ตุ๊กตา “เสียกบาล” หรือ “เสียกระบาน” แบบไหนที่ใช้เซ่นผี

กบาลเป็นของสูง ฉะนั้นการพิจารณาวลี เสียกบาล จึงเป็นการกล่าวถึงของสูง นับเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อความเรียบร้อยหรือความละเอียดอ่อน อันเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความกระด้างหยาบ จึงขออภัยไว้เสียก่อนหากคํากบาลทําให้ระคายเคืองอารมณ์โดยไม่มีเจตนา

ทําไมต้องมาพิจารณาเรื่องเสียกบาล? ก็เพราะทุกครั้งที่ได้เห็น ได้ยิน มันพาให้เกิดอาการหัวเสียทุกครั้งไป จะด้วยเป็นวาสนาที่ตัดไม่ขาดหรือเหตุอื่นใดก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน

ในการวินิจฉัยหรือพิจารณาก็จําเป็นต้องยกคําอธิบายของราชบัณฑิตยสถานขึ้นตั้งไว้ก่อนเป็นเสมอว่าคือประณามบท มิใช่เจตนาจะเปิดเผยแพร่ขยายให้เสียหายแต่ประการใด ท่านให้ความหมายไว้ดังนี้

“เสียกบาล น. เครื่องเซ่นผีพร้อมกับตุ๊กตา ที่ใส่ภาชนะแล้วนําไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง หรือลอยน้ำ” (ฉบับ พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งแรก หน้า 822)

ตุ๊กตาที่ปรากฏอยู่ในคําอธิบาย แม้ไม่ระบุไว้ชัดเจน แต่ก็ต้องเป็น ตุ๊กตาเสียกบาล อย่างแน่นอน คงไม่ใช่ตุ๊กตาอย่างอื่น และเมื่อลองหาความหมายของตุ๊กตาดังว่านี้ ก็ได้ความกระจ่าง คือ “ตุ๊กตาเสียกบาล น. ตุ๊กตาที่ใส่กระบะกาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเซ่นผีแล้วนําไปวางไว้ที่ทางสามแพร่งหรือลอยน้ำ” (หน้า 349)

จึงนับว่าเป็นการให้ความหมายที่สอดคล้องกันดี ทั้งยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ภาชนะ ที่ท่านกล่าวถึงในการอธิบายคําเสียกบาล นั้น คือ กระบะทําด้วยกาบกล้วย

เมื่อได้ไตร่สวนความหมายมาถึงขั้นนี้ ยังมีคำที่ตั้งอาความกระจ่างอีกเพียงคำเดียว คือ กบาล ซึ่งท่าน (ราชบัณฑิตยสถาน) ให้ไว้ดังนี้

“กบาล น. ส่วนกลางของกะโหลกศีรษะ, หัว (คําไม่สุภาพ) แผ่นกระเบื้อง; ลานกลาง เช่น กบาลบ้าน; เครื่องเซ่นผีที่ใส่ภาชนะกับตุ๊กตาแล้วนําไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง และต่อยหัวตุ๊กตาเสีย เรียกว่าเสียกบาล เรียกภาชนะที่ใส่เครื่องเช่นนั้น เช่น เอาเหล้าขาวใส่กบาลออกเซ่นกวัก (ขุนช้างขุนแรงม), บางที่ใช้ว่า กระบาล เช่น ปรุตรุเคลือบกระบาลหิน (จารึกวัดโพธิ์ ป.;ส.กปาล = กะโหลกหัว).” (หน้า 6)

จะเห็นว่า คําอธิบายตรงคํา กบาล ที่ได้ทําให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกว่า ตุ๊กตาที่ใส่ภาชนะเซ่นผีนั้น เมื่อจะนำไปวางที่ทางสามแพร่ง วางแล้วจะต้องต่อย (คือทุบ) หัวตุ๊กตาเสียด้วย จึงเรียกว่า เสียกบาล ดังนั้น คําถามที่ตั้งไว้แต่ต้นหรือหัวเรื่องครั้งนี้ จึงย่อมหมายถึงหัวตุ๊กตา ทำให้เห็นได้ว่า คนเซ่นผีนี่ใจร้ายเหลือประมาณ ตุ๊กตาไม่มีชีวิตแท้ๆ ใช้ประโยชน์แล้วยังทุบหัวมันอีก และจะมอบให้ผีทั้งที ผีก็จะได้แต่ของชำรุด

อย่างนี้ผีควรจะยกโทษหรือเพิ่มโทษเข้าไปอีกดี? เจตจํานงในการเสริมที่อยู่ที่ตรงถึงนี้เองหรือ?

