ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ราชสกุลเสนีวงศ์ ณ อยุธยา หม่อมเจ้าแตง ถึง หม่อมเจ้าทินกร ผู้ทำนายดวง รัชกาลที่ 4 ว่า “พระชันษาจะสั้น” แต่พระองค์ไม่ทรงถือโทษ
ในบรรดาราชสกุลต่างๆ ในราชวงศ์จักรี ราชสกุล “เสนีวงศ์ ณ อยุธยา” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่รับราชการในราชสำนักและแวดวงทหารสืบต่อกันมายาวนาน นับตั้งแต่ “หม่อมเจ้าแตง” พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ ต้นราชสกุลเสนีวงศ์ ณ อยุธยา ขณะที่พระโอรสของกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ที่มีเรื่องเล่าต่อมานั้นก็มีพระโอรสหลายองค์ที่ปรากฏในบันทึกเสมอ
ต้นราชสกุลเสนีวงศ์ คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแตง กรมหลวงเสนีบริรักษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กับเจ้าครอกทองอยู่ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2320 และสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2377 ทรงเป็นผู้คุมกองทัพที่มากความสามารถ เห็นได้จากผลงานการทำสงครามที่เวียงจันทน์ ในบรรดาพระโอรสและธิดาที่สืบสายต่อมาก็มีปรากฏว่าเป็นหม่อมราชวงศ์ซึ่งมีบทบาทมากมาย
พระโอรสองค์หนึ่งคือ หม่อมเจ้าทับ ติดตามพระบิดาและกองทัพไทยที่ยกไปตีเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2369 ตรงกับสมับรัชกาลที่ 3 อาจกล่าวได้ว่าเป็นศึกครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สำคัญคือหม่อมเจ้าทับ เป็นกวีและประพันธ์นิราศทัพเวียงจันทน์เอาไว้ด้วย
หม่อมเจ้าทัต เสนีวงศ์ พระโอรสอีกองค์ก็คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 2 และได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามฯ ต่อจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
พระโอรสอีกองค์ที่ปรากฏในบันทึกหลายแห่งคือ หม่อมเจ้าทินกร ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังมีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพิเศษกว่าหม่อมเจ้าอื่นที่เป็นสามัญ
ในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า พระองค์พบว่าในบัญชีเบี้ยหวัดครั้งรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีนามหม่อมเจ้าที่ได้พระราชทานเบี้ยหวัด มีนามหม่อมเจ้าทินกร (และหม่อมเจ้าเสริฐ) ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ในบัญชีด้วย โดยพระราชทานองค์ละ 2 ชั่ง
ข้อความตอนหนึ่งในบันทึกมีว่า
“สืบถามพวกเชื้อวงศ์ได้ความว่า เมื่อในรัชกาลที่ 3 นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงเสนีบริรักษ์มีหน้าที่แต่งสำเภาหลวงไปค้าขายเมืองจีนด้วยสามลำ (ฤาจะได้แต่งมาแต่ในรัชกาลที่ 2 แล้วก็จะเป็นได้) หม่อมเจ้าทินกรได้เป็นผู้ช่วยพระบิดาแต่งสำเภา ครั้นกรมหลวงเสนีบริรักษ์สิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้หม่อมเจ้าทินกรเป็นผู้แต่งสำเภานั้นต่อมา”
ในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังบันทึกไว้ว่า เชื้อวงศ์หม่อมเจ้าทินกร ยืนยันกันว่า หม่อมเจ้าทินกรนั้นบวชเป็นพระหางนาค
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า ในตำนานวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 มีสำเนาหมายรับสั่งครั้งทรงผนวช ระบุเจ้านายทรงผนวชเป็นหางนาค 7 องค์ด้วยกัน หนึ่งในนั้นมีว่า “พระองค์เจ้าอำไภ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์…”
อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “ที่เขียนไว้ในสำเนาหมายรับสั่งเห็นจะผิด ด้วยพระนามพระองค์เจ้าอำไภมีแต่พระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ 2 และทราบว่าได้ทรงผนวชอยู่วัดอรุณ จนได้เป็นพระราชาคณะแล้วจึงลาผนวช พระชันษาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายปี คงจะทรงผนวชก่อน ไม่มีพระองค์เจ้าอำไภนอกจากนั้นอีก จึงเชื่อว่าหม่อมเจ้าทินกรได้เป็นหางนาคในคราวทรงผนวชนั้นจริง จึงเป็นเหตุให้ได้คุ้นเคยสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว…”
