“นางเสือง” แม่ของคนไทยที่ปรากฏในจารึกประวัติศาสตร์คนแรก แม่ดีเด่นจากศิลาจารึก?

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ภาพวาดพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

“นางเสือง” แม่ของคนไทยที่ปรากฏในจารึกประวัติศาสตร์คนแรก “แม่ดีเด่น” จากศิลาจารึก หลักที่ 1 ?

แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มประกาศให้ มี “วันแม่” เป็นครั้งแรกมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยมติคณะรัฐมนตรีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตาม แต่ผู้คนในสมัยนั้นกลับนิยมเรียกว่า “วันแม่ของชาติ” ต่อมาใน พ.ศ. 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ถือวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ และปวงประชาได้เทิดทูนพระองค์เป็น “แม่หลวงของปวงชน” สืบมา

แต่หากมองย้อนอดีตไปจนถึงสมัย “สุโขทัย” ที่ถือว่าเป็นราชอาณาจักรแห่งแรกของคนไทยในสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 700 กว่าปีมาแล้วนั้น จะพบ ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหงมหาราช” ที่เป็นหลักฐานทางวรรณกรรมชิ้นเอก ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สําคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ่อขุนรามคําแหงมหาราชทรง “เบิกโองการประกาศ” ว่า

ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-3

“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ภูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผื่อเตียมแต่ยังเล็ก”

จารึกข้างบนนี้คงจะไม่มีผู้ใดสามารถพรรณนาได้เหมือน ทองเจือ สืบชมภู ภูมิปัญญาท้องถิ่นแผ่นดินสุโขทัย ที่ว่า

“เป็นโองการประกาศจากจิตวิญญาณของพ่อขุนรามคําแหงมหาราชด้วยความภาคภูมิและทระนงด้วยความเป็นไทย…ก้องสะท้านกังวานอยู่ในสํานึกของผู้ฟังเป็นประโยคที่พริ้งไพเราะด้วยภาษาไทยแท้ๆ นับเป็นอมตะภาษา ไม่มีประโยคใดเสนาะเท่านับแต่โพ้นจนถึงบัดนี้ เพราะข้อความเพียงเท่านี้แต่แฝงความเป็นไทยไว้ทุกอณูแห่งตัวอักษร

มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลกที่บอกชื่อพ่อกูด้วยความภาคภูมิใจ เคารพเทิดทูน บอกด้วยภาษาไทยแท้ที่เป็นภาษาของพ่อกู

มีกษัตริย์องค์ใดในโลกที่บอกชื่อแม่กูด้วยการให้เกียรติสตรี ยกย่อง เชิดชู…มีแต่พ่อขุนรามคําแหงมหาราช บรรพชนต้นแบบของคนไทยเพียงหนึ่งเดียวนี้เป็นคนไทยใช้ภาษาไทยได้ดีที่สุด กะทัดรัด สละสลวย พูดตรงประเด็นได้ครบดีที่สุด คนฟังเข้าใจง่ายที่สุด”

ดังนั้น แม่กูชื่อนางเสือง จึงบ่งบอกว่า นางเสือง เป็น “แม่ดีเด่น” เป็นชื่อสตรีไทยคนแรกที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว มันช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

คงไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปว่านางเสืองเป็นใคร มีความสําคัญอย่างไร

อาจจะมีผู้คนถามว่า “เสือง” แปลว่าอะไร

เสืองน่าจะมาจากคําว่า “เสิง” ที่แปลว่าสาง หรือสว่างยามอรุณ หรืออาจจะมาจากคําว่า “เชื่อง” แปลว่าช้า แช่มช้อย ไม่ดุร้าย ใจดี นางเสืองเป็นสตรีที่สําคัญคนแรกของชาติไทย ทรงเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์ไทยสองพระองค์ คือ พ่อขุนบานเมือง และ พ่อขุนรามคําแหงมหาราช และน่าจะเป็น “แม่คนไทยคนแรก” ที่พระราชโอรสเทิดพระเกียรติว่า “แม่กูชื่อนางเสือง”

คนสุโขทัยปักใจเชื่อว่า เทวรูปหินสลักจากหินชนวนสีเขียว สูงประมาณเมตรเศษ ประทับยืนทรงพระภูษา ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงเครื่องแบบนางกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่า หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้นั้น คือพระขพุงผี ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหงมหาราช ว่า

ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 3-10

“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ กุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีนโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็น ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมือง สุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผีไหว้บดี พลีม่ถูก ผีในเขาอัน บ่คุ้ม เกรง เมืองนี้หาย…”

