ทำไม รัชกาลที่ 1 ทรงถวายพระนาม “พระประธาน” วัดโพธิ์ ว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”

พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธาน พระอุโบสถ วัดโพธิ์
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ (ภาพ : https://watpho.com/th/buddha/detail/198)

สงกรานต์ 2567 ใครยังไม่มีแผนเที่ยวไหน ขอแนะนำ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ “วัดโพธิ์” ซึ่งมีของดีให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าไปชื่นชมมากมาย ทั้ง จารึกสรรพวิชา ตำราฤาษีดัดตน ฯลฯ รวมถึงความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ขาดไม่ได้คือ พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งมีพุทธลักษณะงามยิ่ง กระทั่งได้รับการยกย่องว่า ราวกับเทวดาเป็นผู้สร้างขึ้น

พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระปางสมาธิ หน้าตัก 5 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 7 ศอกคืบ คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นพระประธานอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า (ปัจจุบันคือวัดคูหาสวรรค์ กรุงเทพฯ)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานแทนองค์เดิม ซึ่งโปรดฯ ให้ประดิษฐาน ณ ศาลาการเปรียญ

พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (กมล โกวิโท ป.ธ. 6 ต่อมาเป็น พระธรรมราชานุวัตร อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์) ตั้งข้อสังเกตว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ เข้ามายังเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก ทุกองค์ล้วนมีพุทธลักษณะที่งดงาม

ส่วนที่มีขนาดเดียวกับพระประธานก็มีหลายองค์ เช่น พระประธานที่ประดิษฐานประจำพระวิหารทิศต่างๆ แต่ก็ไม่ทรงโปรด อาจเพราะมีพระราชประสงค์ให้ “พระประธาน” วัดโพธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเช่นองค์เดิมก็ได้

หรืออีกประการ ทรงถือว่าวัดนี้ตั้งคู่กับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้มีพระราชศรัทธาแรงกล้าสถาปนาขึ้นให้ใหญ่โต พระประธานก็ควรเป็นปางสมาธิ เป็นมงคลนิมิตอันประเสริฐ อีกทั้ง “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง ก็เป็นปางสมาธิด้วยเช่นกัน

พระพุทธรูปองค์นี้ มีพุทธลักษณะงามสมส่วนเป็นพิเศษ ทั้งวงพักตร์ พระขนง พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ พระกรรณ รับกันทุกส่วน ผู้ที่ได้พิศก็จะรู้สึกอิ่มเอิบ ก่อเกิดความศรัทธา

เพราะความงดงามอย่างยิ่งนี้เอง รัชกาลที่ 1 จึงทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร” อันมีความหมายว่า “เทวดาสร้าง”

ส่วน “ฐานพระประธาน” มี 3 ชั้น ปั้นเป็นลายกุดั่นรองสีแดงประดับกระจก ปิดทอง หล่อรูปเทวดา ยักษ์ ครุฑ ประนมมือ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งเป็นส่วนที่พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นๆ ได้รับพระราชทานไปสักการบูชา เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระบรมอัฐิก็จะไม่มีผู้พิทักษ์รักษา

รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ไว้ในกล่องศิลา แล้วอัญเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาสน์ พระพุทธเทวปฏิมากร เพื่อให้มหาชนได้สักการบูชาและบำเพ็ญกุศลต่อมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (กมล โกวิโท ป.ธ. 6, เรียบเรียง. ย่อประวัติวัดพระเชตุพน พระพุทธรูปสำคัญ. พิมพ์ครั้งที่ 10, 2556.


เผยแพร่ในระบบครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2567