พบหลักฐาน “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์”ไม่ใช่คนสุโขทัย แต่ไปจาก “สุพรรณภูมิ”

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ที่วัดบุรพาราม ซึ่งเจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ทรงสร้างถวาย หากพระนางเป็นคนสุโขทัย ทำไมสร้างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง?

โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคําแหง จังหวัดสุโขทัย กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกําแพงเพชร จังหวัด กําแพงเพชร ส่วนมากเป็นของที่ค้นพบภายในเมืองโบราณสุโขทัย และกําแพงเพชรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนั้นตั้งอยู่

โบราณวัตถุเหล่านี้มีลักษณะเป็นศิลปวัตถุด้วย จึงมีรูปแบบทางศิลปกรรมที่เรียกว่า ศิลปะสุโขทัย เพราะที่ตั้งของเมืองสุโขทัยและ เมืองกําแพงเพชรแต่สมัยโบราณ อยู่ในขอบเขตดินแดนของแคว้น สุโขทัย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะพบศิลปวัตถุที่เป็นศิลปกรรม ของแคว้นสุโขทัยเป็นจํานวนมากในดินแดนดังกล่าว

ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็น พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่คนในสมัยโบราณได้สร้างถวายไว้กับวัด

ภายในเมืองทั้งสอง แต่ถ้าหากผู้ที่สนใจศึกษาศิลปโบราณ วัตถุในพิพิธภัณฑ์ตั้งข้อสังเกตจะพบว่า ในบรรดาพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งนั้น มีพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลังปะปนอยู่ด้วยในปริมาณค่อนข้างมากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกําแพงเพชร และมีอยู่ด้วยจํานวนหนึ่งไม่มากนักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคําแหง สุโขทัย

1.การเรียกชื่อศิลปะว่า ศิลปะอู่ทองนั้น ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่ค่อยสื่อความหมายทางประวัติศาสตร์ และอาจจะสร้างความงุนงงสงสัย ให้แก่ผู้ที่อยู่นอกวงการศิลปะในการทําความเข้าใจด้วย ในที่นี้จะขออธิบาย โดยรวบรัดว่า ศิลปะอู่ทองคือศิลปะของการ ทําพระพุทธรูปที่พบมากในบริเวณที่ราบลุ่ม แม่น้ําภาคกลาง ซึ่งในสมัยโบราณมีศูนย์กลาง คือกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวง นอกจากที่อยุธยาแล้ว ที่จังหวัดสุพรรณบุรีก็พบเป็นจํานวนมาก ด้วย (รวมทั้งอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ฯลฯ)

อาจจําแนกแบบของศิลปะ อู่ทองได้เป็น 2-3 รุ่น แล้วแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จะศึกษาลงในรายละเอียดมากน้อยเพียงใด แต่เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นอาจจําแนกได้เป็นรุ่นแรกและรุ่นหลัง รุ่นแรกจะมีลักษณะของอิทธิพลศิลปะ ลพบุรีหรือศิลปะขอมปนอยู่ด้วย  ส่วนรุ่นหลังจะเป็นแบบที่คลี่คลายไปจากแบบเดิม เป็นแบบที่รับอิทธิพลทางศิลป กรรมจากสุโขทัย แต่ทั้งหมดของพระพุทธรูปอู่ทองนั้นสร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

เชื่อกันว่า พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นแรกนั้น บางองค์สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 1893 อันเป็นปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ ตัวอย่างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นแรกที่ชัดเจนและมีขนาดใหญ่ คือ เศียรธรรมิกราช หรือเศียรพระพุทธรูปอู่ทองหล่อสําริดขนาดใหญ่ที่ได้จากวัดธรรมิกราช ในตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ได้จากกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ และนํามาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ และที่อยุธยานั้น แสดงว่ามีการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะแบบนี้สืบต่อกันมาจนถึงรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา ผู้สถาปนาวัดราชบูรณะขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 เป็นอย่างน้อย

