ผู้เขียน | พีรวิชญ์ เอี่ยมปรีดา |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังเสียกรุงพ.ศ. 2112 ฝ่ายอยุธยาได้รับผลกระทบอย่างมาก การฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมารุ่งเรืองได้ต้องอาศัยกำลังพลเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ พระนเรศวร ทรงรวบรวมกำลังพลจากไหน และเริ่มขึ้นเมื่อใด
สังคมอยุธยาตั้งแต่สถาปนาราชธานีเมื่อ พ.ศ. 1893 จนถึงก่อนเสียกรุง (ครั้งที่ 1) เมื่อ พ.ศ. 2112 นับว่าเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มคนทุกชนชั้นและหลากเชื้อชาติอาศัยอยู่ในอาณาจักร ชนทุกกลุ่มถูกจัดระเบียบและอยู่ภายใต้การปกครองแบบศักดินา ควบคุมด้วยกฎหมายที่มีแบบแผน
แต่ภายหลังการศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักรอยุธยาที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ กินเวลาอยู่นาน จึงทำให้กลุ่มชนในสังคมเกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการกวาดต้อนไปเป็นแรงงาน หรือเชลย อีกทั้งยังทำให้กลุ่มคนอันเป็นปัจจัยหลักของความมั่นคงในอาณาจักร แตกกระสานซ่านเซ็น และกระจัดกระจายไปตามแต่ละครอบครัว แต่ละขุมชน หรือแต่ละเมือง
ความสูญเสียของอยุธยาใน พ.ศ. 2112 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกำลังคนที่จำเป็นสำหรับฟื้นฟูบ้านเมือง แม้ว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาจะดำเนินการเกณฑ์ไพร่พลมาได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับฟื้นฟูบ้านเมือง เพราะเป็นการเกณฑ์จากไพร่พลที่ยังหลงเหลืออยู่ในราชธานี ในชุมชน หรือในปริมณฑลและหัวเมืองอื่นๆ เว้นแต่เมืองพิษณุโลกที่ขณะนั้นยังมิได้แต่งตั้งผู้ปกครอง และผู้ควบคุมหัวเมืองทางเหนือ
แต่ภายหลังจากที่พระนเรศวรฯ กลับมาจากการเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี ด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมของพระนเรศวรฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากเจ้าเมืองทางเหนือ ซึ่งส่วนมากเป็นพระสหายที่เคยร่วมการศึกสงครามกันมา และเป็นที่ยอมในฐานะเชื้อพระวงศ์สุโขทัยและเชื้อพระวงศ์สุพรรณภูมิ ทำให้พระมหาธรรมราชาทรงแต่งตั้งพระนเรศวรฯ เป็นผู้ปกครองเมืองพิษณุโลก เพื่อควบคุมและฟื้นฟูหัวเมืองเหนือทั้งปวง ใน พ.ศ. 2114
จากการศึกษาวิจัยของปุญญยวีร์ อัษฎางคพิพัฌ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยา : พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2114 – พ.ศ. 2153” พบว่าการรวบรวมกำลังจากแหล่งต่างๆ เริ่มขึ้นเมื่อพระนเรศวรฯ ครองเมืองพิษณุโลก โดยมีพระเอกาทศรถเป็นผู้ช่วย และพระมหาธรรมราชาเป็นผู้สนับสนุน พระราชกรณียกิจของพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถในการฟื้นฟูกำลังคนดำเนินเรื่อยมาระหว่างปี พ.ศ. 2114 – 2148 จนในที่สุด กำลังคนจึงมีเพียงพอต่อการฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยา โดยเป็นการรวบรวมไพร่พล จากแหล่งต่างๆ ประกอบด้วย
1.กำลังคนจากเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือ การรวบรวมกำลังคนทางตอนเหนือ เบื้องต้นมาจากพระสหายของพระนเรศวรฯ และบุตรหลานของเจ้าเมืองและขุนนางในเมืองพิษณุโลก และหัวเมืองทางเหนือ อาทิ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองพิจิตร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงขุนนาง ทหาร ไพร่พล และราษฏรที่กลับมาจากกรุงหงสาวดีพร้อมกับพระนเรศวรฯ โดยภายหลังจากพระนเรศวร ในวัยเยาว์ถูกเหยียดหยามข่มขู่จึงเสด็จพร้อมข้าราชบริพารเป็นขุนนางสยามราว 300 คนไปพิษณุโลก และรวบรวมเข้าเป็นกองกำลังของเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครคนรุ่นวัยเดียวกันอีกด้วย
