เจดีย์ศรีสุริโยทัย อนุสาวรีย์ของเจ้านายสตรีที่ถูกลืม

ภาพประกอบเนื้อหา - พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร และสิ้นพระชนม์บนคอช้าง (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

ตลอดเวลา 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะ  เจ้านาย แม่ทัพ นายหน้ากอง ขุนทหารที่สร้างชื่อฝากผลงานมีจำนวนนับไม่ถ้วน ในจำนวนนั้นมี “สมเด็จพระสุริโยทัย” สตรีเพียงหนึ่งเดียวที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกพระนามว่ามีบทบาทในการศึก

วีรกรรมในครั้งนั้นมีการบันทึกและเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร, แบบเรียน, ภาพยนตร์ ฯลฯ จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

หาก “อนุสรณ์” ของพระสุริโยทัยกลับถูกลืม ถึง 3 ครั้ง 3 คราวด้วย

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “เจดีย์ศรีสุริโยทัย อนุสาวรีย์ที่ถูกลืม” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2534) ว่า

เมื่อกองทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปลงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย ณ สวนหลวงนั้น และสถาปนาบริเวณที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัดชื่อว่า วัดสบสวรรค์

เจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ด้วยเหตุนี้วัดสบสวรรค์จึงมีความหมายถึงการเป็นอนุสรณ์สถาน ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้อุทิศให้แก่สมเด็จพระสุริโยทัย อันเป็นลักษณะการสร้างอนุสาวรีย์ตามคติแบบไทย ซึ่งถือเอาวัดทั้งวัดที่ย่อมประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร เจดีย์ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในวัด เป็นอนุสรณ์สถาน ต่างจากการสร้างอนุสาวรีย์ในปัจจุบัน ที่นิยมสร้างเป็นรูปสัญลักษณ์หรือรูปเคารพอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็น สิ่งก่อสร้างโดดๆ โดยมิได้เกี่ยวข้อง กับวัดเหมือนเช่นแต่ก่อน

บริเวณสวนหลวงนี้ ต่อมาภายหลังเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงสละราชสมบัติให้แก่ สมเด็จพระมหินทราธิราช พระ ราชโอรส พระองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ ที่นี้ คงมีพระราชประสงค์ที่จะดํารงพระชนมชีพในบั้นปลายอย่างสงบกับดวงวิญญาณที่จงรักภักดีของพระมเหสีสุดที่รักของพระองค์

นอกจากจะเป็นที่ตั้งของวัดสบสวรรค์และเป็นเสมือนพระตําหนักที่อยู่นอกเขตพระบรมมหาราชวังแล้ว ในสมัยหลังต่อมาอีกคือ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 23 ปรากฎแผนที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ทําขึ้น ได้ระบุตําแหน่งหนึ่งในบริเวณสวนหลวง ว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในขณะที่ยังทรงเยาว์วัย

ในแผนที่ดังกล่าวนอกจากจะระบุตําแหน่งที่ประทับดังกล่าวแล้ว ยังระบุตําแหน่งขององค์พระเจดีย์ ซึ่งน่าจะตรงกับตําแหน่งเจดีย์ของวัดสบสวรรค์ด้วย

บริเวณแห่งนี้จึงมีความสําคัญมากบริเวณหนึ่งภายในพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น ในสมัยตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ได้มีการสร้างวังหลังในบริเวณสวนหลวงนี้ สําหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายผู้มีอิสริยยศสูงเทียมเท่าพระมหาอุปราชวังหน้า แต่คงเนื่องจากตําแหน่งวังหน้า มีพระมหาอุปราชครองอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เพิ่มตําแหน่งเจ้านายวังหลัง ขึ้นอีกตําแหน่งหนึ่งตามคําอธิบาย ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ

ถูกลืมครั้งแรก

เมื่อเป็นเช่นนี้บริเวณสวนหลวง จึงเป็นบริเวณสําคัญอันเป็นที่รวมของการก่อสร้างหลายอย่างลงในที่ใกล้เคียงกัน และเป็นบริเวณที่รวมของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลาย เรื่องบนบริเวณแห่งเดียวกันด้วย

