วิถีชีวิตคนสุโขทัยเมื่อกาลก่อน จากศิลาจารึก และเรื่องสำเนียงภาษาที่ผิดธรรมดา

ภาพถ่าย คน สุโขทัย จับ ปลา ในช่วง ฤดูปลาขึ้น วิถีชีวิตคนสุโขทัย
ภาพถ่ายเก่าบรรยากาศการจับปลาใน “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย

วิถีชีวิตคนสุโขทัย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคําแหงเป็นพระมหากษัตริย์ จะเห็นได้จากหลักศิลาจารึกว่าเป็นชีวิตที่เรียบง่าย มีอิสรเสรีในการดํารงชีวิต เช่น ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ค้าม้า ค้า พ่อเมืองบ่เอาจังกอบ ถึงวันโกน วันพระ ก็ทําบุญ ทําทาน ฟังเทศน์ ฟังธรรม บ้านเมืองถึงอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาเป็นเวลาร้อยๆ ปี

แม้กระทั่งเมื่อ 60-70 ปีก่อน ในชีวิตที่ได้เห็นวิถีชีวิตของคนสุโขทัยก็ยังเรียบง่าย มีอิสรเสรี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว แม้บ้านเมืองจะเข้าสู่ความเจริญในทุกๆ ด้าน มีเครื่องจักรกลอํานวยความสะดวกนานาประการ แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เป็นคนสุโขทัยแท้ๆ มาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำให้ตักตวงตามความพอใจ นั่นคือวิถีชีวิตของชาวชนบทในสุโขทัย เมื่อสมัย 60-70 ปีที่ผ่านมาชาวชนบททุกที่ทุกตําบลทุกหนแห่งจะมีชีวิตที่เรียบง่าย ถิ่นที่อยู่อาศัยในแต่ละชุมชนจะมีบ้านที่ทําด้วยไม้หลังเล็กหลังใหญ่ ตามฐานะ บ้านจะปลูกอยู่ในที่ดินที่มีบริเวณบ้าน บริเวณบ้านเหล่านี้ทุกบ้านจะปลูกพืชผักทุกๆ ชนิดที่กินได้ ไม้ยืนต้นบ้าง ไม้ล้มลุกบ้าง และจะปลูกที่ริมรั้วบ้าง ในบริเวณบ้านบ้าง

การครองชีพแทบจะไม่ต้องซื้อหาอะไรให้สิ้นเปลือง เพราะหาได้จากทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ทรัพย์ในดิน คือการปลูกพืชผักนาชนิดที่กินได้ สินในน้ำของชาวสุโขทัยคือปลา สุโขทัยเป็นเมืองที่มีปลานานาชนิดอยู่ในน้ำ มีปัญญาก็ตักตวงเอามากินกันสดๆ เหลือกินก็มาทําเป็นแห้งเก็บไว้กิน เช่น ทําปลาย่าง ปลาเกลือ ปลาร้า ปลาเจ่า และน้ำปลา คนสุโขทัยตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงในสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่วิ่งตามสมัยจนเกินไป ดำรงตนให้เป็นคนมีชีวิตที่พอเพียง คนสุโขทัยจะไม่อดอยาก แร้นแค้นแน่นอน

จากในศิลาจารึก จะเห็นได้ว่าคนสุโขทัยเป็นคนใจบุญสุนทานเมื่อถึงวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ เดือนเต็ม เดือนดับ คนสุโขทัยจะนําอาหารไปทําบุญที่วัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ไม่ได้ขาด วิถีของคนสุโขทัยในข้อนี้สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น จนถึงปัจจุบัน การเตรียมข้าวปลาอาหารที่จะไปทําบุญในสมัยโบราณที่ได้เห็นเมื่อ 70 ปีก่อนนั้นถือเป็นเรื่องสําคัญ