ความฝังใจเรื่องต่อยหัวตัวตุ๊กตา ทําให้ผมต้องติดตามสังเกตเป็นพิเศษทุกครั้งที่ได้เห็นตุ๊กตาเสียกบาล ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือรูปและก็พบอยู่เสมอว่า ตุ๊กตาเสียกบาลนั้น หัวไม่ได้ถูกทุบทุกตัว เพราะบ่อยครั้งที่ได้เห็นตุ๊กตาในลักษณะที่มีหัวอยู่สมบูรณ์

ภาพที่ประกอบนี้ ผมถ่ายสําเนามาจาก พจนานุกรมสถาปัตยกรรม และศิลปเกี่ยวเนือง ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร พ.ศ. 2518 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่า มีตุ๊กตาที่มีและไม่มีหัว

เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้หมายความว่าอย่างไร คนเซ่นต่อยหัวไม่หมด? หรือหัวตุ๊กตาชํารุดไปเองตามกาลเวลา? หรือ?

เกิดข้อสงสัยขึ้นแล้วก็ต้องหาคําตอบ และเมื่อพึ่งพาพจนานุกรมไม่ได้ ผมก็ใช้วิธีที่ถนัดและได้ใช้มาจนถึงวัยหัวเปลี่ยนสี คือ “อยากได้ความรู้ให้เข้าสู่ชาวบ้าน อยากได้ปริญญาให้ไปมหาวิทยาลัย”

ภาษิตนี้ใครจะนําไปใช้บ้างก็คงไม่มีใครหวง

เมื่อได้พบปะสนทนากับหมอสะเดาะเคราะห์ และไปสังเกตดูของจริง ไม่เคยได้พบหมอสะเดาะเคราะห์คนใดสั่งให้ต่อยหัวตุ๊กตา และยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ตุ๊กตาเซ่นผีนั้น ผู้สะเดาะเคราะห์ส่งให้ไปเป็นบริวารผีแทนตัว จึงตัดเล็บ ตัดผมของตนให้ไปด้วย ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทุบหัวเสียก่อน ชะดีชะร้ายผีอาจโกรธเอาอีกก็ได้ ที่ส่งของชํารุดไปแทนตัว

ตุ๊กตาเซ่นผีมักปั้นด้วยดิน หรืออาจไปซื้อเอาก็ได้หากมีขาย เมื่อวางที่ทางสามแพร่งแล้ว อาจถูกสัตว์รบกวน เช่น วัวควายเหยียบย่ำ จึงทําให้ตุ๊กตาชํารุด

นอกจากพบว่าเขาไม่มีการต่อยหัวตุ๊กตาแล้ว (อาจมีที่ต่อยจริง แต่ผมไม่พบก็ได้) ผมยังได้ความรู้พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ผู้บอกข้อมูลคือพี่หมอชอน พวงมาลัย ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงเมืองเพชรและเป็นหมอแผนโบราณซึ่งมีชื่อเสียงขจร ไปเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

พี่หมอเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านหนุ่มๆ เมื่อทราบว่าใครเอา กะบาน (ตรงนี้สะกดไม่เหมือนของราชบัณฑิตยสถานนะครับ ไม่ใช่เผลอเขียนต้นฉบับผิด) ไปวาง ก็แอบไปเก็บตุ๊กตามากินเสมอ เพราะมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ผู้ใดกินตุ๊กตาเซ่นผีครบสามคู่ จะมีบุญญาบารมีสูง พี่หมอเองเคยกินมากว่าสิบคู่

เมื่อถามว่า เคยเห็นตุ๊กตาถูกทุบหัวก่อนวางบ้างหรือไม่? พี่หมอบอกว่า เท่าที่เคยกินก็สมบูรณ์ทุกตัว

นอกจากได้รู้เรื่องตุ๊กตาเสียกบาลแล้ว ยังพบอีกว่า ภาชนะที่ใส่เครื่องเช่นนั้น เขาเรียกว่า กะบาน นิยมทําด้วยกาบกล้วย หักเป็นสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ใช้ซี่ไม้ไผ่แทงทะลุกาบกล้วย จากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ด้านละเจ็ดซี่ (รวมต้องใช้ไม้ไผ่สิบสี่ซี่) เป็นก้นกะบาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมาย ตุ๊กตาเสียกบาล ว่าเป็นตุ๊กตาที่ใส่กระบะกาบกล้วย ฯลฯ นั้นที่แท้ กระบะกาบกล้วย นั่นเอง คือ กบาล ที่ปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผน “เอาเหล้าข้าวใส่กบาลออกเซ่นวัก”