พระขพุงผี นั้นหมายถึงเทพยดา ศักดิ์สิทธิ์แห่งยอดเขาสูง (ขพุง แปลว่า ยอดเขาสูง) ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเทพใดๆ ในเมืองสุโขทัยนี้ สถิตอยู่ ณ ยอดเขาหลวง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงใหญ่กว่าภูเขาใดๆ และอยู่ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศใต้ หรือเบื้องหัวนอน เพราะนอนเอาศีรษะไปทางทิศใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ ทิศเหนือจึงเรียกว่าทิศตื่นนอนจะไม่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เพราะเวลาฝังศพต้องหันศีรษะคนตายไปทางทิศตะวันตก

นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อว่า

“พระขพุงผี เทพอันเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้” คงจะหมายถึง พระนางเสือง พระราชมารดาของพ่อขุนรามคําแหงมหาราช ซึ่งปกครอง “ไพร่ฟ้าหน้าใส” แบบพ่อปกครองลูก ฝูงท่วยจึงเคารพนับถือพระนางเสืองในพระนามของ “พระแม่ย่า”

แต่เดิม “แม่ย่า” ประดิษฐานที่ “ถ้ำเขาแม่ย่า” มีลักษณะเป็น “เพิงผา” บริเวณ “โซกพระแม่ย่า” ซึ่งเป็นธารน้ำไหลมาจากเทือกเขาหลวง ซึ่งอยู่ในบ้านโคกมน ตําบลมนคีรี อําเภอเมืองสุโขทัย ในฤดูฝนจะมีน้ำป่าไหลหลากลงมาอย่างรุนแรง พุ่งข้ามเพลิงผาถ้ำเขาแม่ย่าไป (นางประพน ธุระราษฎร์ ผู้ได้รับสัมปทานทําป่าไม้ในเขาหลวง ช่วง พ.ศ. 2480-2500 เคยเล่าให้ฟังว่า เวลามีลมพายุฝนฟ้าตกแล้วจะต้องให้คนงานผูกวัว ม้า ล้อ เกวียน ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆ ให้มั่นคง แล้วขึ้นไปบนเนินเขา เพราะหลังจากนั้นไม่นานนักน้ำป่าจะไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง พัดพาเอาสิ่งของต่างๆ เสียหาย แต่กินเวลาไม่นานนักก็จะหยุด) มีหลักฐานทางราชการในสมัยต่อมาพบว่า

พุทธศักราช 2458 สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีรับสั่งให้พระยารามราชภักดี เจ้าเมืองสุโขทัย อัญเชิญพระแม่ย่ามาไว้บนศาลากลางจังหวัด ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย

พุทธศักราช 2477 กรมศิลปากรได้ประกาศรับพิพิธภัณฑ์ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย เป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พุทธศักราช 2495 นายเชื่อม ศิริสนธิ ได้รับแต่งตั้งให้มาดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย จึงได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัยจากเอกสารหลักฐานและศิลาจารึกต่างๆ หลังจากได้เดินทางมารับตําแหน่งแล้ว ได้กระทําพิธีบัตรพลี บวงสรวงในเมืองเก่าสุโขทัย และตั้งจิตอธิษฐานที่จะเริ่มต้นบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย

สิ่งแรกที่สะดุดใจเมื่อก้าวเข้าสู่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นอาคารไม้แบบโบราณ คือรูปหินสลัก “พระแม่ย่า” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสุโขทัย ตั้งพิงอยู่ภายในห้องซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ทราบว่าในแต่ละปีจะมีการนําพระแม่ย่าออกแห่ให้ประชาชนสรงน้ำ และเป็นการขอฝนในช่วงฤดูที่ฝนแล้ง จึงมีความเห็นว่าอาจจะทําให้เกิดการชํารุดเสียหายได้ และไม่สะดวกที่ประชาชนจะมากราบไหว้บูชา จึงเริ่มให้สร้างศาลขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแม่ย่า ณ บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด

กุมภาพันธ์ 2496 การก่อสร้างศาลพระแม่ย่าแล้วเสร็จ และได้ทําพิธีอัญเชิญพระแม่ย่ามาประดิษฐานไว้ในศาลเพื่อให้ประชาชนมากราบไหว้บูชา และเป็นที่รวมจิตใจสมกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

15 มิถุนายน 2496 นายกรัฐมนตรีนําเรื่องการบูรณะเมืองเก่าสุโขทัยตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะจังหวัดสุโขทัยขึ้น โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานคณะกรรมการ ในขณะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

21 สิงหาคม 2496 นายกรัฐมนตรี มีคําสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวบรวมประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัย โดยมีพระยาอนุมานราชธน เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน

นายเชื่อม ผู้เคยดํารงตําแหน่งข้าหลวงจังหวัดสุโขทัยช่วง พ.ศ. 2496-2501 และได้รับมอบหมายจากคณะรัฐบาลสมัยนั้นให้พัฒนาเมืองเก่า สุโขทัยจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็น “สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ของโลก” (SUKHOTHAI : THE WORLD HERITAGE) แห่งแรกในประเทศไทย ได้บันทึกความทรงจําเกี่ยวกับพระแม่ย่าว่า

