เปิดบันทึกการ “ดำหัว” แบบล้านนาโบราณ เอาน้ำราดหัวเจ้าหลวงเชียงใหม่

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (ภาพจาก ประวัติมหาวิทยาลัยพายัพ)

“ดำหัว” คือการรดน้ำในประเพณีสงกรานต์ รูปแบบการดำหัวที่เห็นกันในปัจจุบัน คือจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาราดรดที่มือ หรือเพียงเทใส่ในขันเงิน (สลุง) แล้วคนเฒ่าคนแก่ก็จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาพรมหรือลูบหัวพอเป็นพิธี แต่การดำหัวตามแบบล้านนาโบราณนั้น จะนำน้ำราดไปบนหัวจริง ๆ

เรื่องนี้มีอยู่ในบันทึกของ ศาสนาจารย์ ดอกเตอร์ แมคกิลวารี (Daniel Mcgilvary) มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในล้านนา ซึ่งเดินทางถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410)

Advertisement

ศาสนาจารย์ แมคกิลวารี ได้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในหนังสือ “A Half Century Among The Siamese and The Lao” หรือในชื่อแปลภาษาไทยว่า “กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว” (สำนักพิมพ์มติชน, 2544) ตอนหนึ่งเล่าถึงการเดินทางกลับถึงเชียงใหม่ของ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 หลังจากทรงยกกองทัพไปปราบพวกเงี้ยว เมื่อเสด็จนิวัตินครจึงจัดพิธีดำหัว มีรายละเอียดดังนี้

“ในวันขึ้นปีใหม่ของพวกลาว มีธรรมเนียมว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้า ขุนนางหรือผู้ทรงอิทธิพลจะต้องอวยพรให้กับองค์เจ้าหลวงและเข้าร่วมในพิธี ‘ดำหัว’ เพื่ออวยพระพรปีใหม่ สืบเนื่องมาจากพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ในช่วงปีใหม่ ประเพณีดังกล่าวจึงไม่อาจทำได้ในเวลาปกติ แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับได้สองสามวันก็มีการจัดพิธีนี้อย่างหรูหราสมพระเกียรติ

คำว่า ‘ดำหัว’ นั้นหมายถึง ‘อาบน้ำศีรษะ’ หรือ ‘ล้างศีรษะ’ และเป็นพิธีกรรมที่ชำระล้างเศียรขององค์เจ้าหลวงจริง ๆ ด้วยการเทน้ำลงไป โดยเริ่มจากพวกเจ้า และขุนนางตามลำดับตำแหน่งลงมาถึงประชาชนที่อยู่เบื้องล่างสุดของสังคม

พิธีกรรมที่สำคัญอันดับแรกจัดขึ้นในคุ้มหลวง ผม (ศาสนาจารย์ ดอกเตอร์ แมคกิลวารี) ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมอวยพระพรกับผู้อื่นด้วย ท้องพระโรงขนาดใหญ่แน่นขนัดไปด้วยคนในราชตระกูลและขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ บรรยากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิดที่จัดวางอยู่เต็มโต๊ะและบนหิ้งที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกคนต่างถือขันเงินที่มีน้ำเต็มเปี่ยมและต่างก็เฝ้ารอคอย

ในที่สุดเจ้าพนักงานที่ถือหอกเงินด้ามยาวได้ป่าวร้องว่าองค์เจ้าหลวงเสด็จมาถึงแล้ว ทุกคนในท้องพระโรงนั้นให้ความเคารพด้วยการคุกเข่าคำนับติดพื้นตามประเพณี และเมื่อเห็นผมยืนอยู่ พระองค์ทรงให้เจ้าพนักงานนำเก้าอี้มาให้ผมนั่ง พร้อมกับกล่าวว่า พิธีนี้ใช้เวลายาวนานซึ่งผมอาจจะเมื่อยได้

อาลักษณ์จึงได้อ่านสุนทรพจน์ถวายแด่องค์เจ้าหลวง ที่ได้นิวัติกลับคืนมาสู่นครหลังจากที่พระองค์ประสบความสำเร็จจากการรบ แล้วจึงมีการอัญเชิญมวลดอกไม้ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่สูงหรือต่ำ ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการหรือความเป็นจริง เพื่อนำมาปกป้อง นำทางและอวยพระพรองค์เจ้าหลวงกับอาณาจักรและประชาชนของพระองค์ ในขณะเดียวกับที่ได้สาปแช่งศัตรูของพระองค์ให้พินาศไป

หลังจากนั้นจึงมีพิธีดำหัว นำโดยราชตระกูลสายตรงของพระองค์ แล้วจึงตามมาด้วยเจ้านายองค์อื่น ๆ ตลอดจนขุนนางตำแหน่งสูงเรียงลงไปตามลำดับ พระองค์ทรงยืนประทับอยู่ในขณะที่น้ำขันแล้วขันเล่าถูกเทราดลงบนพระเศียรจนทรงเปียกปอนไปทั้งพระวรกาย พื้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำ พิธีดังกล่าวเหมาะกับอากาศเมืองร้อน แต่ไม่เหมาะกับอากาศเมืองหนาวอย่างยิ่ง

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงแต่การเริ่มต้นเท่านั้น ตามประเพณีโบราณแล้ว กระโจมชั่วคราวจะถูกจัดขึ้นบนเกาะทรายกลางแม่น้ำ ภายหลังพิธีกรรมในคุ้มหลวงแล้ว องค์เจ้าหลวงเสด็จออกประทับบนหลังช้าง ที่ประดับประดาด้วยทองคำอย่างเต็มยศ ครั้งนี้ องค์เจ้าหลวงเสด็จออกเพื่อทรงรับการดำหัวจากประชาชนที่จงรักภักดีของพระองค์ พิธีก็เหมือนกับที่ทำไปแล้วในท้องพระโรง คือเริ่มด้วยขุนนางผู้ใหญ่แล้วจึงค่อยลดหลั่นลงไปสู่สามัญชน ซึ่งเข้าร่วมพิธีที่แปลกประหลาดเช่นนี้…

การดำหัวแบบล้านนาจึงเป็นการดำหัวจริง ๆ คือราดน้ำลงไปบนหัวจนเปียกไปทั้งตัว ก่อนที่ต่อมา รูปแบบการดำหัวเช่นนี้น่าจะวิวัฒน์ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและกาลสมัย

สำหรับการดำหัวในปัจจุบันมักจะเริ่มกันตั้งแต่วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก ในตอนเช้าชาวบ้านจะจัดอาหารคาว-หวาน ใส่สำรับไปถวายพระสงฆ์ที่วัดเรียกว่า “ตานขันข้าว” ในตอนสายมีการฟังเทศน์อานิสงส์ปีใหม่หรือเรื่องอื่น ๆ และมีการสรงน้ำพระพุทธรูป พระเจดีย์ และพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง

รวมทั้งมีการปล่อยนกปล่อยปลา สะเดาะเคราะห์ ในตอนบ่ายก็จะไปดำหัวพระสงฆ์ คนเฒ่าคนแก่ บิดามารดา หรือญาติมิตรที่เคารพนับถือ เพราะถือกันว่าวันนี้เป็นวันดีที่สุดในรอบปี คือเป็น “วันพญาวัน” วันยิ่งใหญ่กว่าวันทั้งหลายนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565