จริงหรือที่พระนเรศวรฯ เคยคิดยกทัพบุกญี่ปุ่น : ส่องข้อมูลจาก คิมุระ คานาโกะ

ยุทธหัตถี การชนช้าง สงคราม ไทย กับ พม่า
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

หากการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์เป็นการทำให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตและเป็นการเสนอมุมมองใหม่ต่อความรู้ความเข้าใจเดิมที่มีมาแล้ว บทความภาษาญี่ปุ่นของ คิมุระ คานาโกะ เกี่ยวกับการที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เคยเสนอจีนสมัยราชวงศ์หมิงว่าจะยกทัพไปบุกญี่ปุ่นเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นบุกเกาหลีในปี ค.ศ. 1592 [พ.ศ. 2135] ก็น่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในปี ค.ศ 1592 ญี่ปุ่นภายใต้การนำของ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ส่งทหารจำนวนกว่า 150,000 คน ไปบุกเกาหลีเพื่อหวังจะยึดเกาหลีเป็นเมืองขึ้น กองทัพของโทโยโทมิสามารถตีเข้าไปถึงเมืองเปียงยาง กษัตริย์เกาหลีต้องลี้ภัยไปทางเหนือและส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากจีน เกาหลีในตอนนั้นเป็นรัฐบรรณาการของจีนและยังเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จีนจึงต้องส่งทหารไปเพื่อยึดเกาหลีกลับคืนมา

Advertisement

จากการต่อสู้อย่างแข็งขันของกองทัพเกาหลีเองและแนวร่วมที่จีนส่งมาช่วยทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถยึดเกาหลีได้ในครั้งนั้น อย่างไรก็ตามโทโยโทมิไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจ เขาส่งกองทัพแสนกว่าคนไปเกาหลีอีกในปี ค.ศ. 1597 [พ.ศ. 2140] แต่ก็ไม่สามารถยึดเกาหลีได้เนื่องจากเขาตายลงอย่างกะทันหันในปีถัดไป ญี่ปุ่นจึงต้องถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลี การบุกเกาหลีในครั้งนั้นเป็นความทะเยอทะยานของโทโยโทมิที่จะเป็นใหญ่ในเอเชียหลังจากที่เขาขึ้นมาเป็นผู้นำและรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้หลังจากที่ญี่ปุ่นมีสงครามน้อยใหญ่มาร้อยกว่าปีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ว่ากันว่าเขามีแผนที่จะขยายอำนาจไปถึงฟิลิปปินส์และอินเดียหากเขาไม่ตายเสียก่อน

อนุสาวรีย์โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ณ ปราสาทโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น (ภาพจาก http://www.flickr.com. Photo by Rekishi no Tabi)

ถึงแม้ว่าโทโยโทมิจะไม่ได้ยึดครองเกาหลีตามที่ตั้งใจไว้ เหตุการณ์นี้มีนัยยะสำคัญอยู่ไม่น้อย ประการแรกหมายถึงความพยายามของญี่ปุ่นที่จะขยายอำนาจไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก อาจเรียกได้ว่าเป็นจักรวรรดินิยมในยุคแรกๆ ประการที่ 2 เป็นการที่ประเทศเล็กๆ ที่เคยรับเอาอารยธรรมของจีนคิดที่จะท้าทายอำนาจของจีนเอง อีกนัยยะหนึ่งคือการที่เหตุการณ์นี้มีประเทศอื่นอย่างสยามและริวกิวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากสยามเสนอจะส่งทหารไปช่วยตีญี่ปุ่น ในราชสำนักหมิงเองก็มีการถกเถียงกันว่าจะ “ยืม” กองกำลังทหารจากสยามและริวกิวไปช่วยตีญี่ปุ่นดีหรือไม่ เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังทำให้เราเห็นนโยบายของหมิงต่อประเทศบรรณาการอย่างสยามด้วย ซึ่งเป็นที่มาของบทความของ คิมุระ คานาโกะ