ประวัติของวัดสบสวรรค์แม้จะได้รับการบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ใน ช่วงเวลาที่ห่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 200 ปี แต่ก็ได้รับ การบรรยายไว้อย่างละเอียดพิสดาร ทั้งนี้ เนื่องจากเอกสารประเภทพระ ราชพงศาวดารเป็นเอกสารที่ผลิต ขึ้นโดยราชสํานักอย่างเป็นทางการ

มีเอกสารอีกประเภทหนึ่งที่ตกทอดมาจากสมัยอยุธยาคือ “พงศาวดารเหนือ” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวที่เป็นตํานานปรัมปราของบ้านเมือง ลักษณะเป็นเรื่องที่เล่าต่อสืบทอดกันมา แล้วจึงมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในสมัยหลัง ได้มีการเล่าประวัติของวัดสบสวรรค์ในลักษณะที่เป็นอนุสรณ์สถานเหมือนกัน แต่มิใช่เป็นอนุสรณ์สถานของสมเด็จพระสุริโยทัย โดยเล่าว่าเป็นสถานที่ที่พระยาโคตระบองเหาะมาจากแดนลาวมาสิ้นพระชนม์ที่ตรงนั้น และพระยาแกรกกษัตริย์อยุธยาองค์แรกๆ ตามตํานานปรัมปรา ได้จัดการถวายพระเพลิงและสถาปนาที่ ตรงนั้นเป็นวัดสบสวรรค์

การที่พงศาวดารเหนือเล่าเรื่อง เช่นนี้ น่าจะเป็นได้ว่า เรื่องในพงศาวดารเหนือเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างกระท่อนกระแท่น โดยกลุ่มบุคคลที่อาจอยู่ห่างจากราชสํานัก ในสมัยหลังต่อมา เมื่อเหตุการณ์ที่แท้จริงถูกลืมเลือนไปจึงนําเรื่องของท้าวโคตระบองกับพระยาแกรก ซึ่งเป็นปรัมปราคติที่รู้กันมา มาสวมเข้ากับสถานที่คือวัดสบสวรรค์ เพื่ออธิบายประวัติความเป็นมาของสถาน

บางที ที่แห่งไหนที่มีเรื่องมากๆ ก็อาจจะถูกลืมกันได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน

ถูกลืมครั้งที่สอง

หลังจาก พ.ศ. 2310 ที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าครั้งที่ 2 กรุงศรีอยุธยาต้องถูกทําลายลงอย่างย่อยยับ ผู้คนต้องแตก ฉานซ่านเซ็นไปตามที่ต่างๆ กรุงศรีอยุธยาจึงถูกทอดทิ้งร้างไปอย่างปราศจากการเอาใจใส่ เวลาผ่านพ้นไปจากสมัยกรุงธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขณะนั้นเป็นตอนปลายแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องราววีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยอาจจะยังคงรับรู้กันอยู่จากการศึกษาหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแพร่หลายอยู่ในวงแคบ แต่สถานที่คือวัดสบสวรรค์อันเป็นอนุสาวรีย์ของพระองค์ย่อมไม่มีผู้ใดรู้หรือเฉลียวใจว่าจะอยู่ที่ใดแน่

ดังนั้น เมื่อมีการตั้งกรมทหารมณฑลกรุงเก่าเมื่อปี พ.ศ. 2449 จึงได้เลือกสถานที่ภายในกําแพงเมืองด้านทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสถานที่ทําการก่อสร้าง

จนกระทั่งอีกสองปีให้หลังเมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประกอบพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระยาโบราณราชธานินทร์ ผู้ซึ่งรับราชการอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาเป็นเวลานาน ได้ศึกษาจากเอกสารโบราณเกี่ยวกับภูมิสถานที่ภายในพระนครศรีอยุธยา และได้เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ตั้งสําคัญในกรุงศรีอยุธยาขึ้นทูลเกล้าฯถวายในหนังสือชื่อ “อธิบาย แผนที่พระนครศรีอยุธยา”

