“แม่โขง” แบรนด์สุราไทยที่มาจากเพลงปลุกใจ เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน

ภาพถ่าย มุมสูง แม่โขง แม่น้ำ เกาะ แก่ง
ภาพมุมสูงแม่น้ำโขง​ (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

ย้อนรอยความเป็นมาของชื่อ “สุราแม่โขง” ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อของยี่ห้อสุราไทย อันมีที่มาจากเพลงปลุกใจ เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน

บางยี่ขันเป็นย่านผลิตสุราตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มีนายอากรสุราชาวจีนปลูกโรงต้มสุราบริเวณปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กิจการสุราในท้องที่บางยี่ขันคึกคักเพียงใด ต้องให้กวีอย่างสุนทรภู่ยืนยัน เพราะท่านเคยกล่าวถึงชุมชนย่านนี้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง  มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา         

โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

พ.ศ. 2457 รัฐบาลก็ตั้งโรงงานผลิตสุราแห่งแรกขึ้นที่บริเวณดังกล่าวเรียกว่า “โรงงานสุราบางยี่ขัน” โดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของรัฐ โดยให้มีการประมูลเพื่อเป็นผู้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายสุรา สันนิษฐานว่าในระยะแรกเป็น “เหล้าขาว”

ต่อมาวิสกี้ได้รับความนิยม โดยมักดื่มผสมโซดา ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก กรมสรรพสามิต โดยโรงงานบางยี่ขันจึงทดลองผลิต “แม่โขง” สุราสี 35 ดีกรี โดยใช้เครื่องสมุนไพรตามเภสัชตำรับของยาดองเหล้าแบบโบราณสกัดโดยแช่ในสุราดีกรีสูง แล้วนำมาปรุงแต่งรส, กลิ่น, สี และแรงแอลกอฮอล์ สามารถดื่มโดยผสม หรือไม่โซดาก็ได้ จนสำเร็จในปี 2484

แต่ชื่อของ “เหล้าใหม่” ที่คิดค้นได้ก็ยังหาชื่อที่ถูกใจไม่ได้

ในเวลาใกล้กันนั้น คือ ปี 2483 มีการเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของ แม่โขง หรือแม่น้ำโขง 4 จังหวัดคือเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณและนครจำปาศักดิ์คืนจากประเทศฝรั่งเศสจนเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน และนำไปสู่สงคราม หลวงวิจิตรวาทการอธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น จึงแต่งเพลงปลุกใจออกเผยแพร่ ตั้งชื่อว่าเพลงว่า “ข้ามโขง” มีเนื้อร้องดังนี้

เพลงข้ามโขง

ข้ามโขงมาสู่แคว้นไทย มาพวกเราชาวไทยพร้อมเพรียงกัน โขงคือว่าสายสัมพันธ์ ร่วมจิตร่วมใจรวมไทยไว้ด้วยกัน เหมือนน้องพี่ล้วนแต่มีเกี่ยวพัน

โขงเป็นแม่น้ำสำคัญ มากลับมาร่วมกันเป็นเนื้อเดียว สนิมสนมไทยต้องกลมเกลียว  เชิญพี่เชิญน้องมาร่วมเป็นทองผืนเดียว โขงสองฝั่งเปรียบเหมือนดังฝั่งเดียว

โขงคือแม่น้ำสายใหญ่ เป็นชีวิตจิตใจของชาวเรา ชาติใดใครมารู้เบา. จงสู้จงรบกว่าจะพบโชคชัย ถึงเนื้อเลือดเราจะเชือดให้ไป (ซ้ำ)

เพลงดังกล่าวหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แต่งคำร้อง โดยใช้ทำนองเพลง Old Folks at Home (บ้างเรียก Swanee River) ส่วนผู้ขับร้องคือ พูลศรี เจริญพงษ์ จากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งปรากฏว่าดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง

สุรา 35 ดีกรี ของโรงงานสุราบางยี่ขันที่ยังไม่ได้ชื่อ จึงใช้ชื่อ “สุราแม่โขง” ด้วยกระแสสังคมที่กำลังฮิตเพลงข้ามโขง และสถานการณ์การเมืองเวลานั้น

คลิกอ่านเพิ่ม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551

โกวิท ตั้งตรงจิต. เล่าความหลังครั้งสงคราม. สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, 2554

http://www.mekhong.com/houseofmekhong/thai.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2562