คนสุโขทัย ไปดื่มแม่โขงกันที่ไหนบ้าง

ภาพถ่าย มุมสูง แม่น้ำโขง แม่น้ำ เกาะ แก่ง
ภาพมุมสูงแม่น้ำ​โขง​ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

แม่น้ำโขง มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาสูงขอบที่ราบสูงทิเบตด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย และมีปากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ตำนานของล้านนาเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำกล่าวว่า แม่น้ำโขงเกิดจากหนองกระแสหลวง (ที่ใดที่หนึ่งเหนือเมืองเชียงรุ้งที่ล้านนารู้จัก) ผ่านที่ราบเชียงแสน ผ่านแม่น้ำอู (เหนือเมืองหลวงพระบางประมาณ 20 กิโลเมตร) ผ่านแก่งลีผีในแขวงจำปาศักดิ์ ผ่านเมืองพระนครในกัมพูชา (ที่จริงไม่ผ่าน แต่ก็ให้ภาพถูกว่าผ่านดินแดนขอมกัมพูชา) แล้วออกมหาสมุทร แสดงให้เห็นว่า ชาวล้านนารู้จักแม่น้ำโขงประมาณตั้งแต่เหนือเมืองเชียงรุ้งในสิบสองปันนาเล็กน้อย ตลอดไปจนออกทะเล

ในสมัยสุโขทัย ชาวสุโขทัยรู้จักแม่น้ำสายนี้ด้วยเช่นกัน ดังเช่น ในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…กลางเมืองสุโขทัยนี้มีตระพังโพยสีใสกินดี…ดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง…” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า คนสุโขทัยรู้จักแม่น้ำโขงจนเคยไปกินไปดื่มตรงส่วนไหนกันแน่ เพราะแม่น้ำสายนี้ยาวเหลือเกิน

ศิลาจารึกของสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงแม่น้ำโขง ในชื่อว่าแม่น้ำของหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งพอจะประมวลได้ว่า ชาวสุโขทัยเดินทางไปแม่น้ำโขง 3 เส้นทางด้วยกัน คือ ทิศเหนือที่เมืองเชียงแสน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่เมืองหลวงพระบาง และทิศตะวันออกที่เมืองเวียงจัน ดังจะได้แสดงหลักฐานและวิเคราะห์ให้เห็นเส้นทางทั้งสามดังต่อไปนี้

แม่น้ำโขง ทางทิศเหนือ

ศิลาจารึกหลักที่ 286 “จารึกวัดบูรพาราม” กล่าวถึงแม่น้ำโขงทั้งบน ด้านที่จารึกเป็นภาษาไทยและด้านที่เป็นภาษาบาลี สำหรับด้านที่เป็นภาษาไทย ศิลาจารึกตอนหนึ่งกล่าวว่า “…เข้าศักราชเจ็ดร้อยห้าสิบแปดกลาย ท่านได้ปราบต์ ทั้งปกกาวชาวด้านหนตีนเถิงฝั่งของ…” และในด้านภาษาบาลีแปลแล้วได้ความว่า “ศักราช 758 พระองค์พร้อมด้วยเจ้าเมือง (ทั้งหลาย) ได้กระทำให้อาณาเขต (รชฺชํ) สมบูรณ์ขึ้นทุกรัฐ ได้แก่…และเมืองเชียงแสนถึงฝั่งแม่น้ำพิงค์แม่น้ำโขง…”

ศักราชของศิลาจารึกหลักนี้เป็นจุลศักราช ตรงกับ พ.ศ. 1939 สำหรับคำแปลว่าแม่น้ำโขงนั้นภาษาบาลีจารึกไว้ว่า “ขงฺกนที” การติดต่อจากเมืองสุโขทัยไปยังเมืองเชียงแสนนั้น น่าจะให้ภาพพจน์ถึงเส้นทางการติดต่อเหนือขึ้นไปอีกตามลําแม่น้ำโขง ไปสู่ดินแดนสิบสองปันนาที่มีเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองสำคัญ เพราะเมืองเชียงแสนเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงผืนใหญ่ที่สุดผืนแรกจากตอนเหนือลงมา มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ผู้คนจากดินแดนเหนือขึ้นไปจักลงมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ดังที่มีการบอกเล่าในลักษณะตำนานในหนังสือตำนานพระธาตุดอยตุง