ในเอกสารของพระยาโบราณราชธานินทร์ฉบับนี้ระบุว่า กรมทหารที่สร้างใหม่นั้นตั้งตรงบริเวณที่ เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และ วัดสบสวรรค์ นั่นเอง

แผนผังพระนครศรีอยุธยา ซึ่งโธมัส วัลเนอิรา ชาวฝรั่งเศส สํารวจเมื่อ พ.ศ. 2230 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก.ควรเป็นตำแหน่งของพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยในปัจจุบัน ข.สถานที่(ฝรั่งลงว่าเป็นเจดีย์) ที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้รับการเลี้ยงดูขณะที่ทรงพระเยาว์ (วังหลัง) .วัดไชยวัฒนาราม สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ถูกลืมครั้งที่สาม

หนังสืออธิบายแผนที่พระนคร ศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ฉบับนี้ คงจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร เพราะขณะนั้น ซากโบราณสถานต่างๆ คงจะถูกรื้อถอนทําลายลงตามลําดับตามความจําเป็นในการก่อสร้างตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2455 อันเป็นปีที่ 3 ใน รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “…เหล่าเสนาข้า ทูลละอองธุลีพระบาทราชบริพาร…” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระบรมราชานุญาตแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัย และจารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ไว้ด้วยกัน ดังจะได้คัดข้อความมาลงไว้ต่อไปนี้

“ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนา ยุกาลเปนอดีตกาลล่วงแล้วได้ 2455 พรรษา เป็นปีที่ 131 แห่งกรุงอมรรัตนโกสินทรมหินทราโยทยา และปีที่ 3 ในรัชพรรษกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านภิภพ ณ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทราโยทยา เป็นบรมราชาธิราชแห่งสยามรัฐ ประเทศเขตรขันธสีมา

ข้าพระพุทธเจ้าเหล่าเสนาข้าทูลละอองธุลี พระบาทราชบริพาร พยุหทวยหาญทั่วหน้าพร้อมกันน้อมจิตรรฤกถึงพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระสุริโยทัยเทวี ผู้เป็นพระอรรคมเหษี ในสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมมหา จักรพรรดิราชาธิราช ผู้ผ่านภิภพ ณกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

นางพระยาพระองค์นี้กอปรด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาคุณ อันประเสริฐ ดังมีพยานปรากฏอยู่คือ เมื่อพระศาสนายุกาลล่วงแล้วได้ 2086 พรรษา จุลศักราช 905 ปีเถาะ เบญจศก พระเจ้าหงษาวดีได้ยกพยุหแสนยากรเข้ามาเหยียบแดน พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เสด็จกรีธาทัพออกต่อสู้ราชสัตรู อันสามารถ

สมเด็จพระสุริโยทัยเทวีได้ทรงพระอุสาหโดยเสด็จในงาน พระราชสงคราม ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงต่อสู้ด้วยพระเจ้าแปร จะเสียท่วงที่ พระอรรคมเหษีทรงพระกตัญูภาพ ก็ขับพระคชาธารออกรับแลต่อสู้กับศัตรู สู้สละพระชนมชีพแห่งพระองค์เองแทนพระราชสามี จึงควรนับว่าพระองค์เป็นอัจฉริยนารี นางกษัตริย์ แท้จริง เป็นมิ่งเมืองกระเดื่องพระเกียรติยศปรากฏไปในทิศานุทิศพระคุณของพระองค์ควรฝังอยู่ในดวง จิตรแห่งชนชาติไทยฯ

