เหล้า กับการฉลองปีใหม่ของเจ้านายในอดีต

บรรยากาศ การจัดเลี้ยงโต๊ะ แบบตะวันตก สมัย รัชกาลที่ 5 ราชสำนักสยาม ภายใน พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
บรรยากาศการจัดเลี้ยงโต๊ะในแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of siam, 1994)

เหล้า หรือ สุรา อยู่คู่กับวัฒนธรรมการกินของมนุษย์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถูกใช้ในสถานะการณ์ต่างๆ แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ผู้คนจะนิยมใช้ดื่มเพื่อความรื่นรมณ์ในงานรื่นเริงต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ “ราชสำนักสยาม” ในอดีต

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่สยามปรับตัวต่อวัฒนธรรมตะวันตก ราชสำนักสยาม ได้นำวัฒนธรรมการเลี้ยงโต๊ะแบบตะวันตกเข้ามา เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เจ้านาย มีการจัดงานเลี้ยงโต๊ะปีใหม่แบบตะวันตกขึ้นในสมัยนั้น และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้ในโต๊ะอาหารคือ “เหล้า”

ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 4 ทรงจัดเลี้ยงฉลองวันคริสต์มาสเเก่ชาวตะวันตก นนทพร อยู่มั่งมี ได้บรรยายไว้ว่า

“ภายในงานเลี้ยงยังประกอบไปด้วยอาหารนานาชนิด จากเนื้อสัตว์ทั้งไก่งวง เป็ด ห่าน หมู เเละอาหารอีกมากมาย รวมทั้งเเกงกระต่ายเเบบอินเดีย เเต่ที่สำคัญคือ สุรานานาชนิด บางชนิด ‘เจ้าภาพ’ อาศัยทักษะทางวิทยาศาสตร์ส่วนพระองค์ทำให้รสชาติสุราถูกใจบรรดาเเขกผู้ร่วมงานมากขึ้นด้วยการใช้ความเย็น ในยุคที่ไม่มีน้ำเเข็ง โดยทรงประยึกต์มาจากวิธีการของอินเดียด้วยการนำขวดเเชมเปญไปเเช่ไว้ในดินประสิวที่ผสมเกลือเเละน้ำลงไป

บรรยายกาศผสมผสานกับรสชาติของสุราเเละอาหารได้สร้างความประทับใจเเก่เเขกผู้ร่วมงานอย่างมากที่ทุกคนสามารถ ‘เมา’ ได้อย่างถ้วนหน้ากัน”

เมนูอาหาร งานจัดเลี้ยงที่ดุสิตธานี วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ (ภาพจากวิวัฒนาการและศิลปะการจัดโต๊ะอาหาร เครื่องดื่ม และ เมนูอาหาร, ๒๕๓๕)

การดื่มเหล้าแม้จะมีผลดีในงานรื่นรมณ์และสานความสำพันธ์ต่างๆ แต่บางครั้งกลับก่อให้เกิดผลเสียต่อเจ้านายด้วย เช่นทำให้เสียงานราชการ ดังปรากฎให้เห็นในอดีตในหลายๆ กรณี ถึงอย่างนั้นสุราก็ยังเป็นที่นิยมในงานเลี้ยงเทศกาลต่างๆอยู่เสมอ ดังใน โคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พ.ศ. 2417 กล่าวถึงการเลี้ยงสุราของเจ้านายไว้ว่าไว้ว่า

คอเมามาพักพร้อม   มากหลาย
ไว้ยศทำเยื้องกราย   บิดพลิ้ว
อยู่วังดื่มมากมาย   เมาราบ
มานี่ทำหน้าหนิ้ว   ว่าข้าคนดีฯ
เคยกินกินเหล้นเถิด   อย่าเกรง พ่อเอย
ดีกว่าซื้อกินเอง   ยิ่งเเท้
เเสร้งทำเช่นยำเยง   รู้เท่า ดอกนา
อยู่ที่บ้านเมาเเต้   ขวดตั้งตวงกระบุงฯ

โคลงข้างต้น บ่งชี้ถึงความชื่นชอบ “ดื่มเหล้า” ของเจ้านายในอดีต ตามโอกาศพิเศษต่างๆ เช่น งานขึ้นปีใหม่

ซึ่งตัวอย่างข้างต้น สะท้อนให้เราเห็นถึงค่านิยมการดื่มเหล้าของเจ้านายสยามในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเรียนรู้วัฒนธรรมในอดีต “อาจ” สามารถทำให้เราเข้าใจปัจจุบันได้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ : เรื่องเหล้าของเจ้านาย” เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2561