คนสุโขทัยไปดื่มน้ำโขงที่เมืองเชียงแสนไม่ยาก หากจับเส้นทางตามลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัยตั้งอยู่ แล้วเดินทางขึ้นเหนือไป มีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกแสดงความสัมพันธ์ของสุโขทัยกับบ้านเมืองบนลุ่มน้ำยม คือ เมืองตรอกสลอบ ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับเมืองแพร่ เมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว แม่น้ำยมจะนำทางเข้าสู่ที่ราบฟากตะวันออกของล้านนาตอนใต้ อันเป็นขอบเขตของเมืองพะเยา เมืองที่มีตำนานเล่าว่า พระร่วงสุโขทัยไปเป็นชู้กับลูกเมียเขา ถึงเมืองพะเยาแล้วก็เป็นที่รู้กันดีแล้วว่า สามารถไปยังเมืองเชียงแสนโดยผ่านเมืองเชียงรายได้อย่างสบาย

แม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางสู่แม่น้ำโขงจากเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นทางที่มีกล่าวถึงบ่อยครั้งที่สุดในศิลาจารึกของสุโขทัย เพราะเป็นเส้นทางที่จะติดต่อไปยังเมืองหลวงพระบางซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ดังที่มีกล่าวตอนหนึ่งในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “…ไทยชาวอูชาวของมาออก….” การที่ศิลาจารึกกล่าวถึงคนที่มาเข้าหาเมืองสุโขทัยว่ามาจากแม่น้ำอูกับแม่น้ำโขงคู่กันเช่นนี้ หมายถึงผู้คนที่มาจากบริเวณเมืองหลวงพระบางและที่ใกล้เคียง เพราะแม่น้ำอูไหลลงแม่น้ำโขงใกล้ๆ กับเมืองหลวงพระบาง คืออยู่เหนือเมืองหลวงพระบางประมาณ 20 กิโลเมตร

เมืองหลวงพระบางมีชื่อเรียกแต่เดิมว่า เมืองเซ่า หรือซว่า แต่จารในศิลาจารึกของสุโขทัยว่า เมืองชวา เส้นทางการติดต่อกับแม่น้ำโขงเพื่อไปยังเมืองหลวงพระบางนั้นต้องผ่านทางเมืองน่าน ซึ่งมีการติดต่อกับดินแดนสุโขทัยตามเส้นทางแม่น้ำน่าน ดังที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…เบื้องตีนนอนรอด เมืองแพร่ เมืองน่าน เมือง…เมืองพลัว พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว…”

นั่นคือ ตามเส้นทางลำน้ำน่านขึ้นเหนือผ่านเมืองน่านถึงเมืองพลัว ปัจจุบันเรียกว่าเมืองปัวนั้น เมื่อเดินบกผ่านช่องเขาต่างๆ ขึ้นเหนือต่อไปจะพบกับแม่น้ำโขงขวางอยู่ แม่น้ำโขงช่วงนี้ไหลจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก เมื่อเดินทางถึงแม่น้ำโขงช่วงนี้แล้วก็สามารถที่จะล่องตามแม่น้ำโขงถึงเมืองหลวงพระบางได้โดยสะดวก

จารึกหลักที่ 8 “ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ จังหวัดสุโขทัย” เป็นศิลาจารึกอีกหลักหนึ่งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับเมืองหลวงพระบางของพระมหาธรรมราชาลิไท โดยตอนหนึ่งได้กล่าวว่า “เบื้องตะวันออก…เถิงของพระยาท้าวฟ้าง้อม…” พระยาท้าวฟ้าง้อมในที่นี้คือพระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้ซึ่งขณะนั้นครองอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง จากเมืองน่านแทนที่จะขึ้นเหนือผ่านเมืองปัวไปยังแม่น้ำโขงทางทิศเหนือ ยังมีเส้นทางไปทางทิศตะวันออกข้ามช่องเขาไปสู่แม่น้ำโขง และเดินบกจับเส้นทางแม่น้ำโขงทวนกระแสน้ำถึงเมืองหลวงพระบางได้

