ค้นหลักฐานชะตากรรมพระสุพรรณกัลยา “ขัตติยนารี” แห่งอยุธยา และเหตุสิ้นพระชนม์

ภาพวาด พระสุพรรณกัลยา วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ขัตติยนารี แห่ง กรุงศรีอยุธยา
ภาพวาดพระสุพรรณกัลยา ที่วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจินตนาการพระพักตร์จากพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เพราะไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงรูปโฉมของพระองค์อย่างชัดเจน (วาดโดย นายยศกมล สุวิชา) [ตกแต่งภาพกราฟิกเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

พระสุพรรณกัลยา ขัตติยนารี แห่ง กรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นเฉกเช่นขัตติยนารีอีกหลายพระองค์ที่ไม่เพียงไม่ปรากฏพระนาม และพระจริยวัตรในพระราชพงศาวดาร แต่กลับมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างชาติ และหลักฐานประเภทคำบอกเล่า

กล่าวได้ว่าฐานะและบทบาท “พระสุพรรณกัลยา” แตกต่างไปจาก ขัตติยนารี องค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระสุริโยทัย พระมหาดิลก พระสุวัฒน์ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และพระเทพกษัตรีย์ เนื่องด้วยพระองค์ถูกส่งไปยังต่างแดนในฐานะตัวประกันอย่างเป็นทางการ

ดังได้กล่าวเป็นสังเขปไว้บ้างแล้วในตอนต้นว่า พระสุพรรณกัลยาทรงมีฐานะเป็นขัตติยนารีที่สูงด้วยฐานันดรศักดิ์ จะเป็นรองก็แต่เพียงพระอัครมเหสี ด้วยฐานันดรศักดิ์อันสูงส่งกว่าผู้ใดนี้ น่าจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระองค์ไปเป็น “พระมเหสีเล็ก” หรือ โกโละดอ ตำแหน่งทั้งสองนี้ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตำแหน่งพระมเหสีระดับสูงของราชสำนักตองอูยุคต้น แต่ก็เป็นตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

ตำแหน่งโกโละดอ ปกติแล้วเป็นตำแหน่งที่ราชสำนักพม่าตั้งให้กับเหล่าราชธิดาของเจ้าฟ้า (sawbwas) ที่เป็นประเทศราช และธิดาอำมาตย์ทั้งหลาย [1] ผู้เป็นราชธิดาเจ้าฟ้าเมืองประเทศราช ทั้งนี้รวมถึงพระสุพรรณกัลยาด้วยนั้น จะมีฐานะ 2 ประการที่กษัตริย์พม่าต้องพึงสำเหนียก ฐานะหนึ่งนั้นคือ ฐานะในระบบการแบ่งชั้นมเหสีตามธรรมเนียมพม่า ซึ่งมิได้ทรงศักดิ์เท่าพระมเหสีใหญ่ แต่อีกฐานะหนึ่งซึ่งมิได้สูญหายไปด้วย คือ ฐานะแห่งความเป็นราชธิดา พระพี่นาง หรือพระประยูรญาติสำคัญของเหล่าเจ้าฟ้าประเทศราชที่ยอมตนสวามิภักดิ์

เห็นได้ว่าการระบุถึงเหล่ามีพะยาเง และโกโละดอทั้งหลายนั้น ผู้บันทึกพงศาวดารพม่าจะไม่ลืมที่จะกล่าวย้ำถึงฐานะประการหลังพร้อมกันไปด้วย อาทิ “อะเมี้ยวโยง พระพี่นางพระนริศกษัตริย์โยธยา” ฐานะประการหลังนี้สำคัญกว่าฐานะประการแรก เพราะเป็นสายใยสำคัญที่จะยึดเหนี่ยวทั้งความสัมพันธ์ และความจงรักภักดีของเหล่าเจ้าประเทศราชไว้ได้ หากเข้าใจความสำคัญในประเด็นนี้ก็จะเข้าใจความสำคัญของพระสุพรรณกัลยา และขัตติยนารีพระองค์อื่น อาทิ พระธิดาพระมหินทร์ และพระอินทรเทวี ผู้ถูกส่งไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง

แท้จริงการที่กษัตริย์พม่ายึดราชธิดากษัตริย์อยุธยาไว้เป็นองค์ประกัน พร้อมสร้างพันธะและอวยยศให้เป็นมเหสีเล็ก หรือบาทบริจาริกา มิได้เป็นประพฤติที่ผิดประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเอกราชและเจ้าประเทศราชอันใด กระนั้นฐานะของผู้ถูกนำไปเป็นองค์ประกันโดยเฉพาะฐานะประการหลังคือ การเป็นพระราชธิดา พระพี่นาง หรือพระประยูรญาติใกล้ชิดของกษัตริย์ มีความสำคัญที่ผูกติดกับความผันแปรทางการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก

บุคคลที่ถูกส่งไปเป็นองค์ประกัน จะเป็นบุคคลที่ถูกคัดเลือกให้สอดรับกับสภาพความผันแปรทางการเมือง เป็นเหตุให้ราชสำนักข้างอยุธยาต้องส่งพระราชธิดาให้พระเจ้าบุเรงนองต่างกรรมต่างวาระกันถึง 3 พระองค์ พระธิดาของพระมหินทร์ ถูกนำตัวไปเมื่อพระมหินทร์ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา (หลักฐานตามพงศาวดารพม่า) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระนางต้องเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคพระมหินทร์

แต่ภายหลังเมื่อพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ พระราชธิดาพระมหินทร์ผู้เป็นองค์ประกันก็มิได้มีความสำคัญอันใดอีก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลให้ราชสำนักอยุธยาต้องส่ง “พระสุพรรณกัลยา” ผู้เป็นราชธิดาผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอยุธยาขณะนั้นไปเป็นองค์ประกันใหม่ ความสำคัญของพระสุพรรณกัลยาจึงผูกติดเป็นเนื้อเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจารีตไทย-พม่านับแต่ พ.ศ. 2112 เป็นต้นไป อันนับเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในบริบทประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่า

ในแผ่นดินพม่าช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเริ่มต้องเผชิญกับปัญหากบฏภายใน อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของราชอาณาจักรที่เติบโตโดยฉับพลัน โดยปราศจากโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงรองรับ ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน อันเป็นผลจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนองใน พ.ศ. 2124 พระเจ้านันทบุเรงพระราชโอรสซึ่งขึ้นครองอำนาจสืบต่อมิได้มีพระบารมี และพระปรีชาสามารถเท่าพระราชบิดา เป็นเหตุให้เกิดสงครามภายใน และการท้าทายอำนาจจากเจ้าประเทศราช ทั้งนี้รวมถึงอยุธยาด้วย

ข้างอยุธยา ไม่เพียงเกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเช่นกัน แต่ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าตามมา คือ การสถาปนาฐานกำลังที่เป็นปึกแผ่นมั่นคงในราชอาณาจักร ที่กษัตริย์ต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจของขุนนางระดับสูงมาอย่างสืบเนื่อง นับแต่ช่วงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นอย่างช้า [2] การขึ้นสู่อำนาจของพระมหาธรรมราชาภายใต้การสนับสนุนของพม่า เปิดโอกาสให้ราชสำนักได้วางรากฐานอำนาจที่มั่นคงขึ้น ทั้งนี้ด้วยเจ้านาย และขุนนางผู้มีอำนาจและเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองถูกตัดรากถอนโคนไปจนแทบจะหมดสิ้น

ภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งมีพระมหินทร์เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย พระมหาธรรมราชากษัตริย์องค์ใหม่ก็สามารถแต่งตั้งคนของตนขึ้นเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น [3]

ถึงแม้โดยนัยหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ในระยะต้น จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากไพร่ฟ้าประชาชนได้ถูกพระเจ้าบุเรงนองกวาดต้อนไปเป็นจำนวนมาก แต่เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น พระองค์ก็ทรงสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับราชอาณาจักรได้ ทั้งนี้เห็นได้จากการที่ทรงสามารถป้องกันการรุกรานจากเขมรใน พ.ศ. 2113, 2118 และ 2121 และทรงปราบกบฏญาณพิเชียร ซึ่งเป็นกบฏใหญ่ใน พ.ศ. 2124 ลงได้สำเร็จ [4] หลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายืนยันว่าพระองค์มีทหารต่างชาติตะวันตกใช้ในราชการสงคราม เพราะทหารต่างชาติมีบทบาทในการปราบกบฏณาณพิเชียรด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ จังหวะเวลาที่ พระสุพรรณกัลยา ทรงเป็นองค์ประกันที่ราชสำนักหงสาวดีนั้น เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับที่อยุธยาสามารถฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง และเสริมสร้างความเข้มแข็ง จนภายหลังพร้อมที่จะท้าทายอำนาจหงสาวดีได้อย่างเปิดเผย