บทความของคิมุระเริ่มต้นด้วยการเท้าความความสัมพันธ์ของสยามกับจีนสมัยราชวงศ์หมิง ว่าสยามเป็นรัฐแรกๆ ที่ส่งบรรณาการไปให้หมิง คือปี ค.ศ. 1371 [พ.ศ. 1914] แต่หากเทียบกับเกาหลี ริวกิว และเวียดนามแล้ว สยามก็ยังถือเป็นรัฐบรรณาการห่างๆ ไม่ได้รับเอาอิทธิพลจากจีนมาอย่าง 3 รัฐแรก การที่สยามส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า แต่ในปี ค.ศ. 1592 หรือปีที่ 20 ในรัชศกวั่นลี่ของจีน มีบันทึกในเอกสารจีนว่า “หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าไปตีเกาหลีได้ สยามแอบเสนอจีนอย่างลับๆ ว่าจะส่งกองทัพไปบุกญี่ปุ่นเพื่อเป็นกำลังเสริมให้จีน ฉือฉิง เสนาบดีกระทรวงกลาโหมคิดที่จะรับข้อเสนอนี้ไว้ แต่ข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งกวางสีชื่อเชียวเยี่ยนไม่เห็นด้วย เรื่องเลยตกไป”

จากบันทึกข้างต้น คิมุระตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดสยามซึ่งที่ผ่านมาติดต่อกับจีนเพราะเหตุผลทางการค้า อยู่ๆ จึงเสนอที่จะช่วยจีนรบกับญี่ปุ่น ยิ่งในช่วงนั้น สยามซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนเรศวรฯ ยังติดพันสงครามกับพม่าอยู่ จะส่งทหารไปช่วยรบได้อย่างไร

คิมุระใช้เอกสารร่วมสมัยของจีนและเกาหลีหลายฉบับเพื่อวิเคราะห์เรื่องนี้ ในเดือน 9 ปี ค.ศ. 1592 ทูตชาวเกาหลีคนหนึ่งชื่อเจิ้งคุนโช่ว (ในที่นี้จะถอดเสียงเป็นภาษาจีน) ถูกส่งไปปักกิ่งเพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิหมิงและขอให้จีนส่งกำลังไปช่วยเกาหลีขับไล่กองทัพญี่ปุ่น เมื่อไปถึงปักกิ่งเขาได้พบกับทูตจากสยามที่มาถวายบรรณาการพอดี เอกสารเกาหลีซึ่งเขียนในปี ค.ศ. 1649 [พ.ศ. 2192] บันทึกว่าขณะที่ทูตเกาหลีกำลังถกเรื่องขอให้ส่งทหารไปช่วยเกาหลีกับขุนนางจีน ทูตสยามรู้เรื่องเข้าพอดี และได้ออกปากว่าจะช่วยกำจัดญี่ปุ่น กระทรวงกลาโหมของจีนจึงจะทูลข้อเสนอนี้ต่อจักรพรรดิ ซึ่งในเอกสารไม่ได้บอกไว้แต่คิมุระสันนิษฐานว่าน่าจะราวๆ เดือน 9-10 ของปี ค.ศ. 1592 และจักรพรรดิรับสั่งให้สืบเรื่องนี้ให้ดีก่อนที่จะรับข้อเสนอของสยาม

ตกลงใครกันแน่ที่เป็นคนเสนอจะส่งทหารไปบุกญี่ปุ่น เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นคนเสนอเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหารของสยาม  อย่างไรก็ตามคิมุระชี้ว่าไม่ว่าจะเป็นเอกสารจีนหรือเอกสารเกาหลีที่พูดถึงเรื่องนี้ไม่มีชิ้นใดบอกว่า “กษัตริย์สยาม” เป็นคนยื่นข้อเสนอนี้ (ในเอกสารจีนชื่อ หมิงสื่อ ใช้คำรวมๆ ว่า สยาม) คิมุระชี้ว่าจากเอกสารของเกาหลีที่ยกมาข้างต้น คนเสนอคือทูตจากสยามที่ไปถวายบรรณาการ และดูเหมือนว่าจะเป็นการเสนอโดยพลการของทูตคนนั้นมากกว่าจะเป็นความคิดของสมเด็จพระนเรศวรฯ

