“ขัตติยนารี” ในพม่า พระนางเมงเกงสอ มีส่วนปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงอย่างไร?

พระสุริโยทัย ชนช้างกับพระเจ้าแปร พระนางเมงเกงสอ
พระสุริโยทัย ชนช้างกับพระเจ้าแปร (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

พระนางเมงเกงสอ “ขัตติยนารี” ในพม่า มีส่วนปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงอย่างไร?

บทบาทของขัตติยนารีที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่มีเพียงแต่ขัตติยนารีแห่งราชอาณาจักรสยามเท่านั้น ในพงศาวดารมอญ และพม่าก็มีระบุถึงขัตติยนารีที่น่าสนใจหลายพระองค์

ข้อเขียนเรื่อง “ขัตติยนารีแห่งราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งปรับปรุงมาจากงานวิจัยในหนังสือ “พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์” ของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เอ่ยถึงขัตติยนารีแห่งพุกามประเทศไว้ด้วย

ข้อเขียนที่จะได้อ่านต่อไปนี้คัดมาจากบทความ “ขัตติยนารีแห่งราชอาณาจักรสยาม” ของดร.สุเนตร ที่เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้


 

…หลักฐานในพงศาวดารมอญ (rajawan) และพงศาวดารพม่าฉบับสําคัญ อาทิ ฉบับอูกาลา และฉบับยาสะเวงเต๊ะ (Mahayazawinthet) ตลอดรวมถึงตํานานวังธาตุมอญว่าด้วยตํานานพระเจดีย์ย่างกุ้ง ต่างระบุถึงขัตติยนารีมอญนางหนึ่งซึ่งมีพระนามเป็นที่แพร่หลายว่า เชงสอบู (Shin Saw Bu) ผู้ได้ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงหงสาวดี (พ.ศ. 1996-2003)

พระนางไม่เพียงเป็นสตรีนางแรกและนางเดียวในประวัติศาสตร์รามัญประเทศที่ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ยังมีพระประวัติอันพิสดารซับซ้อนจากการที่ทรงเป็นพระราชธิดาพระเจ้าราชาธิราช (Razadarit, พ.ศ. 1928-1966) และได้ถูกพระอนุชาพระยา ราน (Binnyaran, พ.ศ. 1969-1989) ส่งขึ้นไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะช้างเผือกสีหตุ (Thihathu, พ.ศ. 1965-1969) เป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือให้พระองค์ได้ขึ้นเสวยราชย์ที่พะโค หรือกรุงหงสาวดี

ขณะนั้นพระนางมีพระชนมายุ 29 ชันษา มีพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์

พงศาวดารพม่ายังระบุต่อไปว่า พระเจ้ากรุงอังวะทรงหลงใหลรูปสมบัติและคุณสมบัติของพระนางเชงสอบูเป็นที่ยิ่งถึงกับอภิเษกขึ้นเป็นหนึ่งในมเหสี เป็นเหตุให้พระมเหสีพระองค์หนึ่งคือ พระนางเชงโบเม (Shin Bo mai) ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับทางไทยใหญ่ ไม่พอพระทัยด้วยแรงริษยา

พระนางเชงโบเม – พระนางเชงสอบู

ในชั้นนี้ หลักฐานในพงศาวดารพม่าได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของขัตติยนารีแห่งราชสํานักอังวะที่น่าสนใจ กล่าวคือ มเหสีเชงโบเมได้ลักลอบติดต่อกับเจ้าฟ้าโองปอง (Onbaung หรือสีปอ/Hsipaw) ให้นํากําลังเข้ายึดกรุงอังวะ จนเป็นเหตุให้พระเจ้ากรุงอังวะเสียทีถึงสิ้นพระชนม์ในสมรภูมิ ต่อมาภายหลังพระโอรสของพระเจ้ากรุงอังวะในพระบรมโกศ (Thihathu) นามเมงละเง (Minhla-nge) ซึ่งมีพระชนม์เพียง 9 พรรษา ได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่ภายหลังก็ได้ถูกพระนางเชงโบเมลอบวางยาพิษสิ้นพระชนม์ หลังจากครองราชย์ได้เพียง 3 เดือน พระนางยังได้มีบทบาทต่อเนื่องโดยเป็นผู้ชักนําให้พระญาติ (Kalekyetaungnyo/กเลเจตองเย) ขึ้นครองราชบัลลังก์อังวะ (พ.ศ. 1969-1970)