เส้นทางออกจากเมืองน่านไปสู่แม่น้ำโขงเพื่อไปยังเมืองหลวงพระบางทั้งสองเส้นทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางการติดต่อที่รู้จักกันดีของบ้านเมืองในละแวกนั้น และน่าจะถูกใช้สืบต่อกันมาตราบเท่าที่แบบแผนการคมนาคมยังเป็นแบบเดิมอยู่ จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีรายละเอียดของเส้นทางกล่าวไว้ใน “บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม” ของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) และในนิราศหลวงพระบางของนายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) นายทหารที่ร่วมกองทัพปราบฮ่อของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งทั้งสองได้เดินทางไปเมืองหลวงพระบาง โดยออกจากเมืองน่านไปตามเส้นทางทั้งสองเส้นดังกล่าว

กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเดินทางโดยทางน้ำทวนกระแสเจ้าพระยา แยกเข้าลำน้ำน่านถึงเมืองพิชัย (ในเขตท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์) รวบรวมพลทหารเมืองเหนือแล้วเดินบกจับตามเส้นทางลำน้ำน่านจนถึงเมืองน่าน เมื่อพักพลที่เมืองน่านแล้วจึงเริ่มออกเดินทางตอนสามโมงเช้า พักแรมกลางทางที่ห้วยน้ำพูน รุ่งขึ้นเดินผ่านเขากวาง เขาแก้ว เขาสูงชื่อดอยโป่งอันเป็นสันปันน้ำเข้าเขตลาวล้านช้าง ผ่านนาดินดำ พักแรมคืนที่นาแวนอันเป็นที่ทำนาของชาวบ้านป่า รุ่งขึ้นออกเดินทางถึงเมืองศรีน้ำฮุงตอนจวนเที่ยง รุ่งขึ้นเดินทางต่อถึงท่าเดื่อริม แม่น้ำโขง รุ่งขึ้นเดินเลียบริมโขงทวนกระแสน้ำถึงท่าน้ำของเมืองนาน พัก 2 วัน เดินทางต่อถึงท่าเชียงแมนหน้าเมืองหลวงพระบาง รุ่งขึ้นข้ามน้ำโขงขึ้นที่ท่าโพนไซร เมืองหลวงพระบาง

แผนที่แสดงเส้นทางของแม่น้ำโขง

เปรียบเทียบชื่อสถานที่ต่างๆ ในนิราศหลวงพระบางกับชื่อที่ปรากฏในแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ชุด 1501 S มาตราส่วน 1 : 250,000 ระวาง NE 47-4, NE 47-8 พบว่าการเดินทัพครั้งนี้ กองทัพออกจากเส้นพรมแดนสยามเข้าสู่ราชอาณาจักรลาวล้านช้างแถบบริเวณบ้านน้ำพูน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอแม่จริม ทางทิศตะวันออกของเมืองน่าน การเดินทางต่อไปหลังจากข้ามสันปันน้ำแล้ว ภูมิประเทศจะเอียงลาดลงเรื่อยๆ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงฝั่งแม่น้ำโขงในแขวงไชยะบุรี (ดูแผนที่ในบทความนี้ประกอบ) ก่อนจะถึงท่าเดื่อที่ริมฝั่งโขง เส้นทางผ่านเมืองไชยะบุรีอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการแขวงไชยะบุรี ขณะนี้ขอบเขตของแขวงไชยะบุรีจะคลุมพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงส่วนที่ติดกับเขตแดนประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเลย

สำหรับเมืองไชยะบุรีนั้นตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำฮุง เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่ของแมคคาร์ธี พบว่าตั้งอยู่บนพิกัดเส้นรุ้งแวงเดียวกันกับเมืองฮุงหรือฮุ่ง แสดงว่าชื่อเดิมของเมืองไชยะบุรีนั้นคือเมืองฮุงหรือฮุ่ง ตรงกับเมืองศรีน้ำฮุงในนิราศหลวงพระบางนั่นเอง อีกชื่อหนึ่งของเมืองไชยะบุรีหรือเมืองฮุ่งคือชื่อว่าเมืองสมาบุรี ชื่อนี้ปรากฏอยู่บนแผนที่ประเทศไทยของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน 1 : 2,000,000 ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2511

เจมส์ แมคคาร์ธี ผู้ซึ่งได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ได้บันทึกการเดินทางสำรวจไว้ทำให้ทราบว่า การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเมืองน่าน ใช้วิธีและเส้นทางเดียวกันกับการเดินทัพในนิราศหลวงพระบาง จากเมืองน่านไปเมืองหลวงพระบางนั้นแมคคาร์ธีกล่าวว่า