หลังจากสร้างศาลาพระแม่ย่าและการเริ่มต้นบูรณะเมืองเก่าสุโขทัยแล้ว นายเชื่อมมีความประสงค์ที่จะสํารวจเส้นทางไปยังถ้ำพระแม่ย่า เพื่อพิจารณาสถานที่ที่พระแม่ย่าเคยประดิษฐานอยู่

ในขณะนั้นสภาพโดยทั่วไปรกร้างเป็นดงหญ้าคา ป่าไผ่ ป่าอ้อย หล่มโคลน การเดินทางจึงต้องเตรียมพาหนะ อาหาร น้ำ และเครื่องมือที่จะบุกเบิกเส้นทางให้พร้อม คณะสํารวจนําโดยนายเชื่อม นางปทุม ศิริสนธิ นายสุธรรม วงศ์โดยหวัง (ปลัดจังหวัด) และคณะกรรมการจังหวัดอีกหลายท่าน ได้ออกเดินทางโดยรถจี๊ปของจังหวัด และรถจี๊ปของโรงต้มกลั่นสุราสุโขทัยของนายประเสริฐ โฆษิตานนท์ ได้ร่วมเดินทางไปด้วย

ระหว่างทางต้องหยุดพิจารณาหาเส้นทางและเปิดป่าเป็นช่วงๆ การเดินทางไปได้ช้าและค่อนข้างลําบาก เมื่อเดินทางมาได้ระยะหนึ่งได้พบชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพักอยู่ พร้อมเครื่องมือและเสบียงอาหารสําหรับเดินป่า สอบถามได้ความว่า “พระแม่ย่ามาเข้าฝันว่าวันนี้จะมีเจ้านายและคณะเดินทางมาเยี่ยมสถานที่พระแม่ย่าเคยประทับอยู่ พระแม่ย่าสั่งให้มาคอยรับและช่วยเหลือนําทางไปยังถ้ำพระแม่ย่า พวกตนจึงคอยรอรับตามคําสั่ง”

จากคําบอกเล่าทําให้คณะเดินทางซึ่งกําลังเหน็ดเหนื่อยกันมากเกิดความปีติตื้นตันใจ และอัศจรรย์กับเหตุการณ์นี้อย่างยิ่ง และชาวบ้านเองก็ถึงกับก้มลงกราบแผ่นดิน เมื่อแน่ใจว่าความฝันนั้นเป็นจริง การเดินทางในช่วงต่อไปจึงได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นมาก

เมื่อคณะเดินทางไปถึงถ้ำพระแม่ย่า นายเชื่อมได้ทําพิธีบวงสรวง ขอให้การบูรณะฟื้นฟูเมืองเก่าสุโขทัยดําเนินไปโดยถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

เหตุการณ์ครั้งนั้นประทับอยู่ในความทรงจําของคณะเดินทางไม่รู้ลืม และยึดมั่นในองค์พระแม่ย่าเป็นมิ่งขวัญและกําลังใจมาโดยตลอด

นางเสือง เป็นทั้งแม่เมืองในฐานะเป็นพระมเหสีของพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (เมืองนครไทยในจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบัน) คงจะต้องเผชิญกับปัญหาการก่อสร้างอาณาจักรสุโขทัย ต่อการศึกสงคราม โดยรวมกําลังกับพ่อขุนผาเมือง (เจ้าเมืองราด ที่นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดียังตกลงกันมิได้ว่าจะเป็นเมืองโคราช-นครราชสีมา หรือเมืองศรีเทพฯ จังหวัดเพชรบูรณ์) พระสหายที่เมืองบางขลัง แล้วเข้ายึดเมืองสุโขทัยจากสมาดขอมลําโพงได้ คงจะต้องเลี้ยงดูพระราชโอรส 3 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ อย่างใกล้ชิดสนิทสนมสมกับเป็นนางพระยาของพระมหากษัตริย์ จนพระราชโอรสทรงเป็นกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคําแหงมหาราช

ส่วนในฐานะเป็นพระราชมารดาของพระโอรสและธิดานั้น คงจะพิจารณาได้จาก ศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า การปลูกฝังให้พระราชโอรส โดยเฉพาะพ่อขุนรามคําแหงมหาราชมีลักษณะเช่นใดนั้น อาจจะยกตัวอย่างได้ เช่น

ความเป็นลูกที่ดีมีความเคารพ รักพ่อแม่ และกตัญญูรู้คุณ ดังจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 10-18

