ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
แผ่นดิน “อีสาน” สมัย รัชกาลที่ 5 ถือเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงและอยู่ห่างไกลความรับรู้ของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ พอสมควร แต่ยังพบเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาล “สงกรานต์” ของคนท้องถิ่น หรือ สงกรานต์อีสาน ปรากฏให้เห็นอยู่ รวมถึงการละเล่น “สาดน้ำ” ที่ถือได้ว่าสาดกันไม่ยั้งมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว
ประจักษ์พยานดังกล่าวคือหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมประเพณีของราษฎรในภาคอีสาน (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทรงธรรม) ของ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้บอกเล่าถึงบรรยากาศสงกรานต์ในภาคอีสานว่าเป็นอย่างไร
หลวงผดุงแคว้นประจันต์เป็นชาวอุบลราชธานี แต่มาบวชเป็นสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่หลายพรรษา ก่อนลาสิกขาบทออกมารับราชการในกระทรวงธรรมการ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาจึงได้ไปรับราชการหัวเมือง เป็นนายอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ท่านจึงมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศช่วง “สงกรานต์” ในหัวเมืองห่างไกลในภาคอีสาน ทั้งที่อุบลฯ บ้านเกิดของท่าน และอำเภอเพ็ญ ที่อุดรฯ
หลวงผดุงแคว้นประจันต์อธิบายว่า เทศกาลสงกรานต์ใน อีสาน (ต้นฉบับใช้ ‘อีศาน’) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ เมื่อถึงวันสงกรานต์ พระภิกษุสงฆ์ สามเณร จะเชิญพระพุทธรูปออกจากโบสถ์ไปตั้งไว้ที่ “หอสรง” เพื่อให้ญาติโยมมาสรงน้ำพระ
หอสรงของชาวอีสานเป็นที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปในช่วงสงกรานต์ ซึ่งชาวบ้านลงแรงกันสร้างไว้ในวัด โดยเป็นหอเล็ก ๆ พอจุพระพุทธรูป (ขนาดเล็ก) อย่างมากไม่เกิน 10 องค์ หลังเชิญพระพุทธรูปออกตั้งไว้ที่หอสรงแล้ว เวลาประมาณบ่าย 2 โมง ชาวบ้านก็จะพากันไปสรงน้ำพระพุทธรูป ธรรมเนียมการสรงน้ำพระนี้กินเวลาถึง 15 วันจึงเลิก
เครื่องสรงน้ำพระพุทธรูปของชาวอีสานเรียก “กงพัด” เป็นอุปกรณ์รูปร่างคล้ายกังหันน้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ ต่อกับรางรองน้ำ เวลาสรงน้ำ ชาวบ้านจะเทน้ำอบน้ำหอมรวมกันลงในราง ปล่อยให้ไหลไปถึงกงพัด น้ำจะไหลออกตามท่อ และกงพัดจะหมุนไปเรื่อย ๆ คล้ายจักรเรือกำปั่น
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งซึ่งโดยมากจะเป็นหนุ่มสาวและภิกษุสามเณร จะรวมกลุ่มกันเป็นขบวนออกไปเก็บดอกไม้ตามป่าตามโคกมาบูชาพระ ระหว่างทางก็จะมีการเล่นเครื่องดนตรี ได้แก่ กลองตบ ฆ้องหมุ่ย ฉาบ ประโคมตามไปด้วย เมื่อเก็บดอกไม้พอแล้วจึงพากันแห่กลับมายังวัด นำดอกไม้ไปไว้ที่หอสรงรอบองค์พระพุทธรูป จากนั้นเวลาประมาณ 1 ทุ่ม จะมีการตีกลองใหญ่ 3 ครั้ง เรียกชาวบ้านมาชุมนุมกันที่ลานวัด ละเล่นกิจกรรมครื้นเครง ทั้งการแอ่ว ขับแคน ร้องรำทำเพลงสนุกสนานกันถึง 4-5 ทุ่ม แล้วจึงเลิกกลับบ้าน
แต่ไฮไลท์ของบันทึกธรรมเนียมช่วงเทศกาลสงกรานต์ของ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ คือบรรยากาศช่วงการเล่นน้ำ หรือการเล่นสาดน้ำกันของหนุ่มสาวชาวอีสานในอดีต ที่ค่อนข้างหนักหน่วง แต่ก็แฝงคติความเชื่อเรื่องของฟ้าฝนเอาไว้ด้วย ความว่า
“ยังมีการสนุกในนักขัตฤกษ์สงกรานต์อีกอย่างหนึ่ง คือหนุ่มสาว ‘สาดน้ำ’ กัน การที่สาดน้ำกันนี้ เล่นสกปรกโสมมอย่างเอก คือไม่เลือกน้ำที่จะสาด สุดแล้วแต่ได้สิ่งที่จะทำให้เปื้อนเปรอะ
เป็นต้นว่า ‘โคลนเลน’ หรือ ‘น้ำครำ’ ที่ใต้ถุนซึ่งมีกลิ่นเหม็น ก็เอาเป็นใช้ได้ ถ้าปะเป็นเราที่ไม่เคยถูก บางที่จะทำให้คลื่นเหียนได้ แต่เหตุการณ์ที่จะเกิดทะเลาะวิวาทกันเพราะการสาดน้ำนี้ไม่มีเลย
การที่เล่นสนุกด้วยการสาดน้ำนี้ ตั้งแต่หนุ่มและสาวตลอดถึงผู้ใหญ่ไม่เลือกหน้า แม้ภิกษุสงฆ์สามเณรเดินไปพบเข้ากำลังเขาเล่นสาดกันอยู่นั้น เขาก็ไม่ละเว้นให้เลย เว้นแต่รีบหนีไปเสียให้พ้นจึงจะไม่ถูก การที่เล่นสาดน้ำกันนี้เป็นธรรมเนียมถือมาแต่โบราณ ด้วยเข้าใจว่าถ้าปีใดผู้เถ้าผู้แก่และหนุ่มสาวไม่เล่นสาดน้ำ ปีนั้นน้ำฝนมักจะน้อยไป
เขาถือว่าการเล่นสาดน้ำนี้เหมือนดังกิริยาที่พระยานาคเล่นน้ำในสระอโนดาต การเป็นดังนี้ จึงได้นิยมในการเล่นสาดน้ำกันนัก ด้วยถือว่าเพื่อจะทำให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ในฤดูปีเดือน”
เหล่านี้จึงเป็นบรรยากาศในอดีตของ “สงกรานต์อีสาน” ที่มีทั้งเรื่องของการทำบุญและการละเล่นสนุกสนานผสมกันอย่างลงตัว และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแต่โบราณของผู้คนในดินแดนแห่งนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- สงกรานต์ไทย-โจลชนำทเม็ยเขมร เหมือน-ต่าง กันอย่างไร?
- “วันสงกรานต์” ปีใหม่ไทย แต่ไม่ใช่วันเปลี่ยน “นักษัตร” ในระบบปฏิทินไทย!?
- “โฮลี” เทศกาลสาดสีของอินเดีย เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ไทยจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร). ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑ ลัทธิธรรมเนียมราษฎรภาคอีศาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทรงธรรม. ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2567