รูปนามและความหมาย “นักขัตฤกษ์” วันหยุดราชการที่ไม่ใช่เสาร์-อาทิตย์

ปุนัพสุนักษัตร หมู่ดาว นักขัตฤกษ์
ปุนัพสุนักษัตร หนึ่งในหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ทั้ง 27 หมู่ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

วัน “นักขัตฤกษ์” (Public Holiday, Festivity) คือวันหยุดราชการที่ไม่ใช่วันหยุดสุดสัปดาห์สากลอย่างวันเสาร์-อาทิตย์ หรือ Weekend วันนักขัตฤกษ์นั้นถือเป็นวันหยุดพักผ่อนตามปฏิทิน บ้างเป็นวันสำคัญทางศาสนา เทศกาล งานประเพณี หรือวันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นวันหยุดตามกฎหมาย ไม่มีการทำงาน ทั้งนี้การกำหนดวันหยุดนักขัตฤกษ์ของแต่ละปีจะผ่านความเห็นชอบและการประกาศจากคณะรัฐมนตรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “นักขัตฤกษ์” ดังนี้

นักขัตฤกษ์ (น.) ฤกษ์ที่ขึ้นกับการโคจรของดวงดาวในสุริยจักรวาล คือ ดาวนพเคราะห์ ว่าผ่านดาวนักษัตรหมู่ใดหมู่หนึ่งใน 27 หมู่, เรียกงานที่จัดขึ้นตามนักขัตฤกษ์ว่า งานนักขัตฤกษ์, เรียกวันที่มีงานนักขัตฤกษ์ว่า วันนักขัตฤกษ์

ทั้งนี้ นักขัตฤกษ์ เป็นคำสมาสที่ประกอบด้วยแม่คำ ได้แก่ “นักขัต-” [นักขัด, นักขัดตะ-] (น.) ดาว, ดาวฤกษ์ และ “ฤกษ์” [เริก] (น.) คราวหรือเวลาที่กำหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางดี เช่น หาฤกษ์แต่งงาน หาฤกษ์ยกเสาเอก ฯลฯ

วันนักขัตฤกษ์ จึงหมายถึง “วันมงคล” หรือ “วันฤกษ์งามยามดี” ที่กำหนดจากการคํานวน “ฤกษ์” (คราว/เวลา) จากการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล (รวมถึงดวงจันทร์) ผ่าน “ดาวฤกษ์” อันเป็นดาวนักษัตรหมู่ใดหมู่หนึ่งใน 27 หมู่

โดยหมู่ดาวนักษัตรข้างต้น เรียกว่าหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ 27 หมู่ ตามตำราโหราศาสตร์ไทยซึ่งตกทอดมาจากคัมภีร์พระเวทของอินเดียอีกทอดหนึ่ง หมู่ดาวต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. อัศวินี, อัสสนี (ดาวม้า ดาวคอม้า ดาวคู่ม้า หรือ ดาวอัศวยุช) มี 7 ดวง

2. ภรณี (ดาวก้อนเส้า) มี 3 ดวง

3. กฤติกา, กฤตติกา, กัตติกา (ดาวธงสามเหลี่ยม หรือ ดาวลูกไก่) มี 8 ดวง

4. โรหิณี (ดาวพราหมี ดาวปลาตะเพียน หรือ ดาวคางหมู) มี 7 ดวง

5. มฤคศิระ, มฤคเศียร, มิคสิระ (ดาวหัวเต่า ดาวหัวเนื้อ ดาวศีรษะเนื้อ ดาวศีรษะโค ดาวมฤคศิรัส หรือ ดาวอาครหายณี) มี 3 ดวง

6. อารทรา (ดาวอัททา ดาวตัวโค หรือ ดาวตาสำเภา) มี 1 ดวง

7. ปุนัพสุ, ปุนัพพสู (ดาวหัวสำเภา ดาวสำเภาทอง ดาวสะเภา ดาวยามเกา หรือ ดาวตาเรือชัย) มี 3 ดวง

8. บุษยะ, บุษย์, ปุษยะ, ปุสสะ (ดาวปุยฝ้าย ดาวพวงดอกไม้ ดาวดอกบัว ดาวโลง ดาวปู ดาวสมอสำเภา หรือ ดาวสิธยะ) มี 5 ดวง