เรื่องข้างต้นนี้คล้ายกับเป็นเหตุปัจจัยที่นำมาสู่เรื่องเล่าต่อมาว่า หม่อมเจ้าทินกรนิยมศึกษาวิชาโหราศาสตร์ รอบรู้เรื่องตำราหมอดู ครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าทินกรพยากรณ์ขับดวงพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่
หม่อมเจ้าทินกร พยากรณ์ว่า “จะไม่มีบุญญาภินิหารอันใดได้ด้วยพระชันษาจะสั้น” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ แต่ไม่ได้ทรงถือโทษ
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องหม่อมเจ้าทินกรให้มีเกียรติยศพิเศษกว่าหม่อมเจ้าสามัญ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานบัญชีเกณฑ์โถยาคู เมื่อ พ.ศ. 2397 ทำให้ตีความได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 มาจนถึงรัชกาลที่ 4 หม่อมเจ้าทินกรมีเกียรติยศเป็นหม่อมเจ้าพิเศษกว่าหม่อมเจ้าสามัญ และในรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3 ชั่ง
หม่อมเจ้าทินกร สิ้นชีพตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2404 ในการปลงศพหม่อมเจ้า (สมัย) นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกว่า ไม่มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิง มีแค่เจ้าพนักงานแต่งศิลาหน้าเพลิงเข้าไปตั้งถวายในพระราชมณเฑียรสำหรับทรงจุดเพลิงพระราชทานไปเผาศพ แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรฉลากหน้าเพลิง ก็ดำรัสรับสั่งให้เตรียมกระบวนเสด็จในวันนั้น
เมื่อประทับที่พลับพลา ทรงดำรัสเล่าถึงเรื่องหม่อมเจ้าทินกรพยากรณ์แก่เจ้านาย จึงได้ทราบเรื่องแพร่หลายกันในวันนั้น บันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายต่อว่า
“แล้วเสด็จเข้าเมรุทรงวางธูปเทียนและเครื่องขมาด้วยพระหัตถ์ พระราชทานเพลิงแล้วตรัสว่า ‘เจ้าทินกร แกตายก่อนข้านะ’ ครั้นพระราชทานเพลิงแล้ว จึงตรัสแก่บรรดาหม่อมราชวงศ์ซึ่งเป็นบุตรและธิดาของหม่อมเจ้าทินกร ซึ่งเฝ้าฯ อยู่ที่เมรุว่า ถ้าใครจะสมัครรับราชการจะทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยงทุกคน ด้วยเหตุนี้บุตรธิดาหม่อมเจ้าทินกรจึงได้เข้ามารับราชการหลายคน คือ หม่อมราชวงศ์สำเนียง เสนีวงศ์ ณ กรุงเทพ บิดาหลวงวิชิตชาญศึก (ม.ล. ปลื้ม) และพระยาสากลกิจประมวญ (ม.ล. แปลก) นี้เป็นต้น…”
ธิดาองค์หนึ่งของหม่อมเจ้าทินกร คือหม่อมราชวงศ์หญิง ถนอม น้องร่วมมารดากับหม่อมราชวงศ์พนม บิดาพระยอดเมืองขวาง เข้าไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นพนักงานเครื่องพระสำอาง ต่อมาเป็นพนักงานพระศรี และพนักงานเครื่องนมัสการ รับราชการมาจนถึงรัชกาลที่ 6 และกราบถวายบังคมลามารักษาตัวที่บ้านพระยาสากลกิจประมวญ เมื่อ พ.ศ. 2459 เนื่องจากอายุมากแล้ว และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2460 ขณะอายุ 74 ปี รวมแล้วรับราชการสนองพระเดชพระคุณ 3 รัชกาล ยาวนาน 56 ปี
ในสมัยรัชกาลที่ 9 ยังมีพลโท ทักษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา รับราชการทหารเป็นเจ้ากรมข่าวทหาร ระหว่างพ.ศ. 2491-93 พลเอก ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการ ในรอบ พ.ศ. 2518-2519
อ่านเพิ่มเติม :
- ก่อนจะใช้“ณ อยุธยา”เคยมี“ณ กรุงเทพฯ”เป็นสร้อยนามสกุลเจ้านาย
- เจ้านาย-ภริยาขุนนาง ผู้ “แช่ง” รัชกาลที่ 4-5 กับวลี “นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมประสงค์ ทรัพย์พาลี. 101 จุลจักรี 101 ปี จุลจอมเกล้า.
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3. ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2562