ปัญหาอีกประการคือ เพราะเหตุใดทูตสยามจึงเสนอเช่นนั้น เอกสารเกาหลีอีกชิ้นหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในวันที่ 28 เดือน 9 ปี ค.ศ. 1592 ฉือฉิง เสนาบดีกระทรวงกลาโหมของจีนได้เชิญเจิ้งคุนโช่ว (ทูตเกาหลี) และ “ล่ามที่ติดตามมากับทูตสยาม” แซ่หลี่ไปกินเลี้ยงที่บ้านของเขา (ที่ปักกิ่ง) หลังจากที่พูดคุยกับเสนาบดีฉือฉิงเสร็จและโค้งคำนับร่ำลากันแล้ว ล่ามที่ติดตามมากับทูตสยามได้แอบกระซิบกับล่าม (ซึ่งน่าจะเป็นคนเกาหลี) ว่า

“การที่ท่านเสนาบดีเชิญพวกเรามาอีกครั้ง ก็เพราะต้องการให้สยามส่งทหารไปช่วยจีนตีญี่ปุ่นเป็นแน่ [เน้นโดยผู้เขียน] (แต่) สยามเองมีลูกศรก็จริงแต่ยิงคนก็ยังไม่เข้า ดาบฟันก็ไม่ขาด ลูกปืนก็ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วจะไปช่วยได้อย่างไร จะเอาอาวุธเหล่านี้ไปบุกญี่ปุ่นได้อย่างไร ถ้าจะไปประเทศของฉัน [สยาม – ผู้เขียน] ต้องออกจากกวางตุ้ง ผ่านริวกิว ประเทศฉันอยู่ทางขวา ญี่ปุ่นอยู่ทางซ้าย ระหว่างทางมีโขดหินและคลื่นลมแรง ไปทางเรือไม่ได้ จะต้องไปกวางตุ้งก่อนถึงจะไปถึงญี่ปุ่นได้ พวกโจรที่มาบุกประเทศของท่าน [หมายถึงเกาหลี – ผู้เขียน] ในตอนนี้เป็นคนจากฮกเกี้ยนทั้งนั้น โจรพวกนี้รู้เส้นทางขึ้นบกได้อย่างไร…”

คิมุระสันนิษฐานว่าล่ามที่ติดตามทูตสยามไปปักกิ่งนี้น่าจะเป็นคนมาจากสยาม นั่นคือคนจีนที่อยู่ในสยามนั่นเอง จากการที่เขา “แอบกระซิบ” กับล่ามคนเกาหลีนั้น ทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคนที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอของทูตสยาม จริงๆ แล้วคือเสนาบดีฉือฉิง ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ทูตสยามเสนอจีนว่าจะส่งทหารไปช่วยตีญี่ปุ่น

ภาพขยายคณะทูต มีทูตจากสยามโบกธงที่เขียนว่าเสียนหลอ (ธงสีแดง คนใส่เสื้อเขียว)

คิมุระให้เหตุผลอีกประการหนึ่งที่บอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นคนเสนอ โดยวิเคราะห์ช่วงเวลาที่ทูตสยามไปถึงปักกิ่งว่า น่าจะไปถึงในเดือน 9 ของปี ค.ศ. 1592 หลังจากที่ญี่ปุ่นบุกเกาหลีไม่นาน (ญี่ปุ่นบุกเกาหลีเดือน 4 ของปีนั้น) และคงมีการทูลข้อเสนอจะส่งทหารต่อจักรพรรดิหมิงในช่วงเดือนนั้นถึงเดือนตุลาคม (ในเอกสารจีนไม่ได้บอกไว้) อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วกว่าที่คณะทูตจากสยามจะออกเดินเรือไปถึงกวางตุ้งและเดินทางไปถึงปักกิ่งมักใช้เวลานานถึง 1 ปีครึ่ง หากคำนวณดูการเดินทางของคณะทูตซึ่งไปถึงปักกิ่งในเดือน 9 ของปี ค.ศ. 1592 แล้วก็หมายความว่าทูตจากสยามต้องออกจากอยุธยาตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1591 [พ.ศ. 2134] ซึ่งในตอนนั้นญี่ปุ่นยังไม่ได้บุกเกาหลี คิมุระแย้งว่าเมื่อทูตสยามออกจากอยุธยาก่อนที่เหตุการณ์การบุกเกาหลีจะเกิดขึ้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่สมเด็จพระนเรศวรฯ จะเสนอส่งทหารไปช่วยตีญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้คิมุระจึงเสนอว่าข้อเสนอของสยามที่จะส่งทหารไปน่าจะเป็นกุศโลบายของเสนาบดีฉือฉิง ที่แนะนำทูตจากสยามให้เสนอเช่นนั้น แม้เขาจะโดนขุนนางด้วยกันคัดค้านแต่ก็ยังดื้อดึงที่จะทูลเสนอต่อจักรพรรดิ การที่เขาเสนอเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในตอนนั้นจีนกำลังเผชิญกับศึกรอบด้านไม่ใช่จากญี่ปุ่นอย่างเดียว ฉือฉิงซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมซึ่งรับผิดชอบการศึกสงครามจึงต้องการกำลังเสริมมาช่วย