“คอลลินส์กับรอสมุลเซน เดินบกผ่านเมืองฮุ่ง (Muang Hung) ไปหลวงพระบาง แต่ข้าพเจ้าไปทางเรือ จากท่านุ่นในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทางที่เร็วกว่า”

นั่นคือ แมคคาร์ธีได้แยกทางกับคณะของเขาที่เมืองน่าน คณะของเขาคือคอลลินส์กับรอสมุลเซนใช้เส้นทางเดินบกผ่านเมืองฮุ่งอันเป็นเส้นทางเดียวกันกับการเดินทัพในนิราศหลวงพระบาง ส่วนตัวของแมคคาร์ธีเองนั้นเดินทางขึ้นเหนือ และออกจากเส้นพรมแดนที่อำเภอทุ่งช้าง คงจะเป็นแถวๆ ด่านห้วยโก๋นเหมือนเส้นทางในปัจจุบัน เพราะเขาได้เดินทางผ่านเมืองหงสา ซึ่งขณะนั้นยังเรียกว่า เมืองลวกตามชื่อน้ำลวกที่ไหลผ่านเมือง แมคคาร์ธีกล่าวถึงเมืองลวกว่า

“ระหว่างทางเราผ่านเมืองลวก (Muang Luak) ซึ่งเรียกว่าหงสาวดีแต่นั้นมา ตั้งอยู่ในทุ่งราบกว้าง 6 ไมล์ ยาวประมาณ 10 ไมล์ มีเนินเขาสูงชันล้อมรอบ ที่สูงจากระดับดินในทุ่งขึ้นไปประมาณ 200 ฟุต คือภูเขาไฟสองลูกซึ่งยังระอุอยู่ มีชื่อที่รู้จักกันว่า ภูไฟใหญ่ (Phu Fai Yai) และภูไฟน้อย (Phu Fai Noi)”

(ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ที่มีควันลอยขึ้นมาบนเขาทั้งสองลูกนั้น ที่จริงเกิดจากการสันดาปของแร่ลิกไนต์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นคนละกรณีกันกับภูเขาไฟ)

จากเมืองหงสา แมคคาร์ธีได้เดินบกต่อไปถึงแม่น้ำโขงที่ท่านุ่น จากท่านุ่นลงเรือล่องตามแม่น้ำโขงไปยังเมืองหลวงพระบาง และสามารถไปถึงเมืองหลวงพระบางก่อนคณะของเขาทั้งสองคน

ปัจจุบันคนไทยที่จังหวัดน่านและที่เข้าไปประกอบการธุรกิจที่เมืองหงสา ไม่ค่อยรู้จักท่านุ่นแล้ว รู้จักแต่ท่าช่วงซึ่งเป็นท่าลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปเมืองหลวงพระบาง แผนที่กรมแผนที่ทหาร ระวาง NE 47-4 ลงตำแหน่งทั้งท่าช่วงและท่านุ่นแต่เขียนด้วยอักษรลาวและโรมัน สำหรับท่าช่วงเขียนดังนี้คือ “ทาชวาง Thaxoang” เมื่อชาวลาวออกเสียง คนไทยปัจจุบันได้ยินเป็นท่าช่วง แต่ในแผนที่ประเทศไทยของกรมแผนที่ทหาร ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2511 ฟังออกเป็นท่าสอง ท่าช่วงหรือท่าสองนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของท่านุ่น แม่น้ำโขงตอนนี้ไหลจากทางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ท่าช่วงหรือท่าสองจึงอยู่เหนือน้ำและมีถนนตัดจากเมืองหงสามายังท่าแห่งนี้ ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ท่านุ่นที่อยู่ใต้น้ำลงไปประมาณ 30 กิโลเมตรจึงไม่ค่อยมีคนใช้และไม่ค่อยมีคนรู้จัก

แม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออก

เส้นทางจากเมืองสุโขทัยไปยังแม่น้ำโขงสายที่สามคือ เส้นทางสายตะวันออก ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งมีความอีกตอนหนึ่งว่า “…เบื้องตะวันออกรอดสระหลวงสองแคว ลุมบาจายสคาเท้าฝั่งของเถิงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว…” ซึ่งจากข้อความในศิลาจารึกตอนนี้ชี้ให้เห็นการติดต่อไปทางทิศตะวันออกผ่านเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เพื่อไปสู่แม่น้ำโขง โดยมีเมืองเวียงจันเวียงคำทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นจุดหมายปลายทาง