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลังบางองค์จะมีลักษณะ ของอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสาน มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1950) ลงมา ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัชกาลของ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระราชบิดาของสมเด็จเจ้าสามพระยา ผู้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1952

อาจกล่าวโดยสรุปว่า พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองคือรูปแบบพุทธศิลปะที่ทํากันที่เมืองสําคัญของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ซึ่งหากใช้ชื่อศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองมาเรียก ก็อาจกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปของอาณาจักรอยุธยา ตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 20)

แต่ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ได้พบพระพุทธรูปในศิลปะแบบนี้จํานวนหนึ่งในดินแดนสุโขทัย ทั้งๆ ที่สุโขทัย ก็มีรูปแบบทางศิลปะเป็นของตนเอง และเป็นศิลปะที่มีความงดงามไม่ใช่น้อย (ตามค่านิยมปัจจุบัน) เหตุใดในขณะที่ยังมีการทําพระพุทธรูปตามรูปแบบของตนเองอยู่ กลับมีการนําพระพุทธรูปในศิลปะของที่อื่นมาใช้ในดินแดนของตนด้วย (พระพุทธรูปคือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ทําไมจึงเอาพระพุทธเจ้าที่รูปร่างหน้าตาต่างกันไปจากพระพุทธเจ้าตามความเชื่ออันเป็นอุดมคติของตนเองมาบูชา)

ในบทความนี้จึงจะเป็นการอธิบายหลักฐานทางโบราณคดีส่วนนี้ว่า ควรจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทาง ประวัติศาสตร์ใด ในช่วงเวลาตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับปลายสมัยของแว่นแคว้นทางการเมืองการปกครองของสุโขทัย

2.เมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 อาจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตภัณฑารักษ์พิเศษ กรมศิลปากร ขณะนั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี ได้จัดหางบประมาณค่าใช้จ่ายให้ผู้เขียนได้เดินทางไปถ่ายภาพโบราณวัตถุชิ้นสําคัญชิ้นหนึ่งที่เก็บอยู่ในห้องคลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคําแหง สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทอง ที่ฐานมีจารึกตัวอักษรภาษาไทย

คุณมะลิ โคกสันเทียะ หัวหน้าหน่วยศิลปากรสุโขทัยในขณะนั้นได้อํานวยความสะดวกในการถ่ายภาพพระ พุทธรูปองค์ดังกล่าว

ภาพที่ผู้เขียนเป็นผู้ถ่ายต่อมาได้มีการนํามาจัดพิมพ์ อยู่ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2513 จัดลําดับจารึกเป็นหลักที่ 130 จารึกฐานพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง

ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนี้ จัดแสดงอยู่ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก อําเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พิพิธภัณฑ์ให้เลขทะเบียนพระพุทธรูปองค์นี้เป็น อ.ท. 34 เป็นพระพุทธรูปหล่อสําริด หน้าตักกว้างประมาณ 35 เซนติเมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีที่มาตามทะเบียนประวัติว่าได้มาจากโบราณวัตถุที่ถูกคนร้ายลักลอบขุดกรุและไม่สามารถขนย้ายไปได้หมด ภายในบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย ลักษณะพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลักษณะของฐานที่ทําเป็นฐานบัวคว่ำหงายเรียบๆ ทรวดทรงที่ยึดตรงแข็งกระด้าง เค้าพระพักตร์ที่เคร่งขรึม มีเส้นกรอบพระพักตร์ ทั้งหมดเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของศิลปะอู่ทอง ทรวดทรงพระพักตร์ที่เป็นรูปไข่แล้ว และมีรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิงแสดงอิทธิพลของศิลปกรรมศิลปะสุโขทัย จัดเป็นศิลปะอู่ทอรุ่นหลังมีอายุอยู่ในช่วงเวลาสมัยอยุธยาตอนต้น

จารึกที่ฐาน อาจารย์ประสาร บุญประคอง อดีตผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ กรมศิลปากร ได้ให้ไว้ดังนี้