ข้าพระพุทธเจ้าจึงพร้อมจิตร จัดการสฐาปนาอนุสาวรีย์นี้ขึ้นไว้โดย พระบรมราชานุมัติแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ที่วัดสบสวรรค์อันกล่าวไว้ในพระราชพงษาวดารเป็นที่ปลงพระศพ และบรรจุพระอังคารแห่งสมเด็จพระสุริโยทัย เพื่ออนุสาวรีย์นี้จะได้เป็นเครื่องปลุกใจชนชาวสยาม ให้มีความนิยมในความกล้าหาญ ในความกตัญญูรู้คุณท่าน และใน ความกตเวทีสนองคุณท่าน แม้แต่ชีวิตรก็อาจยอมสละถวายเป็นราชพลี แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อป้องกันรักษาพระองค์ รักษาชาติ แลพระบวรพุทธศาสนา ให้ถาวรอยู่ในแว่นแคว้นแดนไทยนี้ ขออนุสาวรีย์จงยืนยงคงอยู่ ชั่วกัล ปาวสาน”

อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2455 ในรัชกาลที่ 6

เป็นที่แน่นอนว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นองค์อนุสาวรีย์ยังยืนยงคงอยู่มา จนบัดนี้

ต่อมาภายหลัง เมื่อเวลาใดเวลาหนึ่ง ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสา ชาวอยุธยาสองท่าน ผู้ไปเสียชีวิตในประเทศฝรั่งเศส และเยอรมัน คราวสงครามโลกครั้งที่ 1 อนุสาวรีย์ของผู้กล้าหาญทั้งสองท่านนี้ ทําเป็นเสามียอดเป็นดอก บัวตูม ตั้งอยู่สองข้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยองค์นี้ในบริเวณเดียวกัน

จะเป็นด้วยเพราะอักษรที่เขียนข้อความบนอนุสาวรีย์มีความยาวมาก และค่อนข้างจะลบเลือน รวมทั้งมีการนําผ้าสีเหลืองสีแดงมาผูกรอบองค์อนุสาวรีย์ มีการปิดทอง ปิดบังตัวหนังสือไปเป็นบางส่วน เลยทําให้ไม่มีการสนใจที่จะอ่านตัวหนังสือให้รู้ใจความ อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยจึงค่อยๆ เลือนไป กลายเป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสา ไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้

พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย

ห่างจากอนุสาวรีย์นี้ไปทางงทิศใต้ประมาณ 80 เมตร มีเจดีย์ขนาดใหญ่องค์หนึ่งปรากฏอยู่คงเป็นเจดีย์สำคัญของวัดสบสวรรค์ที่เหลืออยู่ จากการรื้อทำลายเมื่อสร้างกรมทหาร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพได้ทรงกล่าวไว้ในคำอธิบายประกอบพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์หลังจากเวลาการสร้างกรมทหาร เมื่อ พ.ศ. 2449 เป็นเวลา 8 ปีกว่า “…พระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย ยังปรากฏอยู่ในเขตทหารที่กรุงเก่า จนปัจจุบันนี้”

ความสำคัญของพระเจดีย์องค์เดียวที่เหลือของวัดสบสวรรค์นี้คงเป็นที่ถกเถียงกันมากในเวลานั้น แม้ว่า สมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงเชื่อว่าเป็นเจดีย์สำคัญที่บรรจุอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย แต่ก็คงมีท่านผู้ใหญ่บางท่านไม่ลงความเห็นเช่นนั้น

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2472 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินทร์จึง ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่สอง เนื่องในงานพระเมรุท้องสนามหลวง พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏฯ

ในหนังสือที่จัดพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ในหน้าของภาพถ่ายพระเจดีย์ ระหว่างหน้า 70-71 มีคําบรรยาย ใต้ภาพว่า “พระเจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้เรียกว่า พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย” ตั้งแต่นั้นหรือก่อนหน้า พ.ศ.2472 แล้ว ที่พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยจึงเป็นคําเรียกชื่อพระเจดีย์ที่เหลือ อยู่องค์เดียวขององค์ประกอบทั้งหมดของวัดสบสวรรค์ อนุสาวรีย์ ของสมเด็จพระสุริโยทัย