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า เมืองลุม เมืองบาจาย และเมืองสกา บนเส้นทางที่จะออกไปสู่แม่น้ำโขงนั้นอยู่ที่ใดแน่ ทราบแต่เพียงคร่าวๆ ว่า อยู่ไปทางทิศตะวันออกของเมืองสองแควหรือพิษณุโลก แต่หลักฐานที่เป็นศิลาจารึกหลักที่ 93 “ศิลาจารึกวัดอโศการาม” ที่กล่าวถึงขอบเขตของแคว้นสุโขทัยทางทิศตะวันออก เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ว่าอยู่ที่เมืองนครไทยนั้น ทำให้สามารถมองเห็นเส้นทางไปสู่แม่น้ำโขงสายนี้ขยับออกไปไกลถึงเมืองนครไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก การติดต่อระหว่างเมืองนครไทยกับเมืองพิษณุโลกนั้นสามารถติดต่อได้โดยสะดวกตามลำแม่น้ำแควน้อย ซึ่งไหลมาลงแม่น้ำน่านเหนือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก

บ้านบ่อโพธิ์ เป็นแหล่งทำเกลือสินเธาว์ แสดงถึงการเป็นบ้านเก่าที่มีมานาน ตั้งอยู่ระหว่างเมืองนครไทยกับเมืองด่านซ้ายในเขตจังหวัดเลย เส้นทางผ่านบ้านบ่อโพธิ์ควรเป็นเส้นทางข้ามสันปันน้ำที่ไหลลงแม่น้ำน่านผ่านเมืองนครไทย กับน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงผ่านเมืองด่านซ้าย ซึ่งเมื่อสามารถเดินทางผ่านช่องเขาจากเมืองนครไทยไปเมืองด่านซ้ายได้แล้ว การเดินทางไปสู่แม่น้ำโขงก็สามารถทำได้โดยสะดวก โดยเส้นทางตามลำน้ำหมันถึงปากหมันที่บรรจบกับลำน้ำเหียงในเขตอำเภอด่านซ้าย เป็นเส้นพรหมแดนแบ่งบริเวณเมืองแก่นท้าวของลาว กับอำเภอท่าลี่ของไทย แม่น้ำเหียงไหลไปลงแม่น้ำโขงที่ปากเหียงในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อพบแม่น้ำโขงแล้ว การล่องตามลำน้ำไปสู่เมืองเวียงจันเวียงคำก็ไปได้โดยสะดวก

ศิลาจารึกวัดอโศการามได้กล่าวถึงขอบเขตของแคว้นสุโขทัยต่อไปอีกว่า “…ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทรงทำเมืองวัชชะปุระเป็นรัฐสีมา…” ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับศิลาจารึกหลักที่ 286 “จารึกวัดบูรพาราม” ซึ่งจารึกขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ด้านที่จารึกเป็นภาษาบาลีได้ความสอดคล้องกันว่า “ศักราช 758 พระองค์พร้อมเจ้าเมือง (ทั้งหลาย) ได้กระทำให้อาณาเขต (รชฺชํ) สมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกรัฐ ได้แก่…เมืองนครไทยในทิศบูรพา เมืองเพชรบูรณ์ในทิศอาคเนย์…”

นั่นคือเมืองที่เรียกเป็นภาษาบาลีในจารึกวัดอโศการามว่า “วชฺชปุร” กับที่เรียกเป็นภาษาบาลีในจารึกวัดบูรพารามว่า “พชฺชปุร” นั้น คือเมืองเพชรบูรณ์ตามที่แปลไว้ในจารึกวัดบูรพารามนั่นเอง เมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย เส้นทางโบราณออกจากเมืองพิษณุโลกไปยังเมืองเพชรบูรณ์มีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยา  สุรสีห์ ต้องทิ้งเมืองพิษณุโลกเนื่องจากถูกกองทัพอะแซหวุ่นก็ล้อมเมืองไว้จนขาดเสบียง ความตอนหนึ่งว่า

