“ภาษาเปอร์เซีย” เหตุใดจึงมาปรากฏในศิลาจารึก “พ่อขุนราม” ?

ภาพชาวตะวันตกและตะวันออกกลางศิลปะแบบลายรดน้ำบนตู้พระธรรมสมัยอยุธยาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

“เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน…” เป็นประโยคหนึ่งบนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ปรากฏอยู่บนบรรทัดแรกของด้านที่ 3 ซึ่งมีผู้อธิบายว่า คำว่า “ปสาน” นี้ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่มาจาก “ภาษาเปอร์เซีย” ว่า “บาซาร์”

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวในบทความ ต้นตระกูล “บุนนาค” มาจาก อิหร่าน (เปอร์เซีย) จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2523 ว่า “‘บาซาร์’ มีความหมายว่าตลาดที่ ‘ถาวร’ ไม่ใช่ตลาดนัดชั่วคราวอย่างตลาดนัดสนามหลวง”

การที่คนไทยสมัยนั้นจะรับ “ภาษา” ของคนชาติอื่นมาใช้ สุจิตต์ เชื่อว่า ชนทั้งสองฝ่ายน่าจะต้องมีการติดต่อกันมาช้านานพอควร เพียงแต่ไม่ปรากฏ “หลักฐาน” การติดต่อระหว่างชาวสุโขทัยกับเปอร์เซียที่เก่าแก่กว่า จารึกของพ่อขุนรามคำแหงเลย

ในขณะนั้น [ซึ่งทฤษฎีที่อ้างว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ถูกจารึกในสมัยสุโขทัยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย] สุจิตต์ สันนิษฐานว่า ชาวเมืองสุโขทัยน่าจะไม่ได้มีสัมพันธ์กับชาวเปอร์เซียโดยตรง [ด้วยทำเลที่ตั้ง] แต่อาจได้รับอิทธิพลทางภาษาของเปอร์เซียผ่านชุมชนอื่นเช่น จีนที่มีสัมพันธ์กับอาหรับมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000 เศษๆ ผ่านเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำ

จึงเป็นไปได้ที่คนไทยที่สุโขทัยจะรู้จักชาวเปอร์เซียผ่านจีนในมณฑลยูนนานซึ่งมีชุมชนชาวมุสลิมอยู่ หรืออาจรู้จักผ่านหัวเมืองชายทะเลอย่างนครศรีธรรมราชมากกว่า

แต่นั้นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งที่สุจิตต์บอกว่า “ไม่อาจที่จะลงความเห็นชัดเจนในระดับความสัมพันธ์ได้ เพราะเพียงภาษาคำเดียวเท่านั้นไม่อาจที่จะถือเป็นข้อสรุปได้แน่ชัด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2561