ภาพวาดกองทัพของโทโยโทมิยกพลขึ้นบกที่เมืองปูซาน (ภาพจาก http://wikipedia.org)

ข้อเสนอของฉือฉิงถูกทัดทานโดยข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งกวางสีชื่อเชียวเยี่ยน เชียวเยี่ยนให้ความเห็นว่าไม่ควรที่จะให้สยามเข้ามายุ่งกับปัญหานี้โดยให้เหตุผลหลายประการ คือ

1. สยามเป็นรัฐบรรณาการมาแต่โบราณก็จริงแต่ไม่ได้จงรักภักดีต่อจีนเท่าเกาหลี และก็ไม่ได้สนิทกับจีนเท่าใดนัก การที่จะยืมกำลังทหารจากประเทศอย่างนี้นอกจากจะแสดงว่าจีนหย่อนยานในด้านการทหารแล้วยังไม่มีประโยชน์อันใดกับจีน

2. คำพูดของทูตสยามขาดความน่าเชื่อถือ เราไม่รู้ว่ากษัตริย์สยามคิดอย่างไร ข้อเสนอที่จะส่งทหารมาช่วยจีนอาจจะเป็นคำพูดของล่ามฝ่ายจีนที่ต้องการจะเอาหน้า ถ้าหากสยามไม่ได้ส่งทหารมา จะเป็นการทำให้จีนเสื่อมเสียเกียรติยศเปล่าๆ ยิ่งตอนนี้เป็นช่วงที่จีนมีแสนยานุภาพ ลำพังกำลังทหารของจีนย่อมจะทัดทานญี่ปุ่นได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องขอกำลังทหารจากสยาม

3. สยามเจ้าเล่ห์เพทุบายไม่แพ้ญี่ปุ่น ถ้าเป็นการรบในทะเลแล้วญี่ปุ่นสู้สยามไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการรบบนบกสยามสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ หากกองทัพของสยามเพลี่ยงพล้ำญี่ปุ่น มาขอความช่วยเหลือจากเรา (หมายถึงจีน) แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา สยามอาจจะกลายเป็นปฏิปักษ์กับเราก่อนที่จะชนะญี่ปุ่น

4. ถ้าหากสยามจะไปตีญี่ปุ่นจริงๆ ก็ต้องไปทางเรือ และจะต้องผ่านกวางตุ้งและฮกเกี้ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกวางตุ้งเป็นเมืองท่าหลักที่สยามจะต้องมาแวะแน่นอน (สยาม) คงจะละเมิดกฎระเบียบของเราและเรียกร้องสิ่งต่างๆ มากมาย นอกจากนี้แถบชายฝั่งของจีนก็มีคนชั่วที่แอบออกเรือไปประเทศอื่นมากมาย เกรงว่าถ้าหากทหารสยามมา พวกเขาอาจจะแอบปะปนกับคนพวกนั้นแอบเข้ามาจีนก็เป็นได้

5. ถึงแม้ว่าข้อเสนอของสยามที่จะส่งทหารมาช่วยจะเป็นข้อเสนอที่จริงใจของสยาม แต่จะคาดหวังว่ามีจำนวนมากคงไม่ได้