การเตรียมข้าวปลาอาหาร

ข้าวสวยต้องเป็นข้าวปากหม้อที่ยังไม่มีคนกินมาก่อน อาหารคาว หวาน จะต้องคัดสรรแต่สิ่งที่ดีๆ เป็นของที่หายาก เป็นของที่แปลกๆ ที่จะทําถวายพระ จะได้กุศลแก่ตนและครอบครัวและจะได้เป็นบุญกุศลแก่พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หน้าเทศกาลใดที่สําคัญ เช่น ตรุษ สารท สงกรานต์ จะต้องไปทําบุญที่วัดด้วยอาหารที่พิเศษกว่าธรรมดา อาหารที่จะไปทําบุญจะใส่ในสํารับที่แยกเป็นสํารับคาว หวาน สํารับคาวจะมีหลายอย่าง ใส่ในถ้วยแกงที่มีฝาปิดมิดชิด ประมาณ 5-6 อย่าง และเรียงใส่ในถาดให้เต็ม ถือเป็น 1 สํารับ สํารับเมื่อก่อนจะจัดเป็นชุด คือ มีถ้วยใส่แกง ใส่กับ ใส่น้ำพริก ที่มีสีสันเหมือนกันเป็นชุด เมื่อวางลงในถาดถือเป็น 1 สํารับ ของหวานก็เช่นเดียวกัน สํารับหนึ่งจะมี 5-6 อย่าง แล้ววางในถาดจนเต็มเช่นเดียวกัน

เมื่อจัดเตรียมสํารับคาว หวาน ใส่ถาดเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะเอาสํารับ คาว หวานใส่ลงในกระจาด 2 กระจาดที่มีสาแหรก 4 เส้นสําหรับสอดไม้คานจะได้หาบไปวัด ข้างหน้าเป็นสํารับคาว ข้างหลังเป็นสํารับหวาน หนุ่มสาวที่มีเรี่ยวแรงจะเป็นคนหาบสํารับนําหน้า ผู้เฒ่า ผู้แก่จะเป็นคนอุ้มขันข้าวที่นําไปใส่บาตร เดินตามหลัง ทุกบ้านทุกช่องจะปฏิบัติเหมือนกันหมด

ฉะนั้น ในวันพระที่สุโขทัยสมัยเมื่อ 60-70 ปีนั้นจะเห็นคนหาบสํารับพร้อมด้วยคนเดินไปทําบุญที่วัดเลาะตามคันนาบ้าง ตามถนนเส้นเล็กๆ ในหมู่บ้านบ้าง เดินหาบเดินตามกันเป็นทิวแถว แต่งตัวสวยงาม หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสห่มสไบ เฉียงบ่า ด้วยชุดไทย นุ่งผ้าซิ่นใส่เสื้อมีแขน ภาพเช่นนี้จะเป็นภาพที่สวยงามเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้ในชีวิตชนบทจนเจนตา และเป็นภาพที่หาดูไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีบางหมู่บ้านในชนบทที่ยังมีภาพเดินหาบของไปทําบุญที่วัดเป็นทิวแถวกลางท้องนาหลงเหลือให้เห็นบ้างเป็นบางครั้ง แต่ต้องเป็นชาวชนบทนอกเมืองที่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีการทําบุญ ด้วยการหาบสํารับคาวหวานไปวัดบางพื้นที่เท่านั้น

ปัจจุบันการไปวัดเพื่อทําบุญในเทศกาลต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้น จนยากที่จะมีภาพที่น่าดู น่าชมให้เห็น กลายเป็นหิ้วปิ่นโต หิ้วขันข้าวไปใส่ บาตร ขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนหน้าซ้อนหลัง แต่งตัวนุ่งกางเกงให้สะดวกกับยานพาหนะ ซึ่งส่วนมากจะเป็นวัยหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ลูกหลานจะเอาใส่รถยนต์นั่งไปทําบุญ ฉะนั้นภาพอันสวยงามในการไปทําบุญจะไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว ในปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวชนบทในสุโขทัยอีกแห่งหนึ่งที่น่าจะพูดถึงคือวิถีชีวิตของชาวบ้านสวน

บ้านสวน เป็นตําบลใหญ่แห่งหนึ่งในสุโขทัย อยู่ในเขตอําเภอเมือง อยู่ทางทิศใต้ของตัวจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 7 กิโลเมตร ด้านหน้าของตําบลจะมีถนนจรดวิถีถ่อง (เมื่อก่อนเรียกถนนสายเก้า) ผ่าน ซึ่งถนนนั้นจะเริ่มจากจังหวัดสุโขทัยไปจังหวัดพิษณุโลก เป็นถนนสายหลักที่ผ่านตําบลบ้านสวนด้านหน้า เมื่อสมัย 60-70 ปีก่อน ยังไม่มียานพาหนะใดที่จะไปถึงบ้านสวน ชาวบ้านที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัด ระยะทาง 7 กิโลเมตร ต้องใช้วิธี “เดินเท้า” เท่านั้น

