ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เอกสารพม่าอ้าง “มหาบรมดิลก” คือผู้สละพระชนม์ทรงช้างสู้กษัตริย์พม่า ไม่ใช่พระสุริโยทัย
เรื่องราวของ “พระสุริโยทัย” เป็นวีรกรรมที่คนไทยปัจจุบันรู้จักกันดี ทั้งจากแบบเรียนและสื่อบันเทิงว่าพระองค์คือวีรสตรีผู้เป็นอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งในการศึกกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่า “สมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น” แต่หากอ้างอิงจากเอกสารพม่ากลับกล่าวไว้ว่า “มหาบรมดิลก” คือผู้ทรงช้างแทน
นี่คือหลักฐานจากพงศาวดารที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ขณะที่ “โยธยา ยาสะเวง” หรือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” เอกสารพม่าที่เรียบเรียงขึ้นจากปากคำของเชลยศึกชาวอยุธยา ได้ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป โดยระบุให้ “มหาบรมดิลก” พระราชธิดาของพระมหาจักรวรรดิ (ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับพระมหาจักรพรรดิ) เป็นผู้ออกรบกับกษัตริย์พม่าแทนพระราชบิดาที่ประชวร โดยพระราชมารดาของพระองค์มิได้ออกรบด้วย ดังความกล่าวว่า [จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ]
“ครั้งนั้นพระมหาจักรวรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงประชวรหนัก ขณะที่กรุงทวารวดีทั้งสิ้นเกิดการโกลาหลอลหม่าน กษัตริย์อยุธยากับพระมเหสีปรึกษากันอยู่ (แลว่า) พระโอรสเราก็ยังเยาว์พระชันษา พระธิดาก็มีพระชนม์เพียง ๑๓ ขวบปี มหาบรมดิลกจึงกราบทูลว่า (พระบิดา) ทรงมีนัดหมายสำคัญกับกษัตริย์พม่า
แต่กลับมาทรงประชวรเสีย หากจะยั้งอยู่มิทรงพระคชาธารออกไปก็จะเสียการ และจะต้องตกเป็นเชลย ข้าผู้พระธิดาจะยอมสละชีวิตออกทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แม้ต้องตายไปตามวิบากกรรมก็ได้ชื่อว่าได้ทดแทนพระคุณ ย่อมเข้าสู่สุคติภพ หากถูกเขาเอาชัยไปโดย (เรา) มิได้ออกสัประยุทธ์ ก็จะ (พากัน) ตายโดยไร้เกียรติในบัดดล
กษัตริย์อยุธยาตรัสห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการนี้มิใช่ธุระของเจ้าเหล่าอิสตรี แต่ครั้นพระธิดากราบทูลซ้ำเป็นหลายคำรบจึงทรงอนุญาต ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระราชธิดาก็ทรงเครื่องทหารของเหล่าขุนทหาร แล้วเสร็จเข้าถวายบังคมลาพระราชบิดา พระราชมารดา
ข้างพระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทรงอำนวยพรว่า (เจ้า) เป็นพระธิดาผู้ทำประโยชน์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ สัตว์ทั้งหลาย แลบิดรมารดา ขอให้จงมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขอให้เจริญด้วยอายุขัย ขอให้มีชัยเหนือกษัตริย์หงสาวดี แลเหล่าข้าศึกที่กรีธาทัพมาในครั้งนี้ด้วยเทอญ
ครั้นแล้วพระธิดาก็ทรงช้างบรมฉัททันต์ซึ่งเมาด้วยฤทธิ์สุราอยู่ ทรงออกขอ (ช้างทรง) แวดล้อมด้วยฝูงไพร่พล เสด็จออกไปยังทุ่งมโนรมย์ ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตกทุ่งเสมอกัน ก็เอาผ้าหน้าร่าห์บังตาช้างทรงไว้ ครั้นได้เพลาก็ชักผ้าออก แลทำยุทธหัตถีแก่กัน ด้วย (พระบรมดิลก) ทรงเป็นอิสตรี จึงมิอาจบังคับช้างได้
ช้างที่ทรงอยู่ก็เบนท้าย กษัตริย์หงสาวดีก็ฟาดเอาด้วยขอ พระบรมดิลกก็ตกจากช้างทรง เสียงร้องปรากฏเป็นเสียงอิสตรี พระเจ้าช้างเผือกมหาธรรมราชาจึงทรงรวมพลเสด็จกลับคืนสู่หงสาวดี ด้วยละอายพระทัย เกรงเหล่ากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าจะลือว่าต่อรบด้วยอิสตรี นับเป็นชัยอันควรอัปยศ”
เรื่องราวดังกล่าวถือว่าน่าสนใจ (ส่วนความน่าเชื่อถือของหลักฐานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะแม้ว่าเอกสารจากฝ่ายพม่าจะให้รายละเอียดต่างออกไปจากเรื่องเล่ากระแสหลักที่เรารับรู้กัน แต่เรื่องเล่าทั้งสองกระแสต่างก็ยืนยันถึงวีรกรรมของขัตติยนารีของฝ่ายอยุธยาในการรบครั้งนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เจดีย์ศรีสุริโยทัย อนุสาวรีย์ของเจ้านายสตรีที่ถูกลืม
- สงครามเมืองเชียงกราน ไม่ใช่กรุงศรีอยุธยารบกับพม่า เปิดหลักฐานคู่รบที่น่าจะเป็น
- “ขัตติยนารี” ในพม่า พระนางเมงเกงสอ มีส่วนปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุเนตร ชุตินธรานนท์. “ขัตติยนารี แห่งราชอาณาจักรสยาม, ใน” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม, 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2563