6. ทูตสยามพักอยู่ปักกิ่งเป็นเวลานาน คงจะรู้และได้ยินสถานการณ์ที่เกาหลีโดนบุกได้ดี การที่จะยืมกำลังทหารจากสยามอาจเป็นการแสดงความอ่อนแอของจีนได้

7. คำกล่าวที่ว่า “ใช้ศัตรูบุกศัตรูอีกที” อาจจะใช้ได้ดีในยามปกติที่จีนสามารถเป็นผู้บัญชาการได้ แต่ในยามคับขันเช่นนี้ จีนไม่รู้ว่าสยามมีความจริงใจต่อจีนเพียงใด จึงไม่สามารถ “ใช้ศัตรูบุกศัตรูอีกที” ได้

จักรพรรดิวั่นลี่ แห่งราชวงศ์หมิง (ภาพจาก http://wikipedia.org)

เหตุผลของข้าหลวงใหญ่ฯ นอกจากจะแสดงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของจีนแล้ว ยังสะท้อนมุมมองของชาวจีนที่มีต่อสยามในขณะนั้นได้ดีว่าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจสยาม เนื่องจากเชียวเยี่ยนเป็นขุนนางในพื้นที่ เคยปราบกบฏแถบยูนนานและพม่ามาก่อน จึงน่าจะรู้สถานการณ์การเมืองในแถบตอนใต้ของจีนดีกว่าฉือฉิงซึ่งอยู่ปักกิ่ง เขามองว่าการจะให้กองทัพสยามจำนวนมากเข้ามาแวะเทียบท่าที่กวางตุ้งน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีกับจีน จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเสนาบดีกลาโหมฉือฉิง เรื่องนี้คิมุระได้วิเคราะห์เอาไว้ในบทที่ 2 นอกจากเชียวเยี่ยน ยังมีขุนนางอีกคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการรับข้อเสนอของสยาม ฝ่ายของเกาหลีเองก็ไม่เชื่อว่าสยามจะสามารถสู้กับญี่ปุ่นได้จริง จากการคัดค้านของเขา จักรพรรดิรับสั่งให้ไม่รับข้อเสนอของสยามและส่งสาส์นให้กษัตริย์สยามทราบ

ในบทที่ 3 คิมุระพูดถึงความสัมพันธ์ของสยามกับจีนในช่วงก่อนรัชศกวั่นลี่ว่าสยามยอมส่งบรรณาการมาให้จีนก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าสยามจะเชื่อฟังและยอมรับอำนาจทางการเมืองของหมิง เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่น จากการที่สยามพยายามแผ่อำนาจไปมะละกาในปี ค.ศ. 1407 [พ.ศ. 1950] โดยยกทัพไปตีมะละกา แม้ว่าหมิงจะส่งพระราชสาส์นตำหนิการกระทำของสยามและสั่งให้ปรองดองกันแต่ก็ไม่เป็นผล สยามส่งทหารไปอีก และอีกเหตุการณ์คือการที่สยามไม่ได้ให้การต้อนรับทูตจากหมิงที่ถูกส่งมาแต่งตั้งกษัตริย์สยามองค์ใหม่อย่างสมเกียรติ ทำให้ทูตคนนั้นต้องตายในสยามในปี ค.ศ. 1482 [พ.ศ. 2025]

แผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ภาพจากความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี, 
๒๕๓๐, น. ๖.)

ในขณะเดียวกันหากมองในแง่ของจีน จีนเองก็ดูจะไม่ได้เห็นความสำคัญของสยามนักในช่วงนั้น เห็นจากการที่สยามส่งพระราชสาส์นมายังจีนแต่ไม่มีใครอ่านออกเพราะเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาเปอร์เซีย ถึงกระนั้นหมิงกว่าจะตั้งหน่วยงานที่แปลสาส์นจากสยามก็ค่อนข้างช้ามาก คือในปี ค.ศ. 1578 [พ.ศ. 2121] เพราะฉะนั้นก่อนหน้านั้นหมิงดูจะไม่ใส่ใจเท่าใดว่าสาส์นของสยามที่ส่งมามีใจความว่าอย่างไร

