วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์”

อนุสาวรีย์ กษัตริย์ พม่า ที่ เนปิดอว์ และ ทหารพม่า สวนสนาม กับ ภาพ แผนที่ พม่า ย่างกุ้ง

วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไม “พม่า” (เมียนมา) ย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์”

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองเพียงมะนา (Pyinmana หรือ เปียงมะนา) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน (Upper Sittang Valley) ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร โดยให้เหตุผลว่าเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหภาพพม่ามีความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 อันเป็นวันกองทัพ พม่า ราชธานีแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงหมู่บ้านจั๊ตปเย (Kyatpyae) ทางด้านตะวันตกในเขตเมืองเพียงมะนาได้ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยมีชื่อว่า กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw, Nay Pyi Taw หรือ เนปยีดอว์) ซึ่งแปลว่า บัลลังก์แห่งกษัตริย์ จากบริบทดังกล่าว เนปิดอว์ คือ ชื่อของเมืองหลวงแห่งใหม่ซึ่งถูกรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่เพียงมะนา คือ ชื่อของเมืองและเขตการปกครองอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกล่าวโดยรวมแล้ว ราชธานีแห่งใหม่ของพม่ามีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า นครเพียงมะนา เนปิดอว์

สำหรับสาเหตุของการสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่และลักษณะทางกายภาพของเมืองหลวงพม่านั้นจัดว่ามีรายละเอียดและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวง?

การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนาจัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าที่ประกอบด้วยแรงผลักดันหลากหลายประการตลอดจนได้รับอิทธิพลจากหลักนิยมทางการทหารและสภาวะแวดล้อมของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็นซึ่งส่งผลให้นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงและฐานอำนาจของรัฐบาลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร โดยต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของรัฐพม่าผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการอย่างเป็นระบบเพื่อฉายภาพการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกและรอบด้านโดยแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก 9 ปัจจัยย่อย ดังต่อไปนี้

1. การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council-SPDC) ได้ขึ้นครองอำนาจต่อจากระบอบเนวินผ่านการทำรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนตลอดจนปฏิเสธการคืนอำนาจทางการปกครองให้กับนางอองซาน ซูจี หลังการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลทหารพม่าได้ให้น้ำหนักกับการสร้างเอกภาพทางการเมืองและการขยายแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ

นอกจากนี้กลุ่มคณะทหารยังได้หวาดระแวงภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การลุกฮือของประชาชนในเขตนครย่างกุ้งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) การขยายกำลังพลของชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนเพื่อทำสงครามต่อต้านรัฐบาล ตลอดจนการโจมตีจากมหาอำนาจตะวันตกเพื่อล้มระบอบทหารในปัจจุบัน

นาง อองซาน ซูจี ปราศรัย ต่อต้าน ทหาร พม่า ที่ ย่างกุ้ง
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นางอองซานซูจี ปราศรัยต่อต้านระบอบทหารในกรุงย่างกุ้ง (Photo by AFP / AFP FILES / AFP)

ผลจากความกังวลใจดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มรัฐบาลทหารดำเนินนโยบายรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ขยายระบบสายลับเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง ตลอดจนนำหลักนิยมและระบบสายบังคับบัญชาทางการทหารเข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยหากยังมีบริเวณใดที่อำนาจการควบคุมของรัฐบาลยังเข้าไปไม่ถึง หรืออำนาจของรัฐบาลในนครย่างกุ้งเริ่มเกิดความผันผวนระส่ำระสาย หรือทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงเสี่ยงต่อการโจมตีจากศัตรูภายนอก การย้ายเมืองหลวงไปยังทำเลที่มีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์จึงจัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสถาปนาศูนย์อำนาจทางการเมืองและการทหารที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

สำหรับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายเมืองหลวงนั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1.1 ภัยคุกคามจากการลุกฮือของประชาชน

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีความเชื่อว่าการแบ่งสันอำนาจให้กับประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ของพลเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของสหภาพพม่า ตลอดจนคุกคามการถือครองอำนาจของกลุ่มคณะทหาร จากบริบทดังกล่าว นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดพาเอาแนวคิดประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตกตลอดจนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยทำให้อำนาจที่เข้มแข็งและมีเอกภาพของกลุ่มคณะทหารเริ่มมีลักษณะเปราะบางและกระจัดกระจายมากขึ้น