กระนั้น กษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ก็ถูกขับไล่ออกจากราชบัลลังก์หลังจากที่ครองราชย์ได้เพียงไม่กี่เดือน พระนางเชงโบเมจําต้องหนีออกจากพระนคร กษัตริย์อังวะองค์ต่อมาคือตะโดโมเยง (Thado Mohnyin, พ.ศ. 1969-1982) จากเมืองโมเยง (กษัตริย์ผู้นี้เป็นผู้ขับไล่พระญาติของพระนางเซงโบเมออกจากราชบัลลังก์อังวะ) ยังคงฐานะพระนางเชงสอบูไว้ในที่มเหสีตามเดิม ทั้งสร้างพระตำหนักให้ประทับอย่างสมพระเกียรติ มีพระภิกษุ 2 รูป ซึ่งหนึ่งในจํานวนนั้นคือธรรมธร หรือธรรมเจดีย์ (หลักฐานไทยในพงศาวดารรามัญราชาธิราช ระบุนามว่าพระมหาปิฎกธร) ได้ลอบนําพระนางเชงสอบูกลับคืนสู่กรุง ต่อมาภายหลังเมื่อมิเหลือเชื้อสายพระเจ้าราชาธิราชที่เป็นชายสืบสกุล พระนางก็ได้ขึ้นเสวยราชย์ (พ.ศ. 1996)

ความสําคัญของพระนางเชงสอบูในหน้าประวัติศาสตร์ มิได้เพียงเป็นด้วยเหตุที่พระนางทรงเป็นสตรีคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์มอญ-พม่าที่ได้ขึ้นเสวยราชย์เทียบที่พระมหากษัตริย์ แต่พระนางยังได้รับยกย่องทั้งจากข้างมอญและพม่าว่า ทรงเป็นผู้ปกครองที่กษัตริย์รุ่นหลังควรยึดเป็นแบบอย่าง ด้วยพระนางเป็นที่เคารพยกย่องของเหล่าอาณาประชาราษฏร์ เป็นผู้อุทิศตนทํานุบํารุงพระศาสนา ถึงกับถวายทองคําเท่าน้ำหนักของพระนางให้ทําเป็นทองหุ้มองค์เจดีย์ชเวดากองเป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะผู้แต่งพงศาวดารพม่าได้ใช้พระนางเป็นทั้งต้นแบบและตัวแทนส่งผ่านหลักการปกครองแก่กษัตริย์ เป็นทำนองคำสอนผ่านบทสนทนาที่พระนางมีกับพระเจ้านรสีหบดีเป็นอาทิ

พระนางเชงสอบูหา ได้เพียงเป็นขัตติยนารีพระองค์แรกและพระองค์เดียว ที่มีบทบาทโดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์มอญ-พม่าเท่านั้น พงศาวดาร ตำนาน และบันทึกต่างชาติยังระบุถึงขัตติยนารีอีกหลายพระองค์ที่มีบทบาทสร้างความพลิกผันทางการเมือง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระมเหสีพระเจ้าตองอู เมงเยสีหตู (Minye thihathu) พระนามเมงเกงสอ (Min Khin Saw)

พระนางเมงเกงสอ

พระนางเมงเกงสอนี้ เป็นพระราชธิดาพระเจ้าบุเรงนองอันเกิดแต่พระมเหสีรอง คือพระนางจันทาเทวี (Canda Devi) พระนางเมงเกสอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์พม่าที่คนไทยเชื่อว่าเป็นผู้สังหารพระสุพรรณกัลยา พระนางเมงเกงสอจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการปลงพระชนม์ดังกล่าว มีปรากฏหลักฐานระบุไว้ในพงศาวดารพม่าฉบับสำคัญ อาทิ มานนานมหายาสะเวง (พงศาวดารฉบับหอแก้ว)

เรื่องการลอบปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงนั้น มีเหตุสืบเนื่องจากการที่พระองค์ถูกพระอนุชาซึ่งเป็นกษัตริย์ตองอู นําพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์อพยพจากกรุงหงสาวดีขึ้นไปยังเมืองตองอู โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการหลบลี้จากกองทัพสมเด็จพระนเรศวรที่ยกเข้ามาตีกรุงหงสาวดีครั้งหลังสุด คือในปี พ.ศ. 2142 ภายหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงนําทัพติดตามขึ้นไปตีถึงตองอูจนขาดเสบียงและได้ถอยกลับไปแล้ว พงศาวดารพม่าระบุว่า