“…ครั้นเพลาประมาณยามเศษ เจ้าพระยาทั้งสองก็จัดทหารเป็นสามกอง…แล้วยกกองทัพและครอบครัวทั้งปวงเปิดประตูเมืองข้างด้านฟากตะวันออก…ได้รบกันถึงอาวุธสั้นฟันแทงกันเป็นตะลุมบอน พม่าแตกเปิดทางให้ เจ้าพระยั้งสองก็รีบเดินทัพไปทาง บ้านมุงดอนชมพู…ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์หยุดพักอยู่ที่นั้น…”

นั่นคือการเดินทางจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองเพชรบูรณ์นั้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบ้านมุงดอนชมพู ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้านชื่อนี้อยู่เชิงเขาค้อฟากตะวันตก เมื่อล่องใต้ต่อไปอีกเล็กน้อยจะถึงปลายเขา เมื่ออ้อมเขาไปทางตะวันออกก็จะถึงเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ไปทางต้นแม่น้ำเหนือเมืองเพชรบูรณ์จะถึงอำเภอหล่มเก่าซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเมืองหล่ม และเป็นที่เข้าใจกันมาแต่เดิมว่าคือเมืองลุมที่กล่าวอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1

เกี่ยวกับเมืองลุม มีข้อความกล่าวถึงในจารึกวัดบูรพารามด้านภาษาไทย ตอนหนึ่งว่า “…เบื้องข้างตะวันหนออกรอดเถิงลุมบาจายรอดสายยโสธร เบื้องข้างหนอุดรลุนครไทย…” แสดงว่า เส้นทางผ่านเมืองลุมบาจายนี้คือเส้นทางสายตะวันออกเฉียงใต้ในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักอันเป็นที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์ ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักเดียวกันด้านภาษาบาลี เพราะในตอนต่อไปด้านภาษาไทยได้เลื่อนเอาเมืองนครไทยไปเป็นทิศเหนือ ในขณะที่ด้านภาษาบาลีว่าเป็นทิศตะวันออก นั่นคือเมืองลุมกับเมืองบาจายอยู่บนเส้นทางลุ่มแม่น้ำป่าสักเช่นเดียวกับเมืองเพชรบูรณ์และเมืองลุมก็ควรจะอยู่แถบอำเภอหล่มเก่าที่อยู่เหนือน้ำเมืองเพชรบูรณ์ตามที่เคยรู้กันมา

ที่ต้นแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอหล่มเก่านี้ ปัจจุบันจะมีเส้นทางลำลองซึ่งซ้ำกับเส้นทางดั้งเดิม ข้ามช่องเขาลงสู่ต้นแม่น้ำเลยที่บ้านห้วยเสริม แม่น้ำเลยจะเป็นเส้นทางสำคัญอ้อมผ่านภูหอซึ่งเป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายหอคอย เป็นจุดสังเกตทางภูมิศาสตร์ได้ดีเนื่องจากมีลักษณะต่างจากภูเขาลูกอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน หลังจากนั้นจะไหลผ่านอำเภอวังสะพุง ผ่านตัวจังหวัดเลย ลงแม่น้ำโขงที่ปากเลยเหนือที่ตั้งอำเภอเชียงคานเล็กน้อย เป็นเส้นทางสู่แม่น้ำโขงใต้ปากเหียง เส้นทางตะวันออกสู่แม่น้ำโขงเส้นแรกที่กล่าวแล้ว

สรุป

คนสุโขทัยเดินทางไปดื่มกินแม่โขงสามแห่งคือ ที่เมืองเชียงแสน หลวงพระบาง และเมืองเวียงจันเวียงคำ (เวียงคำคือเมืองทรายฟอง อยู่ประมาณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทางฝั่งลาวด้านทิศเหนือ) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ศิลาจารึกบอกไว้ แต่เมื่อคิดว่าบ้านเมืองต่างๆ บนฝั่งโขงที่สุโขทัยติดต่อด้วย อย่างน้อยคือเมืองเชียงแสน ก็มีความสัมพันธ์กับเมืองที่อยู่เหนือนขึ้นไป เช่นเมืองเชียงรุ้ง และคนสุโขทัยก็มีความรู้เกี่ยวกับเมืองพระนครในกัมพูชา ดังนั้นความรู้ของคนสุโขทัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าชาวล้านนาตามที่มีกล่าวอยู่ในตำนานเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำ ดังกล่าวแล้วแต่ต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “คนสุโขทัยไปดื่มแม่โขงกันที่ไหนบ้าง” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2565