ประกอบกับประวัติศาสตร์การเมืองของนครย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล เช่น เหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเนวิน เหตุการณ์ 8888 (8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 โดยกลุ่มประชาชนเพื่อขับไล่และโค่นล้มระบอบเผด็จการอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาตร์พม่า หรือเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2539 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเพื่อขับไล่คณะทหารและเรียกร้องการคืนอำนาจทางการเมืองให้กับนางอองซาน ซูจี

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มคณะทหารมีความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและหวาดระแวงต่อการลุกฮือของประชาชนซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลันและสร้างความระส่ำระสายให้กับอำนาจของรัฐบาล โดยคณะผู้นำทหารต่างมีความเชื่อว่าพลังเงียบของประชาชนและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยล้วนฝังรากลึกและขยายเครือข่ายทางการเมืองทั่วเขตเมืองย่างกุ้ง ประกอบกับสถานที่ราชการและค่ายทหารบางแห่งล้วนตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการของสถานทูตตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศโดยลักษณะภูมิทัศน์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมจากประชาชนหากมีการประท้วงทางการเมืองหรือเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูลจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้นการย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองไปยังเพียงมะนา เนปิดอว์ เพื่อการจัดวางโครงสร้างผังเมืองและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเป็นระบบจึงเป็นการลดความกังวลใจทางการเมือง ถอยห่างจากวงปิดล้อมของประชาชนในนครย่างกุ้ง ตลอดจนเพิ่มสมรรถนะในการเคลื่อนกำลังพลและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีการจลาจลเกิดขึ้น

1.2 ภัยคุกคามจากการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย

ประวัติศาสตร์ พม่า จัดเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพม่าแท้กับชนกลุ่มน้อยโดยมีการทำสงครามขับเคี่ยวยื้อแย่งดินแดนตั้งแต่สมัยจารีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำสงครามระหว่างพม่ากับอาณาจักรมอญและกลุ่มเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หรือการที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกเกณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษเพื่อกดขี่ชาวพม่าในสมัยอาณานิคม

สำหรับในมุมมองของรัฐบาลทหารพม่านั้นชนกลุ่มน้อยจัดเป็นชนชายขอบและเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแผ่อำนาจควบคุมดินแดนชนกลุ่มน้อยโดยถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังของชนเผ่าต่าง ๆ แต่ก็ยังคงหลงเหลือ 3 กองกำลังหลักที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วย กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (Shan State Army-SSA) กองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์ (Karen National Union-KNU) และกองกำลังแห่งชาติคะเรนนีย์ (Karenni National Progressive Party) โดยกองกำลังทั้ง 3 ฝ่ายล้วนมีฐานที่มั่นอยู่ตรงบริเวณชายแดนตะวันออกติดกับประเทศไทย

ในส่วนของการย้ายเมืองหลวงนั้น หากพิจารณาจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะพบว่าถึงแม้เมืองเพียงมะนาจะตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศแต่ก็มีอาณาเขตชนแดนชนกลุ่มน้อยทั้ง 3 กลุ่มซึ่งการย้ายเมืองหลวงไปยังบริเวณดังกล่าวย่อมส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลมีความเข้มข้นและสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเมืองเพียงมะนาอาจถูกโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยแต่หากพิจารณาจากสมรรถนะทางการทหาร… จะพบว่ากองทัพพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์และจำนวนกำลังพลมากกว่ากองกำลังทั้ง 3 ฝ่าย

กองกำลัง Shan State Army (SSA) ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2006 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจึงเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่าชนกลุ่มน้อยตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มคณะทหารเพื่อแผ่กระจายอำนาจให้เข้าถึงทั้งดินแดนตอนกลางและดินแดนชายขอบ ในขณะเดียวกันนครย่างกุ้งก็มีจุดอ่อนตรงที่อยู่ห่างไกลจากฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อยและไม่ได้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศซึ่งทำให้อำนาจที่แผ่ออกจากเมืองหลวงมีความเบาบางแปรผันไปตามระยะทาง

ดังนั้นการสถาปนาเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ในเขตทับซ้อนระหว่างดินแดนของกลุ่มชนชาติพม่าแท้แถบภาคมัณฑะเลย์ มาเกว (Magway) และบาโก (Bago) กับดินแดนของชนกลุ่มน้อยแถบรัฐฉาน กะเหรี่ยง และคะยาห์ จะส่งผลให้ปริมณฑลของอำนาจที่แผ่กระจายออกจากเมืองหลวงมีความเข้มข้นและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