ที่เรียก กบาล นี้ ก็ตรงกับที่ผมได้ความรู้จากหมอสะเดาะเคราะห์ และผมเขียนเป็น กะบาน เพราะมองไม่เห็นว่าเหมือนกับหัวที่ตรงไหน

เมื่อได้คํา กะบาน มาแล้ว นั่งเพ่งดูรูปร่างหน้าตาก็เห็นชัดว่า คํานี้เป็นคําไทยแท้ๆ ชุด เดียวกับ กะบะ กะบวย กะเบียน ฯลฯ (หรือ กระบะ กระบวย กระเบียน ฯลฯ) เพียงแต่ กะบาน (กระบาน) นั้นอาภัพไปหน่อย เพราะดันไปมีเสียงตรงกับ กบาล ของแขก และ กบาล ของแขกนั้น ในทางวิชาการย่อมหนักกว่า กะบาน ไทย ดังนั้น เมื่อได้ยิน เสียกะบาน จึงต้องยักเยื้องเขียนเป็น เสียกบาล เพื่อให้ดูหรูขึ้น เป็นวิชาการขึ้น

เมื่อเขียนเป็นเสียกบาลแล้ว ก็ต้องผูกเรื่องต่อยหัวตุ๊กตาเช่นผีประกอบไว้ จะได้เข้าเรื่องกันได้พอดี ผมคิดเอาเองว่า เรื่องต่อยหัวตุ๊กตานี้ นักวิชาการคงได้ไปจากพจนานุกรมนี้เอง และคตินี้ได้กระจายแพร่ออกไปยังพจนานุกรมอื่น ๆ

ที่ว่าอย่างนี้ เพราะผมยังไม่เคยพบจริงๆ ว่า ในการเซ่นผีนั้นเขาต้องต่อยหัวตุ๊กตา

เมื่อหันไปพิจารณาภาษาถิ่นประกอบ ผมเองรู้จักกะบานมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่กะบานที่ผมรู้จักนั้น บังเอิญเรียกันสั้นๆ ว่า บาน อันเป็นลักษณะเฉพาะของภาษาสาวสะตอ ดังที่พจนานุกรมภาษาถิ่น แบบสถาบันทักษิณคดีศึกษาให้ความหมายว่า บาน ไว้ดังนี้ “น. ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กกว่ากระดังราวหนึ่งในสี่ กะบาน ก็ว่า”

เพื่อให้ยุติว่า กะบาน ไทยมีอยู่จริง ผมได้ลองนึกและหาจากเอกสารเก่าๆ ที่มีมาก่อน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ไม่มีคํา กะบาน แต่มีคําว่า กระบาน ซึ่งอธิบาย ความไว้ว่า “ของทำด้วยกาบหยวกหฤาสิ่งอื่น เป็นสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ใส่ของกินต่างๆ เส้นผี” จึงให้ความชัดเจน ตรงตามที่กล่าวมาแต่ต้น

นึกย้อนหลังไปอีก ผมจําได้ว่าเคยอ่านพบคํานี้ในหนังสือ พุทธประวัติ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อได้ลองค้นดู ก็พบในตอนว่าด้วยการทําเทวตาพลี ดังนี้ “ฯลฯ สังเวยนางพระคงคา คงทิ้งหรือลอยเครื่องสังเวยในแม่น้ำ กลายมาเป็น ลอยกะบาน ฯลฯ สังเวยพระยม คงจัดเครื่อง สังเวยเป็น กะบาน ตั้งไว้ตามป่าช้า”

ซึ่งทําให้แนใจได้เป็นทวีตรีคูณว่ากะบานไทยนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่คิดเพื่องเอาตามคติชาตินิยม

เมื่อได้เสนอทั้งข้อมูลและข้อคิดเห็นมาถึง ตอนนี้ก็ใคร่ขอสรุปว่า

1. ต้องเก็บคํา กะบาน หรือกระบาน ไว้ใน พจนานุกรม

2. แก้คํา เสียกบาล เป็น เสียกะบาน แปลว่า เซ่นผี หรือต้องเซ่นผี (คําชุดนี้มีอยู่เช่น เสียหัวหมู แปลว่าไหว้ครู ดังกลอนของสุนทรภูว่า “ครั้นจะทักเล่าก็กลัวเสียหัวหมู”)

กบาล นั้นเป็นเรื่องของแขกเขา

ส่วน กะบาน เป็นเรื่องของไทยแท้ๆ ใช้แล้ว ไม่หนัก ไม่ปวด เหมือนของแขก อย่างแน่นอน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2562