อย่างไรก็ตามคิมุระชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสยามเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงรัชศกวั่นลี่ (ค.ศ. 1573-1620/พ.ศ. 2116-63) หมิงเริ่มเห็นความสำคัญของสยามมากขึ้นโดยการเพิ่มของกำนัลให้กับทูตสยามที่มาถวายบรรณาการ ตั้งหน่วยงานแปลพระราชสาส์นของสยาม ปัจจัยที่ทำให้หมิงหันมาให้ความสำคัญกับสยาม คิมุระวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะในช่วงนั้นหมิงเผชิญศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากโจรสลัดที่คอยก่อความไม่สงบตามชายฝั่งในช่วงปี ค.ศ. 1570-80 [พ.ศ. 2113-23] และจากพม่าซึ่งขยายอิทธิพลไปยังยูนนานในช่วงปี ค.ศ. 1580 [พ.ศ. 2123] ทำให้หมิงต้องขอความช่วยเหลือจากสยามให้ไปช่วยรบกับพม่า หมิงในช่วงนั้นกำลังอ่อนแอ สยามจึงกลายเป็นรัฐที่มีความสำคัญต่อหมิง ด้วยเหตุนี้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมจึงหาทางขอความช่วยเหลือจากสยามเมื่อเกาหลีถูกญี่ปุ่นบุกในปี ค.ศ. 1592

คิมุระสรุปว่าการที่สยามส่งข้อเสนอว่าจะไปช่วยตีญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจะไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็มีส่วนทำให้ภาพพจน์ของสยามในสายตาจีนราชวงศ์หมิงดีขึ้นมาก ก่อนหน้ารัชศกวั่นลี่สยามเคยเป็นแค่รัฐบรรณาการในดินแดนตอนใต้รัฐหนึ่ง แต่พอเกิดเรื่องญี่ปุ่นบุกเกาหลีแล้ว สยามกลายเป็นรัฐที่จงรักภักดีในสายตาของหมิง สำหรับสยามเองนั้นการที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนก็ดูจะมีนัยยะสำคัญเช่นกัน เนื่องจากสยามตอนนั้นรบกับพม่าอยู่ ความสัมพันธ์ของจีนกับสยามในช่วงเหตุการณ์การบุกเกาหลีของญี่ปุ่นจึงทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี

บางส่วนของประติมากรรมภาพนูนสูงแสดงพระประวัติและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรฯ ประกอบฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่หน้าเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บทความของคิมุระนอกจากจะเสนอมุมมองใหม่ในเรื่องข้อเสนอของสยามที่จะช่วยจีนรบกับญี่ปุ่นแล้ว ยังนำเสนอเอกสารที่น่าสนใจของเกาหลีซึ่งไม่ค่อยมีคนนำมาใช้ แต่ให้รายละเอียดมากกว่าเอกสารจีน เอกสารเกาหลีทำให้เราเห็นภาพปฏิสัมพันธ์ของคณะทูตสยามที่ไปถึงเมืองจีนว่าไม่ได้มีแต่การติดต่อกับชาวจีนอย่างเดียว แต่ยังมีการติดต่อพบปะกับทูตจากชาติอื่นด้วย การที่ทูตจากสยามเป็นคนเสนอจะช่วยไปตีญี่ปุ่น ถึงแม้จะเป็นแผนการของเสนาบดีของจีนอย่างที่คิมุระบอก แต่ก็ทำให้เราเห็นบทบาทของคณะทูตที่มีมากกว่าการไปจิ้มก้องและถวายบรรณาการจีนอย่างเดียว ปัญหาหนึ่งของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์จีนกับสยามในสมัยอยุธยา คือไม่มีเอกสารไทยให้ตรวจสอบ พงศาวดารไทยไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้เลย เราจึงต้องใช้เอกสารภาษาจีนเป็นหลัก และหากเราอิงเอกสารร่วมสมัยของจีนและเกาหลีที่คิมุระยกมา

บทสรุปก็คือ สมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่น่าจะมีส่วนรู้เห็นกับการเสนอจะไปบุกญี่ปุ่นของสยาม นี่เป็นการคุยกันเองของขุนนางจีนและทูตสยามภายใต้เหตุการณ์อันคับขันในปี ค.ศ. 1592

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2563