“นัดเชงนอง (พระราชโอรสพระเจ้าตองอูอันเกิดแต่พระนางเมงเกงสอ) ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดา แล้วกราบทูลว่า ถ้าจะโปรดให้พระเจ้าหงสาวดีประทับอยู่เป็นการช้านานจะเสียการเปล่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าควรจะตัดศึกเสียแต่เนิ่น (นั่นคือให้ปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงเสีย-ผู้ เขียน)

ข้างพระเจ้าตองอูจึงตรัสห้ามว่า เรานั้นเห็นแก่การภายในพระราชอาณาจักร เราจึงกระทําการเทครัวหงสาวดี หาใช่กระทําการนั้นด้วยใจอาฆาตแค้น เรายังให้ความนับถือพระเชษฐา (พระเจ้านันทบุเรง) ดังพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ฤาดั่งพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่ง นับแต่วันนี้ไปเบื้องหน้าอย่านําความนี้ขึ้นกล่าวอีก ข้างนัดเชงนองก็มิกล้านําความขึ้นกราบทูลอีกต่อไป

หากแต่ภายหลังได้ลอบนําความเดียวกันนี้เข้าปรึกษาพระราชมารดาผู้เป็นพระมเหสี (ซึ่งก็คือพระนางเมงเกงสอ) จากนั้นจึงอาจหาญลอบมิให้พระราชบิดาทรงล่วงรู้เข้าไปปลงพระชนม์ (พระเจ้านันทบุเรง) ในค่ำคืนหนึ่ง ขณะเสด็จข้ามไปยังพระตําหนักพระมเหสีแห่งพระองค์ พระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์ลง ณ วันแรมสิบค่ำ เดือนสิบสอง นับศักราชได้เก้า ร้อยหกสิบสอง (พ.ศ. 2143)”

การหยิบยกบทบาทขัตติยนารีข้างวัฒนธรรมมอญ-พม่า อันได้แก่กรณีพระนางเชงสอบู พระนางเชงโบเม และพระนางเมงเกงสอ ขึ้นนําเสนอนั้น จุดมุ่งหมายสําคัญก็เพื่อยืนยันให้เห็นว่า บทบาทอันโดดเด่นของขัตติยนารีในหน้าประวัติศาสตร์นั้น หาได้มีปรากฏแต่ในกรณีราชสํานักอยุธยาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่ แท้จริงเป็นปรากฏการณ์ที่ข้ามเชื้อชาติ และวัฒนธรรม สามารถนําขึ้นศึกษาเทียบเคียง ขยายขอบข่ายความรับรู้และเข้าใจในกรอบประวัติศาสตร์ภูมิภาคได้

กระนั้น ในชั้นนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะพิสูจน์สอบความ ถูกต้องของเหตุการณ์ที่มีระบุในหลักฐานประเภทต่างๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ผู้เขียนเพียงประสงค์จะตั้งข้อสังเกตว่า การที่เรื่องราวของเหล่าขัตติยนารีได้ถูกจดจําและถ่ายทอดสืบมานั้น ยืนยันในข้อเท็จจริงสําคัญประการหนึ่ง คือ ประชาคมในชุมชนวัฒนธรรม หรือบ้านเมืองที่หยิบยกขึ้นมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นอยุธยาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือมอญ-พม่า แห่งลุ่มน้ำอิรวดีนั้น ต่างรับรู้และยอมรับบทบาทอันโดดเด่นของเหล่าขัตติยนารีในราชสํานักโดยปราศจากข้อกังขา

อาการดังกล่าวนี้บ่งชี้ว่า ความโดดเด่นในบทบาทของเหล่าขัตติยนารีต้องมีมากพอ และสืบเนื่องจนเป็นเหตุให้ประชาคมทั้งผู้ดี ไพร่ ประจักษ์รับรู้ จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามที จนเกิดกลายเป็นเรื่องโจษขานจดจําสืบมา ดังปรากฏเป็นเรื่องราวพิสดารในหลักฐานประเภทคําให้การ และบันทึกของชาวต่างประเทศ ที่ผู้บันทึกเก็บรวบรวมจากปากคําของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ จนบางครั้งยากจะแยกแยะว่าเรื่องอันใดจริง และเรื่องใดถูกแต่งเสริมเติมต่อ

เรื่องราวของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระสุริโยทัย พระมหาบรมดิลก พระสุวัฒน์ ตลอดรวมถึงพระสุพรรณกัลยา ล้วนเป็นกรณีที่สามารถหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างเทียบเคียงได้ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561