ร่องรอย “อาวาโมริ” เหล้าญี่ปุ่นผลิตจากข้าวไทย ฤๅเป็นมรดกจากราชสำนักอยุธยา?

โอกินาว่า เมือง ผลิต เหล้าอาวาโมริ
เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ถ่ายเมื่อ พ.ค. 1972 ภาพจาก PANASIA / AFP

ร่องรอย “เหล้าอาวาโมริ” เหล้าญี่ปุ่นผลิตจากข้าวไทย ฤๅเป็นมรดกจากราชสำนัก “อยุธยา” ?

โอกินาวา หรือชื่อเดิมเรียกว่า “ริวกิว” เป็นดินแดนที่มีปฏิสัมพันธ์ทำการค้าขายกับอาณาจักร “อยุธยา” มาเนิ่นนาน มีการขุดค้นพบชิ้นส่วนไหจากอยุธยา เป็นจํานวนมาก สันนิษฐานกันว่าไหเหล่านี้ถูกใช้ในพิธีทางศาสนาของริวกิว อาจจะเอาไว้ใส่เหล้าซึ่งใช้ในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า

ในเอกสารของริวกิวมีการอ้างอิงถึงเหล้าจากอยุธยา ไหเหล่านี้เดิมจึงน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าซึ่งเรือริวกิวนําเข้ามา จากเอกสารของริวกิวชื่อ “เรคิไดโฮอัน” อยุธยาส่งพระราชสาส์นพร้อมของขวัญมาให้ริวกิวหลายครั้ง เพื่อตอบแทนการที่ริวกิวช่วยเหลือลูกเรืออยุธยาที่เรืออับปาง ระหว่างการเดินทางไปริวกิวในช่วงปลายศตวรรษที่ 15

ในรายการของขวัญที่ส่งให้นอกจากจะมีผ้าจากอินเดีย ไม้ฝาง และงาช้างแล้ว สิ่งที่เด่นชัดคือเหล้า ซึ่งมีจํานวนกว่า 70 ไห เช่น “เหล้าขาว” “เหล้าแดง” “เหล้าแดงกลิ่นดอกไม้” และ “เหล้ากลิ่นดอกไม้ข้างในมีมะพร้าวอยู่”

เหล้าเหล่านี้ในเอกสารไม่ได้บอกว่าเป็นเหล้าชนิดใดและมาจากไหน อาจจะเกิดคําถามว่าเหล้าเหล่านี้เป็นของสยามหรือไม่ หรือว่าสยามนําเข้ามาจากที่อื่นอีกที แต่ในเอกสารของจีน “หยิงหยาเชิงหลั่น” (เขียนปี ค.ศ. 1416) มีบันทึกไว้ว่า ที่สยามมีเหล้า 2 ชนิด คือ เหล้าที่ทําจากข้าวและเหล้าที่ทําจากมะพร้าว

นักวิชาการญี่ปุ่นลงความเห็นว่า ไหที่พบน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าจากสยาม นอกจากนี้ยังมีบางทฤษฎีบอกว่า เหล้าจากสยามเป็นต้นแบบการกลั่น “เหล้าอาวาโมริ” ของโอกินาวา ซึ่งใช้ข้าวจากไทยเป็นวัตถุดิบในการหมัก แล้วจึงนําไปกลั่น มีกรรมวิธีการกลั่นคล้ายเหล้าโรงของไทย แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้ข้าวไทยหมัก

jars of “moromi” ผลิตผล awamori production ที่โอกินาวา (public domain) ภาพถ่ายก่อนยุคสงคราม คาดว่าถ่ายก่อนค.ศ. 1946 จาก Wikimedia Commons

เหล้าอาวาโมริ เริ่มกลั่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 16 เนื่องมาจากการติดต่อระหว่างริวกิวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หมดลง แต่ความต้องการเหล้ายังมีอยู่ คนริวกิวจึงเริ่มกลั่นเหล้าเอง ในปัจจุบัน อาวาโมริ คือเหล้าซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของโอกินาวา

อย่างไรก็ตาม บางทฤษฎีบอกว่า ต้นแบบของ เหล้าอาวาโมริ น่าจะมาจากฮกเกี้ยน หรือไม่ก็แถบอื่นทางตอนใต้ของจีนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือเหล้าอาวาโมริใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นทํา

เว็บไซต์ของสมาคมโรงกลั่นเหล้าจังหวัดโอกินาว่า อธิบายว่า “เหล้าอะวาโมริ เป็นเหล้ากลั่นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ว่ากันว่ามีประวัติยาวนานประมาณ 600 ปี เป็นการนำข้าวไทย (ข้าวอินดิกา) มาผลิตข้าวโคจิ และหมักโดยการเติมน้ำและยีสต์ แล้วจึงกลั่นแบบทับ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมามากกว่า 600 ปี ที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปิยดา ชลวร. “พาณิชย์สัมพันธ์ สยาม-ริกิว ร่องรอยไหจากเตาเผาสุโขทัยที่ ‘ปราสาทชูริ’ เกาะโอกินาวา”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. <https://www.silpa-mag.com/history/article_41020>

https://okinawa-awamori.or.jp/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2563