ในช่วงแห่งการปรับเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง มีพระสุพรรณกัลยาเพียงพระองค์เดียวที่เป็นผู้มีความสำคัญที่สุด ในฐานะเป็นสายใยเหนี่ยวรั้งความสัมพันธ์ และ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างราชสำนักหงสาวดีและอยุธยา นับแต่ พ.ศ. 2112-2113 ที่พระสุพรรณกัลยาได้ตกเป็นองค์ประกัน จนถึง พ.ศ. 2125 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงท้าทายอำนาจหงสาวดีอย่างเปิดเผย ก็คือช่วงที่อยุธยาได้ฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง และไพร่พลให้พร้อมประกาศตนเป็นอิสระจากเจ้าเอกราชพม่า และพร้อมจะเปิดศึกใหญ่ในทุกทิศทุกทางนั้นเอง

ไม่มีหลักฐานระบุว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใดขึ้นกับพระสุพรรณกัลยา ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนองใน พ.ศ. 2124 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่พระนเรศวรทรงประกาศพระองค์อย่างแน่ชัด ว่าไม่รักษาสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์ใหม่ผู้ขึ้นครองกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ด้วยการนำทัพจาก กรุงศรีอยุธยา จู่ตรงเข้าสู่ราชธานีพม่า แทนที่จะขึ้นไปช่วยการศึกพระเจ้านันทบุเรงที่กรุงอังวะใน พ.ศ. 2127 ตามบัญชากษัตริย์พม่า

ผลจากการประกาศตนแข็งข้อในครั้งนั้น เป็นเหตุให้เกิดศึกติดพันระหว่างราชสำนักหงสาวดี และราชสำนักอยุธยาอีกหลายครั้ง คือใน พ.ศ. 2127, 2129, 2129-2130, 2133 และ 2136 [5] ศึกครั้งที่สำคัญที่สุดคือศึกใน พ.ศ. 2129-2130 ซึ่งทั้งหลักฐานข้างอยุธยาและพม่าระบุต้องกันว่า เป็นศึกใหญ่ที่พระเจ้านันทบุเรงทรงเป็นจอมทัพนำกำลังยกมาเอง ไพร่พลที่ถูกเกณฑ์มารบในครั้งนั้นมีจำนวนถึง2 52,000 ช้าง 320 และม้า 12,000 ในพงศาวดารพม่ากองทัพอันยิ่งใหญ่นี้เคลื่อนออกจากกรุงหงสาวดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2129 [6]

ถึงแม้ว่าในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหาร ศึกนันทบุเรงใน พ.ศ. 2129-2130 จะเป็นศึกที่สำคัญที่สุด ด้วยข้างพม่าพยายามเตรียมขั้นตอนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถกรีธาทัพเข้ามาทางเส้นระแหงแขวงเมืองตาก อันเป็นเส้นที่พระเจ้าบุเรงนองกระทำการได้ชัย กรุงศรีอยุธยา ถึง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2106 และ พ.ศ. 2112)

แต่ศึกที่ถูกกล่าวถึงและให้ความหมายเป็นพิเศษตามข้อเท็จจริง ที่มีสะท้อนให้เห็นทั้งในหลักฐานข้างอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร หลักฐานประเภทคำให้การเชลยศึก หลักฐานพม่า และหลักฐานตะวันตก คือศึกคราวเสียพระมหาอุปราชา พ.ศ. 2136 [7]

สงครามครั้งนั้นไม่เพียงเป็นสงครามครั้งหลังสุดในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงที่ส่งทัพมารบกับอยุธยาเป็นหลายระยะนับแต่ พ.ศ. 2127 แต่ผลของสงครามยังนำมาซึ่งการล่มสลายของอาณาจักรตองอูยุคต้น ซึ่งมีต้นรากความเสื่อมปรากฏให้เห็นมาแล้ว นับแต่ช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง เหตุฉับพลัน (immediate cause) อันนำมาซึ่งการล่มสลายของหงสาวดี ในฐานะศูนย์กลางแห่งอำนาจของพระเจ้านันทบุเรง เป็นผลมาจากความโกรธแค้นและความหวาดระแวงชาวมอญ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ต้องทรงสูญเสียพระราชโอรสเจ้าวังหน้า หรือพระมหาอุปราชา ในสงครามที่ทรงกระทำกับพระนริศหรือพระนเรศวร