1.3 ภัยคุกคามจากการรุกรานทางทะเลของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลทหารพม่ามีความเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการและเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ประเทศประชาธิปไตยหากมีช่วงจังหวะที่เหมาะสม โดยความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีจากสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ประท้วงในปี พ.ศ. 2531 เมื่อมีการปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในเขตน่านน้ำพม่าบริเวณอ่าวเมาะตะมะ นอกจากนี้หลังจากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช สหรัฐอเมริกาได้ประณามรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่องตลอดจนออกรัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพและระบอบประชาธิปไตยพม่า (Burmese Freedom and Democratic Act of 2003) โดยมีเนื้อหาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูพม่าหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ…

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึกตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว

โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategy) จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขึ้นจริงสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตภาคพื้นทวีปเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาดคล้ายคลึงกับปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งมีการวางกำลังเรือรบในอ่าวเปอร์เซียแล้วส่งกองทหารราบเข้ายึดครองเมืองหลวง

จากกรอบแนวคิดดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจะทำให้กองทัพพม่ามีโอกาสต้านทานการรุกรานได้มีประสิทธิภาพกว่าการตั้งรับอยู่ในเขตย่างกุ้งตลอดจนสะดวกต่อการได้รับความช่วยเหลือจากจีนผ่านเครือข่ายคมนาคมจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งตรงสู่เพียงมะนา นอกจากนี้การสถาปนาศูนย์บัญชาการภาคแห่งใหม่ในเขตเมืองหลวงยังเป็นการสะท้อนถึงการเลือกใช้กองทัพบกในการประจันหน้ากับศัตรูเนื่องจากกองทัพเรือของพม่ามีความอ่อนแอและเข้มแข็งน้อยกว่ากองทัพบก

2. การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน

ถึงแม้ว่าการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหารจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุด แต่การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนในก็จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในฐานะศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มคณะทหาร โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบการตลาดเพื่อพัฒนาพม่าให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยตลอดจนนำเงินรายได้จากการขายทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบเผด็จการ

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้กำหนดให้บริเวณตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนเป็นดินแดนหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกรรมในเขตลุ่มน้ำอิรวดีและเครือข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้และพลังงานน้ำจากเขื่อนในเขตลุ่มน้ำสาละวิน แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาในประเทศพม่าก็ยังจัดว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของระบอบทหาร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนและแร้นแค้น สำหรับประเด็นการวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้นจัดว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

2.1 การขยายตัวของการพัฒนาทางการเกษตร

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนเขตแล้งทางตอนกลางของประเทศให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว (Green Area) โดยการขยายเครือข่ายชลประทานครอบลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำอิรวดี ลุ่มน้ำสะโตง ลุ่มน้ำมู และลุ่มน้ำมิตแหง่เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินอันแห้งแล้งและรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพรมแดนทางการเกษตรในเขตภาคพื้นทวีปแล้วยังเป็นการจัดตั้งเครือข่ายผลิตเสบียงอาหารให้กับค่ายทหารของกองทัพบก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเขตพม่าภาคกลาง

จากกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเพียงมะนาแถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนให้เป็นดินแดนหัวใจของการพัฒนาเกษตรกรรม เนื่องจากประกอบด้วยสถานีวิจัยและสถาบันที่มีชื่อเสียงทางการเกษตร รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขื่อนสำคัญหลายแห่ง เช่น เขื่อนปองลอง (Paungloung) และเขื่อนเยซิน (Yezin) ตลอดจนมีเครือข่ายชลประทานที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำอิรวดีและอยู่ไม่ไกลจากลุ่มน้ำสาละวินในเขตที่ราบสูงฉาน

นอกจากนี้การสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากรในสภาวะสมดุลซึ่งเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกับการย้ายเมืองหลวงจากอิสตัลบูล (Istanbul) ไปอังการา (Ankara) ของประเทศตุรกี และจากลากอส (Lagos) ไปอาบูจา (Abuja) ของประเทศไนจีเรีย โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ย้ายเมืองหลวงเพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในเขตชายฝั่งทะเลและเพิ่มจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ตอนใน

สำหรับในกรณีของพม่านั้นจะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่หนาแน่นในเขตพม่าตอนล่างแถบเมืองย่างกุ้งและเมาะลำไย (Moulmein) และเขตพม่าตอนบนแถบเมืองเมฆถิลาและมัณฑะเลย์ ซึ่งส่งผลให้บริเวณชายขอบด้านใต้ของเขตแล้งพม่า (Southern Edge of the Dry Zone) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ค่อนข้างเบาบาง