9. อาศเลษา, อสิเลสะ (ดาวเรือน หรือ ดาวนกอยู่ในปล่อง) มี 5 ดวง

10. มฆะ, มฆา, มาฆะ (ดาวโคมูตร ดาววานร ดาวงอนไถ หรือ ดาวงูผู้) มี 5 ดวง

11. บุรพผลคุนี, ปุรพผลคุนี, ปุพพผลคุนี (ดาววัวตัวผู้ หรือ ดาวงูเมีย) มี 2 ดวง

12. อุตรผลคุนี, อุตตรผลคุนี (ดาวเพดาน หรือ ดาววัวตัวเมีย) มี 2 ดวง

13. หัสต, หัสตะ, หัฏฐะ (ดาวศอกคู้ หรือ ดาวศีรษะช้าง) มี 5 ดวง

14. จิตระ, จิตรา (ดาวต่อมนํ้า ดาวไต้ไฟ ดาวตาจระเข้ หรือ ดาวเสือ) มี 1 ดวง

15. สวาดิ, สวาตี, สวัสติ (ดาวช้างพัง หรือ ดาวงูเหลือม) มี 5 ดวง

16. วิศาขา, วิสาขะ (ดาวคันฉัตร หรือ ดาวศีรษะกระบือ) มี 5 ดวง

17. อนุราธ, อนุราธะ, อนุราธา (ดาวประจำฉัตร หรือ ดาวนกยูง) มี 4 ดวง

18. เชษฐะ, เชษฐา (ดาวงาช้าง ดาวช้างใหญ่ ดาวคอนาค หรือ ดาวแพะ) มี 14 ดวง

19. มูล, มูละ, มูลา (ดาวช้างน้อย หรือ ดาวแมว) มี 9 ดวง

20. ปุรพษาฒ, บุรพอาษาฒ, บุพพาสาฬหะ (ดาวสัปคับช้าง หรือ ดาวราชสีห์ตัวผู้) มี 3 ดวง

21. อุตราษาฒ, อุตตรอาษาฒ, อุตตราสาฬหะ (ดาวแตรงอน หรือ ดาวราชสีห์ตัวเมีย) มี 5 ดวง

22. ศรวณะ, ศระวณ, สาวนะ (ดาวหลักชัย หรือ ดาวพระฤๅษี) มี 3 ดวง

23. ธนิษฐะ, ธนิษฐา (ดาวศรวิษฐา ดาวเศรษฐี ดาวไซ หรือ ดาวกา) มี 4 ดวง

24. ศตภิษัช, สตภิสชะ (ดาวพิมพ์ทอง หรือ ดาวยักษ์) มี 4 ดวง

25. บุรพภัทรบท, ปุพพภัททะ (ดาวโปฐบท ดาวแรดตัวผู้ หรือ ดาวหัวเนื้อทราย) มี 2 ดวง

26. อุตรภัทรบท, อุตตรภัทรบท, อุตตรภัททะ (ดาวแรดตัวเมีย หรือ ดาวไม้เท้า) มี 2 ดวง

27. เรวดี (ดาวปลาตะเพียน หรือ ดาวนาง) มี 16 ดวง

แม้จะเรียกวันหยุดราชการประจำปีว่า “วันหยุดนักขัตฤกษ์” แต่เมื่อพิจารณาวันหยุดราชการแต่ละวันจะพบว่าวันนักขัตฤกษ์ไม่ได้ถูกกำหนดโดยใช้หลักโหราศาสตร์หรือคำนวนฤกษ์จากการโคจรของดวงดาวตามชื่อเรียกเสียทีเดียว เป็นเพียงการนำคำมาใช้เท่านั้น นอกจากนี้ วันหยุดราชการที่กำหนดขึ้นยังหวังผลทางการเมืองในแง่ของการสร้างอัตลักษณ์บางอย่างโดยรัฐด้วย

การกำหนดวันหยุดในไทยเมื่อครั้งอดีตให้ “วันพระ” ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันหยุดราชการ ก่อนจะนับวันหยุดสุดสัปดาห์ตามสากลในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ วันอาทิตย์ ก่อนควบวันเสาร์ในเวลาต่อมา ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยเป็นพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี (พุทธศักราช 2456) ดังนี้

1. พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์ หยุดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน รวม 19 วัน

2. วิสาขะบูชา หยุดตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม รวม 3 วัน

3. เข้าปุริมพรรษา หยุดตั้งแต่วันที่ 6 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม รวม 7 วัน

4. ทำบุญพระบรมอัษฐิพระพุทธเจ้าหลวง หยุดวันที่ 23 ตุลาคม 1 วัน

5. ทำบุญพระบรมอัษฐิ แลพระราชพิธีฉัตรมงคล หยุดตั้งแต่วันที่ 9 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน รวม 4 วัน

6. เฉลิมพระชนมพรรษา หยุดตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม รวม 5 วัน

7. มาฆะบูชา จาตุรงค์สันนิบาต หยุดวันที่ 1 มีนาคม 1 วัน

จะเห็นว่าวันหยุดตามประกาศดังกล่าวใช้วิธีนับวันทางสุริยคติแล้ว โดยล้วนเป็นวันสำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่แม้มีการระบุกำหนดวันหยุดชัดเจน แต่หน่วยงานราชการกระทรวงต่าง ๆ ยังถือวันหยุดที่แตกต่างกันอยู่ เช่น กระทรวงยุติธรรมหยุดวัน “พระราชพิธีตะนุษะสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์” เป็นเวลาถึงหนึ่งเดือน ขณะที่กระทรวงอื่น ๆ ได้หยุด 19 วัน

กระทั่ง พ.ศ. 2477 รัฐบาลคณะราษฎร์โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงให้มีการกำหนดวันหยุดราชการและงานพิธีทางราชการให้เป็นระเบียบชัดเจน มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธานกรรมการ เพื่อให้หน่วยราชการและภาคส่วนอื่น ๆ ยึดถือร่วมกันโดยพร้อมเพรียง เป็นที่มาของการกำหนดวันหยุดราชการหรือวันนักขัตฤกษ์โดยมติคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, dictionary.orst.go.th (สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566) : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๖๖ [คำศัพท์ : นักขัตฤกษ์, นักขัต, นักษัตร, ฤกษ์]. (ออนไลน์)

มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, National Discovery Museum Institute (สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2566) : ความเป็นมาของวันหยุดราชการของไทย. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2566