หลักฐานตะวันตก อาทิ “A Brief Account of the Kingdom of Pegu” ได้ระบุว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงระบายเพลิงพิโรธเอากับอาณาประชาราษฎร์มอญอย่างสาหัส ความในหลักฐานตอนหนึ่งระบุว่า

“ด้วยพระเจ้ากรุงพะโคนั้นเป็นเชื้อชาติพม่า จึงทรงเชื่อว่าเหล่าไพร่พลชาวพะโคนั้นชิงชังพระองค์ และเพียงเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งชีวิตของตนเป็นสำคัญ จึงยังมาซึ่งการสิ้นพระชนม์ของพระโอรสอันเป็นที่รักยิ่ง [พระมหาอุปราชา – ผู้เขียน] พระองค์ทรงรวบรวมข้าทหารเชื้อชาติพม่า ซึ่งพร้อมรบเต็มอัตรา และประชุมรวมไว้ภายในราชธานีพะโค ซึ่งพระองค์โปรดให้จัดแต่งป้อมค่ายประตูหอรบจนเกินพิกัด และระดมเสบียงอาหารเก็บรักษาไว้พอบริโภคเป็นหลายขวบปี

ครั้นจัดการงานแล้วเสร็จทรงมีบัญชามิให้ผู้ใดเพาะปลูกทำเกษตรกรรม ปล่อยให้ชีวิตต้องแขวนอยู่กับความตาย จากนั้นทรงสั่งให้ตัดไม้ผลลงจนสิ้นและซ้ำให้สังหารปศุสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย เพื่อมิให้ไพร่ฟ้า [ชาวรามัญ – ผู้เขียน] มีอันใดเหลือไว้เพื่อยังชีพ มิช้าความอดอยากยากแค้นก็กระจายไปทั่วผืนปฐพียิ่งกว่าครั้งที่เคยปรากฏในแดน Samaria หรือ Jerusalem เกินกว่าจะคาดคำนึง เมื่อไพร่ฟ้าต้องตกสู่ภาวะถึงที่สุดก็ตัดแม้ชิ้นเนื้อของผู้ยากไร้ที่สิ้นชีพแล้วออกจำหน่าย และในหม้อภาชนะผู้สิ้นเนื้อประดาตัวเหล่านั้นก็จะต้มไขสมองในกะโหลกของผู้วายชนม์ อาศัยกระดูกของผู้ตายเป็นเชื้อเพลิงต้ม และย่างเนื้อหนังมังสาที่มีติดกระดูกนั้น มารดาสังหารบุตร ธิดา ที่ป่วยเจ็บ เพื่อรักษาไว้ซึ่งบุตรในครรภ์

สภาพอันน่าสะพรึงกลัวและวิตถารเป็นที่สุด เห็นจะได้แก่การที่พระองค์มีบัญชาให้เผาผู้คนทั้งเป็น และเผาผลาญตำบล เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น ตลอดจนรวมถึงที่อยู่อาศัยของผู้คนผู้สามารถดิ้นรนหนีรอดจากกองเพลิง ก็จะถูกสังหารใต้คมดาบโดยมิพักต้องแยกแยะซึ่งเพศและวัย

สถานอันครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจก็ได้แปรสภาพเป็นที่สิงสู่ของเหล่าพยัคฆา และสิงสาราสัตว์ มิเหลือร่องรอยให้แลเห็นอันใด จะมีตกค้างก็แต่ซากไหม้อันน่าชัง และความเงียบงันบนแผ่นดิน เกินกว่าที่ความคิดคำนึงของมนุษย์ปุถุชนจะจินตนาการได้” [8]

ความล่มสลายของอาณาจักรพะโค หรือหงสาวดี ภายใต้เพลิงพิโรธของพระเจ้านันทบุเรง อันเป็นผลจากการสูญเสียพระมหาอุปราชาในครั้งนั้น มีระบุไว้ในหลักฐานร่วมสมัยของ Peter Floris (ค.ศ. 1611-1615) ด้วยเช่นกัน [9]

