ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในศิลปกรรมไทยนั้นมีรูป “ครุฑ” ปรากฏในภาพเขียนโบราณ ลายหน้าบันพระอุโบสถ ลายรดน้ำ ในเรือพระราชพิธี ครุฑจึงผูกพันกับคนไทยมายาวนานเราจะเห็นรูปครุฑเป็นพาหนะให้พระนารายณ์ ครุฑยุดนาค และครุฑได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย มาแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันและครุฑได้เป็นตราพระราชลัญจกร เรียกว่า ครุฑพ่าห์
พระราชลัญจกรครุฑพ่าห์ เป็นพระราชลัญจกรสำหรับกรุงศรีอยุธยาประจำชาดและประจำครั่ง ผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญานานาประเทศเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน หรือตราแผ่นดิน จนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน
แลใช้เป็น “ครุฑตราตั้ง” เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ที่พระราชทานให้บริษัทเอกชนหรือกิจการงานหลวงหรือส่วนราชการ ซึ่งบริษัทเอกชนบางบริษัทอาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นเครื่องหมายตราตั้งเพื่อเป็นเกียรติยศแก่บริษัทห้างร้าน ซึ่งใช้ตัวหนังสือ โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ประกอบเบื้องล่างตัวตราครุฑด้วย ครุฑ ที่ปรากฏเป็นตราตั้งแสดงอยู่หน้าบริษัทห้างร้านหรือหน่วยราชการในประเทศไทยนั้น ปั้นโดยช่างปั้นครุฑที่มีฝีมือดีที่สุดของประเทศไทย ชื่อ สัญญา วงศ์อร่าม
สัญญาจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นลูกศิษย์คนโปรดของ ชลูด นิ่มเสมอ และเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และกลับมาสอนหนังสือที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2512
ผลงานการปั้นครุฑ ของสัญญา วงศ์อร่าม นั้น มีปรากฏอยู่ที่หน้าอาคารธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม หน้าอาคารเทเวศประกันภัย หน้าบริษัทไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย และที่อื่น ๆ อีกมากฝีมือการปั้นครุฑตราตั้งของสัญญานั้น มีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะฝีมือการปั้นของเขานั้นงดงามไม่แพ้งานของช่างโบราณสมัยอยุธยา เพราะสัญญาเป็นคนที่ศึกษาหาความรู้เรื่องครุฑจากทั่วโลก รู้จักครุฑทุกรูปแบบในโลก จนสามารถเขียนหนังสือเรื่องครุฑออกมาเล่มหนึ่งสมบูรณ์มาก
ในขณะเดียวกันด้วยประสบการณ์การปั้นที่เชี่ยวชาญของเขา ทำให้สัญญาสามารถลำดับขั้นตอนการปั้นครุฑไว้เป็นตำราสำหรับคนรุ่นหลังด้วย นับเป็นงานที่มีคุณค่าไม่่่แพ้งานปั้นครุฑของเขา ด้วยวิชาความรู้การปั้นนั้น มักสูญหายไปกับช่างผู้ปั้นเสมอ ครุฑของสัญญาจึงมีรูปแบบที่เป็นครุฑที่มีอำนาจมีพลัง มีอิทธิฤทธิ์ มิใช่ ครุฑ ที่เป็นเพียงปูนปั้นธรรมดา มันสง่างาม ยิ่งใหญ่ และน่าเกรงขาม
สัญญา แม้จะเรียนมาทางจิตรกรรม แต่เขากลับชำนาญในทางปั้นไม่แพ้กัน และไม่ทิ้งงานที่เขารักอย่างภาพพิมพ์ ภาพวาด เขาทำงานภาพพิมพ์และวาดภาพไปพร้อมกับงานปั้นอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง และมีความเป็นครูที่ต้องการถ่ายทอดวิชาอย่างมั่นคงแน่วแน่
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของ “ครุฑยุดนาค” หรือ “ครุฑจับนาค”
- ตามรอย “ครุฑสัมฤทธิ์โบราณ” จากปราจีนบุรีที่ ร. 6 ทรงใช้ติดยอดธงชัยเฉลิมพล
อ้างอิง :
นิวัติ กองเพียร. (ตุลาคม, 2551). “ช่างปั้นครุฑ สัญญา วงศ์อร่าม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 29 (ฉบับที่ 12).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2561