เมื่อ “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่” แบบตะวันตกเป็นสิ่งใหม่ เจ้านายใช้คบหาสมาคม-ปรับตัวตามยุคสมัย

เลี้ยงโต๊ะปีใหม่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรองที่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซียทรงจัดถวายในคราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ (ภาพจาก "ของเพื่อนให้",๒๕๕๐)

“เลี้ยงโต๊ะปีใหม่” แบบตะวันตกเป็นสิ่งใหม่ เจ้านายใช้คบหาสมาคม-ปรับตัวตามยุคสมัย

การสร้างความสัมพันธ์อันดีของเจ้านายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างชาติที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนัก เป็นสิ่งที่จำเป็นตั้งแต่ครั้งอดีต เพราะต้องการที่จะรู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น การเลี้ยงโต๊ะแบบตะวันตก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสมานฉันท์แก่ผู้จัดงานและแขกผู้มาร่วมงานได้เป็นอย่างดี

การเลี้ยงโต๊ะในแบบตะวันตก นิยมจัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยจะจัดงานเลี้ยงโต๊ะขึ้นในพระบรมมหาราชวังอยู่เป็นประจำ คือ วันที่ 1 เมษายน หรือ เลี้ยงโต๊ะปีใหม่, เลี้ยงโต๊ะเฉลิมพระชนมพรรษา, เลี้ยงโต๊ะจีนในเทศกาลตรุษจีน และเลี้ยงโต๊ะข้าวแช่สงกรานต์ ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นเจ้านาย จะเห็นได้จากโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พ.ศ. 2417 ความว่า

ปีใหม่ให้เลี้ยงพระ   ประยุรวงศ์
เชิญเสด็จทุกองค์   พี่น้อง
ขอให้ท่านจงทรง   เจริญสุข เถิดนา
ภัยพยาธิอย่าพ้อง   แผกพ้นชนม์ยืน ฯ

เมื่อเริ่มมีการเจริญสัมพันธไมตรีของชาวตะวันตก การเลี้ยงโต๊ะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการต้อนรับ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะชาวตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง ถึงขั้นมีพระราชดำริให้หากุ๊กฝรั่งเข้ามาประจำราชสำนัก

บรรยากาศการจัดเลี้ยงโต๊ะในแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายในพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือ “ของเพื่อนให้” โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ที่ระลึกแห่งวโรกาสครบรอบ ๑๑๐ ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย พ.ศ. ๒๕๕๐)

การแต่งกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการร่วมโต๊ะอาหาร ผู้ร่วมงานต้องแต่งกายให้อย่างเหมาะสมกับเวลา และสถานที่อย่างที่ชาวตะวันตกปฏิบัติ นอกจากการแต่งกายแล้ว มารยาทและวิธีการรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยสร้างความยากลำบากแก่เจ้านายบางพระองค์ เพราะชาวไทยมักบริโภคอาหารจำพวก ผัก ปลา จึงไม่คุ้นชินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ จนเป็นที่ขำขันของผู้ร่วมโต๊ะอาหาร ดังจากโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พ.ศ. 2417 ความว่า

เสวยอะไรอร่อยบ้าง   เล่าจ๋า
แกะไก่หมูโคปลา   ห่านปิ้ง
ดูเนื้อแน่นหนักหนา   เหนียวหน่อย
เคี้ยวไม่ไหวคายทิ้ง   อ่อนหยุ้ยจึงดี ฯ
จะเสวยขอให้ท่าน   ทรงรวัง
สิ่งที่เหนียวแขงกัง   อย่าเคี้ยว
สงสารพระทนต์ยัง   ง่อนแง่น อยู่นอ
จงชั่งกำลังเขี้ยว   อย่ากล้ากลางประชุม ฯ

แม้ว่าการเลี้ยงโต๊ะเป็นสิ่งที่ใหม่และยากสำหรับเจ้านายไทยในอดีต แต่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นการพัฒนาและการพยายามปรับตัวให้ทัดเทียมเท่ากับชาวตะวันตก อีกทั้งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างชาติที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักเปรียบเสมือนย่อระยะทางแสนไกล ให้มาอยู่บนโต๊ะอันแสนใกล้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ : เรื่องเหล้าของเจ้านาย, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 มกราคม 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2560