กล่าวได้ว่าพฤติกรรมที่พระเจ้าบุเรงนองกระทำต่อชาวมอญนั้น แท้จริงคือ “การลงทัณฑ์” เพื่อระบายความแค้นต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นต้นเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา หลักฐานดังกล่าวสอดรับกับหลักฐานที่มีปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ระบุตรงกันว่า “พระเจ้าหงสาวดี” มีบัญชาให้ลงโทษเหล่านายทัพที่ติดตามพระมหาอุปราชาออกไปรบศึกครั้งนั้นว่า พระเจ้าหงสา “จึงมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งกับนายเพชฌฆาตให้เอาเสนามอญเหล่านี้กับทั้งเจ็ดชั่วโคตรด้วยกันทั้งสิ้น ให้เอาไม้ลำทำตับเข้าแล้วให้ปิ้งเพลิงเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร แล้วให้ทำพลีกรรมเทวดา…” [10]

เหตุการณ์การประหาร “พระสุพรรณกัลยา” และ/หรือพระโอรส พระธิดาของพระนาง เป็นเรื่องที่ถูกระบุถึงในกรอบ หรือบรรยากาศการระบายเพลิงแค้น และการลงทัณฑ์ของพระเจ้านันทบุเรง ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรส ซึ่งหลักฐานในคำให้การขุนหลวงหาวัด และโยธยา ยาสะเวง ระบุผิดแผกกันในรายละเอียด

คำให้การชาวกรุงเก่า หรือโยธยา ยาสะเวงระบุว่า “พระเจ้าหงสาวดียังไม่คลายพิโรธจึงใช้พระแสงดาบฟันพระธิดาน้อย อันเกิดแต่จันทกัลยาพระพี่นางพระนริศ กับพระเจ้าหงสาวดีเองจนสิ้นพระชนม์” [11]

ในขณะที่คำให้การขุนหลวงหาวัด (ทั้ง 2 ฉบับ) ระบุว่า “ส่วนพระเจ้าหงสาก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐาน จึงเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ใน พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดา และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่ความพิราลัยไปด้วยกันทั้งสององค์ ด้วยพระเจ้าหงสาทรงพระโกรธยิ่งนักมิทันที่จะผันผ่อนได้” [12]

ข้อแตกต่างในรายละเอียดนี้เป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์พม่า อเตง ลาย รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เชื่อว่า พระสุพรรณกัลยา นั้นแท้จริงแล้วมิได้ถูกพระเจ้าหงสาวดี หรือนันทบุเรงสังหาร ผู้ที่ถูกสังหารเป็นเพียงพระธิดาน้อยอันเกิดแต่พระนางกับกษัตริย์พม่า (ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งพระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้านันทบุเรง) เนื่องจากหลักฐานว่าด้วยวาระสุดท้ายของพระพี่นางสุพรรณกัลยามีระบุไว้แต่เพียงในหลักฐานประเภทคำให้การเชลยศึก ซึ่งยังมีรายละเอียดระบุไว้ต่างกันไป ระหว่างฉบับที่มีต้นเค้ามาแต่ข้างมอญ และฉบับภาษาพม่า

จึงยากที่จะระบุให้แน่ชัดว่าพระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรนั้น แท้จริงแล้วสิ้นพระชนม์ด้วยลักษณาการและเหตุปัจจัยอันใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

[1] Yi Yi. see note no.77, p. 88.

[2] มีหลักฐานระบุถึงการสังหารขุนนางเป็นจำนวนมากในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2) พ.ศ. 2067, ดู “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ”, อ้างแล้วในเอกสารอ้างอิงที่ 18, น. 124.

[3] สุเนตร ชุตินธรานนท์. “กบฏไพร่สมัยอยุธยา,” ศิลปวัฒนธรรม 4 : 2 (2526) น. 11-14.

[4] เพิ่งอ้าง, น. 14.

[5] Sunait Chutintaranond. Cakravartin : The Ideology of Traditional Warfare in Siam and Burma, 1548-1605. Ph.D. Dissertation, Department of History, Cornell University (1990), pp. 304-305.

[6] “Intercourse between Burma and Siam as Recorded in Hmannan Yazawindawgyi,” JSS, Vol. 8 (Bangkok 1911, reprint, 1969), pp. 41-42.

[7] Ibid, pp. 49-51.

[8] “A Brief Account of the Kingdom of Pegu”, see note no. 82, pp. 110-111.

[9] W. H. Moreland, Peter Floris. His Voyage to the East Indies in the Globe 1611-1615. (London : The Hakluyt Society, 1934), p. 53.

[10] “คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด…”, อ้างแล้วในเอกสารอ้างอิงที่ 41, น. 309-310.

[11] Yodaya Yazawin (unpublished material)

[12] ดูเอกสารอ้างอิงที่ 41, น. 310 และเอกสารอ้างอิงที่ 76, น. 15.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2560