เมื่อพิจารณาถึงลําดับเหตุการณ์เกี่ยวกับพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยตั้งแต่ครั้งสร้างกรมทหารเป็นต้นมา จะเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วเกี่ยวกับความสําคัญว่า จะเป็นที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จ พระสุริโยทัยหรือไม่

เมื่อพิจารณาตามเหตุผล ความเชื่อเช่นนี้ไม่มีหลักฐานสนับสนุน เพราะในขณะที่รื้อถอนซากวัดสบสวรรค์อยู่นั้น เป็นไปได้มากว่า มีพระเจดีย์อีกหลายองค์ของวัดสบสวรรค์จะต้องถูกรื้อทําลายไป และในบรรดาซากปรักหักพังที่ถูกรื้อถอน ออกไปนั้น อาจรวมเอาเจดีย์ที่บรรจุอัฐิหรือพระอังคารธาตุของสมเด็จพระสุริโยทัยไปด้วยก็ได้

ด้วยเหตุนี้ การที่พระยาโบราณราชธานินทร์ได้อ้างไว้ในหนังสือที่พิมพ์เป็นครั้งที่สองของท่าน ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “เจดีย์ศรีสุริโยทัย” จึงมีความหมายถึงการสถาปนาอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว ของอนุสรณ์สถานสมเด็จพระสุริโยทัยอันมีองค์ประกอบเป็นวัดสบสวรรค์ ทั้งวัด มิได้มีความหมายว่า จะต้องเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยหรือไม่

อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และเจดีย์ศรีสุริโยทัย (ที่เห็นเป็นสีทอง) ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

องค์เจดีย์ศรีสุริโยทัยได้รับการอนุรักษ์ไว้ภายในบริเวณแคบๆ ซึ่งภายหลังเนื้อที่โดยรอบถูกแบ่งให้เป็นที่ตั้งของโรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สภาพรกรุงรัง แต่ก็ยังเห็นแนวใบเสมาที่ปักเป็นเครื่องหมายโดยรอบองค์พระเจดีย์ ใบเสมาเหล่านี้เป็นใบเสมาเก่าที่คงจะได้มีการขนย้ายมาจากที่อื่นๆ ที่เคยเป็นของวัดสบสวรรค์

การนําใบเสมามาปักรายรอบพระเจดีย์จึงมีความหมายอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการมองเห็นความสําคัญของพระเจดีย์องค์นี้ และต้องการที่จะสงวนรักษาเอาไว้ในฐานะที่เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่เหลืออยู่ สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัย

ความสับสน

เคยมีข้อข้องใจอยู่บ้างเกี่ยว กับพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยว่า มิใช่ เป็นเจดีย์ที่สร้างมาแต่เดิมในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้รู้บางท่านอ้างคําบอกเล่าจาก ผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือได้ ผู้เคยมีชีวิตรับราชการอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เป็นพระเจดีย์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง

การอ้างคําบอกเล่าเช่นนี้มีนัยสําคัญเป็นอย่างมากเพราะเคยมีนักวิชาการทางศิลปะบางท่าน ได้ใช้พระเจดีย์องค์นี้เป็นแบบในการกําหนดอายุศิลปกรรมมาก่อน

ผู้เขียนเอง ได้เคยเชื่อตาม คําบอกเล่าเช่นนั้น

แต่ครั้งหนึ่ง เมื่อได้พินิจพิจารณาองค์พระเจดีย์อย่างใกล้ชิดจึงมีความเห็นว่า เจดีย์องค์นี้ บางส่วน ได้มีการซ่อมแซมใหม่โดยมีเค้าของเดิมอยู่บ้าง การซ่อมนี้อาจทําในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ จึงทําให้เกิดความไขว้เขวในการบอกเล่าหรือรับฟัง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทําให้การซ่อมนั้นเปลี่ยนมาเป็นการสร้างก็เป็นได้ ดังที่ผู้เขียนได้เคยเสนอมา แล้วในบทความเรื่อง “เจดีย์ศรีสุริ โยทัยสร้างสมัยไหน” (ในศิลปวัฒน ธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 พ.ศ.2523)

ในการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้ เมื่อ พ.ศ. 2533ได้พบหลักฐาน ที่ขจัดข้อสงสัยเกี่ยวกับพระเจดีย์องค์นี้ว่า มิใช่เป็นเจดีย์ใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างที่เคยมีการตั้งเป็นข้อสงสัย

การขุดค้นโดยรอบพระเจดีย์ ได้พบร่องรอยของอาคารที่อาจเป็นโบสถ์หรือวิหารที่ด้านหน้า มีกําแพงแก้วล้อมรอบองค์พระเจดีย์ การกะเทาะปูนเก่าออกเพื่อฉาบปูนใหม่ แสดงให้เห็นการก่ออิฐของเดิม อย่างน้อยก็ถึงส่วนบนขององค์เรือนธาตุ

ขณะนี้ อาจยังคงมีข้อสงสัยว่า รูปแบบที่ปรากฏแก่ตาในขณะนี้นั้น จะเป็นรูปแบบเดิมที่ก่อสร้าง ขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือเป็นรูปแบบที่ก่อสร้างเพิ่มเติม หรือซ่อมแซมในภายหลัง (ก่อนสมัยรัชกาลที่ 6)

จากหลักฐานที่พบดังกล่าว สามารถยืนยันได้ว่า เป็นพระเจดีย์ที่มีมาแล้วแต่เดิม ดังนั้น ในการบูรณะโดยการฉาบปูนใหม่ปิดทอง ครั้งนี้ (พ.ศ.2533-4) จึงทําตามร่องรอยของเดิมทุกประการ โดยเฉพาะแนวชั้นฐานสิงห์รองรับองค์เรือนธาตุ ได้รักษาปูนฉาบของเดิมไว้ ไม่กะเทาะออกเพื่อฉาบใหม่ เหมือนส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อรักษาหลักฐานไว้เพื่อศึกษากันต่อไป

หลักฐานที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การพบพระบรมสารีริกธาตุที่แกนฉัตรขององค์พระเจดีย์นั้นแสดงว่า พระเจดีย์องค์นี้เคยเป็นองค์ประกอบที่สําคัญในระดับสูงของวัดสบสวรรค์ อย่างแน่นอน

ประการสุดท้ายที่ใคร่ขอนํา เข้ามาอภิปรายในครั้งนี้ก็คือ การไขว้เขวในการบอกเล่าหรือรับฟัง เกี่ยวกับเวลาการก่อสร้างพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งนอกจากจะเป็น การสับสนในเหตุการณ์ว่าเป็นการซ่อมหรือการสร้างดังกล่าวแล้ว น่าจะได้พิจารณาตัวแปรอื่นๆ อีก คือ

1.ความสับสนเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ในสมัยรัชกาลที่ 6 (ซึ่งกลายเป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาไปแล้ว) มาเป็น สร้างเจดีย์ศรีสุริโยทัย เพราะเจดีย์ศรีสุริโยทัยในแนวคิดหนึ่งนั้นก็คืออนุสาวรีย์ศรีสุริโยทัยนั่นเอง

2.ความเห็นที่ไม่เชื่อว่าพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยจะเป็นที่บรรจุอัฐิ สมเด็จพระสุริโยทัย ตามความเชื่อของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรม พระยาดํารงราชานุภาพ อาจทําให้เกิดการแปลความในการรับฟัง เป็นพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยไม่เป็นเจดีย์ศรีสุริโยทัยองค์จริง (คือของจริงต้องเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิ) โดยไม่พยายามทําความเข้าใจให้ถ่องแท้ เสียก่อนว่า คําว่า “พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย” นั้น มีที่มาของคําเรียกอย่างไร


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 23 สิงหาคม 2562