ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ครุฑยุดนาค หรือ ครุฑจับนาค ในหนังสือ “สัตว์หิมพานต์” ของ ส.พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า
“ตามตำนานกล่าวว่า ครุฑกับ นาค เป็นพี่น้องกัน คือเป็นโอรสของพระกัศยป แต่ต่างมารดา พญาครุฑเป็นลูกนางวินตา พญานาคเป็นลูกนางกัทรุ ซึ่งทั้งสองนี้ไม่ค่อยจะลงรอยกัน
เหตุที่บาดหมางกันจนเป็นศึกสายเลือด ครุฑยุดนาค ก็คือ นางวินตาแม่พญาครุฑริษยานางกัทรุ จึงขอพรต่อพระกัศยปให้ลูกของตนกินพวกนาคลูกนางกัทรุ พระกัศยปก็หลับหูหลับตาให้พรตามที่ขอ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นลูกของตนทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนั้นครุฑก็เลยกินนาคเป็นอาหาร ล้างผลาญกันเอง
อาการที่ครุฑกินนาคนั้น ไม่ใช่ครุฑจับนาคได้แล้วก็ขม้ำกลืนกินเข้าไปทั้งตัว ความจริงครุฑเลือกกินเฉพาะมันเหลวเท่านั้นอย่างอื่นไม่ปรารถนา เรื่องนี้มีหลักฐานกล่าวไว้ในเรื่องภูริทัตชาดก ตอนหนึ่งว่า “เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้ว ก็จิกด้วยจะงอยปากฉีกท้องนาคกินมันเหลว แล้วทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร”
ชั้นแรกทีเดียวครุฑก็จับเฉพาะนาคที่ตัวเล็ก หรือที่มีขนาดพอที่จะจับลากขึ้นมาจากน้ำได้ และต้องอาศัยกำลังความรวดเร็วเป็นสำคัญ เริ่มด้วยกระพือปีกให้น้ำแหวกเป็นช่องมองเห็นตัวนาค แล้วรีบจู่โจมขยุ้มตัวนาคบินขึ้นสู่อากาศ
พวกนาคเมื่อถูกครุฑโฉบเฉี่ยวเอาไปกินอยู่เนืองๆ ก็หาวิธีป้องกัน ได้นัดแนะกันให้กลืนก้อนหินเข้าไปไว้ในท้องทำตัวให้หนักนอนอยู่ เวลาครุฑมาก็ยื่นหน้าแยกเขี้ยวคอยขบกัด ครุฑก็จ้องจับที่ศีรษะ พยายามฉุดขึ้นให้พ้นน้ำ แต่เนื่องจากความหนักของก้อนหินถ่วงไว้ กว่าครุฑจะหิ้วนาคขึ้นไปได้ก็ถูกคลื่นซัดจมน้ำตายเสียมาก
พวกครุฑได้ประชุมคิดแก้ปัญหานี้อยู่นาน ในที่สุดไปได้อาจารย์ดีซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกนาคด้วย ครุฑก็อ้อนวอนให้อาจารย์ไปลวงถามความลับจากพวกนาค ชั้นแรกนาคไม่ยอมบอก แต่อาจารย์เซ้าซี้ถามอยู่สามคราว และรับปากว่าจะไม่บอกใคร
นาคจึงยอมบอกความลับให้ แต่อาจารย์ทุศีลนำความลับไปบอกครุฑ พวกครุฑก็เลยเปลี่ยนแผน กระพือปีกให้น้ำแตกเป็นช่องแล้วก็จู่โจมลงไปจับหางนาค ปล่อยให้หัวนาคห้อยลงมา นาคก็สำรอกอาหารและหินออกหมด ครุฑจึงจับนาคได้โดยสะดวก
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขียนภาพครุฑจับนาค หรือแกะสลักรูปครุฑตามหน้าบันโบสถ์วิหาร จึงให้ครุฑจับหางนาค ปล่อยหัวนาคอยู่ข้างล่าง อันเป็นวิธีจับนาคที่ถูกวิธีและเป็นแบบอย่างของการเขียน หรือแกะสลักรูปครุฑจับนาคที่ถูกต้องต่อมา”
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้หรือไม่ “ครุฑ” ตามหน่วยงานราชการไทย ใครเป็นคนปั้น?
- ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี
- ตามรอย “ครุฑสัมฤทธิ์โบราณ” จากปราจีนบุรีที่ ร. 6 ทรงใช้ติดยอดธงชัยเฉลิมพล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2560