ตัวปริวรรต ตนนิกํพระเจาแมเอินไวในบุรพารามนี คําอ่าน ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้

จากคําจารึกที่ติดกันไม่มีเว้นวรรคนี้ มีความหมายว่า เขา (ช่าง) ได้ทําพระพุทธรูปที่เจ้าแม่ให้สร้างถวายไว้กับวัดบูรพาราม   

หรือเจ้าแม่ด้วยเจตนาของนางเองให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อให้ไว้กับวัดบูรพารามแห่งนี้ 

หรืออาจกล่าวโดยสรุปในความหมายได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้เจ้าแม่ได้ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายไว้กับวัดบุรพารามนี้

3.วัดบุรพาราม ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใดแน่ ที่เมืองเก่าสุโขทัย คงมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 93 ศิลาจารึกวัดอโสการาม อักษรและภาษาไทย จารึกขึ้นตั้ง | แต่ประมาณ พ.ศ. 1951 ลงมาว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์มเหสีของ

พระมหาธรรมราชาธิราชโอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทกับพระศรีธรรมราชมารดา เป็นผู้สร้างวัดบูรพาราม ก่อนหน้า พ.ศ. 1951 ไว้แล้ว

ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ คณะกรรมการชําระประวัติศาสตร์ไทยฯ สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2534 มีศิลาจารึกที่จัดลํา ดับเป็นหลักที่

286 จารึกวัดบูรพาราม เป็นศิลาจารึกสองด้าน

ด้านที่หนึ่งเป็นอักษรไทย ภาษาไทย ด้านที่สองเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี ปรากฏชื่อวัดบูรพาราม บนด้านอักษรภาษาไทย และชื่อปุพพาราม บนด้านอักษรขอม ภาษาบาลี มีความตอนหนึ่งว่า พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ได้นําพระธาตุ 3 องค์มาบรรจุไว้ในสถูปของวัดบูรพาราม เมื่อประมาณ พ.ศ. 1955

เป็นที่น่าเสียดายว่า ศิลาจารึกวัดบูรพารามได้ถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ นานแล้ว และมิได้มีบันทึกว่า เอามาแต่ไหน เมื่อไร พระครูปลัดสนธิ จิตตปัญโญ วัดศาลาครืน เขตจอมทอง นําขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น)และทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรรับมาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532

อย่างไรก็ดี ชื่อของวัดว่าบูรพาราม ก็พอจะยืนยัน ทิศทางที่ตั้งของวัดได้ว่า ตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยทาง ด้านทิศตะวันออก สําหรับโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศนี้ เมื่อพิจารณาว่าเป็นวัดที่เจ้านายระดับสูงเป็นผู้สร้าง ประกอบอายุเวลาก่อสร้างประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20 แล้ว อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า น่าจะได้แก่โบราณสถานในกลุ่มที่ ปัจจุบันเรียกแยกเป็นวัดตระพังทองหลาง กับวัดเจดีย์สูง ดูจะเหมาะสมที่สุดทั้งในด้านขนาดของวัดและรูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏ (ส่วนที่ว่า เหตุใดพระพุทธรูปองค์นี้จึงถูกนํามาบรรจุไว้ในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย เป็นเรื่องที่ควรศึกษากันต่อไป)

4.ถึงอย่างไรสมมติฐานเกี่ยวกับที่ตั้งของวัดก็มิใช่ ประเด็นสําคัญที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เรื่องที่น่าสนใจ นั้นอยู่ที่ว่า พระพุทธรูปองค์นี้มิใช่พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่เป็นศิลปะอู่ทองหรือศิลปะของราชอาณาจักรอยุธยา

ดังนั้น เจ้าแม่ผู้ให้สร้างพระพุทธรูปไว้กับวัดบูรพารามก็ต้องมิใช่ชาวสุโขทัย แต่เป็นชาวเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำ ภาคกลางของอาณาจักรอยุธยา

และจากหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกหลักที่ 93 วัดอโศการาม กับศิลาจารึกหลักที่ 286 วัดบูรพาราม ที่ประมวลได้ว่า ผู้สร้างวัดบูรพารามนั้นคือ พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์มเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราชกษัตริย์สุโขทัยขณะนั้น ก็ย่อมแสดงว่า เจ้าแม่ผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ก็คือ พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้สร้างวัดบูรพาราม และให้สร้างพระพุทธรูปไว้ด้วยกับวัดที่พระนางสร้างไว้นั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีทางประวัติศาสตร์ว่า กษัตริย์อยุธยา ตอนต้นตั้งแต่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ผู้เสวยราช สมบัติพระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1952 นั้น ล้วนสืบเชื้อสายทางพระราชบิดาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราชมารดาเป็นเชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัย กล่าวคือความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับแคว้นสุโขทัยนั้นผ่านทาง ความผูกพันของผู้นําโดยฝ่ายชายเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ กับฝ่ายหญิงสุโขทัย

จากหลักฐานที่เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ยกมาข้างต้น ในที่นี้จึงเป็นการเสนอภาพเพิ่มขึ้นให้เห็นว่า มีการสร้างสายสัมพันธ์สลับกันโดยฝ่ายชายเป็นสุโขทัยกับ หญิงเป็นเจ้านายของราชอาณาจักรอยุธยาด้วย ซึ่งสมมติเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นว่าเป็นเจ้านายฝ่ายหญิง ของราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ที่จริงอาจเป็นราชวงศ์ละโว้ อโยธยา ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก็ได้ หากได้มีการศึกษากันต่อไปและมีเงื่อนไขที่ควรอธิบายเพิ่มเติม)

5.ตอนนี้จะขอนําเรื่องที่เล่าในลักษณะตํานานมาคั่นไว้สั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องพระนางจามเทวี เมื่อเสด็จจากกรุงละโว้ไปครองเมืองหริภุญไชย จังหวัดลําพูน

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า พระนางได้ไป…พร้อมด้วยบริวารหมู่ใหญ่จําพวกละ 500 องค์ กับพระมหาเถระทรงไตรปิฎก 500 องค์… หนังสือตํานานมูลศาสนา (ฉบับวัดสวนดอก) ได้กล่าวถึงญาติวงศ์พงศาที่ขึ้นไปกับพระนางว่า …ชาวพ่อชาวอาทั้งหลาย… นอกจากนี้ โคลงนิราศหงสาวดีหรือที่มีชื่อเรียกว่า โคลงมังทรารบ เชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องที่แสดงภาพพลเมืองชาวเชียงใหม่ หมู่ใหญ่ที่เดินทางไปกรุงหงสาวดีพร้อมกับพระนางในราชวงศ์เชียงใหม่ เมื่อครั้งที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชา (อะ น็อคเปตลุนมิน) หลานปู่ของพระเจ้าบุเรงนองคิดจะฟื้นฟูกรุงหงสาวดีขึ้นมาใหม่ หลังจากที่กษัตริย์พม่ารุ่นพ่อได้เผาผลาญทิ้งทําลายเพื่อหนีกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่ยกเรื่องตํานานจามเทวีและเรื่องในประวัติศาสตร์ เชียงใหม่-พม่าขึ้นมาคั่นนั้น เพื่อชักจูงให้เห็นภาพการขึ้นมา สุโขทัยของเจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิว่า น่าจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน พระนางขึ้นมาดํารงตําแหน่งสูงสุดของสตรีในแผ่นดินที่ปรากฏชื่อตําแหน่งเป็นครั้งแรกในศิลาจารึกของสุโขทัย คือเป็นพระมเหสีของ พระมหาธรรม ราชาธิราชกษัตริย์สุโขทัยขณะนั้น ผู้เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชาลิไท (พระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตแล้ว)

หลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้รู้ที่มาจากสุพรรณภูมิกับพระนางคือ นายช่างใหญ่ผู้ปั้นหล่อพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นตัวแทนของกลุ่มช่างผู้สร้างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่พบที่สุโขทัยและกําแพงเพชร กวีราชบัณฑิตชื่อ ศรีธรรมไตรโลก ผู้รจนาศิลาจารึกอโสการาม เป็นภาษาบาลีสรรเสริญเจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ อาจใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายผู้ ปรากฏชื่อและไม่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกวัดอโศการามและวัดบูรพาราม

สําหรับศรีธรรมไตรโลกนี้ปรากฏชื่ออยู่ในพวกนักปราชญ์ฝ่ายกษัตริย์ที่ขึ้นไประงับข้อขัดแย้งระหว่างสงฆ์ที่เมืองศรีสัชนาลัย เมื่อ พ.ศ. 1949 ในศิลาจารึกหลักที่ 9 ศิลาจารึกวัดป่าแดง จังหวัดสุโขทัย ด้วย และในศิลาจารึกหลักที่ 9 นี้ ได้พบฉายาพระเถระฝ่ายอรัญวาสีรูปหนึ่งคือ พระสุพรรณสยามมหาเถร ที่ทําให้คิดว่า น่าจะเป็นตัวแทนของพระเถระผู้ทรงคุณความรู้จากสุพรรณภูมิที่ขึ้นมา กับพระนางด้วยเช่นกัน

ฝ่ายญาติวงศ์พงศาที่ขึ้นมากับพระนางก็มีบิดามารดา ผู้ถึงแก่กรรมที่สุโขทัยดังกล่าวอยู่ในศิลาจารึกวัดอโสการาม และบูรพาราม อาจจะคิดต่อไปได้อีกว่า นายอินทสรศักดิ์ ผู้ขอที่ดินออกญาธรรมราชาสร้างวัดขึ้นที่ในเมืองสุโขทัย ในหลักที่ 49 ศิลาจารึกสรศักดิ์ ม.ศ. 1334 (พ.ศ. 1955) ที่เคยสงสัยกันว่าเป็นใคร มาจากไหน เพราะชื่อ นายอินทสรศักดิ์นี้ ผู้เชี่ยวชาญศิลาจารึกสุโขทัยดูไม่คุ้นหูว่า จะเป็นชื่อชาวสุโขทัย คําอธิบายที่ผ่านมาก็อาจนํามาใช้ได้ ว่า คือขุนนางที่ขึ้นมากับเจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ในครั้งนี้ และได้เข้าเป็นขุนนางในราชสํานักของสุโขทัยด้วย

นอกจากนี้ ไพร่พลเมืองที่น่าจะมาด้วยกันก็อาจจะดู ได้จากคนจํานวน 50 เรือน มีนายเชียงศรีจันท์เป็นหัวหน้าที่พระราชทานให้แก่วัดอโสการาม คน 10 เรือน พระราชทานแก่วัดทักษิณาราม และคนอีกประมาณ 200 คน ที่พระราชทานไว้แก่วัดบูรพาราม ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมจํานวนที่ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่พระนางควรพระราชทานไว้ กับวัดอื่นๆ อีก 5-6 วัดที่ทรงสร้างไว้ด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เกิดภาพพจน์ถึงการขึ้นมาสุโขทัยของเจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์แห่งสุพรรณภูมิว่า พระนางมิได้เสด็จมาอย่างโดดเดี่ยวตามลําพัง แต่มาพร้อมคณะบุคคลในหลายระดับ ทั้งญาติวงศ์พงศา แวดล้อมใกล้ชิด นักปราชญ์ราชบัณฑิต เถรานุเถระทั้งหลาย ขุนนางข้าราชการ และไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นภาพรายละเอียดที่แสดงให้เห็นสภาวะ ครอบงําอย่างหนึ่งที่ทางฝ่ายสุพรรณภูมิมีอยู่เหนือราชสํานักของสุโขทัย ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานการรวมแว่นแคว้นสุโขทัยเข้าไว้ในราชอาณาจักรอยุธยาอย่างชัดเจนในที่สุด

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 3 กรกฎาคม 2562