ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2532 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
ค้นตัวตน พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ – พระศรีธรรมราชมาดา “เจ้าแม่” แห่ง “สุโขทัย”
ในการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย หากมีการศึกษาในรายละเอียดลึกลงไป จะพบหลักฐานเกี่ยวกับสตรี ผู้มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานบ้านเมืองเคียงคู่กับบุรุษชาวสุโขทัยเสมอ
นับตั้งแต่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเวลาการสร้างปรากฏชื่อของนางเสือง ผู้เป็นมารดาของพ่อขุนรามคำแหง
ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึง มหาเทวีผู้เป็นขนิษฐาของพระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ได้ครองเมืองสุโขทัยอยู่ 7 ปี ในขณะที่มหาธรรมราชาลิไท เสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว
หลังจากมหาธรรมราชาลิไทสิ้นพระชนม์ลงแล้ว สตรีดูจะเข้ามามีบทบาทเคียงคู่อยู่กับบุรุษให้เห็นมากขึ้นทุกที
ดังเช่น ในศิลาจารึกวัอโศการาม และศิลาจารึกวัดศรีพิจิตรากีรติกัลยาราม ได้ปรากฏนามของสตรีเรียกเป็นสองอย่าง คือ มหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ และ พระศรีธรรมราชมาดา
ชื่อทั้งสองดูจะขึ้นมาเคียงคู่อยู่กับพระมหาธรรมราชา ผู้เป็นสวามีหรือผู้เป็นโอรสอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ในกิจกรรมการบุญกุศลหรือบางครั้งก็ร่วมประกาศแสดงอำนาจยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครอีกด้วย
หรือถ้าหากเรื่องที่เล่ามีลักษณะเป็นตำนาน สตรีสุโขทัยที่สวามีสิ้นพระชนม์และมีโอรสที่เป็นหนุ่มแล้ว ก็ยังคงความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่หลงใหลของกษัตริย์อยุธยาตามเรื่องในนิทานพระพุทธสิหิงค์เป็นต้น
ความเป็นจริงเรื่องในนิทานพระพุทธสิหิงค์มีความน่าสนใจตรงที่ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของสุโขทัย กับกษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีสตรีเป็นสื่อกลางที่สำคัญอันอาจที่จะนำมาอธิบายถึงกระบวนการในการรวมดินแดนทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนได้เคยเสนอเป็นบทความไว้หลายเรื่องแล้ว
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี 2 ชิ้นที่สำคัญที่จะช่วยชี้บอกความสัมพันธ์ของราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์อื่น โดยมีสตรีเป็นตัวเชื่อมโยง
หลักฐานนั้นคือ พระพุทธรูป 2 องค์ที่มีจารึกที่ฐาน
จารึกนั้นมีข้อความว่า “เจ้าแม่” เป็นผู้สร้างเหมือนกันทั้ง 2 องค์
แต่พระพุทธรูปกลับสร้างขึ้นในศิลปกรรมที่ต่างกัน คือ แบบของทางภาคกลางองค์หนึ่ง และ แบบของทางภาคเหนือองค์หนึ่ง
ต่อไปนี้ จะเป็นการวิเคราะห์ทั้งแบบศิลปกรรมและความในจารึกเพื่ออธิบายถึงประวัติความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่สุโขทัยมีกับแคว้นอื่นๆ
เจ้าแม่วัดบูรพาราม
พระพุทธรูปองค์แรกที่เสนอคือ พระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทองสมัยหลัง (เป็นศิลปกรรมของอยุธยาตอนต้น) พบในวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่บนมีอักษรจารึกไว้ว่า
“ตนนี้ก่อเจ้าแม่เอินไว้ในบูรพาราม”
(ภาพจารึกและพระพุทธรูปองค์นี้ ได้เคยจัดพิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ จัดลำดับเป็นหลักที่ 130)
ความหมายของจารึกหลักนี้หมายความว่า พระพุทธองค์นี้ “เจ้าแม่” โปรดให้สร้างไว้ในวัดบูรพาราม
ขณะนี้ไม่ทราบว่าวัดบูรพาราม คือวัดใดในเมืองเก่าสุโขทัย แต่ปรากฏชื่อของวัดนี้ในจารึกวัดอโศการาม ซึ่งสำนักนายกได้จัดพิมพ์ไว้ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 จัดลำดับไว้เป็นจารึกหลักที่ 93
วัดนี้ เป็นวัดที่พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้เป็นชายาของพระมหาธรรมราชาองค์หนึ่งทรงโปรดให้สร้างขึ้น