บ้านสวนเป็นตําบลที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่มีทั้งนาข้าว สวนผลไม้ ตลอดจนปลาในห้วย หนอง คลอง บึง ข้าวสารของ ตําบลบ้านสวนเป็นข้าวที่มีคุณภาพ หุงขึ้นหม้อและอ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้าง คนในเมืองชอบกินข้าวสารของบ้านสวน (ปัจจุบันก็ยังมีคุณภาพอยู่) และคนบ้านสวนในสมัยนั้นก็จะนํามาขายถึงในตัวเมือง โดยนําข้าวใส่กระบุงหาบโดยเดินเท้าจากบ้านสวนถึงในตลาดทุกๆ วัน ชาวบ้านสวนจะหาบข้าวมาขายในเมืองอยู่เสมอ

การเดินทางจากบ้านสวนถึงในเมือง

การเดินทางหาบข้าวสารจากบ้านสวนถึงในเมือง เป็นภาพที่คนโบราณเมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมายังระลึกถึงและมองเห็นภาพนั้นสวยงามติดตา ติดใจ ยากที่จะลืมเลือน และหาดูไม่ได้แล้วในปัจจุบัน

เริ่มต้นเช้ามืดรุ่งอรุณแห่งวันใหม่ ชาวบ้านที่จะนําข้าวสารมาขายจะออกเดินทางตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น นอกจากจะมีข้าวสารอยู่ในกระบุงที่หาบมา แล้ว ยังมีผลผลิตต่างๆ วางอยู่บนข้าวสารอีกมากมาย เท่าที่จะหาได้ เช่น มีไข่เป็ด ปลาย่าง ผลไม้ต่างๆ เช่น พุทรา มะขวิด ฯลฯ ทุกคนที่นําข้าวสารมาขาย จะออกเดินทางพร้อมๆ กัน หาบข้าวสารเดินตามกันเป็นทิวแถวในระยะทาง 7 กิโลเมตร เข้าสู่ตัวจังหวัด

ท่ามกลางแสงอรุณ แห่งดวงอาทิตย์ ในตอนเช้ามืด ผู้คนที่มาคอยซื้อข้าวสารก่อนถึงตลาด จะมองเห็นภาพตะคุ่มๆ ของผู้คนที่หาบข้าวสารมาขายเดินเหยาะๆ เนิบๆ แต่ค่อนข้างเร็วตามจังหวะฝีเท้า ก้าวเดินตามกันมาเป็นทิวแถวเป็นหมู่ๆ พอพระอาทิตย์ฉายแสงอรุโณทัยชัดเจน ภาพนั้นจะค่อยๆ ชัดขึ้นๆ มองเห็นภาพเด่นชัด

ภาพที่มีคนแต่งตัวแบบชาวนาใส่งอบกันความร้อน หาบข้าวสารใส่กระบุงหน้าหลัง เดินเหยาะๆ เนิบๆ ค่อนข้างเร็ว ตามกันมาเป็นทิวแถวท่ามกลางแสงอรุโณทัย จะเป็นภาพที่มีความสวยงาม ดื่มด่ำประทับใจติดตา ติดใจ ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้มันเป็นภาพที่งดงามตามธรรมชาติ ซึ่งหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ถ้าสามารถอนุรักษ์ภาพที่สวยงามของคนเดินเท้าหาบกระบุงข้าวสารท่ามกลางแสงอรุโณทัยของชาวบ้านสวนไว้ได้จนบัดนี้ จะสามารถนําไปเปรียบเทียบกับภาพที่งดงามของพระสงฆ์ที่เดินมาเป็นทิวแถวในตอนรุ่งอรุณเพื่อมารับของใส่บาตร อันเป็นประเพณีของชาวหลวงพระบางได้เป็น อย่างดี

เมื่อถึงหมู่คนที่คอยซื้อก่อนถึงตลาด ชาวบ้านจะปลงหาบนั่งลงตรงนั้น (ริมถนน) ถอดงอบที่ใส่อยู่บนหัวเอาลงมาพัดกระพือลมไล่ความร้อน แล้วเจรจาค้าขายกับคนซื้อด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สินค้าหลักคือข้าวสาร เมื่อตกลงราคากันได้คนขายก็จะหาบไปส่งถึงบ้าน ซึ่งอยู่ในละแวกไม่ไกลจากถนน ก็เป็นอันขายสินค้าได้หมดในเวลานั้น ไม่ต้องเดินไปนั่งขายที่ตลาด ข้าวที่ขายจะมีประมาณ 2-3 ถังต่อ 1 หาบ พร้อมสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ที่นํามา ก็เป็นอันหมดภาระค้าขายในวันนั้น แล้วจึงเดินไปซื้อของใช้ของกินในตลาด คอยเดินกลับบ้านพร้อมๆ คนอื่น

