“หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง “วัดโสธรวราราม” ที่ใครไปไหว้ห้ามขอพรอยู่ 2 เรื่อง!

หลวงพ่อโสธร พระพุทธโสธร วัดโสธรวราราม วรวิหาร
หลวงพ่อโสธร (ภาพ : fb วัดโสธรวราราม วรวิหาร)

“พระพุทธโสธร” หรือชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโสธร” แห่ง “วัดโสธรวราราม” จ. ฉะเชิงเทรา พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการนับถืออย่างแพร่หลายและศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก เนื่องจากผู้คนเชื่อว่าดลบันดาลพรต่าง ๆ ให้ตามที่ใจหวัง จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาแวะเวียนเข้าไปกราบไหว้อยู่บ่อย ๆ 

แต่สิ่งที่ควรรู้ไว้อย่างหนึ่งก่อนเข้าไปสักการะ คือ ห้ามขอพร 2 อย่างนี้กับ “หลวงพ่อโสธร” แห่ง วัดโสธรวราราม เด็ดขาด! 

ได้แก่เรื่องอะไร?

“วัดโสธรวราราม” คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ. 2300 แต่เดิมคนเรียกกันว่า “วัดหงษ์” เนื่องจากเดิมเคยมีเสาหงส์ตั้งอยู่ แต่เนื่องจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จึงทำให้หงส์บนยอดเสาหล่นลงมา เหลือเพียงแค่เสา ชาวบ้านจึงนำธงขึ้นไปแขวนแทน และเรียกชื่อวัดใหม่เป็น “วัดเสาธง” 

ต่อมาเสาได้โค่นล้มและหักลงมาอีกครั้ง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดเสาธงทอน” จน พ.ศ. 2313 มีการอัญเชิญ “พระพุทธโสธร” หรือ “หลวงพ่อโสธร” มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ (มีความเชื่อว่าพระพุทธโสธรลอยตามน้ำมา เมื่อใกล้บริเวณวัดก็ลอยวนอยู่อย่างนั้น ทำให้ได้มาอยู่ที่วัดแห่งนี้)

หลวงพ่อโสธรมีหน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร เชื่อกันว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น สร้างขึ้นจากหินทราย มีชิ้นส่วนมากถึง 11 ชิ้น แต่มีการลงรักปิดทองจึงทำให้ไม่เห็นรอยต่อดังกล่าว

กลับมาที่ข้อสงสัยตั้งแต่ต้นว่า พระพุทธโสธร ที่ในหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” (สำนักพิมพ์มติชน) กล่าวถึงไว้ว่า “…เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้ศรัทธามากที่สุดในประเทศไทย” เนื่องจากท่านสามารถดลบันดาลพรต่าง ๆ ทั้งความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภ ความปลอดภัย ฯลฯ ให้แก่ผู้ขอพรได้ แต่ห้ามขอพรกับท่าน 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่งคือ การเกณฑ์ทหาร เนื่องจากท่านชื่นชอบให้คนไปเป็นทหาร และส่วนใหญ่คนที่มาขอที่นี่มักจะจับได้ใบแดงเสมอ จึงไม่แนะนำให้ขอพรท่านในเรื่องนี้ 

อีกเรื่องหนึ่งคือความรัก เพราะหลายคนที่มาขอมักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

ในหนังสือยังได้พูดถึงวิธีและการบูชาหลวงพ่ออีกด้วยว่า “…การจะขอพรกับหลวงพ่อโสธรนั้นมักจะเริ่มจากการไหว้หลวงพ่อโสธรองค์จำลองภายในอุโบสถหลังเก่า ซึ่งสิ่งที่ใช้ในการบนนั้นคือ ไข่ต้ม พวงมาลัย หรือถวายละครชาตรี โดยหากขอพรและบนบานเรียบร้อยแล้ว ให้กราบสักการะหลวงพ่อโสธรองค์ปฐมพระอุโบสถหลังใหม่ด้วย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภิญโญ พงศ์เจริญ, ดาวพลูโต, วิกรานต์ ปอแก้ว, บุศรินทร์ ปัทมาคม, ซินแสภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล, สมชาย แซ่จิว, โหรวสุ, การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ และธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. ศาสตร์แห่งโหร 2567. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดฉะเชิงเทรา. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567