ศิลาจารึกวัดบูรพารามระบุว่า เมืองฉอดเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยทั้งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822-1841) สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย (พ.ศ. 1890-ประมาณ พ.ศ. 1911) และพระมหาธรรมราชาธิราช (ประมาณ พ.ศ. 1911-1942)

ศิลาจารึกหลักที่ 4 และ 5 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ยังกล่าวถึงเรื่อง พระมหาธรรมราชาลิไทย พระราชนัดดาของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. 1904 พระองค์ทรงอัญเชิญพระมหาสามีสังฆราชจากนครพัน ซึ่งอยู่เหนือเมืองเมาะตะมะขึ้นไปราว 50 กิโลเมตร มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงแต่งให้อำมาตย์มนตรีราชสกุลไปต้อนรับพระมหาสามีสังฆราชจากเมืองฉอดมาถึงกรุงสุโขทัย

ดังข้อความในจารึกหลักที่ 4 ความว่า “…ใช้อำมาตย์มนตรีราชสกุลทั้งหลายไปต้อนรับ บูชาสักการะจาก ‘เมืองฉอด’ มาถึงเมืองเชียงทอง ถึงเมืองบางจันทร์ บางพารแล้วถึงเมืองสุโขทัยนี้…” และในจารึกหลักที่ 5 ระบุว่า “_แต่งลูกเจ้าลูกขุนไปรับ_เมืองฉอดมา_”

“เมืองฉอด” อยู่ไหน?

จริงอยู่ที่หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า “เมืองฉอด” อยู่ทางตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานใดบอกตำแหน่งเมืองที่สามารถสืบมาถึงสมัยปัจจุบันได้เลย

ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่า เมืองสอดอยู่บริเวณอำเภอแม่สอด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองจังหวัดตาก เนื่องจาก “สอด” กับ “ฉอด” คือคำเดียวกัน แต่คนภาคเหนือออกเสียง “ฉ” เป็นเสียง “ส”

กระทั่งมีการพบเมืองโบราณในป่าทึบริมแม่น้ำเมย ที่บ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก หรือเมืองเก่าห้วยลึก ตามภาษาชาวบ้าน เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยให้ทัศนะว่า เมืองฉอดน่าจะเป็นเมืองโบราณบ้านแม่ต้านนี่แหละ หรืออาจไม่ใช่ก็ได้เช่นกัน เพราะบริเวณดังกล่าวยังมีเมืองที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกสุโขทัย แต่ยังไม่พบตำแหน่งที่แท้จริงอีกหลายเมือง

แต่เมื่อมีการพิสูจน์ทางโบราณคดีอย่างละเอียด ปรากฏว่าว่าเมืองโบราณบ้านแม่ต้านอยู่ในวัฒนธรรมล้านนา จึงไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าเมืองฉอดเป็นบริวารของสุโขทัยอย่างยาวนาน และควรรับวัฒนธรรมจากสุโขทัย

ความเป็นไปได้ของตำแหน่งเมืองฉอด จึงโยกกลับมาที่ริมแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด อีกครั้ง

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมบทนิพนธ์ “เสาหลักวิชาการ” ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร (สนพ. มติชน : 2549) ระบุว่า เมืองฉอดริมแม่น้ำเมย ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้จะเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย แต่มีขนาดเล็กเกินกว่าจะเชื่อได้ว่ามีกำลังพอที่จะยกมาตีเมืองตากในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้

อาจารย์ประเสริฐ สันนิษฐานว่า เมืองสอดอาจจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมยทางฝั่งพม่า คือเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เพราะมีการค้นพบเมืองร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควรที่นั่น

ตรงกับความเห็นของ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่เสนอไว้ในหนังสือ เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย (สนพ. เมืองโบราณ, พิมพ์ครั้งที่ 2 : 2552) ว่าเมืองฉอดคือ “เมียวดี” เพราะพบหลักฐานทั้งร่องรอยคูน้ำคันดิน กำแพงเมือง และเศษเครื่องถ้วยยุคสุโขทัยจำนวนหนึ่งที่นั่น

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่พบโบราณสถานอื่น ๆ ในเมียวดี ที่ช่วยบ่งชี้ว่าเมืองแห่งนี้เคยเป็นบริวารของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อนจริง ๆ จึงต้องรอการพิสูจน์เพื่อยืนยันข้อสมมติฐานดังกล่าวกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ประเสิรฐ ณ นคร. (2549). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมนิพนธ์ “เสาหลักทางวิชาการ” ของ ศาสตราจารย์ ดร. ประสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ : มติชน.

รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วิลลิโภดม. (2552). เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก. เจดีย์ยุทธหัตถี. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2567. จาก https://www2.m-culture.go.th/tak/ewt_news.php?nid=779&filename=index

มติชนออนไลน์. เมืองโบราณแม่ต้าน คือเมืองฉอดจริงหรือไม่ในทรรศนะของจิตร ภูมิศักดิ์. 7 มีนาคม 2562. จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_1395525


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2567