“เมื่อชั่วพ่อกู กูบําเรอแก่พ่อกู กูบําเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อ ตัวปลา กูเอา มาแก่พ่อกู กูได้หมากส้ม หมากหวาน อันใดกินอร่อย กินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปที่ หนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้นิ้ว ได้นาง ได้เงื่อน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบําเรอแก่พี่กู ดังบําเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”

ความเป็นนักรบที่กล้าหาญชาญชัย ดังจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 3-10

“เมื่อกูใหญ่ขึ้น ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่อเมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกู หนีญญ่าย พ่ายจะแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล เข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้าง ขุนสามชนตัวชื่อมาส เมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อ พระรามคําแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน”

โดยความเป็นจริงแล้ว ศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็คือ พระราชภารกิจของพ่อขุนรามคําแหงมหาราช ผู้ทรงเป็นพระปิโยรสของพระนางเสืองได้ทรงเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ แบบเท่าที่นางกษัตริย์พระองค์หนึ่งจะพึงปฏิบัติได้

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยแสดงปาฐกถาและแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ สะท้อนถึงพระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคําแหงมหาราช อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะทรงเป็นนักปกครอง นักปราชญ์ นักกฎหมาย นักประชาธิปไตย นักเกษตรและสิ่งแวดล้อม ทรงปกครองแบบปิตุลาธิปไตย ฯลฯ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านภาษาไทยที่ไหนไพเราะจับใจและซึมน้ำตาเท่าข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหงเลย…” (25 ธันวาคม พ.ศ. 2508)

มีข้อความในจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 11-18 ที่สะท้อนถึงพระราชจริยวัตรอันสง่างามของลูกชายนางเสือง “ที่ทรงเป็นยอดพระมหากษัตริย์ชั้นมหาราชที่ทรงเป็นแบบอย่างของ ‘ความเป็นคนไทยที่อ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นคุณสมบัติของความเป็นปราชญ์’ ที่ว่า

…พ่อขุนรามคําแหงนั้นหาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญ รู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ ด้วยหลวก ด้วยแกล้ว ด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนรักเสมอมิได้ อาจปราบฝูง ข้าเสิก มีเมืองกว้าง ช้างหลาย…”

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า นางเสือง เป็นแม่ที่ดีของลูกๆ เพียงใด

จังหวัดสุโขทัยไม่มีศาลหลักเมืองเหมือนเมืองหลวงและจังหวัดอื่น ๆ เพราะชาวเมืองมีพระแม่ย่าเป็นมิ่งขวัญ เป็นหลักรวมใจของคนสุโขทัยตั้งแต่อดีตกาล มาจนถึงปัจจุบัน

ศาลพระแม่ย่าจึงเสมือนเสาหลักเมือง อันเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของ “พระนางเสือง” สตรีสุโขทัยที่ยิ่งใหญ่ในฐานะเป็นพระมเหสีและพระ ราชมารดาของกษัตริย์แห่งสุโขทัย ต้องรับภาระหนักและมีความสําคัญตลอดพระชนมชีพ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการตั้งอาณาจักรเพื่อสร้างความเป็นชาติไทย และมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา ในฐานะพระแม่เมืองคงต้องให้กําลังใจแก่พ่อเมืองและช่วยเหลือกิจการต่างๆ เช่น การปกครอง การช่วยเหลือไพร่ฟ้าหน้าใส การบํารุงพระพุทธศาสนา การปกป้องคุ้มครองข้าราชบริพารฝ่ายใน และการทํานุบํารุงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา

ส่วนในบทบาทของพระราชมารดาที่มีพระโอรสและธิดาถึง 5 พระองค์ “นางเสือง” คงจะต้องอบรมเลี้ยงดูให้เป็นลูกที่ดี มีความกตัญญูกตเวที มีความรับผิดชอบ เป็นทั้งนักรบที่กล้าหาญชาญฉลาด และเป็นผู้นําที่ดีของไพร่ฟ้าประชาชน คงเป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดีว่า นางเสืองได้ปฏิบัติพระองค์สมกับเป็นแม่ที่ดี เปรียบเมือน แม่ดีเด่น ดังจะเห็นจากพระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคําแหงมหาราชนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


แหล่งอ้างอิง :

สารานุกรมสุโขทัยศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เล่ม 1-2. นนทบุรี, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. พ.ศ. 2539

ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493. กรุงเทพมหานคร, โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม. พ.ศ. 2493

ทองเจือ สืบชมภู, แกะรอยลายสือพ่อขุนรามคําแหงมหาราช. สุโขทัย, โรงพิมพ์วิทยาคอมพิวเตอร์-ออฟเซท. พ.ศ. 2543

มนต์ชัย เทวัญอโรปกรณ์, พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับ 700 ปี กําเนิดลายสือไทย. กรุงเทพมหานคร, เจ้าพระยาการพิมพ์, พ.ศ. 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2562