ในศิลาจารึกวัดบูรพาราม ซึ่งเป็นศิลาจารึกที่พบใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ทรงโปรดให้สถาปนาพระมหาธาตุขึ้นไว้ในวัดบูรพาราม เมื่อ พ.ศ. 1955
จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนขอประมวลสรุปในประเด็นสำคัญไว้ก่อน ดังนี้ คือ
เจ้าแม่ผู้สร้างพระพุทธรูองค์นี้ คือ พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในศิลปกรรมปแบบอู่ทองสมัยหลัง (คือแบบศิลปกรรมของอยุธยาตอนต้น)
ประมาณเวลาการสร้างพระพุทธรูปให้แคบเข้าตามหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก คือ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1955 ลงมา
เจ้าแม่ศรีมหามาตา
พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่จะเสนอในที่นี้ คือ พระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย แต่มีองค์ประกอบขององค์พระทำในรูปแบบพระพุทธรูปของล้านนา คือนั่งขัดสมาธิเพชร มีชายสังฆาฏิสั้น มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ซึ่งองค์ประกอบเช่นนี้ คือรูปแบบพระพุทธรูปแบบสิงห์ที่นิยมทำกันในล้านนานั่นเอง
คำอ่านจารึกและภาพถ่ายของพระพุทธรูปองค์นี้ เคยตีพิพม์ในหนังสือพุทธนุสรณ์ (พ.ศ. 2500) ซึ่งศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ เป็นผู้นำเสนอไว้ในหนังสือดังกล่าว
ปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้เก็บรักษาอยู่ที่กุฏิคณะ 15 วัดพระเชตุพนฯ ได้นำคำอ่านจารึกดังกล่าว ลงพิมพ์ในหนังสือปกิณกบรรณ์ (พ.ศ. 2531) คำอ่านจารึกที่ฐานพระองค์นี้มีดังนี้
“พระเจ้าแม่ศรีมหาตาขอปรารถนาเป็นผู้ชายชั่วหน้า จูงข้าได้เป็นศิษย์คนพระศรีอารย์โพธิสัตว์เจ้า แต่ทานข้าทั้งผอง แห่งพระอาเจ้าอยู่หัวทั้งสองกับแม่พระพิลกแม่ศรีให้เป็นข้าถือจังหันพระเจ้าสิ้นเบี้ย 44500”
ในที่นี้ จะขอจับข้อความสำคัญในจารึกที่ฐานพระเพื่อแสดงความหมายในส่วนที่จะนำมาวิเคราะห์คือ
“เจ้าแม่ศรีมหาตา” เป็นคำเรียกรวบรัดแบบพื้นบ้าน คำเต็มของคำเรียกเจ้าแม่องค์นี้ เมื่อเทียบกับชื่อเรียกที่เป็นทางการในศิลาจารึกหลักอื่นๆ นั้นควรเป็น พระ (เจ้าแม่) ศรีธรรมราชมาดา
ผู้ที่ร่วมทำบุญโดยการถวายข้าทาสไว้สำหรับหุงหาอาหารให้พระสงฆ์นั้น ผู้หนึ่งคือ แม่พระพิลก
พระพิลก คือ พระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. 1985-2031 พระองค์คือคู่ศึกสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในการช่วงชิงดินแดนที่เคยเป็นแคว้นสุโขทัย
แม่พระพิลกสิ้นพระชนม์ตามที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารโยนก เมื่อประมาณ พ.ศ. 1994 ดังนั้นการบุญการกุศลระหว่างเจ้าแม่ศรีมหาตา และแม่พระพิลกครั้งนี้ จึงทำขึ้นก่อน พ.ศ. 1994 แต่ไม่ก่อน พ.ศ. 1952 ซึ่งเป็นปีเกิดของพระเจ้าติโลกราช
ศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ในหนังสือพุทธานุสรณ์หน้า 119 ว่า
“…ขอให้สังเกตระบบวิธีการวางท่า ครองผ้า การให้ขนาดเม็ดพระสก และพระเกตุนั้นเป็นของเชียงแสน ส่วนทรวดทรง และอารมณ์การแสดงออกเป็นของสุโขทัย พระพักตร์มีลักษณะร่วมของสุโขทัยและเชียงแสน…”
“เชียงแสน” ของศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ ในที่นี้มีความหมายเช่นเดียวกับ “ล้านนา” ที่ผู้เขียนกล่าวผ่านมาแล้วนั่นเอง
สำหรับในตอนนี้ผู้เขียนขอสรุปไว้ก่อนอีกตอนหนึ่งว่า พระพุทธรูปที่เจ้าแม่ศรีมหาตาให้สร้างขึ้นองค์นี้ ทำขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1952-1994
เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยที่มีการนำรูปแบบของล้านนามาผสมผสาน
การผสมผสานทางศิลปกรรมชิ้นนี้มีความสอดคล้องกับหลักฐานจารึกที่ฐานพระ เกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรกันระหว่างแคว้นล้านนาและสุโขทัย โดยมีสตรีซึ่งเป็นชนชั้นสูงของทั้งสองแคว้นเป็นตัวเชื่อม คือ เจ้าแม่ศรีมหาตา กับแม่พระพิลก หรือพระศรีธรรมราชมาดากับพระชนนีของพระเจ้าติโลกราช