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงมายังบริเวณดังกล่าวผสมผสานกับการจัดตั้งเครือข่ายทางการเกษตรจึงส่งผลให้ประชากรจากทั้ง 2 ภูมิภาคอพยพเข้าสู่เขตปริมณฑลของเมืองหลวงแห่งใหม่มากขึ้นอันนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการคุมพม่าภาคกลาง ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มความเข้มข้นให้กับการตั้งถิ่นฐานของชาวพม่าเพื่อแผ่อิทธิพลเข้าดูดกลืนและครอบงำชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนตะวันออก

กองทัพพม่า สวนสนาม ในเมือง เพียงมะนา อนุสาวรีย์ กษัตริย์ พม่า ที่ เนปิดอว์
กองทัพพม่าสวนสนามในเมืองเพียงมะนา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2006 (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

2.2 การขยายตัวของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้ขยายโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบริเวณเขตที่ราบและเขตภูเขาตามแนวชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนในตลอดจนนำรายได้เข้าบำรุงกองทัพเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบทหาร เช่น การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้ดินทางฟากตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี แหล่งเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตนบริเวณรัฐฉานและคะยาห์ และแหล่งผลิตแร่ทองคำบริเวณยะแมตีง (Yamethin) ทางตอนเหนือของเพียงมะนา

โดยการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดว่าเป็นตัวสะท้อนถึงการแผ่อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมทรัพยากรทั้งในเขตที่ราบและเขตภูเขาท่ามกลางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด สำหรับในส่วนของการพัฒนาพลังงานนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลทหารได้วางนโยบายลดการพึ่งพึงก๊าซธรรมชาติและหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจพม่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยเห็นได้จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ครอบคลุมลุ่มน้ำอิรวดี สะโตง และสาละวิน

ซึ่งหากพิจารณาตามหลักภูมิเศรษฐศาสตร์จะพบว่าเมืองเพียงมะนาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลุ่มน้ำอิรวดีซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทางการเกษตรและลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยและจีน โดยในอนาคตเพียงมะนาจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการขยายเครือข่ายพลังงานครอบคลุมทั้ง 3 ลุ่มน้ำ ตลอดจนรองรับรายได้มหาศาลจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแล้วยังทำให้กองทหารพม่าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงแห่งใหม่เข้ามาวางกำลังเรียงรายไปตามเครือข่ายพลังงานในเขตชายแดนตะวันออกเพื่อเปลี่ยนสนามรบให้เป็นอ่างเก็บน้ำตลอดจนครอบครองพื้นที่ป่าไม้ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย

2.3 การขยายตัวของเครือข่ายคมนาคมขนส่ง

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) มีความเชื่อว่าการมีระบบโครงข่ายถนนที่โยงใยไปทั่วภูมิภาคจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กับประเทศ จากแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารได้จัดสร้างเครือข่ายถนนวงแหวนเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตภาคพื้นทวีปอย่างเป็นระบบ โดยเห็นได้จากการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีจำนวนหลายแห่ง ตลอดจนการสร้างทางด่วนสายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ ยกตัวอย่างเช่น ทางด่วนจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ ตองอูไปยะแมตีง และเพียงมะนาไปพินลวง (Pinlaung)

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศตลอดจนเป็นชุมทางรถไฟและศูนย์รวมของถนนสายต่าง ๆ ย่อมทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศตลอดจนเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วหากมีศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกัน ระบบเครือข่ายถนนในประเทศพม่ายังมีการเชื่อมโยงกับทางหลวงสายเอเชีย (Trans Asian Highway) ซึ่งส่งผลให้ประเทศพม่ากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลจากการขยายตัวของทางหลวงสายเอเชียได้ส่งผลให้เมืองเพียงมะนาในอนาคตกลายเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในแนวดิ่งที่เชื่อมโยงหัวเมืองตอนใต้ของจีนและมัณฑะเลย์เข้ากับนครย่างกุ้งและท่าเรือสำคัญในอ่าวเมาะตะมะ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในแนวระนาบที่เชื่อมโยงหัวเมืองตะวันออกของอินเดียและรัฐอาระกันเข้ากับหัวเมืองชายแดนในเขตที่ราบสูงฉานและตัดเข้าสู่ประเทศลาว ไทย และเวียดนาม

ดังนั้นการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในเขตเมืองเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งภาคพื้นทวีปตลอดจนเสริมสร้างสมรรถนะของรัฐบาลในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