ถ้ายังขายริมทางไม่ได้ เขาก็จะหาบไปขายยังที่ขายข้าวบ้านสวนในตลาด คนที่เคยซื้อกันในตลาดก็จะมาตกลงราคาขายกันที่ตลาด เมื่อทุกคนขายข้าว ได้หมดแล้ว ซื้อของกินของใช้ได้แล้วก็จะพบกันเดินกลับบ้านสวนด้วยระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นอันว่าหมดภาระในวันนั้น รุ่งขึ้นก็ดําเนินชีวิตโดยการหาบข้าวเดินมาขายในเมืองเหมือนทุกๆ วัน ซึ่งภาพการเดินหาบของมาขายในเมืองไม่มีให้คนปัจจุบันได้เห็นภาพอันสวยงามประทับใจอย่างนั้นอีกแล้ว

วิถีชีวิตของชาวสุโขทัยมีอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะกล่าวไว้คือ “ภาษาพูดของชาวสุโขทัย”

ภาษาพูดของชาวสุโขทัย

ในปัจจุบัน ถ้าใครพูดกันโดยใช้สรรพนามว่า “กู…มึง” ทุกคนจะพูดกันว่าใช้ภาษาพ่อขุนพูดกัน คําว่า “ภาษาพ่อขุน” นั้นหมายถึงสรรพนามที่พ่อขุน รามคําแหงจารึกไว้ในหลักศิลาจารึกที่ค้นพบ จะมีคําแทนตัวของพ่อขุนรามคําแหงว่า “กู” เพียงเท่านั้น ไม่มีคําว่ามึง และนอกจากนั้นยังมีภาษา โบราณสมัยพ่อขุนที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก เช่น “โอยทาน” “หนียะย่าย พ่ายจะแจ” “พ่อเมืองบ่เอาจังกอบ” ฯลฯ

ซึ่งภาษาที่ใช้ในหลักศิลาจารึกนั้น ปัจจุบันไม่เคยเอามาใช้ในชีวิตประจําวัน คงเป็นภาษาที่ใช้จารึกในศิลาจารึกเท่านั้น

สุโขทัยมีสําเนียงและภาษาเฉพาะตัว สําเนียงนั้นจะคล้ายๆ กันในหมู่จังหวัดที่ใกล้เคียง เช่น พิษณุโลก กําแพงเพชร อุตรดิตถ์ (ยกเว้นตาก) แต่ภาษา สุโขทัยจะมีคำและสํานวนไม่เหมือนที่อื่นๆ ซึ่งเราเรียกว่า “ภาษาสุโขทัย” โดยเฉพาะ และคนที่พูดจะต้องเป็นคนพื้นบ้านที่มีย่า ตา ยาย เป็นชาวสุโขทัย ดั้งเดิมแท้ๆ ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เกิด และใช้พูดกันในหมู่ญาติพี่น้องและคนที่คุ้นเคยกันเท่านั้น ถ้าเป็นคนในเมืองก็จะพูดด้วยภาษาไทยธรรมดาโดยทั่วไป

เอกลักษณ์ของชาวสุโขทัยอยู่ที่ “สําเนียง” และการใช้คําเฉพาะ ถ้าไม่ใช่สําเนียงชาวพื้นบ้านของคนสุโขทัยเอง ถ้าไม่ได้พูดภาษาพื้นบ้านเป็นประจํา เช่น เด็กๆ ที่เกิดในตัวเมือง ไม่เคยได้ยินได้ฟังอาจจะไม่เข้าใจความหมาย แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กสุโขทัยที่เกิดและเติบโตในพื้นบ้านสุโขทัย ย่อมเข้าใจภาษา และพูดได้ทุกคน เว้นแต่จะพูดหรือไม่พูด เท่านั้น

