ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มกราคม 2471 เล่ม 45 หน้า 3412-13 บันทึกว่า
“แจ้งความราชบัณฑิตยสภา
เรื่องได้รับของหลวงเพิ่มเติม
ด้วยในระวางแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2471 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้รับสิ่งของหลวงเพิ่มเติมมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานอีก มีประเภทและรายชื่อของดั่งต่อไปนี้
เครื่องโลหะ
ของหลวงครั้งรัชกาลที่ 6 ตกอยู่ที่ช่างหล่อ
รูปครุฑยอดธงสัมฤทธิ์ ขุดได้ที่ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เดิมบาทหลวงแปรรัว ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 รูป”
ครุฑสัมฤทธิ์บนยอดธงชัยเฉลิมพล
ที่มา “ครุฑสัมฤทธิ์” นั้น ศตวรรษ ชุมชนคริสตชนวัดอารักเทวดา โคกวัด ปราจีนบุรี 1899-2002 (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์) [อ้างอิงจากศาลาแบ่งปัน] บันทึกว่า
“ปี 1912 [พ.ศ. 2455] ทางข้าหลวงได้ประกาศว่า ในหลวงจะเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี และสั่งให้ แต่ละหมู่บ้านนําของทูลเกล้าถวายด้วย สร้างความตื่นเต้นยินดียิ่งนัก เพราะทุกคนต้องการชื่นชมพระพักตร์
คุณพ่อ [อัลทีร์ เอมิลเลียน ยิสแตง เปรัวย์] ได้ปรึกษาชาวบ้านที่จะถวายครุฑสําริดที่ ตาชุ้น พานิช ขุดพบบริเวณสระใหญ่ข้างวัด ด้วยเข้าใจว่าครุฑสําริดตัวนี้อาจเป็นคราที่ใช้ประดับเหนือคันธงนํากองทัพของกษัตริย์โบราณ
ดังนั้น ในวันที่ 1 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) คุณพ่อได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนชาวโคกวัด ทูลเกล้าถวายครุฑสําริด โดยผ่านทางพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) ทรงพอพระทัยยินดีรับด้วยความขอบใจ และได้ทรงรับสั่งให้ซ่อมแซมใหม่
ครั้นปี พ.ศ. 2456 ทรงสถาปนาธงแผ่นดินเพิ่มขึ้นใหม่อีก พระราชทานนามว่า ธงมหาไพชยนต์ธวัช จึงพระราชทานครุฑสำริดหุ้มทองนั้นติดบนยอดคันธงและยังคงใช้อยู่จนปัจจุบัน” [เน้นโดยผู้เขียน]
ในหนังสือดรุณศึกษา ที่ ภารดา ฟ.ฮีแลร์ คณะเซนต์คาเบรียล แต่งเป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในชั้นเตรียมถึงประถมศึกปีที่ 4 ตอนหนึ่งก็กล่าวถึง “ครุฑสัมฤทธิ์” ว่ามีเด็กชายชื่อ พนม จากปราจีนบุรีมาเยี่ยมลุงที่กรุงเทพฯ และได้เห็นทหารเดินแถว ซึ่งแต่ละกองมีธง/ยอดธงที่แต่ต่างกันไป ลุงของเขาก็อธิบายธงและยอดธงที่แบบต่างกัน ทำให้พนมนึกได้ว่ารูปครุฑที่ยอดธง ขุดได้ในบริเวณวัดคริสตัง ที่ตำบลโคกวัด ในดงศรีมหาโพธิ
สำหรับธงมหาไพชยนต์ธวัชนั้น เป็นธงที่มีพื้นอกสีแดง พื้นในสีดำ ตรงกลางมีพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธมีฉัตร 5 ชั้นสองข้าง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 เพื่อพระราชทานเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพบกอีกธงหนึ่งคู่กับธงจุฑาธุชธิปไตย เหตุที่สร้างนั้นทรงพระราชปรารภว่า
“รูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ ณ ตำบลโคกพระ ในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนได้นำขึ้นทูลกล่าวฯ ถวายเมื่อเสด็จถึงเมืองปราจีนบุรีในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2455 นั้น เป็นโบราณวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ก็นับว่าเป็นสิ่งประกอบด้วยสวัสดิมงคล”
ปัจจุบันธงมหาไพชยนต์ธวัชเป็นธงปลดประจำการ ใช้งานครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 ธงมหาไพชยนต์ธวัชจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก ส่วนครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองไม่มีข้อมูลว่าเก็บอยู่ที่ใด
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ศาลาแบ่งปัน เอกสารประกอบนิทรรศการ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ศาลามโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, มิถุนายน 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563