ลำดับชั้นอาวุโส อยุธยา-เชียงใหม่-สุโขทัย
จากหลักฐานจารึกที่ฐานพระเจ้าแม่ศรีมหาตาซึ่งควรจะอยู่ในๆ ลำดับชั้นเดียวกับแม่พระพิลก พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่า เจ้าแม่ศรีมหาตาหรือพระศรีธรรมราชมาดาผู้นี้ อยู่ในลำดับชั้นใดของวงศ์สุโขทัย ดังตาราง
ในการเปรียบเทียบจะเปรียบเทียบจากลำดับชั้นที่ 4 ขึ้นไป คือ
พระเจ้าติโลกราช ประสูติ พ.ศ. 1952 ส่วนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประสูติ พ.ศ. 1974 ดังนั้น พระเจ้าติโลกราชจึงมีพระชนมายุแก่กว่า 22 ปี (เป็นพ่อลูกกันได้) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อเป็นอุปราชครองเมืองสองแควหรือพิษณุโลกมีพระญาติสนิทเชื้อสายสุโขทัย คือ พระยุธิษฐิระ เป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกัน (คือลำดับชั้นเดียวกันจัดเป็นลำดับชั้นที่ 4)
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วได้ขัดใจกับพระยุธิษฐิระ พระยุธิษฐิระจึงเข้าถวายตัวกับพระเจ้าติโลกราช ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชทรงตรัสเรียกพระยุธิษฐิระว่า “ลูก”
พระเจ้าติโลกราชจึงอยู่ในลำดับชั้นที่ 3 คือลำดับชั้นเดียวกับพระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งก็คือ เจ้าสามพระยา
ดังนั้น แม่พระพิลก กับเจ้าแม่ศรีมหาตา จึงอยู่ในลำดับชั้นที่ 2 คือชั้นเดียวกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จเจ้าสามพระยา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า สมเด็จพระนครินทราชาธิราชอยู่ในลำดับชั้นที่ 2 ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพ่องั่ว (ไม่ว่าสมเด็จพระนครินทราชาธิราช จะเป็นโอรสหรือโอรสของน้องพี่พ่อของพ่องั่วก็ตาม)
และเป็นที่ทราบกันแล้วว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันกับพระมหาธรรมราชาลิไทในลำดับชั้นที่ 1
เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าแม่ศรีมหาตา หรือพระศรีธรรมราชมาดาผู้นี้ จึงอยู่ในลำดับชั้นที่สอง ซึ่งเป็นชั้นลูกของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ และพระศรีธรรมราชมาดา ในศิลาจารึกวัดอโศการาม
ศิลาจารึกวัดอโศการาม ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 จัดลำดับเป็นหลักที่ 93 มีทั้งภาษาไทยและบาลี ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อสายของพระมหาธรรมราชาลิไทได้พอสมควร ดังสาระสำคัญที่จะยกมาดังนี้
พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ เป็นชายาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ผู้เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชาลิไท กับพระศรีธรรมราชมาดา
จากจารึกวัดอโศการามนี้ มีสตรีที่ได้รับการยกขึ้นเป็นพระศรีธรรมราชมาดา ทั้งนี้ เนื่องจากโอรสของพระนางได้ขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัย เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระมหาธรรมราชาธิราชผู้โอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทนี้ ได้ครองเมืองสุโขทัย แต่มิได้โดยทันที หลังจากมหาธรรมราชาลิไทสวรรคต เพราะช่วงนั้นยังมีเหตุการณ์วุ่นๆ อยู่ในสุโขทัย
จารึกวัดอโศการามได้กล่าวต่อไปอีกว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ได้สร้างวัดอโศการามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1942 แสดงว่าจารึกหลักนี้ทำขึ้นไม่ก่อน พ.ศ. 1942
ตอนท้ายของจารึกได้กล่าวถึงการอุทิศส่วนกุศลของพระมหาเทวีฯ ให้แก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้สวามี และพระศรีธรรมราชมาดา
แต่จากการอ่านศิลาจารึกวัดบูรพาราม ซึ่งได้พบใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532 มีกล่าวว่า พระมหาธรรมราชาธิราช ผู้นี้สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1951 ดังนั้น ศิลาจารึกวัดอโศการามจะจารึกขึ้นก่อน พ.ศ. 1951 ไม่ได้
จะขอสรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากศิลาจารึกวัดอโศการาม ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวถึงนี้ว่า
ศิลาจารึกวัดอโศการาม ซึ่งจารึกเมื่อ พ.ศ. 1951 ลงมา ได้กล่าวถึงสตรีผู้อยู่ในลำดับชั้นลูกของพระมหาธรรมราชาลิไท คือพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ และในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวถึงสตรีที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันกับพระมหาธรรมราชาลิไทว่า พระศรีธรรมราชมาดา ผู้ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว (พระศรีธรรมราชมาดาพระองค์นี้ คือชายาของพระมหาธรรมราชาลิไท)
ศรีธรรมราชมาดา มีอีกองค์หนึ่ง
ศิลาจารึกหลักที่ 45 ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 เป็นจารึกที่กษัตริย์สุโขทัยองค์หนึ่งทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันกับเจ้าเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. 1935
ปรากฏว่า เจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์นี้อยู่ในลำดับชั้นหลานของพระมหาธรรมราชาลิไท นั่นคือ อยู่ในลำดับชั้นที่ 3 ของตารางที่ 1 ที่กล่าวแล้ว
ดังนั้น สมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ ในศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนังหรือวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม (หลักที่ 46 ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3) ซึ่งมีเนื้อเรื่องในจารึกระหว่าง พ.ศ. 1943-1947 นั้น ควรเป็นคนลำดับชั้นเดียวกันหรือคนเดียวกันกับกษัตริย์ผู้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับเจ้าเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. 1935 ด้วย
เมื่อเป็นธรรมราชาครองเมืองสุโขทัย มารดาของพระองค์จึงเป็นพระศรีธรรมราชมาดา ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนังด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระศรีธรรมราชมาดาในศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนัง จึงเป็นคนในลำดับชั้นที่ 2 หรือ ลำดับชั้นลูกของพระมหาธรรมราชาลิไท
เป็นคนละคนกับพระศรีธรรมราชมาดาในศิลาจารึกวัดอโศการาม
แต่อยู่ในลำดับชั้น หรือเป็นคนๆ เดียวกันกับพระศรีธรรมราชมาดาผู้สร้างพระพุทธรูป “เจ้าแม่ศรีมหามาตา” นั่นเอง
และอีกเช่นกันที่ พระศรีธรรมราชมาดา หรือเจ้าแม่ศรีมหาตาพระองค์นี้ อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันกับพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้สร้างวัดอโศการาม วัดบูรพาราม พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลังที่มีจารึก รวมทั้งวัดทักษิณาราม วัดลังการาม ฯลฯ ที่ประกาศไว้ในศิลาจารึกวัดอโศการาม
มีข้อสังเกตว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ได้ประกาศรายชื่อวัดต่างๆ ที่พระนางทรงสร้างในศิลาจารึกวัดอโศการาม ซึ่งจารึกหลัง พ.ศ. 1951 ลงมา แต่ไม่เอ่ยถึงชื่อวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยารามอยู่ด้วย
พระนางคงไม่ได้สร้างวัดนี้
ดังนั้น พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ก็ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกันกับพระศรีธรรมราชมาดา หรือเจ้าแม่ศรีมหาตา ผู้สร้างวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม
แม้ว่า ในศิลาจารึกวัดอโศการาม พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ จะประกาศว่าพระนางมีโอรสที่มีอำนาจพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “พระธรรมราชาธิราช” ก็ตาม ก็ไม่เคยเรียกชื่อพระนางว่า พระศรีธรรมราชมาดา เลย
สรุป