พูดถึงสําเนียงภาษาสุโขทัยจะเปลี่ยนเสียงในคําพูดแต่ละคําให้ผิดไปจากเสียงธรรมดาทั่วไป จะกลายเป็นสําเนียงที่มีเสียงสูงเสียงต่ำในคํานั้นๆ เช่น คําว่า “พ่อ แม่” ถ้าเป็นคนพื้นเมืองจริงๆ จะกลายเป็น “พ่อ แม่” ถ้าจะพูดให้มีหลักเกณฑ์ ก็จะพอพูดได้ว่า แต่ละคําจะเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เกือบทั้งหมด ยกเว้นคําที่มีเสียงกลาง ยิ่งเป็นเสียงเอก จะเปลี่ยนเป็นเสียงจัตวาหมด เช่น หมด – หม๋ด, เสื่อ-เสือ, หมู่-หมู, ไก่-ไก๋ เช่น น้ำแห้งหมดแล้ว เป็นน้ำแห้งหม๋ด แล้ว

ยังมีเรื่องล้อเลียนเกี่ยวกับว่าที่แม่ยายพูดกับว่าที่ลูกเขยที่เป็นนายหมู่ตํารวจที่จะมากินข้าวที่บ้าน แกจึงร้องเรียกลูกสาวให้จัดแจงปูเสื่อ นํากับข้าว และแกงหมูที่ทําไว้รับรอง และนําของหวานมาให้กินหลังกินข้าวเสร็จแล้วว่า “อี๊หนู่ๆ (อีหนู อีหนู) หมูมาแล้ว (หมู๋มาแล้ว) เอาเสือ (เสื่อ) มาปูแล้วยกกั๊บ (กับ) ข้าวมาอย๋า (อย่า) ลืมตั๊ก (ตัก) แกงหมู่ (หมู) มาเลี้ยงหมู๋ (หมู่) แล้วตั๊ก (ตัก) ไข๋หวาน (ไข่หวาน) มาด้วยเน้อ”

ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนี้เป็นเรื่อง ของการเปลี่ยนสําเนียงธรรมดาให้เป็นสําเนียงชาวพื้นบ้านของคนสุโขทัย (แม้แต่คําว่าสุโขทัย ยังเปลี่ยนเป็น “ซุก โขทัย”) คําที่เปลี่ยนเสียงให้ผิดไปจากเดิมก็คือ เสียงเอกเป็นเสียงจัตวา เช่น หมู่ – หมู, เท่ากัน – เถากัน, ไข่-ไข๋, ห่าน – หาน, เป็ด – เป๋ด เสียงจัตวา เป็น เสียง เอก เช่น หมา – หม๋า, ฉัน – ฉั่น, ประเดี๋ยว-ประเดี่ยว, มะเขือ-มะเขื่อ, ข้าว-ขาว

เสียงกลาง ไม่เปลี่ยน เสียง แต่จะเป็นสําเนียงสุโขทัยที่แตกต่างจากเสียงกลางธรรมดา เช่น กินน้ำ กินปลา

นอกจากสําเนียงแล้ว คําเฉพาะตัวที่บ่งบอกว่าต้องเป็นชาวสุโขทัยแน่นอนมีมากมายในการพูด คนไม่เคยฟังจะไม่รู้ความหมาย เช่น ใหญ่โต -อย่างท่าว เช่น ภูเขาลูกนี้อย่างท่าว, ไสรถ -ยู้รถ เช่น เขายู้รถเข็นไปขายของ, ทะเลาะกัน -รบกัน เช่น ได้ของเล่นไปคนละอย่างแล้วอย่ารบกันอีกนะ, อยู่ตรงนั้น นะเห็นไหม -โด๋นะ/โจ๋นะ, ถังน้ำ -ครุ/ กระแป๋ง เช่น เอาครุไปตักน้ำ, เจอกัน – จังกัน เช่น เดี๋ยวก็ไปจังกันที่ตลาด, ตักเอามากมาย-ตั๊กเยอะๆ เช่น ปลามีมากมายตั๊กเผอะๆ ไม่ขาดสาย, ยืนยันว่าแน่นอน -ลงท้าย “เอ๊ง” เช่น ไปเอ๊ง, มีเอ๊ง, กินเอ๊ง, ล้อรถ -โอ้งรถ เช่น รถคว่ำ โอ้งรถวิ่งนําหน้าไปไกล, กระจอบ -กระบ๊ก เช่น เอากระบ๊กมาดายหญ้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2562