3. การสร้างเอกภาพทางสังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) ได้ดำเนินนโยบายเพื่อที่จะสถาปนาเอกภาพทางจิตวิญญาณให้กับระบอบทหารและสหภาพพม่า (Union Spirit) โดยเห็นได้จากการปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยม (Monarchical Nationalism) เพื่อหวนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิพม่ายุคโบราณ การปลุกระดมลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อผลักดันการแทรกแซงจากต่างชาติและสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ การดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มโบราณสถานและราชธานีเก่าเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนการใช้หลักโหราศาสตร์ในการประกอบพิธีสำคัญระดับชาติเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์และโน้มน้าวให้ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำ

สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่งของจารีตโบราณและเป็นสัญลักษณ์แห่งการเบิกยุคใหม่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศตลอดจนเป็นการประกาศอำนาจของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ในฐานะผู้ปกครองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบารมีทางการเมือง จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตกเพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นตามโลกทรรศน์พม่า โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ย่างกุ้ง พม่า
ภาพถ่ายกรุงย่างกุ้งเมื่อ ค.ศ. 1945

3.1 การปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณ

หลังจากเหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลทหารพม่าได้รื้อฟื้นประเพณีราชสำนักโบราณตลอดจนลอกเลียนแบบพฤติกรรมของกษัตริย์พม่าในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบันกษัตริย์ในยุคจารีต ยกตัวอย่างเช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญต่าง ๆ การบูรณะกลุ่มราชธานีเก่า เช่น พุกาม ตองอู อังวะ และหงสาวดี ตลอดจนการครอบครองช้างเผือกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชและเป็นเครื่องประดับบารมีของกษัตริย์พม่าในอดีต

จากสภาวะดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงไปยังนครเนปิดอว์ซึ่งแปลว่าบัลลังก์แห่งกษัตริย์นั้นจัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความพยายามของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยในการประกาศตัวเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกับกษัตริย์พม่าโบราณ ตลอดจนเป็นการสร้างชื่อในประวัติศาสตร์เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่าประกาศย้ายเมืองหลวงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ

นอกจากนี้แหล่งข่าวในพม่ายังกล่าวว่าประชาชนบางกลุ่มถูกบังคับให้เดินโดยเท้าเปล่าจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ ซึ่งคล้ายคลึงกับไพร่ราบของกษัตริย์พม่าในอดีต ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดจึงสะท้อนถึงการปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณตลอดจนแสดงถึงมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในระบบความคิดและโลกทรรศน์ของผู้นำพม่าคนปัจจุบัน (พลเอกอาวุสโสตันฉ่วย – กองบก.ออนไลน์)

3.2 การปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์

กรณีการย้ายเมืองหลวงในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าวลือในพม่ามีความเชื่อว่าโหราจารย์ประจำตัวพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยได้ทำนายว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ดาวประจำตัวของผู้นำพม่าเริ่มอับแสงอันส่งผลให้บัลลังก์แห่งอำนาจเริ่มสั่นคลอนโดยหนทางเดียวที่จะรักษาการดำรงอยู่ของระบอบทหารคือการย้ายเมืองหลวงออกจากนครย่างกุ้ง

นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เขตปกครองย่างกุ้ง (Yangon Division) และเมืองต่าง ๆ ในเขตพม่าตอนล่างยังได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งทำให้ยอดฉัตรของมหาเจดีย์ Mawdinsoon ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตย่างกุ้งหักพังทลายลงมา ซึ่งส่งผลให้คนพม่าทั่วไปมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคือสัญลักษณ์แห่งลางร้ายที่เข้าคุกคามนครย่างกุ้ง

ตลอดจนตามประวัติศาสตร์การเมืองของพม่านั้น การเกิดแผ่นดินไหวมักจะตามมาด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การเกิดแผ่นดินไหวในเมืองพุกาม ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาด้วยการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์ แถบชายแดนพม่า-อินเดียซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงโค่นล้มระบอบเนวิน ในปี พ.ศ. 2531 ดังนั้นปัจจัยทางโหราศาสตร์จึงมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุการณ์สำคัญระดับชาติซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พลเอกอาวุสโสตันฉ่วยตัดสินใจย้ายเมืองหลวงออกจากย่างกุ้ง

สำหรับการปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์นั้น สามารถเห็นได้จากการประกาศโยกย้ายข้าราชการออกจากนครย่างกุ้งเวลา 6 นาฬิกา 37 นาที เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (เดือน 11)  ปี พ.ศ. 2548 โดยรถบรรทุกจากหน่วยงานทหารจำนวน 1,100 คัน ได้เคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนกลุ่มข้าราชการพลเรือนจำนวน 11 กอง และข้าราชการทหารอีก 11 กอง มุ่งตรงสู่เมืองเพียงมะนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเลข 6 คือเลขนำโชคของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย และเลข 11 คือเลขมงคลที่สัมพันธ์กับดวงเมืองของราชธานีแห่งใหม่

3.3 การปรับใช้และดัดแปลงลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก

ความขมขื่นจากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและการพังทลายของจักรวรรดิพม่านับตั้งแต่กองทัพอังกฤษ-อินเดียยาตราทัพเข้าเหยียบย่ำราชธานีมัณฑะเลย์ ยังคงอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้นำทหารซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับลัทธิชาตินิยมและการเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพในฐานะผู้ปกป้องมาตุภูมิจากกองกำลังต่างชาติ ยุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อต้านและปลดแอกออกจากลัทธิอาณานิคม (Decolonization)

โดยหากพิจารณาตามกรอบประวัติศาสตร์และความผันผวนของระบบโลกจะพบว่า นครย่างกุ้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงของพม่าตามมุมมองของกลุ่มคณะทหาร เนื่องจากถูกสถาปนาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษผู้ปล้นเอกราช ตลอดจนเคยเป็นฐานทัพที่กองทัพอังกฤษใช้เป็นหัวหาดในการขยายอิทธิพลเข้ายึดราชธานีมัณฑะเลย์ ดังนั้นกรุงย่างกุ้งจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์พม่า ประกอบกับย่างกุ้งยังไม่ได้ตั้งอยู่ในดินแดนหัวใจของวัฒนธรรมพม่าแถบลุ่มน้ำอิรวดีและสะโตง แต่ในทางตรงข้ามกลับตั้งอยู่บริเวณชายขอบในเขตพม่าตอนล่างซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของมอญและเป็นศูนย์กลางทางการค้าเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับกองทัพอังกฤษ

ในขณะเดียวกันการถาโถมของวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะได้ส่งผลให้ลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ (Neo-Colonialism) เริ่มก่อตัวคุกคามอำนาจของรัฐบาลทหารตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวมของชาวพม่าในเขตย่างกุ้งประกอบการเริ่มมีตึกระฟ้าสมัยใหม่ผุดขึ้นกลางเมืองเคียงคู่กับกลุ่มอาคารสมัยอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะทางภูมิทัศน์ดังกล่าวได้ส่งผลให้นครย่างกุ้งคือจุดหลอมรวมของมรดกจากยุคอาณานิคมและการแพร่กระจายของลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ (Neo-Imperialism)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นการถอยห่างจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและเป็นการสถาปนาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ท่ามกลางความผันผวนของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น

กองทัพพม่า สวนสนาม ในเมือง เพียงมะนา อนุสาวรีย์ กษัตริย์ พม่า ที่ เนปิดอว์
กองทัพพม่าสวนสนามในเมืองเพียงมะนา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2007 (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

จากการรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงในรัฐพม่า ทำให้ทราบว่าการย้ายเมืองหลวงในยุคปัจจุบันล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนตลอดจนได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมแบบใหม่ของสภาพสังคมยุคหลังสงครามเย็น การสถาปนานครเพียงมะนา เนปิดอว์ จัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน และการสร้างเอกภาพทางสังคมและวัฒนธรรม โดยรัฐบาลทหารได้ให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้เผชิญหน้ากับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในนครย่างกุ้ง การทำสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย และความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีทางทะเลของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงจึงเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงโดยรวมเพื่อการรักษาอำนาจของระบอบทหาร…

ในขณะเดียวกัน การย้ายเมืองหลวงยังมีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนใน เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตรในเขตที่ราบภาคกลาง การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในเขตภูเขา และการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง โดยเมืองหลวงแห่งใหม่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ตอนในซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

นอกจากนี้การย้ายเมืองหลวงยังถูกผลักดันด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรมมากขึ้นตามโลกทรรศน์พม่า โดยกลุ่มผู้นำทหารได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์และเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลในการเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงจาก ย่างกุ้ง ไป เพียงมะนา จึงประกอบด้วยปัจจัยหลากหลายมิติตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกและรอบด้านอันส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถผ่องถ่ายอำนาจในการปกครองประเทศพม่าต่อไปในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เพียงมะนา เนปิดอว์ ราชธานีแห่งใหม่ของสหภาพพม่า” เขียนโดย ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2564