2. กำลังคนที่อาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิม และที่หลบหนีอยู่ในป่า หลังจากมอบหมายให้พระนเรศวรฯ ปกครองเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว พระมหาธรรมราชายังคงฟื้นฟูกำลังคนในราชธานี โดยให้ขุนนางและเจ้าเมือง จัดเกณฑ์ไพร่จากกลุ่มคนที่มิได้ละทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัย และผู้ที่อพยพหลบหนีเมื่อเกิดสงครามแต่กลับเข้ามาอยู่อาศัยตามเดิมเมื่อสงครามสิ้นสุดด้วย
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ขุนนางที่ปกครองหัวเมืองทั้งหลายส่งทหารออกค้นหา คุ้มกันราษฏร หรือไพร่พลที่ยังหลบหนีสงครามอยู่ในป่า ให้นำมายังกรุงศรีอยุธยา
3. กำลังคนจากกลุ่มชนชาติต่างๆ ในช่วงที่พระนเรศวรทรงปกครองและประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก กลุ่มชนชาติ ประกอบด้วย ชาวไทยใหญ่ ชาวรามัญหรือมอญ ซึ่งอพยพมาจากการปกครองของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง และเข้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระนเรศวรฯ จึงทำให้กองทัพอยุธยา และกรุงศรีอยุธยา มีจำนวนคนเพิ่มขึ้น
4. กำลังคนที่ได้จากการเทครัว ระหว่างทางที่พระนเรศวรฯ นำทัพมาจากเมืองแครงเพื่อกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2127 นั้น ทรงได้เทครัวไพร่พลจากเมืองต่างๆ ตามรายทางที่เดินทัพผ่าน และจากหัวเมืองเหนือทั้งหมดมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการรับศึกกับพม่า
5. การกวาดต้อนจากศึกสงคราม ทุกครั้งที่มีการยกทัพออกไปทำศึกสงคราม พระนเรศวรฯ ทรงกวาดต้อนเชลยมาไว้ยังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งนำมาเป็นกองกำลังในการทำนา ทำสวน ก่อสร้าง เป็นการฟื้นฟูทั้งการทหารและเศรษฐกิจ
6. การจ้างชาวต่างชาติมาเป็นทหารอาสาและผู้ฝึกอาวุธ เป็นหนึ่งในการฟื้นฟูกำลังคนของพระนเรศวรฯ ตั้งแต่ยังเป็นผู้ปกครองที่เมืองพิษณุโลก จนในรัชสมัยของพระองค์เอง พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ทำการจัดจ้างทหารต่างชาติเป็นจำนวนมาก จนนำมาจัดตั้งเป็นกองทหารและจัดเป็นหมวดหมู่ตามเชื้อชาติ เพื่อการออกรบ และการฝึกอาวุธ
การรวบรวมกำลังคนอันเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถ จากแหล่งต่างๆ ระหว่างปีพ.ศ. 2114 – 2148 ส่งผลต่อการฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาทั้งในแง่เศรษฐกิจและการสงคราม รวมถึงการฟื้นฟูระบบการปกครองที่สร้างความมั่นคงแข็งแรงแก่อาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง หลังจากสูญเสียสถานะดังกล่าวไปเมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2112
คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระนเรศวร ตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน นำเลือดศัตรูล้างพระบาทจริงหรือ?
คลิกอ่านเพิ่มเติม : จริงหรือที่ พระนเรศวรฯ เคยคิดยกทัพบุกญี่ปุ่น : ส่องข้อมูลจาก คิมุระ คานาโกะ
อ้างอิง :
ปุญญยวีร์ อัษฎางคพิพัฌ. (2556). การฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยา : พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2114 – พ.ศ. 2153. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยคดีศึกษา), กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564