หลังจากที่พระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตแล้ว สภาวะบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ค่อนข้างสับสน (ลิไทสวรรคต พ.ศ. 1913-1914)
จากหลักฐานศิลาจารึกในบทความนี้ แสดงให้เห็นถึงการมี “ธรรมราชา” ซึ่งเป็นโอรสและนัดดาของพระมหาธรรมราชาลิไท ครองเมืองสุโขทัยต่อมาเช่นกัน แต่การขึ้นครองเมืองมิได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยทันทีหลังจากที่พระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตแล้ว
ในลำดับชั้นลูกพระมหาธรรมราชาลิไท มีธรรมราชาพระองค์หนึ่งได้ครองเมืองสุโขทัยอยู่ระยะหนึ่ง ธรรมราชาผู้ลูก นี้สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1951
แต่ในช่วงที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น กลับมี ธรรมราชาในชั้นหลาน ของพระมหาธรรมราชาลิไท ได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ในเมืองสุโขทัยด้วย
ธรรมราชาในชั้นหลานที่เข้ามามีอำนาจนี้ ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 45 เมื่อ พ.ศ. 1935 ในศิลาจารึกหลักที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 1943-1947 และหลักที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 1949
การพิจารณาจากฝ่ายชายอาจให้ภาพไม่ชัดเจนนัก เกี่ยวกับการเข้ามามีอำนาจซ้อนกันอยู่ระหว่าง ธรรมราชาในชั้นลูก และธรรมราชาในชั้นหลาน
แต่เมื่อพิจารณาจากทางฝ่ายสตรี จะพบว่า ในลำดับชั้นลูกของพระมหาธรรมราชาลิไทนั้น มีสตรีที่ได้รับยศสูงอยู่สองพระนาง
พระนางหนึ่ง คือ พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้เป็นลูกสะใภ้ของพระมหาธรรมราชาลิไท พระนางมีโอรสนามว่า ธรรมราชา อยู่ด้วยพระองค์หนึ่ง แต่พระนางมิได้รับการขนานนามว่า พระศรีธรรมราชมาดา
เหตุที่มิได้เป็นพระศรีธรรมราชมาดา ทั้งๆ ที่มีโอรสเป็นธรรมราชานั้น น่าจะเป็นว่าธรรมราชาโอรสของพระนางได้เป็นใหญ่ในสมัยหลัง ในขณะที่ร่วมสมัยของพระนางมีพระศรีธรรมราชมาดาอยู่พระนางหนึ่งแล้ว
พระศรีธรรมราชมาดาในชั้นลูกของพระมหาธรรมราชาลิไท ยังไม่พบหลักฐานว่าพระสวามีของพระนางจะเป็นธรรมราชาผู้ได้ครองเมืองสุโขทัย และเป็นสวามีพระองค์เดียวกันกับของพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์หรือไม่
แต่โอรสของพระนาง ก็ได้เป็นธรรมราชาครองเมืองสุโขทัย แทรกคั่นอยู่กับมหาธรรมราชาผู้ลูกของพระมหาธรรมราชาลิไท ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 1951
ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงได้เป็นพระศรีธรรมราชมาดา
มาถึงตอนนี้ รูปแบบของพระพุทธรูปสององค์ที่ยกขึ้นมากล่าวแต่ต้น จะสามารถอธิบายได้ถึงอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง พระศรีธรรมราชมาดา และพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ที่ผลักดันให้โอรสของพระนางทั้งสองได้เข้ามีอำนาจเหนือสุโขทัย
พระศรีธรรมราชมาดา ผู้สร้าง “เจ้าแม่ศรีมหาตา” พระพุทธรูปสุโขทัย-ล้านนา น่าจะมีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากกับพระชนนีของพระเจ้าติโลกราช
พระชนนีของพระเจ้าติโลกราชเป็นพี่ของหมื่นโลกนครเจ้าเมืองลำปาง ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าติโลกราชในการครองเมืองเชียงใหม่ระยะแรกๆ
ไม่อาจทราบแน่ว่า พระศรีธรรมราชมาดาผู้เป็นสะใภ้ของสุโขทัยนั้นจะเป็นชาวเมืองลำปางหรือไม่
แต่ความเป็นเครือญาติน่าจะมีอยู่ สังเกตจากการที่มหาธรรมราชาโอรสของพระนาง ได้เคยทำศิลาจารึกเป็นพันธมิตรกับเจ้าเมืองน่านเมื่อ พ.ศ. 1935
และภายหลังเมื่อพระเจ้าติโลกราชคิดที่จะรวมเอาเมืองน่านเข้าไว้ในเขตแคว้นล้านนา พระองค์ได้ส่งพระชนนีของพระองค์คุมกองทัพไปยังเมืองน่านด้วย
แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างเมืองน่าน พระศรีธรรมราชมาดา และพระชนนีของพระเจ้าติโลกราชในทางใดทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังปรากฏคำเรียก “ปู่พระยา” ในศิลาจารึกวัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย (หลักที่ 9 ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1) ว่า ได้มาร่วมประชุมพร้อมกับพระศรีธรรมราชมาดาและพระมหาธรรมราชาผู้หลาน (หลานพระมหาธรรมราชาลิไท) เมื่อ พ.ศ. 1949
ปู่พระยาผู้นี้น่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของพระศรีธรรมราชมาดาผู้เป็นเจ้าเมืองๆ หนึ่งในล้านนาก็ได้
และนี่ควรเป็นช่องทางหนึ่ง ที่อำนาจของล้านนาได้แทรกซึมเข้ามาในแคว้นสุโขทัย อันน่าจะมีอิทธิพลในการเป็นข้อต่อรองที่ทำให้เชื้อสายของพระศรีธรรมราชมาดาขึ้นมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้สร้าง “เจ้าแม่วัดบูรพาราม” พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง (ศิลปะของอยุธยาตอนต้น) นั้นควรจะมีความเกี่ยวข้องอยู่กับกรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์สุพรรณบุรี) เป็นอย่างมาก
ตำแหน่งศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งปรากฏอยู่ในทำเนียบนามของกรุงศรีอยุธยา เป็นตำแหน่งชายาหนึ่งในสี่ของกษัตริย์อยุธยา (ตอนนั้นตำแหน่งมเหสียังไม่มี) นั้นอาจมองโลกกลับกันก็ได้ว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์สะใภ้ของสุโขทัยนั้นมาจากกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ดูจากศิลปะของพระพุทธรูปที่พระนางทรงสร้าง ว่าเป็นฝีมือช่างอยุธยา พระนางคงนำช่างมาอยู่ในสำนักของพระนางด้วย
ในสำนักของพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ สมบูรณ์ไปด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิต ดังปรากฏชื่ออยู่ในจารึกวัดอโศการามหลายคน
ผู้รู้เหล่านี้คือมันสมองของสำนักนี้ ซึ่งในตอนแรกๆ จะยังคงไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก จนกระทั่งเมื่อกรุงศรีอยุธยาพ้นสภาวะยุ่งยาก โดยราชวงศ์สุพรรณบุรีเข้ามีอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด เมื่อ พ.ศ. 1952
ในปีนี้ สมเด็จพระนครินทราชาธิราชยึดกรุงศรีอยุธยาได้จากสมเด็จพระรามราชาธิราช สายสัมพันธ์ของสำนักพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ จึงเชื่อมตรงกับราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา และได้กลายเป็นอำนาจต่อรองที่ให้ธรรมราชาโอรสของพระนาง ได้ขึ้นมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัย
และธรรมราชาผู้นี้ก็น่าจะเป็น ออกญาธรรมราชา ตามคำเรียกของนายอินทสรศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 1955 ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 49 (ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3) ก็ได้ เพราะในจารึกหลักนี้ก็มีข้อความที่ให้ภาพการคุ้นเคยปรองดองระหว่างราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยากับสุโขทัยเป็นอย่างดี
กล่าวโดยสรุป การที่กรุงศรีอยุธยาสามารถผนวกดินแดนสุโขทัยเข้าไว้ในที่สุดนั้น ในขั้นตอนหนึ่งเป็นการแข่งขันในราชสำนักของสุโขทัยเอง ที่จะผลักดันสุโขทัยให้หันเหไปทางใด
สภาวะครอบงำของล้านนาและกรุงศรีอยุธยาที่มีต่อแคว้นสุโขทัย สามารถมองผ่านให้เห็นได้จากบทบาทของสตรีผู้มีศักดิ์ของสุโขทัยทั้งสองพระนาง
และพระพุทธรูปสององค์นี้ ก็เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นโดยตรงถึงสภาวะครอบงำดังกล่าว
อ่านเพิ่มเติม :
- “ขัตติยนารี” ในพม่า พระนางเมงเกงสอ มีส่วนปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงอย่างไร?
- พบหลักฐาน “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์”ไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจาก “สุพรรณภูมิ”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เจ้าแม่สุโขทัย” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2532
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2565